10 ก.ค. 2022 เวลา 07:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การลงทุนที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้
เชื่อว่านักลงทุนสายพื้นฐานหรือแบบ VI คงจะมีความเข้มงวดในการแกะงบการเงินมากพอสมควร เพื่อจะวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของธุรกิจผ่านตัวเลขต่างๆ และแนวโน้มความเป็นไปได้จะเป็นยังไงต่อไป ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะต้องการข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อความมั่นใจในการลงทุน
สำหรับท่านใดที่สามารถทำแบบนี้ได้ ก็นับว่ามีคุณสมบัติที่ดีมากของนักลงทุนและน่านับถือมากๆ แต่บางครั้ง การละเอียดจัดเกินไป การต้องการความสมบูรณ์แบบเกินไป มันก็กดดันตัวเองมิใช่น้อย
แต่ก็มีนักลงทุนอีกจำนวนมากเช่นกันที่อยากได้แบบกลางๆ ไม่ซ้ายจัดเกินไป หรือขวาจัดเกินไป อาจไม่ต้องการกำไรเวอร์วังมาก แต่ขอให้ผลตอบแทนที่ได้เป็นกำไร ที่ตัวเลขดูดีกว่าค่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นพอ ทำนองนี้
แต่ปัญหาของนักลงทุนส่วนใหญ่ ก็น่าจะคล้ายๆ กัน อย่างเช่น
- เห็นราคาลงเยอะแล้ว แต่ก็ยังไม่กล้าเข้าซื้อ เพราะกลัวจะลงไปอีกแล้วต้องติดดอย แต่ก็กลัวจะดีดกลับและตกรถมากกว่า 😅
- กลัวขายแล้วมันจะขึ้นไปต่อ ทำให้เสียโอกาสหรือพลาดกำไรที่ควรจะได้เต็มๆ
- ไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าซื้อขายหุ้นถ้าได้ข้อมูลไม่ครบ ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างกดดัน ทำให้กังวลและกลัวไปซะหมด
- ไม่กล้าลงทุนเยอะเพราะกลัวจะตัดสินใจผิด เมื่อหุ้นขึ้นเยอะ แต่เราซื้อน้อย ถึงกำไรจะเปอร์เซ็นต์มาก แต่คิดเป็นตัวเงินกลับได้เพียงน้อยนิด ก็เลยดูไม่ค่อยคุ้ม
- ซื้อขายช้าเกินไป เพราะมัวแต่รอดูข้อมูลที่ครบถ้วน จนนักลงทุนคนอื่นๆ เขาซื้อขายไปก่อนแล้ว จะเข้าลักษณะลุกช้าจ่ายรอบวง
นักลงทุนทุกท่านคงผ่านด่านปัญหาเหล่านี้กันมาแล้วทั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราไม่เกิดความลังเลก็คือ การปฏิบัติตามแผน หมายถึงการกำหนดแผนขึ้นมาแล้วก็ต้องลงมือทำตามนั้น ไม่ใช่มีแผนไว้ดูเท่ๆ เฉยๆ ค่ะ 🤭
นอกจากนี้ ก็มีสิ่งที่อยากแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคำนวณงบการเงินและการวิเคราะห์ต่างๆ ดังนี้
📌 ไม่ต้องคำนวณแบบละเอียดจนเกินไป
บางคนเปิดงบการเงิน แล้วนำตัวเลขมาคำนวณทศนิยมสองสามตำแหน่ง เยอะจัด ตัวเลขเต็มไปหมด บางทีเราควรดูแค่ประเด็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการดูอะไร และตัวเลขบอกอะไร เพราะฉะนั้น ทศนิยมสองสามตำแหน่งก็ตัดๆ มันออกไปก็ได้ เช่น
ถ้าดูรายได้ หรือกำไรของบริษัทที่มีหลักหมื่นล้านบาท หรือพันล้าน ทศนิยมนับว่าไม่จำเป็นเลย ก็ตัดออกไป
แต่ถ้าดู GPM, NPM ที่ทศนิยมต้องมี อาจดูแค่หลักเดียวเพื่อให้เห็นภาพ ยกเว้นหุ้นที่มาร์จิ้นต่ำมากๆ แบบ 1-2% ก็อาจไปดูสองตำแหน่ง เป็นต้น
หรือถ้าดู EPS ที่เป็นหลัก 0.xx บาท แบบนี้ อาจจำเป็นต้องดูทศนิยมสองตำแหน่ง
โดยสรุปคือ ดูว่ามันมีนัยสำคัญแค่ไหน ส่งผลต่อการตีความหมายผิดหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องดูแบบละเอียดขนาดนั้น เอาแบบตัวเลขไม่มาก อ่านแล้วสบายตา และไม่ชวนปวดหัวดีกว่า
📌 ไม่ต้องคำนวณหาคำตอบให้ได้แบบเป๊ะๆ
สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การเข้าใจโมเดลธุรกิจของแต่ละบริษัทว่าเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงคืออะไร ตัวเร่งที่ทำให้เติบโตคืออะไร คือเป็นการเริ่มต้นด้วยการเข้าใจภาพรวมของธุรกิจให้ได้ก่อน
ส่วนการประเมินมูลค่าต่างๆ ผ่านตัวเลขของงบการเงินนั้น อาจใช้หลักการที่ว่า ถ้ารู้ได้ 100 ก็จงเต็ม 100 แต่ถ้ารู้ได้แค่ 70-80% แล้วพอใช้งานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเป็นเดือนเพื่อไปหาข้อมูลมาเติมให้เต็มร้อย แต่ได้ประโยชน์เพิ่มนิดเดียว แบบนี้ก็ได้ไม่คุ้มเสีย
📌 ไม่ต้องสนใจรายได้อื่นมาก ถ้ามีสัดส่วนน้อยมาก และไม่ได้ผิดปกติ
โดยทั่วไปแล้ว งบการเงินของแต่ละบริษัทจะมีรายได้มาจากหลายทาง ซึ่งจะแบ่งเป็นรายได้หลัก และรายได้อื่น เช่น หากเป็นกิจการขายปลีก รายได้หลัก ก็คือรายได้จากการขายสินค้า ส่วนรายได้อื่น ก็อย่างเช่น รายได้ดอกเบี้ย รายได้ค่าเช่า เป็นต้น
ซึ่งบางคนอาจจะเคร่งเครียดกับรายได้ทุกบรรทัดที่มี นำมาดู นำมาคำนวณ คิดเยอะ ว่าทำไมถึงลดลง 40%, 50% มีปัญหาอะไรหรือเปล่า
ก่อนอื่นเราควรเทียบสัดส่วนของรายได้ดูก่อนว่า รายได้อื่นมีสัดส่วนเป็นแค่ไหนของรายได้ทั้งหมด ถ้าไม่ถึง 3% อาจไม่ได้มีนัยสำคัญมาก เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบกับรายได้รวมมากนัก
แต่ถ้าสัดส่วนของรายได้อื่นเยอะ ก็อาจต้องเพิ่มการวิเคราะห์หรือพิจารณาดีขึ้นมาหน่อย แล้วแต่กรณีไป
📌 ไม่ต้องแกะงบทุกบริษัทย่อยก็ได้ ถ้าไม่มีผล
มีหลายบริษัทที่มีบริษัทย่อยหรือบริษัทลูกเยอะ หรือมีกิจการร่วมค้าเยอะ ถ้าอยากประเมินราคาแบบละเอียดยิบ โดยการนำมูลค่าของแต่ละกิจการมารวมกัน ถ้าทำได้แบบนี้ก็ดีค่ะ
แต่ปัญหาคือ ถ้ามีบริษัทลูกเยอะ 10-20 บริษัทละ แถมบางบริษัทอยู่นอกตลาด ก็ยิ่งหาข้อมูลยากไปอีก กว่าจะเก็บข้อมูลครบใช้เวลาเป็นเดือน แบบนี้ก็ไม่คุ้ม
อาจใช้วิธีดูว่า 70-80% ของรายได้มาจากบริษัทไหนบ้าง เพราะจะมีผลต่องบของบริษัทแม่ที่เราซื้อหุ้น ส่วนบริษัทที่เหลือ ถ้ามีเวลาหาข้อมูลได้ก็ทำ แต่ถ้าเวลาน้อย ให้ดูแค่ว่ามีความเสี่ยงที่จะมีปัญหา สร้างภาระหนี้ก้อนโต เสี่ยงล้มละลาย หรือส่งผลต่อบริษัทแม่หรือไม่ เพื่อที่จะไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาในการตามหาข้อมูลให้ลำบากค่ะ
ตลาดหุ้นไม่มีคะแนนจิตพิสัย ไม่มีคะแนนความสวยงาม แต่ให้คะแนนคนที่ซื้อและขายถูกต้องเท่านั้น ดังนั้น ลงทุนทำการบ้านเท่าที่พอดี ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบมากก็ได้ค่ะ
โชคดีในการลงทุนทุกท่านค่ะ
Cr. stock2morrow
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา