31 ก.ค. 2022 เวลา 00:12 • คริปโทเคอร์เรนซี
เหตุผลที่ผมเขียนเรื่องคริปโต ตอนที่ 3 “การปกป้องนักลงทุน”
1
อีกหนึ่งสาเหตุที่ผมเขียนถึงเรื่องคริปโต นั่นก็คือปัญหานักลงทุนคริปโตไม่ได้รับการปกป้องอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ
1. ความซับซ้อน และไม่มีการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (standardization) ของคริปโต
คริปโตก้าวข้ามขอบเขตของกฎหมาย และบรรทัดฐานของสังคม ทำให้มันสามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ ดังนั้นมันจึงเหมือนการเปิดโลกใหม่ในการ “ลงทุน” (จริง ๆ ผมอยากใช้คำว่า พนัน เสียด้วยซ้ำ เพราะคุณสมบัติ zero sum game ของมัน) มองมุมหนึ่ง อาจจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
แต่ในอีกด้าน มันแปลว่า นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจความเสี่ยง หรือสามารถถูกหลอกลวงได้โดยง่าย
ยิ่งไปกว่านั้น การที่คริปโตไม่มีมูลค่าพื้นฐานที่สามารถประเมินได้ ทำให้ราคาเป็นเพียงสิ่งลวงตาที่นักลงทุนคิดว่ามันเป็นราคาที่เหมาะสม ยิ่งไม่มีอะไรที่จับต้องได้ ยิ่งทำให้ราคาไปอยู่ที่ไหนก็ได้ จะอยู่ที่ดวงจันทร์ หรือดาวอังคารก็เป็นได้
นี่ยังไม่รวมถึงกลไกการผูกเหรียญต่าง ๆ เข้ากันผ่านกลไก tokenomics โดยใช้ DeFi เป็นเครื่องมือ
2. การขาดความโปร่งใส
ความโปร่งใสที่อ้างว่าดูธุรกรรมทั้งหมดผ่านบล็อกเชนได้ เป็นเรื่องจอมปลอม ธุรกิจทั้ง CeFi และ DeFi มีการปิดบังข้อมูลเรื่องของบัญชี การลงทุน โครงสร้างระบบต่าง ๆ อยู่เสมอ ทำให้นักลงทุนถูกโกงเป็นประจำ ต่อให้ไม่ถูกโกง ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าใจถึงความเสี่ยงที่ตัวเองไปลงทุน ความเสี่ยงของธุรกรรมผ่านธุรกิจเหล่านี้มักจะสูงกว่าที่นักลงทุนเข้าใจมาก
1
และการที่ธุรกิจพวกนี้จะทำจากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีหลักแหล่งชัดเจน ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนของผู้ประกอบการ ยิ่งทำให้การกำกับดูแลเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ธุรกิจเหล่านี้จึงไม่ค่แยมีความโปร่งใสเท่าไรนัก
3. นักลงทุนเข้าใจว่ามีการปกป้องนักลงทุนทั้ง ๆ ที่ไม่มี
ในการลงทุนในหุ้น และหุ้นกู้ นักลงทุนได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย การซื้อขายหุ้นมีกลไกการป้องกันความเสี่ยงผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี รวมไปถึงกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ หากบริษัทหลักทรัพย์ล้มละลาย นักลงทุนแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เลย
2
ต่างกับตัวกลางในโลกคริปโต ที่ตลาดคริปโตทำหน้าที่เกือบทั้งหมดอยู่ในองค์กรเดียว แถมมักจะไม่มีกลไกพิเศษในการคุ้มครองนักลงทุนใด ๆ (เว้นแต่การบังคับให้ฝากสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน custodian) ในกรณีที่เกิกความผิดพลาดในการบริหารงาน (zipmex น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี) ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับลูกค้าทันทีในวงกว้าง และนักลงทุนก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม
1
หลาย ๆ คนที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวพยายามเรียกร้องให้ ก.ล.ต. รับผิดชอบความเสียหาย จึงเป็นความเข้าใที่ผิดอย่างมาก ก.ล.ต. มีหน้าที่เพียงกำกับดูแลผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ให้ประกอบการให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
4. ขอบเขตหน้าที่ของการกำกับของ ก.ล.ต.
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ zipmex ทำให้เกิดความตื่นตัวของนักลงทุนมากขึ้น เดิมทีนักลงทุนจะบ่นถึง ก.ล.ต. ตลอดเวลาในแง่มุมที่ว่า ขัดขวางทางรวย ของนักลงทุน
2
พอเกิดเหตุขึ้น เราจะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วการกำกับดูแลมีประโยชน์จริง และผู้ประกอบการควรที่จะต้องถูกกำกับดูแล เพื่อปกป้องนักลงทุน
แต่อีกหนึ่งมุมมองที่ควรเกิดขึ้น คือ ก.ล.ต. ไม่ควรเข้มงวดแต่กับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตให้มากขึ้นเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต ควรถูกลงโทษอย่างหนัก และควรมีกลไกให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มาลงทะเบียนเข้าขอรับใบอนุญาตให้ได้มากที่สุดต่างหาก ซึ่งผู้ประกอบการนี้ควรรวมไปถึงผู้ที่ทำธุรกิจ DeFi และผู้ที่ทำ trade robot อีกด้วย
3
นโยบายนี้เป็นนโยบายเดียวกันกับที่ Gary Gensler ประธาน ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา เพิ่งพูดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ (https://twitter.com/garygensler/status/1552700562533236739?s=21&t=dwsZMMkjGZLf4llEM-zLEg)
หากไม่ทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหา เพราะผู้ประกอบการที่ดี ที่ตั้งใจทำตามกฎหมาย จะโดนบังคับ ควบคุม อย่างเข้มงวด ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ทำผิดก็แค่ไม่มาขอใบอนุญาต ก็จะทำผิดอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ค่อยถูกลงโทษ เท่ากับเป็นการส่งเสริมคนเลว และกำจัดคนดีนั่นเอง
1
และเพื่อที่จะทำหน้าที่นี้ได้ดี ก.ล.ต. ไทยเองขาดแคลนกำลังพลอย่างหนักในการดูแล และจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนพนักงานที่มากำกับดูแลในเรื่องนี้ให้ได้มาตรฐาน และลดความเสี่ยงของนักลงทุนให้ได้มากที่สุด
อีกสิ่งหนึ่งที่ Gary Gensler พูดถึงคือ เพียงเพราะคริปโตใช้เทคโนโลยี มันไม่ใช่ข้ออ้างเลยที่จะควรปล่อยสามารถทำอะไรก็ได้ โดยไม่ถูกกำกับ ในทางตรงข้าม ตลาดคริปโต และธุรกิจคริปโตควรถูกกำกับอย่างเข้มงวด ไม่ต่างกับธุรกิจหลักทรัพย์เลย (อาจจะควรเข้มงวดกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะความเสี่ยงสูงกว่า)
1
5. นักลงทุนมักจะเสียเปรียบ
ด้วยโลกสีเทาของคริปโต นักลงทุนคริปโตมักจะอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบเสมอ
เวลาเราเข้าไปพนันในคาสิโน คาสิโนที่ดีจะมีกฎที่ชัดเจนในการทำงาน และมีกฎของเกมที่ชัดเจน เขาจะไม่โกงลูกเต๋า ไม่โกงไพ่ แต่จะมีสิ่งที่เรียกว่า House advantage ทำให้เขาสามารถสร้างกำไรได้ในระยะยาวได้ หากเราจะเลือกเล่นเกม เราก็ควรเลือกเกมที่เจ้าของบ่อนมี House advantage น้อยที่สุด เพราะจะทำให้เราสูญเสียเงินน้อยในระยะยาวนั่นเอง
3
แต่ในโลกคริปโต นอกเหนือจากที่เจ้าของบ่อนมี House advantage แล้ว เจ้าของบ่อนยังโกงได้อีก แต่ในที่นี้เจ้าของบ่อนไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของจริง ๆ เป็นใครก็ได้ที่มีทรัพยากร หรือความสามารถมากพอ
ตลาดคริปโตจะเห็นข้อมูลการซื้อขายของลูกค้า และสามารถเป็น market maker เองได้ จึงสามารถเอาเปรียบลูกค้าได้เสมอ รวมถึงการ frontrun ลูกค้า หากไม่ได้ทำ market maker เอง ก็อาจจะขายข้อมูล หรือบอกข้อมูลเหล่านี้ให้กับ market maker ก็ได้ และมีวิธีการแบ่งผลประโยชน์กัน
1
ส่วนในตลาด DeFi ผู้ขุดเหมืองก็สามารถใช้ช่องว่างที่ตัวเองเป็นคนเลือกธุรกรรมที่จะบันทึกในบล็อกเชน ทำให้สามารถทำธุรกรรมที่เอาเปรียบนักลงทุนรายอื่น โดยการแทรกธุรกรรมก่อน หลัง หรือระงับธุรกรรมบางธุรกรรม เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือพวกพ้อง
ดังนั้น นักลงทุนคริปโตที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างแท้จริง จึงอาจจะถูกผู้เล่นรายอื่นเอาเปรียบแบบไม่รู้ตัว ทำให้การลงทุนในคริปโตนี้อาจจะมีแนวโน้มขาดทุนสูงกว่าการพนันบางประเภทเสียด้วยซ้ำ (เรื่องนี้ ผมยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เปรียบเทียบยาก แต่ถ้ามองผ่านจำนวนเงินที่ถูกดึงออกจากระบบ น่าจะทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น)
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนรวมถึงผู้กำกับดูแลอาจจะมองข้าม ผมจึงอยากจะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้เกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้นนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา