12 พ.ค. 2022 เวลา 08:26 • ประวัติศาสตร์
⭐สงครามโลกครั้งที่ 1 ตอนที่ 6
✨สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (French Third Republic)
ขอขอบคุณรูปภาพจาก: https://ww1blog.osborneink.com/?p=3009
✨ด้านการเมืองและรัฐบาลของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3
หลังจากที่ฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้ให้แก่ปรัสเซียในสงครามแฟรงโก้-ปรัสเซีย ปี ค.ศ. 1870 - 1871 ก็ส่งผลกระทบสำคัญอยู่สองประการ ประการแรกก็คือชาวฝรั่งเศสได้ขับไล่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon Ⅲ) ออกจากราชบัลลังก์ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องก่อตั้งการเมืองการปกครองและรัฐบาลใหม่ทั้งหมด และถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนมากมายที่ต้องการจะให้ประเทศของตนกลับมาดำรงระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยต่อ
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะไว้วางใจต่อระบบการปกครองที่จะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมามีอำนาจครอบครองทั้งประเทศได้ จึงก่อให้เกิดการสร้างสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ขึ้นในปี ค.ศ. 1870 (French Third Republic) (The Great War, France, 2018) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #136)
ประการที่สองก็คือฝรั่งเศสต้องเสียแคว้นอัลซาส-ลอร์เรนน์ให้แก่เยอรมนี (Alsace-Lorraine) ในปี ค.ศ. 1871 ซึ่งถือเป็นแคว้นที่สำคัญสำหรับฝรั่งเศสเป็นอย่างมากเนื่องด้วยเหตุผลทั้งทางอุตสาหกรรม จุดยุทธศาสตร์การรบ และประวัติศาสตร์ของพื้นที่เหล่านั้น
ไม่เพียงแค่นั้นหลังจากที่สงครามได้จบลงฝรั่งเศสยังต้องจ่ายค่าประติมากรรมสงครามให้แก่เยอรมนีเป็นจำนวนเงิน 5 พันล้านฟรังก์ ภายใต้สนธิสัญญาแฟรงค์เฟิร์ต (Treaty of Frankfurt) (The Great War, France, 2018) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #136)
หลังจากที่ได้ก่อตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ขึ้นมา ก็ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1875 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้ประเทศมีประธานาธิบดีซึ่งจะมีการเลือกตั้งทุกๆ 7 ปี โดยมี รายมอน พอยท์คาเร่ (Raymond Poincaré) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1913 - 1920 นอกจากนี้รัฐสภายังประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
ภาพถ่ายของประธานาธิบดีฝรั่งเศส รายมอน พอยท์คาเร่ (Raymond Poincaré)
โดยในปี ค.ศ. 1914 สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ถือเป็นระบอบการปกครองที่ยาวนานที่สุดของฝรั่งเศสนับตั้งแต่การปฎิวัติฝรั่งเศส (French revolution) ที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 และยังถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวฝรั่งเศสอีกด้วยเช่นกัน (The Great War, France, 2018) (มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป, 1997, #201) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #136)
✨ด้านการค้า/อุตสาหกรรมและสังคมความเป็นอยู่ของผู้คนชาวฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 19-20
ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1800 ฝรั่งเศสมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในยุโรป ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1913 ฝรั่งเศสมีจำนวนประชากรอยู่ที่ราวๆ 40 ล้านคน ฝรั่งเศสเมโทรโปลีตาง (Métropolitain) หรือก็คือ ฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่ในยุโรปจะมีพื้นที่ประมาณ 675,000 ตารางกิโลเมตร
ไม่เพียงแค่นั้นฝรั่งเศสยังยึดครองดินแดนโดยประมาณ 4% ของจำนวนพื้นผิวโลกในปี ค.ศ. 1878 แต่จำนวนเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 8.6% ในปี ค.ศ. 1914 ส่งผลให้ฝรั่งเศสได้กลายมาเป็นจักรวรรดิอันดับสองของโลกที่มีอาณานิคมเยอะที่สุดซึ่งเป็นรองก็แค่อังกฤษเท่านั้น
อาณานิคมโพ้นทะเลที่สำคัญประกอบไปด้วยพื้นที่บางส่วนของแอฟริกาเหนือ เกาะมาดากัสการ์ และอินโดจีนในเอเชีย เป็นเหตุให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 สามารถฟื้นฟูกลับมาพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ทั้งทรัพยากรจากอาณานิคมเหล่านี้และความมั่งคั่งทางการค้า (Sondhaus, World War One, 2020, #35-37) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #136) (Hauner & Milanovic & Naidu, 2017, #14) (Fig. 8)
แผนที่จักรวรรดิฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1914
นอกจากระบอบการปกครองและรัฐบาลที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดแล้วสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ยังได้พยายามสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1870 ฝรั่งเศสมีอัตราการถลุงเหล็กอยู่ที่ราวๆ 1.2 ล้านตัน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 ฝรั่งเศสจะสามารถถลุงได้ 4.7 ล้านตัน และเมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 20 ฝรั่งเศสก็ได้กลายมาเป็นผู้นำโลกในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องบินอย่างเช่น
  • ในปี ค.ศ. 1903 ฝรั่งเศสได้กลายมาเป็นผู้นำโลกในด้านการผลิตยานยนต์ มีการผลิตรถยนต์มากกว่า 30,000 คันจากกว่าสามสิบบริษัทโดยที่รถของบริษัทเรนอลต์ (Renault) ของฝรั่งเศสได้กลายมาเป็นแบรนด์ต่างประเทศที่ขายดีที่สุดในนิวยอร์กระหว่างปี ค.ศ. 1907 - 1908 (The Great War, France, 2018) (Falchenko, 2020)
  • นักบิน หลุยส์ แบรเรี่ยว (Louis Blériot) ผู้ซึ่งกลายมาเป็นนักบินคนแรกของโลกที่สามารถขับเครื่องบินข้ามจากประเทศฝรั่งเศสไปยังเกาะอังกฤษ หรือก็คือช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1909 (Fig. 9)
ภาพถ่ายของนักบิน หลุยส์ แบรเรี่ยว (Louis Blériot) กำลังนำเครื่องบินขึ้น
  • โรแลนด์ กาโรส (Roland Garros) ผู้ซึ่งเป็นนักบินคนแรกที่สามารถขับเครื่องบินข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1912
ภาพถ่ายของนักบิน โรแลนด์ กาโรส (Roland Garros) ในปี ค.ศ. 1910
ส่วนเศรษฐกิจของฝรั่งเศสเองนั้นก็แข็งแกร่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ฝรั่งเศสยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ทางการเงินโดยถือหุ้นประมาณ 25% ของเงินกองทุนทั้งโลกและพวกเค้ายังเลือกที่จะลงทุนอย่างหนักในประเทศอย่างรัสเซียและโรมาเนีย
ในความเป็นจริงแล้วเงินจากการลงทุนระหว่างประเทศของฝรั่งเศสสามารถคิดเป็น 75% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) มันแสดงให้เห็นเลยว่าฝรั่งเศสนั้นมีรายได้หลักจากการลงทุนระหว่างประเทศซึ่งจะกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ภายหลังเมื่อเกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้น
อย่างเช่นในปี ค.ศ. 1914 ประมาณ 94% ของกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงโดยฝรั่งเศสถูกผลิตขึ้นจากประเทศเยอรมนี (The Great War, France, 2018) (Berghahn, 2009, #8)
ภาพถ่ายของธนาคารฝรั่งเศสเครดิต ลียองเน่ (Crédit Lyonnais) ในปี ค.ศ. 1910
ไม่เพียงแค่นั้นในปี ค.ศ. 1900 ธนาคารฝรั่งเศสเครดิต ลียองเน่ (Crédit Lyonnais) ยังได้กลายมาเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยที่ในปี ค.ศ. 1910 นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส อะริสทิต บริอัน (Aristide Briand) ยังได้กล่าวประโยคนี้ไว้:
1
ทองคำฝรั่งเศสเอ๋ย หล่นไปทั่วโลกเลย
(“France’s gold trickles on the world”)
และในขณะเดียวกันกรุงปารีสก็ยังได้กลายมาเป็นตลาดการเงินที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่มต้นขึ้น จริงอยู่ที่ว่าประชากรชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่นั้นยากจนแต่ในปี ค.ศ. 1914 ชนชั้นแรงงานนั้นมีจำนวนมากจนสามารถคิดเป็น 30% ของกำลังแรงงานทั้งหมดได้ (The Great War, France, 2018)
ประมาณสี่สิบปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้น หรือรู้จักกันในนาม ‘ยุคสวยงาม’ (Belle Époque) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1871 - 1914 ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้พยายามปฎิรูปสังคมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาโดยมีการก่อตั้งโรงเรียนที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และยังรวมไปถึงกฎหมายที่ถูกบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1905 เพื่อเป็นการแยกโบสถ์ออกจากรัฐ
และยังมีวันเฉลิมฉลองของชาติอย่าง ‘วันบัสตีย์’ (Bastille Day) ที่ถูกจัดขึ้นทุกวันที่ 14 กรกฎาคมของทุกปี มันไม่ใช่เพียงแค่นั้นแต่ยังมีพรรคการเมืองและเสรีภาพรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาอย่างกว้างขวางทั่วทั้งฝรั่งเศส มิหนำซ้ำฝรั่งเศสยังได้รับรางวัลโนเบลถึง 14 สาขา รองลงมาจากเยอรมนีเท่านั้น
ถ้าหากประเทศเยอรมนีเป็นประเทศทุนทางวัฒนธรรมด้านการศึกษาแห่งยุโรปแล้ว ประเทศฝรั่งเศสก็คงจะเป็นทุนทางวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยี
มันไม่ใช่แค่ด้านอุตสาหกรรมการค้าเท่านั้นที่พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วแต่มันยังรวมไปถึงด้านวัฒนธรรมและสังคมความเป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ แพทยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และฝรั่งเศสก็ยังเป็นต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมหนังด้วยเช่นกัน (The Great War, France, 2018)
  • ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรอย่าง จอร์จ สูรัต (Georges Seurat) กับผลงานภาพวาดอันโด่งดังของเค้าที่มีชื่อว่า ‘บ่ายวันอาทิตย์บนเกาะลากร็องด์ฌัต’ (‘A Sunday afternoon on the island of La Grande-Jatte’) ในปี ค.ศ. 1884 - 1886
ภาพวาดอันโด่งดังของเค้าที่มีชื่อว่า ‘บ่ายวันอาทิตย์บนเกาะลากร็องด์ฌัต’ (‘A Sunday afternoon on the island of La Grande-Jatte’) ในปี ค.ศ. 1884 - 1886 ของจิตรกรอย่าง จอร์จ สูรัต (Georges Seurat)
  • หรือจิตรกร ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) กับผลงานชิ้นโบแดงของเค้าที่มีชื่อว่า ‘การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต’ (‘Dance at le Moulin de la Galette’) ในปี ค.ศ. 1876
  • พี่น้องลูมิแอร์ (Lumière Brothers) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหวและโรงหนังในยุคแรกเริ่ม ได้ฉายภาพเคลื่อนไหวของรถไฟในปี ค.ศ. 1895
ภาพถ่ายของพี่น้องลูมิแอร์ (Lumière Brothers)
  • หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) เป็นนักเคมีและนักจุลชีววิทยา ผู้ที่วางรากฐานทางการแพทย์สมัยใหม่และยังเป็นผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จเป็นคนแรกของโลก ไม่เพียงแค่นั้นแต่ยังประสบความสำเร็จในการทดลองวิธีการกำจัดเชื้อโรคด้วยวิธีพาสเจอร์ไรเซชั่นด้วยเช่นกัน
ภาพถ่ายของหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)
✨ชิ้นส่วนจิ๊กซอที่ยังคงขาดหายไป สิ่งที่ถูกมองข้ามและเข้าใจผิดในยุคสวยงาม
แต่บทความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็ยังคงมิใช่ภาพพจน์ที่สมบูรณ์แบบของสังคมชาวฝรั่งเศสเสียทีเดียว มันเป็นดั่งจิ๊กซอที่ยังขาดชิ้นส่วนต่างๆอยู่นั่นเอง ‘เบเล่ ป๊อค’ (Belle Époque) หรือก็คือยุคสวยงามนี้ได้ถูกขนานนามขึ้นมาหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงและมักพูดถึงวิถีชีวิตของชนชาวปารีเซียง หรือคนปารีสเสียมากกว่าชีวิตโดยรวมของชาวฝรั่งเศส
มิหนำซ้ำยังมองข้ามความเป็นจริงหลายอย่างในยุคก่อนสงคราม ประชากรเกือบครึ่งหนึงของชาวฝรั่งเศสนั้นยังเป็นชาวไร่ชาวนาและอาศัยอยู่ในชนบท ความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นก็สูงมากเกินไป ทำให้ประชากรส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชนชั้นหรือสถานะทางสังคมของตนเองได้ เป็นผลให้ตลาดการค้านั้นไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันผู้คนต่างก็แย่งชิงอำนาจและทรัพย์สิน
ด้วยความไม่เสมอภาคทางสังคมของฝรั่งเศสนี้บวกเข้ากับเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่พึ่งเกิดขึ้นมาใหม่อย่างรัสเซียและญี่ปุ่น ส่งผลให้ส่วนแบ่งในเศรษฐกิจโลกของฝรั่งเศสนั้นตกลงจาก 12.7% เป็น 7.6% จากปี ค.ศ. 1875 - 1913 (The Great War, France, 2018)
อย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่นั้นยังแค้นเคืองใจกับเหตุการณ์การพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสงครามแฟรงโก้-ปรัสเซีย ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียแคว้นอัลซาว-ลอร์เรนน์แก่เยอรมนี ทางฝรั่งเศสนั้นยังคิดเสมอมาว่าพื้นที่ส่วนนั้นยังเป็นดินแดนของตนและต้องการที่จะยึดคืนมาให้ได้
จึงเกิดการรณรงค์ต่อต้านเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง วิกฤตการณ์ภายในสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งนั้นล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเยอรมนีทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับ ‘วิกฤตการณ์บูลองจีส’ (Boulangist Crisis) ถูกตั้งชื่อตาม จอร์จ เออร์เนสต์ บูลองเจ่ (Georges Ernest Boulanger) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม (Minister of War) ในปี ค.ศ. 1886
ภาพวาดของหนังสือพิมพ์ที่กำลังอธิบาย จอร์จ เออร์เนสต์ บูลองเจ่ (Georges Ernest Boulanger) จาก ‘วิกฤตการณ์บูลองจีส’ (Boulangist Crisis) กำลังพยายามปลิดชีพตัวเองแทนที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองก่อไว้
โดยที่ท่านได้พยายามจะก่อปฎิวัติต่อรัฐบาลฝรั่งเศสและถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิด ท้ายที่สุดแล้วท่านก็เลือกที่จะปลิดชีพตัวเองในปี ค.ศ. 1891 แทนที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองก่อไว้ (The Great War, France, 2018)
นอกจากนี้ยังมี ‘เหตุการณ์แดรฟุส’ (Dreyfus Affair) ถูกตั้งชื่อตาม ร้อยเอก อาลแฟรด แดรฟุส (Alfred Dreyfus) (ท่านมีเชื้อสายชาวยิว) ผู้ซึ่งถูกตั้งข้อหาทรยศประเทศตนเองโดยการขายความลับทางการทหารให้แก่เยอรมนี
ภาพวาดของหนังสือพิมพ์ที่กำลังอธิบายการไต่สวนร้อยเอก อาลแฟรด แดรฟุส (Alfred Dreyfus) จาก ‘เหตุการณ์แดรฟุส’ (Dreyfus Affair) ในปี ค.ศ. 1884
ท่านถูกดำเนินคดีในปี ค.ศ. 1884 และการพิจารณาคดีของเขาก็ได้กลายมาเป็นที่สนใจของชาวฝรั่งเศสทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านชาวยิวและเยอรมนีมากกว่าเดิม แดรฟุสถูกตัดสินว่าบริสุทธิ์ในปี ค.ศ. 1906
โดยที่นักประวัติศาสตร์บางท่านยังได้เชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ฝรั่งเศสสร้างระบบพันธมิตรในยุโรปขึ้นมา บวกเข้ากับที่ฝรั่งเศสนั้นลงทุนพัฒนาระบบการก่อสร้างทางรถไฟกับรัสเซีย
ส่งผลให้เกิดการลงนามจัดตั้งพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซียขึ้นมาในปี ค.ศ. 1892 เพื่อตอบโต้พันธมิตรเยอรมนี-ออสเตรีย-ฮังการี และนอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ทางการทูตและวิกฤตการณ์อีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง (The Great War, France, 2018)
อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ มิใช่เยอรมนี เนื่องด้วยเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการช่วงชิงอาณานิคม ถึงกระนั้นด้วยความพยายามของเอกอัคราชทูตฝรั่งเศส ธีโอฟิล เดลคาสเซ่ (Théophile Delcassé) ทำให้เกิดพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศส-อังกฤษในปี ค.ศ. 1904
ทางเยอรมนีต้องการที่จะทำลายความสัมพันธ์นี้จึงนำไปสู่วิกฤตการณ์โมร็อกโก (Morocco Crisis) ที่เกิดขึ้นถึงสองครั้ง ซึ่งผมจะไปอธิบายในบทอื่น แต่ผลสรุปโดยรวมก็คือแทนที่เยอรมนีจะทำลายมิตรภาพระหว่างฝรั่งเศส-ฮังกฤษ กลับทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก
ผลกระทบอีกอันหนึ่งก็คือฝรั่งเศสกับเยอรมนียังเกือบจะได้ทำสงครามกัน แสดงให้ผู้คนในยุโรปได้รับรู้ว่าความตรึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้รุนแรงมาก และสงครามในยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด (The Great War, France, 2018)
หลังจากที่พ่ายแพ้ในสงครามแฟรงโก้-ปรัสเซียปี ค.ศ. 1871 ประเทศฝรั่งเศสก็ได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาสงครามและห้องสมุดทหารขึ้นมา เมื่อถึงปี ค.ศ. 1914 พวกเค้าจะมีห้องสมุดทหารเป็นจำนวน 200 แห่ง
นอกจากนี้นายทหารทุกยศทุกตำแหน่งยังต้องเข้าร่วมการประชุมและเขียนรายงาน การระดมพลที่ยุ่งเหยิงและวุ่นวายในสงครามแฟรงโก้-ปรัสเซียได้ถูกแก้ไขใหม่และวางแผนไว้เป็นอย่างดี โดยที่ได้มีการพัฒนาทางรถไฟเพื่อการระดมพลและเคลื่อนทัพที่ว่องไว ในขณะเดียวกันทางกองทัพก็ยังคงพยายามแก้ไขปัญหาและพัฒนาเกี่ยวกับสถาบันการศึกษาสงครามอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน
ในปี ค.ศ. 1886 ทางฝรั่งเศสยังได้คิดค้นกระสุนไร้ควันอันแรกของโลกและใช้กับปืนไรเฟิล ‘เลเบล 1886’ (Lebel 1886) ที่การันตีถึงความแม่นยำในระดับการยิงเดี่ยว ส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องยืนเรียงเป็นแถวเพื่อเพิ่มอำนาจการยิงอีกต่อไป
ภาพถ่ายของทหารฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 1
แต่นั่นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากนวัตกรรมใหม่ๆเหล่านี้ไม่ได้กำจัดความคิดการต่อต้านวัตถุนิยมของกองบัญชาการระดับสูงสมัยเก่าเลยแม้แต่น้อย (The Great War, Evolution French Army, 2018)
ไม่เพียงแค่นั้นพวกเค้ายังคงเชื่อในหลักการที่ว่า ขวัญกำลังใจที่เปี่ยมล้นจะสามารถเอาชนะอาวุธสมัยใหม่อย่างเช่นปืนกลได้ ทางกองทัพฝรั่งเศสในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นยึดหลักปรัชญาทางการรบ ‘อีลาน’ (Élan) ซึ่งก็คือการโจมตีอย่างเต็มที่และไม่หยุดยั้ง
ทางประเทศเยอรมนีนั้นมิได้มีความคิดการต่อต้านวัตถุนิยมเหมือนกับฝรั่งเศส เนื่องจากได้เรียนรู้บทเรียนที่ถูกต้องในสงครามแฟรงโก้-ปรัสเซีย ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1914 ทางกองทัพเยอรมนีนั้นมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านปืนกล ปืนใหญ่
และกำลังพลที่เหนือกว่าฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้นน จำนวนประชากรเยอรมนีเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าของฝรั่งเศส โดยในปี ค.ศ. 1890 ฝรั่งเศสมีจำนวนประชากรอยู่ที่ราวๆ 38 ล้านคน เทียบกับเยอรมนีที่มี 49 ล้านคน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 จำนวนประชากรฝรั่งเศสจะอยู่ที่ 40 ล้านคน ส่วนเยอรมนี 67 ล้านคน เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสได้ประกาศบังคับใช้ ‘กฎหมายสามปี’ (Three Year Law) ในปี ค.ศ. 1913 ซึ่งก็คือการยืดเวลารับราชการทหารเป็น 3 ปี เพื่อเป็นการทดแทนต่อจำนวนประชากรที่น้อยกว่าเยอรมนี
กองทัพบกฝรังเศสนั้นมีชื่อว่า ‘อาร์มมี่ เดอะ แตร’ (Armée de Terre) และมีกำลังพลในกองทัพยามสงบอยู่ 700,000 นาย (The Great War, France, 2018) (The Great War, Evolution French Army, 2018) (Sondhaus, World War One, 2020, #36-37) (Sondhaus, World War One, 2020, #27-29)
นายทหารฝรั่งเศสกำลังฝึกฟันดาบที่โรงเรียนนายร้อย ซอร์-สิ (Saint-Cy)
ส่วนทางด้านกองทัพเรือฝรั่งเศสนั้นก็มิได้มีขนาดที่ใหญ่เหมือนกับของสหาราชอาณาจักรหรือเยอรมนี แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงถือเป็นหนึ่งในกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้น
ในปี ค.ศ. 1914 กองทัพเรือฝรั่งเศสหรือรู้จักกันในนาม ‘มารีน เนชั่นแนล ฟรานเสรจ’ (Marine Nationale française) มีเรือชั้นเดรดนอทที่สามารถใช้สู้รบอยู่ 4 ลำ และกำลังสร้างขึ้นอีก 8 ลำ เมื่อเทียบกับราชนาวีอังกฤษที่มี 22 ลำ และเยอรมนีที่มี 16 ลำ (Konstam, 2013, #5) (Sondhaus, Naval Warfare, 2001, #214)
ภาพถ่ายของเรือซุปเปอร์-เดรดนอทฝรั่งเศส เบรทาเนีย (Super-dreadnought Bretagne)
นอกจากนี้เรายังสามารถกล่าวได้อีกว่าฝรั่งเศสเป็นผู้ก่อตั้งกองทัพอากาศสังกัดกองทัพบกแห่งแรกของโลก รู้จักกันในนาม ‘ไอโฮรนูทิค มิลิแทร์’ (Aéronautique Militaire) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1910
และเมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้น กองทัพอากาศสังกัดกองทัพบกฝรั่งเศสจะมีเครื่องบินอยู่ที่ประมาณ 132 ลำ จัดตั้งเป็น 25 กองบิน (Sumner, 2015, #31-33) (Tucker, Country-By-Country ,2019, #156)
ภาพถ่ายของเครื่องบินฝรั่งเศส มอริซ ฟาร์มมัน เอส.11 ชอร์ตฮอร์น ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (Maurice Farman S.11 Shorthorn)
บรรณานุกรม
โฆษณา