4 ส.ค. 2022 เวลา 16:12 • ความคิดเห็น
เทคนิครับมืออาการกลัวล้มเหลว : ทำยังไงให้พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ในชีวิต
1
วันนี้ออกนอกคอมฟอร์ทโซนของตัวเองถึงสองครั้ง
จำไม่ได้แล้วว่าวันที่ต้องเจอความท้าทายแบบนี้ในชีวิตครั้งสุดท้ายคือเมื่อไหร่ แต่วันนี้ต้องขอบคุณตัวเองที่ผ่านมันมาได้อย่างมีความสุข ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
อย่างแรกคือการไปสอนน้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยมสี่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เพราะมีพี่คนหนึ่งที่สนิทกันชวนไป ครั้งก่อนเคยปฏิเสธไปรอบหนึ่งเพราะตอนนั้นชีวิตวุ่น ๆ เลยไม่มีเวลาเตรียมเนื้อหา หัวข้อที่อยากให้แชร์คือเรื่อง “StoryTelling”
อย่างที่สองคือการถูกเชิญไปคุยในคลับเฮาส์ที่จัดโดยสนพ. Being เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของ Instagram อ้างอิงเนื้อหาจากหนังสือ “No Filter” (ที่แนะนำว่าควรไปซื้ออ่านจริง ๆ เล่มนี้เดี๋ยวมีโอกาสเอามารีวิว มันดีมาก)​ ที่มีคนฟังหลักสามสี่ร้อย ที่มีแต่คนที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น
ทั้งสองอย่างคือสิ่งที่ไม่เคยทำ และมันเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ชีวิตช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเลยค่อนข้างวุ่นวายนิดหน่อย
ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจครับ ทั้งคลาสสอนที่เด็ก ๆ ฟีดแบคกลับมาดี ทั้งห้องคลับเฮาส์ที่ตอบคำถามหรือแชร์มุมมองอย่างชัดเจนไม่ได้พูดไม่รู้เรื่องเหมือนอย่างที่กลัว
มีน้องคนหนึ่งยกมือถามหลังจากที่ผมแชร์เรื่อง StoryTelling จบ ว่าผมทำยังไงถึงพูดได้ลื่นไหลเป็นเวลาชั่วโมงครึ่งได้ ตอนนั้นผมตอบไปว่าแน่นอนคือการเตรียมตัวที่ดีแหละ เตรียมให้ดีที่สุด แล้วพอถึงสนามจริง เวลาแข่งก็บอกตัวเองว่าเราเตรียมมาดีที่สุดแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาสนุกกับมันแล้วหล่ะ (เหมือนสะกดจิตตัวเองหน่อย ๆ)
คล้ายกับการยิงธนู เราฝึกยิงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เราจดจ่อกับการเตรียมตัวให้ดีที่สุด เล็ง แล้วก็ปล่อย...พอปล่อยปุ๊บตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกแล้วครับว่าจะเข้าเป้ารึเปล่า ถ้าเราเตรียมตัวมาโอเค โอกาสเข้าเป้าก็จะสูงหน่อยเป็นธรรมดา
แต่ที่จริงแล้วมันมีเทคนิคอื่น ๆ ที่ผมใช้สำหรับเตรียมตัวอยู่ เลยอยากจะมาแชร์เผื่อว่ามีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจทำอะไรใหม่ ๆ ออกนอกคอมฟอร์ทโซนของตัวเองละกันครับ
1. เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นให้มากที่สุด
เหตุผลที่เรากลัวที่จะ ‘เริ่ม’ อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสายงาน อาชีพ ธุรกิจ เขียนหนังสือเล่มแรก อย่างในกรณีของผมคือไปสอนเด็ก ๆ หรือการพูดในห้องคลับเฮาส์ สิ่งที่เสริมความมั่นใจของเราได้คือ ‘ความรู้’ ครับ
ข้อมูลมีอยู่เยอะแหละ หาแล้วก็มานั่งจดใส่สมุด พิมพ์ใส่คอมฯไว้ก็ได้ มีการศึกษาที่บอกว่าผู้ประกอบการสามารถเอาชนะความกลัวได้จากการหาความรู้ใส่หัวเยอะ ๆ (ถึงไม่แปลกใจที่เราเห็น Bill Gates อ่านหนังสือปีละกว่า 50 เล่มเพื่อเติมความรู้เรื่อย ๆ)​
สิ่งที่ผมทำคืออ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ StoryTelling ไปฟังคนเก่ง ๆ พูดออนไลน์ แล้วก็จดเคล็ดลับ จดวิธีการสร้างเรื่องราวออกมาเพื่อถ่ายทอดในแบบของตัวเอง เช่นกันกับการเตรียมข้อมูล Instagram ผมขอคำถามต่าง ๆ มาเตรียมเอาไว้แล้วก็ค้นหาข้อมูล วิเคราะห์บทความเกี่ยวกับธุรกิจเตรียมไว้เยอะมาก เขาให้มาประมาณ 5-6 คำถาม ผมหาข้อมูลมาประมาณ 7 หน้า A4
ถามว่าตอนที่คุยในคลับเฮาส์ได้ใช้หมดไหม ไม่หมดครับ ใช้แค่ 30%-40% เท่านั้น แต่เจ้าความรู้ที่เตรียมมาทำให้ผมพร้อมจะเข้าไปคุยกับคนอื่นที่มีความรู้เยอะกว่า ประสบการณ์มากกว่า ไม่กลัว ไม่ประหม่า (มาก) เหมือนตอนแรก ๆ
2. จริงจังกับมัน อย่าทำแบบขอไปที
บอกเลยว่าทั้งสองงานไม่ได้เงินครับ แต่ได้ประสบการณ์ที่ดีมาก หลายคนอาจจะรู้สึกว่างานที่ไม่ได้เงินก็ทำส่ง ๆ ไปงั้นแหละให้จบไป แต่ผมกลับไม่รู้สึกแบบนั้น ทั้งสองงาน พี่ที่มาชวนล้วนเป็นคนที่ผมเคารพทั้งสิ้น รู้สึกเป็นเกียรติมากกว่าที่เขาคิดถึงเรา ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้มีความรู้มากขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสจงจริงจังกับมัน
3. ใช้เฟรมเวิร์ค LAA
Learn - เก็บข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในช่วงเวลาที่มี ระหว่างช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาผมอ่านเรื่อง StoryTelling / Instagram เยอะมาก มันคือสิ่งสำคัญ
Act - เมื่อถึงเวลาลงสนามก็ใช้สิ่งที่เรียนรู้มาอย่างเต็มที่
Adjust - จำไว้ว่าชีวิตยังมูฟออน นี่ไม่ใช่จุดจบ อย่าลืมปรับเปลี่ยน เก็บฟีดแบค ลองดูว่าครั้งหน้าจะสามารถปรับเปลี่ยนตรงไหนได้อีก
ชีวิตเหมือนสายน้ำที่ไหลไปเรื่อย ๆ เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ระหว่างทางก็ปรับเปลี่ยนแนวคิด อย่ายึดติดกับสิ่งที่ทำไปแล้ว ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ตาม
บทเรียนสำหรับผมในวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความสำคัญของการเตรียมตัว ถ้าเราพร้อม ความกลัวก็จะลดลง (ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนะ มีแต่น้อยลงเยอะ) แต่ถ้าเราเตรียมมาครึ่ง ๆ กลาง ๆ รับรองมีเหวอกลางทางแน่นอน ถ้าเรารู้ว่าสามารถจัดการกับความกลัวความล้มเหลวด้วยการเตรียมตัวให้มากขึ้น หาความรู้อย่างจริงจัง ทำไมเราจะไม่ทำถูกไหมครับ?
สุดท้ายอย่าลืมสนุกกับความท้าทายใหม่ ๆ เพราะนี่คือเครื่องยืนยันว่าเรายังเติบโตได้อีก ไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหนของชีวิตก็ตาม
อ้างอิง
ช่องทางติดตามบทความเพิ่มเติม
The People, Beartai, The Matter, CapitalRead, 101.World, GQ, a day Bulletin : สามารถค้นหาชื่อ ‘โสภณ ศุภมั่งมี’ ได้เลยครับ
โฆษณา