24 ก.ค. 2022 เวลา 23:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หวีดสยองชวนครองรัก
Photo by Kevin Escate on Unsplash
ทำไมคนที่กลัวนั่นกลัวนี่หลายๆ คน ทำไมจึงยังคงชมชอบดูหนังตระกูลหวีดสยองทั้งหลาย?
นักวิจัยฝรั่งบางคนก็สงสัยแบบนี้ครับ เพราะว่ามีทฤษฎีเบื้องต้นเรื่องหนึ่งทางจิตวิทยาที่ว่า คนเรามีแรงจูงใจที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองได้มีความสุขและหลบเลี่ยงเรื่องที่จะต้องทำให้ทุกข์ ซึ่งก็รวมทั้งเรื่องชวนหวาดผวาต่างๆ ด้วย
คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่สงสัย แต่ยังได้พยายามหาคำตอบให้แก่ตัวเองและคนอื่นด้วย และคำตอบที่ได้ก็น่าสนใจมากๆ เสียด้วย
ผมจะขอยกตัวอย่างให้ดูสักเล็กน้อยนะครับ
ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2003 ชื่อ “โครงสร้างของภาพยนตร์และระบบอารมณ์ (Film Structure and the Emotion System)” นั้น ศาสตราจารย์เกร็ก สมิธ (Greg Smith) ผู้เขียนชี้ว่า
หนังสยองขวัญที่ดีนั้น มีลักษณะสำคัญคือต้องรู้ "จังหวะ" ของหนัง และทำให้เกิดบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว
แต่ต้องปล่อยให้คนดูเป็นคนสร้างภาพชวนหลอนขึ้นในจิตใจตนเอง
ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมเช่น เรื่อง “ซิกซ์เซ้นส์ ... สัมผัสสยอง (The Sixth Sense)” ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงนั้น
ช่วงหนึ่งเด็กในเรื่องเห็นผีแทบจะทุกๆ 10 นาที จากนั้น กลับทิ้งช่วงอย่างยาวนานกว่าจะเห็นผีอีกสักครั้ง เพื่อสร้างจังหวะให้คนดูลุ้น
https://play.google.com/store/movies/details/The_Sixth_Sense?id=UjOUYriND3c&hl=th&gl=US
ทำนองเดียวกัน คนที่ดูเรื่อง “เอเลียน (Alien)” ภาคแรกที่แทบจะไม่เคยเห็นภาพสัตว์ต่างดาวอย่างเต็มตาเลยตลอดเรื่อง แต่อาการลับๆ ล่อๆ ของการปรากฏตัวแต่ละครั้งนั้น ก็ก่อให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงในใจของคนดูเป็นอย่างยิ่ง
คุณสมิธแกถึงกับสรุปเป็นสูตรสำเร็จเลยว่า หากจะให้ประสบความสำเร็จ หนังระทึกขวัญสไตล์ฮอลลีวูดต้องเป็นแบบออกมาเขย่าขวัญคนดูให้ได้ใน 10 นาทีแรก
ก่อนจะปล่อยให้มีเลือดสาดกระเซ็นบ้างเล็กๆ น้อยๆ เป็นระยะๆ ตลอดเรื่อง!
https://www.bestbuy.com/site/alien-6-film-collection-includes-digital-copy-blu-ray/5926200.p?skuId=5926200&intl=nosplash
ที่ตลกก็คือผู้สร้างหนังที่ไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ อาจจะพยายามใส่เลือดเข้าไปจนท่วมจอ ซึ่งจะได้ผลในทางตรงกันข้ามคือ ทำให้คนดูรู้สึก “เฝือ” และเบื่อแทนที่จะกลัว
แกยังฟันธงต่อไปอีกว่าเทคนิคพิเศษ (special effect) ไม่ได้ส่งผลมากเท่ากับจังหวะและบรรยากาศข้างต้น
ผู้กำกับชาวไทยน่าจะได้ประโยชน์จากความรู้เรื่องนี้นะครับ
ดร.อลัน ฮิลเฟอร์ (Dr. Alan Hilfer) ที่เป็นนักจิตวิทยาบอกว่า คนเราชอบประสบการณ์อารมณ์ที่ “เข้มข้น” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืออารมณ์กลัวนี่เอง
แต่ต้องเป็นอารมณ์กลัวแบบรู้แน่ชัดว่า เราไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายจริงๆ เรียกว่า ... กลัวได้ สยองดี แต่ต้องไม่มีตายจริง!
นี่เองที่อาจเป็นคำอธิบายว่า ทำไมหนังสยองขวัญสั่นประสาทจึงยังคงเป็นประเภทหนังยอดฮิตของฮอลลีวูดและสารขัณฑ์ประเทศไปอีกนานเท่านาน
แต่ผลจากความสยองเหล่านี้อยู่ในจิตใจคนดูนานแค่ไหนกัน?
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 1999 ในวารสารชื่อ Media Psychology ระบุว่า จากการศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 150 คนพบว่า
มากถึงราว 90% ทีเดียวที่รู้สึกสยองขวัญไปกับสิ่งที่เห็นในภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ โดยมีถึง 26% ที่กล่าวว่า ยังคงมีร่องรอยความกลัวตกค้างถึงปัจจุบัน
ราว 52% บอกว่าสิ่งที่ซึมซับเข้าไปเหล่านี้ไปรบกวนชีวิตประจำวันในหลายรูปแบบ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ หรือกินข้าวปลาไม่ลงหลังชม และราว 1 ใน 3 ยังพบอีกด้วยว่า ผลกระทบดังกล่าวตกค้างอยู่นานนับสัปดาห์หลังชม
มีถึงราว 1 ใน 3 เช่นกันที่พบว่ายังคงรู้สึกสยองลึกอยู่นานเป็นปี!
งานวิจัยดังกล่าวยังพบอีกด้วยว่า ยิ่งอายุขณะที่ชมภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์สยองขวัญเหล่านั้นของนักศึกษาผู้นั้นน้อยเท่าใด ผลตกค้างด้านอารมณ์ก็ยิ่งยาวนานมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย
ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองต้องดูแลให้บุตรหลานท่านที่อายุน้อยๆ ไม่ต้องพบภาพชวนสยองขวัญสั่นประสาทหรืออุดจาดตา (หนังสือพิมพ์หัวสีในบ้านเราคงเข้าข่ายด้วย)
แต่ใช่ว่าอารมณ์กลัวหรือสยดสยองจะให้แต่ผลร้าย
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2010 ในวารสาร Behavioral Ecology โดยนักวิจัยสหรัฐฯ ที่ไปวิจัยนกชนิดหนึ่งในออสเตรเลียคือ นก splendid fairy-wren เกิดไปพบเหตุการณ์ประหลาดเข้าก็คือ
นกชนิดนี้ที่เป็นตัวผู้มีพฤติกรรมประหลาดคือ หากได้ยินนกนักล่าศัตรูตัวฉกาจของมันคือ butcherbird ร้องขึ้นใกล้ๆ เมื่อใด มันจะร้องเลียนเสียงประกบตามไปในทันที จนคนที่ได้ยินอาจรู้สึกราวกับเป็นการร้องคอรัส ในขณะที่ตัวเมียก็ต้องตั้งท่าหลบเจ้านกนักล่าทันที
ทำไมนกที่อาจตกเป็นเหยื่อ จึงได้กล้าแหยมส่งเสียงร้องล้อเลียนนกนักล่าได้?
นักวิจัยทีมดังกล่าวอธิบายว่า เป็นไปได้ว่านกตัวเมียพันธุ์ดังกล่าวอาจรู้สึกว่า ตัวผู้ที่ส่งเสียงร้องดังกล่าวช่างเท่นัก (แรมโบ้มากๆ)
มีหลักฐานคือนกตัวเมียพวกนี้ชอบที่จะผสมกับนกตัวผู้ดังกล่าวมากกว่าตัวผู้อื่นๆ ราวกับเสียงอันน่าหวาดหวั่นเขย่าประสาทดังกล่าว ดันไปกระตุ้นอารมณ์โรมานซ์ของมันเข้า
การค้นพบดังกล่าวถือว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียว เพราะรู้กันมานานแล้วว่าเรื่องคล้ายๆ กันเกิดกับคนด้วยเช่นกัน
นั่นก็คือบรรยากาศทึมๆ ในโรงภาพยนตร์ที่มาพร้อมกับหนังตื่นเต้นหรือสยองขวัญนั้นเป็นตัวเร้าอารมณ์เป็นอย่างดีสำหรับคู่รักที่ไปออกเดทกัน โดยที่ดีเสียยิ่งกว่าจะชวนกันไปดูหนังรักโรแมนติกที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าน่าจะเข้าที .... อย่างไม่อาจเทียบกันได้
คนในวงการเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวกันเล่นๆ ว่าเป็น Scary Movie Effect
คนเรา (และนกดังกล่าว) จึงมีธรรมชาติอันแปลกประหลาดของอารมณ์ที่สามารถซึมซับเอาความสยดสยองชวนตื่นเต้น มาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นอารมณ์รักโรแมนติกได้ในแบบ “หวีดสยองชวนครองรัก” อย่างไม่น่าเชื่อ!!!
 
ยทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
โฆษณา