9 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ความเชื่อเรื่องศาสนาฝังในยีนจริงหรือ?
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
อลิซาเบธกับแคโรไลน์เป็นฝาแฝดเหมือนชาวอังกฤษ พ่อเป็นพวก atheist* แม่เป็น agnostic* พื้นฐานครอบครัวนี้ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า
2
(* atheist คือผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีอยู่จริง ส่วน agnostic คือคนที่มองว่าพระเจ้าหรือผู้สร้างเป็นเรื่องที่เรายังไม่รู้และอาจไม่สามารถรู้ได้)
2
เมื่อเข้าโรงเรียนประถม เด็กทั้งสองสนใจในคริสตศาสนา ได้รับการแบ็พไทซ์ และสวดมนต์สม่ำเสมอ ทำให้พ่อแม่ประหลาดใจและไม่ค่อยชอบใจนัก
1
อะไรทำให้เด็กซึ่งเติบโตในครอบครัวที่ไม่สนใจศาสนาและไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า หันไปสนใจศาสนาและเชื่อเรื่องพระเจ้า?
ก็มีคนตั้งทฤษฎีว่า เป็นไปได้ไหมที่มันเป็นผลจากยีน ทำให้คนบางคนเข้าถึงเรื่องทางจิตวิญญาณง่ายกว่า? เป็นไปได้ไหมว่าความเชื่อมโยงกับศาสนาหรือเรื่องจิตวิญญาณถูกกำหนดมาก่อนทางพันธุกรรม?
5
เรียกมันว่ายีนศาสนาหรือยีนพระเจ้า (The God gene)
4
ฟังดูเหลวไหล แต่อย่าเพิ่งตัดสินว่ามันเหลวไหล
ผมรู้จักคนสองประเภท คนที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนาและลัทธิต่างๆ เลย กับคนที่คลั่งไคล้ศาสนา
ผมก็รู้จักคนที่งมงายศาสนาและเรื่องทางจิตวิญญาณระดับที่ไม่ยอมเปิดรับข้อถกอื่นๆ โดยสิ้นเชิง คุยเรื่องนี้กันเมื่อไร ก็ทะเลาะกันเมื่อนั้น
อะไรทำให้คนสองคนแตกต่างกันขนาดนี้? อะไรทำให้คนคนหนึ่งสนใจเรื่องจิตวิญญาณระดับคลั่งไคล้ อีกคนหนึ่งไม่สนใจเลย?
2
เมื่อดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยาก้าวหน้าขึ้น เราค้นพบข้อมูลมากขึ้นกว่าคนในหลายศตวรรษก่อน เรารู้เรื่องกำเนิดจักรวาล อายุของจักรวาล ซึ่งชี้ไปในทิศทางว่า จักรวาลมิได้ถูกสร้างมาในเวลาหกพันกว่าปีตามคัมภีร์ไบเบิล และอาจไม่มีพื้นที่ให้พระเจ้าหรือผู้สร้าง จึงไม่แปลกที่นักวิทยาศาสตร์และนักจักรวาลวิทยาจำนวนมากไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า กระนั้นก็มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยเชื่อเรื่องพระเจ้าควบคู่กับเชื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่สองเรื่องนี้ขัดแย้งกัน
6
ทฤษฎี The God gene เสนอว่าความศรัทธาทางจิตวิญญาณของมนุษย์เราได้รับอิทธิพลมาจากยีนที่เรียกว่า Vesicular MonoAmine Transporter 2 (VMAT2) ทำให้คนที่มียีนนี้มักเข้าหาความเชื่อความศรัทธาทางจิตวิญญาณหรือศาสนาง่ายกว่าคนไม่มี
3
ผู้เสนอไอเดียนี้เป็นนักพันธุกรรมศาสตร์มีชื่อ ดีน ฮาเมอร์ เขียนในหนังสือเรื่อง The God Gene: How Faith is Hardwired into our Genes
ทฤษฎีนี้เห็นว่า ความโน้มเอียงเข้าหาเรื่องจิตวิญญาณน่าจะเป็นพันธุกรรม หรืออย่างน้อยพันธุกรรมก็มีส่วนอยู่บ้าง
2
VMAT2 มีบทบาทจัดการระดับสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน โดพามีน นอเรพีเนฟรีน ทำให้เกิดความรู้สึก 'เหนือโลก' คล้ายเชื่อมกับอำนาจพิเศษ เช่น การสัมผัสความคงอยู่ของพระเจ้า หรือความรู้สึกของการเชื่อมกับจักรวาลอันยิ่งใหญ่
5
ฮาเมอร์เรียกความสามารถที่จะมองเห็นพ้นตัวเองนี้ว่า self-transcendence ซึ่งเป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยนักจิตวิทยา รอเบิร์ต โคลนินเจอร์
เอาละ ก่อนที่จะตัดสินใจว่ายีนแห่งความเชื่อทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องเหลวไหล เราควรมองดูเส้นทางวิวัฒนาการของเรา มนุษย์โฮโม ซาเปียนส์ มีจุดกำเนิดที่แอฟริการาวสองแสนปีก่อน ราวหกหมื่นปีก่อนก็เริ่มอพยพออกจากแอฟริกา กระจายไปทั่วโลก เมื่อไปถึงดินแดนหนาวเหน็บ ผิวกายก็เปลี่ยนจากสีเข้มเป็นขาวขึ้น นัยน์ตาเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีฟ้า ผมสีทอง ฯลฯ ผ่านไประยะหนึ่ง สีผิวสีนัยน์ตา สีผม ก็ถูกบันทึกไว้ในยีน
4
ในระยะเวลาหกหมื่นปี เราสามารถสร้างยีนใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมขึ้นมาได้
ในทางวิวัฒนาการ ดูเหมือนว่าพฤติกรรมอะไรที่กระทำต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า จะฝังลงในระดับยีน
บางทีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณก็เป็นเช่นนี้ ในสมัยโบราณ ศาสนาหรือความเชื่อด้านจิตวิญญาณอาจทำหน้าที่เป็นกฎหมายหรือรัฐบาลกลายๆ มันเชื่อมคนเข้าด้วยกัน ผ่านไปนานๆ ก็อาจสลักในยีน
เรารู้ว่าพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมักมีเหตุผลและหน้าที่ใช้สอย ทฤษฎี The God Gene เสนอว่าความเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณน่าจะมีประโยชน์ต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ ทำให้สายพันธุ์มนุษย์อยู่รอดดีขึ้น
อย่างไร?
การเชื่อมกับด้านจิตวิญญาณน่าจะทำให้คนมองโลกด้านบวก มีเป้าหมาย ทำให้ใช้ชีวิตดีขึ้น และอยู่รอดได้ดีขึ้น
1
อย่างไรก็ตาม นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ที่มีชื่อ คาร์ล ซิมเมอร์ เห็นต่าง เขากล่าวว่าหลักฐานน้อยไป
1
คนในวงการศาสนาก็ไม่ค่อยให้ความสนใจและไม่เชื่อทฤษฎียีนศาสนา หลายคนในคริสตจักรเห็นว่า ความเชื่อในศาสนาเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม สังคม ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ใช่ยีน
1
ฮาเมอร์แย้งกลับว่า หากยีนพระเจ้านี้เป็นจริง ก็มิได้ชี้ว่าไม่มีพระเจ้าแต่อย่างใด ทฤษฎีของเขาเพียงถามว่ามียีนพระเจ้าไหม ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นมีพระเจ้าไหม
แต่ไหนแต่ไรมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพฤติกรรมทางศาสนาเป็นผลจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อม หรือสังคม เด็กๆ มักมีความเชื่อตามพ่อแม่ (แต่อาจเปลี่ยนไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่) แต่การวิจัยในยุคหลัง โดยเฉพาะจากการวิจัยฝาแฝดที่แยกไปอยู่คนละสิ่งแวดล้อม พบว่ายีนมีส่วนกำหนดเรื่องศาสนาถึง 40 เปอร์เซ็นต์
2
การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งกระทำที่รัฐมินเนโซตา สหรัฐฯ สุ่มตัวอย่างฝาแฝดเหมือน 169 คู่ ฝาแฝดธรรมดา 104 คู่ กลุ่มตัวอย่างต้องตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมทางศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ
1
งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า ฝาแฝดทั้งหมดเมื่อเป็นเด็กมักจะเชื่อเหมือนกันทั้งครอบครัว ทว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มีแต่ฝาแฝดเหมือนที่เชื่อเหมือนกัน ส่วนฝาแฝดธรรมดาสองในสามเท่านั้นที่ยังเชื่อเหมือนกัน
4
การวิจัยทำนองเดียวกันทั่วโลก เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ให้ผลลัพธ์คล้ายกัน นั่นคือมีแนวโน้มว่าพันธุกรรมมีผลต่อความศรัทธาทางศาสนา
2
นักวิจัยอีกสองคนศึกษาลึกขึ้น คือทีมนักวิชาการชาวอังกฤษ นิค มาร์ติน กับ ลินดอน อีฟส์ ศึกษาวิจัยฝาแฝดเช่นกัน ผลวิจัยชิ้นนี้บอกว่าราว 40 เปอร์เซ็นต์ของความเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณดูเหมือนเกี่ยวข้องกับยีน แต่ไม่มีหลักฐานว่าความเชื่อศาสนาแต่ละค่ายเกี่ยวกับยีน ดูเหมือนจะเกี่ยวกับวัฒนธรรมมากกว่า
2
พูดง่ายๆ คือ จิตวิญญาณเป็นเรื่องพันธุกรรม ส่วน 'ยี่ห้อ' หรือ 'ค่าย' ของศาสนาเป็นเรื่องวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี
2
หลักฐาน?
2
ก็ต้องกลับมาที่กรณีของอลิซาเบธกับแคโรไลน์
หลังจากพ่อแม่แยกทางกัน เด็กทั้งสองก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ แต่ค่อยๆ ลดความสนใจเรื่องศาสนาและการสวดมนต์
1
เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งสองก็ไปเรียนที่คนละมหาวิทยาลัย แคโรไลน์ค้นพบตัวเองว่าเธอศรัทธาในศาสนาคริสต์ เข้าร่วมกลุ่มในโบสถ์ อลิซาเบธกลับสนใจศรัทธาในอิสลาม ทั้งที่ความจริงเธอเริ่มต้นด้วยการต่อต้านอิสลาม จึงพยายามค้นหาทางล้มความเชื่อนี้โดยอ่านคัมภีร์กุรอ่าน ปรากฏว่าเธอกลับสนใจอิสลามขึ้นมา
11
ทั้งสองแต่งงานมีครอบครัว แคโรไลน์แต่งงานกับคนอังกฤษ อลิซาเบธแต่งงานกับชาวปากีสถานมุสลิม
1
ตัวอย่างนี้ชี้ว่าหากยีนศาสนามีจริง ยีนก็เพียงผลักดันใครคนหนึ่งให้เข้าหาเรื่องจิตวิญญาณ แต่ไม่สามารถกำหนด 'ยี่ห้อ' หรือ 'ค่าย' ของศาสนาหรือความเชื่อ เหมือนความรู้สึกหนาวผลักดันให้เราสวมเสื้อผ้า ส่วนจะสวมแฟชั่นแบบไหน ก็แล้วแต่ท้องถิ่น
2
ฟรานส์ เดอ วาล นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลิงโบโนโบ กล่าวว่า ในเมื่อข้อเท็จจริงชี้ว่าสังคมทั้งหมดในโลกล้วนมีศาสนา ตามหลักวิวัฒนาการ ศาสนาก็ต้องมีประโยชน์ทางสังคมอะไรสักอย่าง
2
ก่อนอื่นเราต้องตกลงกันว่า อะไรคือศาสนา
ในหนังสือเรื่อง The Bonobo and the Atheist ฟรานส์ เดอ วาล เขียนว่าศาสนาน่าจะเป็น "ความเคารพร่วมกันต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จิตวิญญาณ รวมทั้งสัญลักษณ์ พิธีกรรม และการบูชาที่เกี่ยวข้อง"
1
ฟังดูเป็นวิชาการไปนิด แต่ความหมายคือศาสนาเป็นเรื่องจิตวิญญาณของสังคม
2
หากไม่มีสังคม ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาสนา
2
หากในโลกนี้มีเราเพียงคนเดียว เราก็ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศีลธรรม เพราะเราคนเดียวทำ 'บาป' ไม่ได้
7
เมื่อดูจากหลักฐานด้านต่างๆ ดูเหมือนว่าวิวัฒนาการไม่ได้ตั้งเป้าเจาะจงให้เกิดศาสนา แต่ศาสนาเป็น by-product (ผลพลอยได้) ของกระบวนการวิวัฒนาการ ที่อาจช่วยแก้ปัญหาบางอย่างของคนในกลุ่มสังคม
คำถามต่อมาคือมนุษย์โบราณเริ่มมีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณขึ้นมาได้อย่างไร?
จอนาธาน เทอร์เนอร์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ เชื่อว่าความรู้สึกบางอย่างของมนุษย์มีผลต่อการกำเนิดและพัฒนาศาสนา
ถ้าจะเข้าใจบทบาทหน้าที่ของศาสนาดีขึ้น ก็ควรต้องเข้าใจความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ก่อน
มนุษย์เรามีความรู้สึกหลักสี่ชนิดคือ ความก้าวร้าว ความกลัว ความเศร้า และความสุข
สามอย่างแรกเป็นความรู้สึกด้านลบ
เทอร์เนอร์ชี้ว่า บางทีตามหลักการคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural Selection) ธรรมชาติต้องสร้างความรู้สึกบวกอีกชนิดหนึ่งเพื่อคานกับด้านลบ
1
เขาเสนอความคิดเรื่อง First-order and Second-order Elaborations ว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกเกิดจากการผสมของอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐาน
2
ในระดับแรก ความรู้สึกหลายอย่างเกิดมาจากการผสมความรู้สึกหลัก ยกตัวอย่าง เช่น ความอาฆาตแค้นเกิดจากส่วนผสมระหว่างความสุขกับความกลัว
3
ความหึงหวงเป็นผลการการผสมความโกรธกับความกลัว
ความเคารพยำเกรงซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของศาสนา เป็นส่วนผสมของความกลัวกับความสุข
1
ในระดับที่สองซึ่งซับซ้อนขึ้น ปรากฏในวิวัฒนาการของ โฮโม อีเร็คตัส (1.8 ล้านปีก่อน) และ โฮโม ซาเปียนส์ (สองแสนปีก่อน) ยกตัวอย่าง เช่น ความรู้สึกผิดกับความละอายเป็นความรู้สึกที่สำคัญต่อการพัฒนาศาสนา เป็นส่วนผสมของความเศร้า ความกลัว และความโกรธ
2
มองในมุมนี้ ศาสนาก็อาจจัดเป็น 'ความรู้สึก' อย่างหนึ่ง
6
การที่มนุษย์อยู่เป็นกลุ่ม ก็จำเป็นต้องพัฒนากลไกบางอย่างให้เอาตัวรอดได้ทั้งสายพันธุ์
1
เมื่อมนุษย์ย้ายออกจากป่ามาสู่ทุ่งกว้าง เดินสองขา ในทุ่งกว้าง การยืนมีประโยชน์มากกว่าเพราะมองเห็นศัตรูแต่ไกล การเชื่อมสัมพันธ์กับสังคมช่วยให้ทั้งกลุ่มรอดชีวิตได้สูงกว่า
2
ก็คือหน้าที่ของ empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
1
empathy ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งคือการแบ่งอาหารกัน อีกอย่างหนึ่งคือการดูแลคนเจ็บ
3
การแบ่งอาหารกันเป็นการเกื้อกูลกัน ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่จะช่วยเหลือกันฟันฝ่าอันตรายจากสัตว์ป่า และอื่นๆ นี่ก็จัดว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ
2
ในความคิดของ ฟรานส์ เดอ วาล empathy ไม่ได้เริ่มต้นในหัว มันเริ่มต้นในร่างกายของเรา มันเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์คนหนึ่งวิ่งขณะที่คนอื่นวิ่ง หัวเราะเมื่อคนอื่นหัวเราะ ร้องไห้เมื่อคนอื่นร้องไห้ หาวเมื่อคนอื่นหาว
2
มันคือการประสานด้วยกัน ทำให้เกิดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา empathy ทำให้เราสนใจกันและกัน
1
เขาเขียนว่า empathy เป็นองค์ประกอบกลางของศีลธรรม ปราศจาก empathy มนุษย์ก็ไม่มีระบบศีลธรรรมและศาสนา
1
นักสังคมวิทยาหลายคนก็เห็นด้วยว่า การแชร์สิ่งของกันเป็นการเชื่อม 'ศีลธรรม' ในสังคม หรืออาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดศีลธรรม
ระบบศีลธรรมอาจเป็นเครื่องมือทำให้เราอยู่ด้วยกันดีขึ้น และระบบศีลธรรมก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาแนวเทวนิยมหรืออเทวนิยม
1
ศาสนามีความเกี่ยวข้องกับความเป็นสังคม ความรู้สึกร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าการเข้าสังคมนี่แหละที่ทำให้เกิดศาสนา
เราอาจมีสมองใหญ่กว่าสัตว์ ใหญ่กว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้าเรา แต่ไม่ใช่ขนาดสมองอย่างเดียวที่ทำให้เรารอดมาได้ หากคือความรู้สึกเชื่อมกัน มีอารมณ์หลายอย่าง ทั้งหมดช่วยให้เรารอด
4
การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความเข้าอกเข้าใจคนอื่น หรือ empathy ก็คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดศาสนาในที่สุด
1
คำถามต่อมาคือ empathy ในมนุษย์เกิดมานานเท่าใดแล้ว? ตั้งแต่กำเนิด โฮโม ซาเปียนส์ ใช่ไหม? คำตอบคือไกลกว่านั้นมาก
1
หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลรู้จักฝังศพผู้ตาย และมีพิธีศพด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่ามนุษย์โบราณสายพันธุ์นี้ดูแลคนป่วย คนบาดเจ็บ
แน่นอนพวกนีแอนเดอธัลก็รู้จักแบ่งอาหารกัน
1
แต่การแบ่งอาหารกันเกิดขึ้นมานานก่อนหน้าพวกนีแอนเดอธัล มนุษย์วานรเมื่อหลายล้านปีก่อนก็แบ่งอาหารกัน
แต่มันยังไม่ได้เริ่มตรงจุดนั้น เพราะพวกสัตว์ก็แบ่งอาหารกันเช่นกัน เช่น ชิมแปนซี ลิงโบโนโบ ล้วนมีพฤติกรรมแบ่งอาหารให้กลุ่มอื่นๆ
การแบ่งอาหารอาจสืบสายมานานนับล้านๆ ปีหรือหลายสิบล้านปีมาแล้ว
ฟรานส์ เดอ วาล เขียนว่า เราเห็นสัตว์แบ่งอาหารกัน แม้ว่ามันทำให้ต้องเสียอาหารของมันไป จากการสังเกตสัตว์ต่างๆ สรุปได้ว่าสัตว์หลายพันธุ์ แนวโน้มแรกของสัตว์หลายสายพันธุ์คือเห็นแก่สัตว์อื่นและให้ความร่วมมือ คุณลักษณ์นี้ปรากฏในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากอย่างเป็นธรรมชาติมาก
1
นี่เป็นหลักฐานว่า empathy ย้อนหลังไปไกลกว่ามนุษย์ มันปรากฏในสัตว์หลายสายพันธุ์ก่อนเรา
1
และถ้าสัตว์มี empathy ก็แปลว่าสัตว์ก็มีความสนใจในเรื่องจิตวิญญาณ และมีหลักฐานเรื่องนี้
ดังนั้นหากศาสนาคือการเชื่อมสัมพันธ์ของกลุ่ม โดยมี empathy ก็อาจพูดได้ว่า สัตว์ก็มีศาสนา
1
ชิมแปนซีก็มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนเรา สุข เศร้า กลัว สิ้นหวัง ฯลฯ ดังนั้นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกเลยหากลิงก็มีเรื่องของจิตวิญญาณ เพราะเรามียีน 99 เปอร์เซ็นต์เหมือนชิมแปนซี
3
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าลิงวิวัฒนาการมาราว 19 ล้านปีก่อน แตกสายเป็นอุรังอุรังราว 13-16 ล้านปีก่อน แตกสายเป็นกอริลลาราว 8-9 ล้านปีก่อน แตกสายเป็นชิมแปนซีและโบโนโบราว 5-7 ล้านปีก่อน และอีกสายหนึ่งมาเป็นมนุษย์ในวันนี้
1
แต่ในเรื่องสังคม มนุษย์มีความสามารถเข้าสังคมมากกว่าชิมแปนซีถึงสามเท่า ศาสนาของมนุษย์อาจซับซ้อนกว่า แต่เราอาจไม่ใช่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่เป็นอย่างนี้
3
เรายังอยู่ไกลจากบทสรุปว่ายีนศาสนาและความศรัทธาทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่หลักฐาน ณ วันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า ศาสนาและความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของสัตว์สังคม มันเกิดขึ้นโดยเลี่ยงไม่พ้น
2
คำถามคือเราจะใช้มันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้อย่างไร
3

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา