29 ก.ค. 2022 เวลา 07:46 • คริปโทเคอร์เรนซี
ทำไมผมถึงเขียนเรื่องคริปโต ตอนที่ 2 มีบล็อกเชนไปทำไม?
2
ขอบคุณกำลังใจของเพื่อน ๆ ที่มีให้นะครับ วันนี้เรามาต่อกันตอนที่สอง หลังจากที่ผมเล่าให้ฟังเรื่องของบล็อกเชนไปบางส่วนแล้ว หลาย ๆ คนถามมาหลังไมค์ว่า อ้าว แล้วยังงี้ บล็อกเชนแก้ปัญหาอะไรล่ะ วันนี้จึงจะมาตอบเรื่องนี้กันครับ
จริง ๆ แล้ว บล็อกเชนนี้เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาเดียวครับ นั่นก็คือปัญหาความไว้วางใจ (trust) ในสภาวะที่ไม่มีความไว้วางใจ (trustless)
แล้วความไว้วางใจมันจะเกิดจากความไม่ไว้วางใจได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่โจทย์ในลักษณะนี้ตั้งข้อสมมติไว้ก็คือ เราเชื่อว่า มีคน (หรือหน่วย) ที่เราสามารถไว้วางใจได้อย่างน้อยจำนวนหนึ่ง (เช่น มากกว่ากึ่งหนึ่งนั้นเอง) ดังนั้น การที่บอกว่า บล็อกเชนไม่ได้อาศัยความไว้วางใจเลย จึงเป็นเรื่องที่คนที่ไม่ได้เข้าใจเทคโนโลยีอย่างแท้จริงมักจะพูดเพ้อเจ้อกันไปจนเกินจริง
3
จริงอยู่ การวิจัยในเรื่องการสร้างความไว้วางใจนั้นเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจกันมานาน โดยงานวิจัยในด้านนี้เริ่มต้นมาจากเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจาย (Distributed Computing) ที่ต้องการให้เกิดฉันทามติ (Censensus) ของการประมวลผล เพื่อสร้างระบบที่สามารถทนทานกับการทำงานผิดปกติ (Fault Tolerance)
ตัวอย่างที่ดีของการใช้ฉันทามติ คือ ระบบคอมพิวเตอร์ Triple modular redundancy ในโครงการอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือ (NASA) ในช่วงปี 1950-1970 ที่สามารถเชื่อและใช้ผลลัพธ์จากการคำนวณสองในสามเครื่อง (คล้ายกับ precogs ในเรื่อง minority report) เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยนั้นยังมีเสถียรภาพที่ต่ำ อีกทั้งมีโอกาสถูกรบกวนจากรังสีคอสมิกในอวกาศได้ ( https://ntrs.nasa.gov/citations/19670000085 )
2
สิ่งนี้สร้างความสนใจให้กับ Leslie Lamport และ Barbara Liskov จึงนำมาสู่การวิจัยในหัวข้อนี้กันอย่างกว้างขวาง จนในที่สุด Leslie Lamport จินตนาการปัญหา Byzantine General Problem ขึ้นมา ที่พยายามหาแก้โจทย์ที่ว่า หากมีแม่ทัพอยู่ n คน จะทำอย่างไรให้สามารถประสานงานกันเข้าตีเมืองได้ ถึงแม้จะมีแม่ทัพ m คนเป็นคนทรยศ
2
จนนำไปสู่การคิดค้นอัลกอริธึมเพื่อหาฉันทามติหนึ่งที่ชื่อว่า Paxos ของ Leslie Lamport ( https://en.wikipedia.org/wiki/Paxos_(computer_science) ) ในปี 1989 และ Practical Byzantine Fault Tolerance โดย Barbara Liskov และ Miguel Castro ในปี 1999
1
ผมเองโชคดีมาก ๆ ที่ได้มีโอกาสฟัง Leslie Lamport พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้สองครั้ง ครั้งหนึ่งมาฟังในภายหลัง และอีกครั้งหนึ่งเป็นการพูดสดที่ Amazon เอง ซึ่งนักวิศวกรซอฟท์แวร์ของ Amazon เองก็ได้นำงานวิจัยของ Leslie Lamport มาปรับใช้ใน Amazon Web Services อยู่หลายระบบมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงาน โดยเฉพาะเวลาที่เครื่องบางเครื่องทำงานผิดปกติ
2
แต่งานวิจัยเหล่านี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ไปเพื่อการสร้างความไว้วางใจจากระบบที่ตัวแทน (agent) ไม่ได้มีความน่าเชื่อถือเลย ส่วนหนึ่งเพราะตัวแทนที่ไม่ดีไม่ได้มีแรงจูงใจให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงทำให้ฉันทามติเป็นไปได้ยาก ในระบบที่สามารถมีตัวแทนที่เลว (bad agents) ได้ไม่จำกัด
แต่แล้วอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทในการแก้เรื่องนี้ก็คือ Adam Back (ปัจจุบันเป็น CEO BlockStream) กับผลงานวิจัย Hashcash ในปี 1997 ซึ่งเป็นระบบ proof-of-work ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ขยะ (spam mail) โดยการสร้างต้นทุนลวง (artificial cost) ขึ้นมา โดยคนที่จะส่งอีเมล์ต้องเสียเวลาคำนวณค่านี้ เพื่อยืนยันความถูกต้องกับ Mail Server
ซึ่งต้นทุนไม่สูงมากสำหรับการส่งอีเมล์ 1 ฉบับ แต่หากจะส่งจดหมายขยะหลายพันหลายหมื่นฉบับจะเป็นต้นทุนที่สูงมาก นับเป็นหนึ่งในไอเดียที่พยายามทำให้ต้นทุนในการทำไม่ดีนั้นสูงขึ้นนั่นเอง และสิ่งนี้เองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของที่มาของบิตคอยน์ในเวลาต่อมา (ขอไม่ลงรายละเอียด เพราะโพสนี้ยาวมากแล้ว)
2
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่น่าสนใจ และผมเองก็ชื่นชมการวิจัยในลักษณะนี้ แต่พอนำมาใช้งานในโลกจริง มันกลับเป็นการพยายามแก้ปัญหาความไว้วางใจ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาในลักษณะนั้นไม่ได้มีอยู่จริง ๆ
1
เริ่มตั้งแต่จริง ๆ แล้ว เราถูกสอนให้ไว้วางใจกันมาตั้งแต่เกิดแล้วผ่านสัญชาติญาณ และการไว้วางใจทำให้ต้นทุนของระบบนั้นถูกลง ทำให้สังคมดีขึ้นอยู่แล้ว ความไว้วางใจจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคม โดยเฉพาะสังคมที่พัฒนาแล้ว ก็จะมีความไว้วางใจสูงขึ้นนั่นเอง
อีกสิ่งหนี่งที่บังคับให้สังคมมีการไว้วางใจนั่นคือ เรากำลังเล่นเกมซ้ำ ๆ (repeated game) อยู่ ( https://en.wikipedia.org/wiki/Repeated_game ) เกมในลักษณะนี้ไม่ใช่เกมที่เล่นครั้งเดียวจบ ทำให้ผู้เล่นที่ไม่ดีจะโดนลงโทษไม่เพียงแต่จากคู่กรณี แต่จะโดนลงโทษจากสังคมด้วยผ่านกลไกทางกฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อนั่นเอง จึงทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของสังคมอยู่แล้ว
4
นอกจากนี้การอำพรางตัวตน (Pseudonymous) ของบิตคอยน์นั้นยังเป็นการสร้างข้อจำกัด (constraint) โดยไม่จำเป็น ระบบที่อำพรางตัวตนได้ง่าย ทำให้ผู้เล่นที่ไม่ดีสามารถเล่นเกมซ้ำ ๆ ได้โดยไม่ถูกลงโทษอย่างเหมาะสม จึงเป็นการลดทอนความไว้วางใจโดยรวมของระบบอีกด้วย
2
มันจึงเป็นคำตอบที่คำถามนั้นไม่ได้มีอยู่จริงในวันนี้นั่นเอง แต่หากวันใด โลกเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน คนไม่สามารถเชื่อถือกันได้เลย กลายเป็นสุดทางอีกข้างที่ไม่พึงปรารถนาของสังคม บล็อกเชนก็อาจจะไม่ใช่คำตอบเช่นกัน เพราะมันไม่ใช่ระบบที่ปราศจากความไว้วางใจ 100% อยู่แล้ว
2
การที่เราใช้ระบบ proof-of-work โดยไม่ได้จำเป็นจริง ๆ อย่างบิตคอยน์ ทำให้เราสูญเสียพลังงานไปอย่างน้อย ๆ 5-10 พันล้านเหรียญสหรัฐทุกปี (หรือ ณ จุดสูงสุด เทียบเท่ากับการใช้พลังงานไฟฟ้าของไทยทั้งประเทศ) โดยที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้พลังงานมากขนาดนั้น หากเรามีความ "ไว้วางใจ" กันอยู่แล้ว
1
หากคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อใจระบบ หรือเราไม่เชื่อใจสังคม เราก็ควรปรับปรุงที่ระบบ ไม่ใช่มายอมแพ้ และหันไปใช้ต้นทุนที่สูงในการสร้างความไว้วางใจเทียมขึ้น มันไม่ได้เป็นผลดีโดยรวมกับสังคมแต่อย่างใด
3
ท้ายสุดนี้ ขอชี้แจงจุดยืนอีกครั้งนะครับ ผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรปล่อยให้บล็อกเชนกลับไปอยู่ในโลกของการวิจัย สักวันที่มันมีประโยชน์ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะมีคนหยิบยกมันมาใช้เอง อย่าให้ค่ากับมันจนเกินควร และอย่าโดนหลอกให้ลงทุน เพียงเพราะมันใช้บล็อกเชน
5
ป.ล. ใครที่สนใจเรื่องของพลังงาน และความไว้วางใจ ไปตามอ่านกันได้ที่ https://markpeak.net/less-trust-more-energy-spent/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา