21 ก.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
กุ้งเป็นเมนูดาวดวงเด่นของร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา
กุ้ง กำลังเป็นดาวดวงเด่นสำหรับภัตตาคารและร้านอาหารในสหรัฐฯในช่วงฤดูร้อนปีนี้ กุ้งกลายเป็นอาหารทะเลตัวเลือกที่ร้านอาหารส่วนใหญ่นิยมใช้เป็นเมนูต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกรับประทานได้มากขึ้น ด้วยราคากุ้งยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อีกทั้งซัพพลายเชนยังจัดหาได้เมื่อเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่นๆ
แม้ว่าในช่วงปี 2563 ยอดขายตลาดกุ้งซบเซาลงเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ในปีที่ผ่านมาพบว่า ยอดขายตลาดกุ้งผ่านช่องทางธุรกิจบริการอาหารในสหรัฐฯ กลับกระเตื้องขึ้น
จากข้อมูลการประชุมของ National Fisheries Institute Global Seafood Market Conference ในเดือนมกราคม 2564 ระบุว่า ปริมาณกุ้งในปีที่ผ่านมาที่มีการจำหน่ายผ่านช่องทางธุรกิจบริการอาหารมีปริมาณถึง 275 ล้านปอนด์ (125 ล้านกิโลกรัม) เพิ่มขึ้น 50 ล้านปอนด์(23 ล้านกิโลกรัม) จากปี 2563 และเทรนด์การบริโภคกุ้งของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังคงมีต่อเนื่องเป็นได้จากตัวเลขการนำเข้ากุ้งของสหรัฐอเมริกาในปีนี้พบว่าในแต่ละเดือนมีจำนวนเพิ่มขึ้น
ในรายงานของบริษัทวิจัย Datassential ได้ระบุว่า เกือบ 1 ใน 3 ของภัตตาคาร ร้านอาหารในสหรัฐฯ ได้มีการเพิ่มเมนูกุ้งที่เสริมควบคู่ไปกับเมนูอาหารทะเลอื่นๆ มากขึ้น เช่น การเสริมกุ้งไปกับเมนูปลาแซลมอน หรือการจัดทำโปรโมชั่นเมนูกุ้ง Citrus Lime Shrimp ของร้านอาหาร Qdoba ร้านลูกโซ่อาหารเม็กซิกัน ซึ่งร้านได้มีการทดสอบตลาดและพบว่าลูกค้านิยมรับประทานโปรตีนประเภทเบา (light protein) ร้านจึงเสริมกุ้งไปกับเมนูอื่นๆ เช่น เมนู Surf & Turf Bowl หรือ เมนู Burrito หรือเมนูเนื้อย่าง Grilled Adobo Steak
สำหรับร้านอาหารอื่นๆ ที่มีการนำกุ้งไปเสริมกับเมนูอื่นๆ ของร้าน เช่น ร้าน Captain D’s ในรัฐเทนเนสซีจัดโปรโมชั่น Butterfly Shrimp, Popcorn Shrimp ในเมนู Ultimate Seafood Platter คู่ไปกับปลาและ Stuffed Crabs
ร้าน Bonefish Grill ในรัฐฟลอริด้า นำเสนอเมนู Pineapple Glazed Shrimp หรือร้าน Taco John ในเมืองไชแอนน์ รัฐไวโอมิงนำเสนอเมนู New Mango Shrimp Street Taco เป็นต้น
ในส่วนของยอดขายของร้านอาหารในสหรัฐฯ โดยรายงานของบริษัท บริษัท Black Box Intelligence แจ้งว่า ยอดขายของธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น อาทิ ร้านลูกโซ่ในเครือของบริษัท Darden Restaurant ในรัฐฟลอริด้า
มียอดขายเพิ่มขึ้น เช่น
ร้าน Longhorn Steakhouse ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 28
ร้าน Olive Garden เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 และในไตรมาส 4 ยอดขายของบริษัทฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8 หรือคิดเป็นมูลค่า 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในขณะที่ร้านอาหารประเภท Fine-Dining อาทิ Capital Grille และ Eddie V’s มียอดขายเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 63
ตลาดการบริโภคกุ้งในสหรัฐฯ
สำนักงาน National Fisheries Institute ของสหรัฐฯ รายงานว่า อัตราการบริโภคกุ้งต่อคนในหนึ่งปีของสหรัฐฯ คิดเป็น 5 ปอนด์ (2.72 กิโลกรัม) ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 1 ปอนด์ (0.45 กิโลกรัม) จากปี 2562 กุ้งที่จำหน่ายและบริโภคในสหรัฐฯ ร้อยละ 90 นำเข้าจากต่างประเทศ จากแหล่งผลิตในเอเชียและลาตินอเมริกา ในขณะที่ผลผลิตกุ้งในประเทศสนองความต้องการได้เพียงร้อยละ 10
ภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดการบริโภคกุ้งในสหรัฐฯ เป็นผลให้ราคาจำหน่ายที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 20 ด้วยเหตุผลปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ค่าขนส่ง และ โลจิสติกส์ แต่ในปัจจุบัน ได้ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 7-10 แม้ว่า ราคากุ้งนำเข้าลดลงและปริมาณกุ้งเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นสูง และภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และคาดว่าราคากุ้งมีแนวโน้มทรงตัวไปจนถึงสิ้นปี 2565
การนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ เป็นตลาดนำเข้ากุ้งที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยนำเข้ากุ้ง (ทั้งประเภทแช่แข็งและแปรรูป) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) เป็นจำนวน 360,071 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.31 หรือคิดเป็นมูลค่า 4,459.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ อินเดีย (ร้อยละ 21) อินโดนีเชีย (ร้อยละ 20) เอควาดอร์ (ร้อยละ 11) และ เวียดนาม (ร้อยละ 6.5) ตามลำดับ
ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ นำเข้ากุ้งจากไทยเป็นจำนวน 14,884 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.45 หรือคิดมูลค่า 169 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.48
ปัญหาและอุปสรรคการขยายตลาดกุ้งไทย
อุปสรรคต่อการขยายตลาดกุ้งไทยในสหรัฐฯ มี 2 ประการ คือ การเสียภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ซึ่งปัจจุบันกุ้งไทยยังเสียภาษี AD และปัญหาการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP Report) และในปี 2564 ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Tier2 Watch List ซึ่งถูกปรับลดให้ต่ำลงจาก Tier 2 ในปี 2563
ปัจจุบัน อัตราการบริโภคกุ้งของคนอเมริกันเพิ่มมากขึ้น ตลาดการขายและบริโภคขยายตัว ความต้องการนำเข้ามาจำหน่ายขยายตัวสูงขึ้นในปี 2565 ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เพิ่มการนำเข้ากุ้งจากประเทศไทย
กุ้งทำจากพืช (Plant based Shrimp) เป็นอาหารทะเลทางเลือกและกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภควีแกน ผู้บริโภคแพ้อาหารทะเล หรือผู้บริโภคอิงสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน มีวางจำหน่ายตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและเสิร์ฟในร้านอาหาร ดังนั้น กุ้งทำจากพืชจึงเป็นภัยคุกคามต่อตลาดกุ้งในสหรัฐฯ
โฆษณา