18 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
7 เทรนด์เฟอร์นิเจอร์และการแต่งบ้านที่นิยมในสหรัฐฯ
ปัจจัยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ชาวอเมริกันมีพฤติกรรมการชะลอการบริโภคลงซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของตลาดค้าปลีกในสหรัฐฯ รวมถึงตลาดค้าปลีกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในสหรัฐฯ ด้วยที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในตลาดจากการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
2
โดยนักวิเคราะห์ในตลาดมองว่า ปัจจัยลบในตลาดทั้งปัจจัยด้านการปรับเพิ่มขึ้นของราคาค่าจ้างแรงงาน ปัจจัยด้านการปรับเพิ่มขึ้นของราคาค่าขนส่งและน้ำมัน ปัจจัยด้านการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ
ปัจจัยด้านการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อในตลาดล้วนน่าจะส่งผลทำให้แนวโน้มตลาดค้าปลีกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสหรัฐฯ ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2564 – 2564 ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ต่ำซึ่งส่งผลให้ชาวอเมริกันกลุ่ม Millennials ตัดสินใจซื้อบ้านเพื่อสร้างครอบครัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของทุกปีเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันมักจะนิยมปรับปรุงตกแต่งบ้านที่พักอาศัยมากที่สุดเนื่องจากมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเอื้ออำนวย โดยเฉพาะในปีนี้ที่สถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้นซึ่งน่าจะยังทำให้ผู้บริโภคในตลาดบางส่วนยังคงมีความต้องการเลือกซื้อสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสำหรับช่วงดังกล่าวอยู่ และน่าจะช่วยพยุงให้ตลาดค้าปลีกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสหรัฐฯ ทรงตัวในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมาได้
ทั้งนี้ สามารถสรุปแนวโน้มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งบ้านที่จะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันช่วงฤดูร้อนปีนี้ได้ 7 เทรนด์สำคัญ ดังนี้
1. สินค้าเฟอร์นิเจอร์ภายนอกบ้าน
ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันนิยมทำกิจกรรมนอกบ้าน ทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งสนามหรือหน้าบ้านยังคงน่าจะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปีนี้ โดยเฉพาะสินค้าอ่างแช่น้ำนอกบ้าน ของตกแต่งสนามหญ้าและสวนหน้าบ้าน และอุปกรณ์สำหรับดูแลตกแต่งต้นไม้ เป็นต้น
2. สินค้าเฟอร์นิเจอร์ช่วยประหยัดพื้นที่
ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่มักจะใช้ชีวิตในบ้านขนาดกะทัดรัดมีพื้นที่ใช้สอยจำกัดทำให้กระแสความนิยมสินค้าเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น (Minimal Furniture) เฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มพื้นที่เก็บของ ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน
3. สินค้าเฟอร์นิเจอร์ตอบสนองการดำเนินชีวิตแบบ New Normal
ปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ลักษณะการใช้ชีวิตของชาวอเมริกันเปลี่ยนไป เช่น การอยู่อาศัยทำงานที่บ้านมากขึ้น การเลือกเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากและการระมัดระวังด้านความสะอาด ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเริ่มดีขึ้นมากแล้วก็ตามคาดว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนจะยังคงมีลักษณะการใช้ชีวิตไม่เปลี่ยนไปมากนัก ซึ่งน่าจะทำให้มีความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์กลุ่มที่ป้องกันรักษาความสะอาด กลุ่มเฟอร์นิเจอร์สำหรับการทำงานที่บ้าน และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์สำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ด้วย
4. สินค้าโคมไฟออกแบบ
ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดมีความต้องการซื้อสินค้าโคมไฟออกแบบที่น่าสนใจขนาดใหญ่เพื่อสร้างจุดเด่นในให้กับบ้าน เช่น โคมไฟระย้าขนาดใหญ่พิเศษ โคมไฟเพดานจากงานจักสานทำมือ โคมไฟสไตล์อุตสาหกรรม (Industrial Pendant) เป็นต้น
5. การปรับปรุงทัศนียภาพหน้าบ้าน
ทางเข้าหน้าบ้านเป็นจุดดึงดูดความสนใจและสร้างความประทับใจแรก (First Impression) ให้กับแขกผู้มาเยือน โดยในปีนี้ชาวอเมริกันนิยมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือตกแต่งประตูทางเข้าหน้าบ้านใหม่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น เช่น การเลือกใช้ประตูเหล็ก การเปลี่ยนสีประตู การเปลี่ยนลูกบิดเปิดประตู เป็นต้น
6. สไตล์การแต่งบ้านแบบกลางศตวรรษ (Mid-Century)
สไตล์การตกแต่งบ้านแบบ Mid-Century ซึ่งเคยได้รับความนิยมในช่วงก่อนหน้านี้จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่นำเอาวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ หวาย และผ้าจากเส้นใยธรรมชาติมาใช้ในการผลิต นอกจากนี้ สินค้าลายพิมพ์ใบไม้หรือธรรมชาติก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปีนี้ด้วย
7. สไตล์การแต่งบ้านแบบพื้นที่เปิดโล่ง (Brando)
ความนิยมตกแต่งบ้านสไตล์พื้นที่เปิดโล่งสร้างความคล้ายโรงนา (Barn) สร้างความรู้สึกอิสระไม่อึดอัดให้กับผู้อยู่อาศัยยังคงน่าจะได้รับความนิยมในกลุ่มชาวอเมริกันต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้สินค้าเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่เหมาะสำหรับพื้นที่โล่งกว้างยังคงน่าจะได้รับความนิยมในตลาด
แม้ว่าจะมีปัจจัยกระทบตลาดอสังหาริมทรัพย์และการบริโภคของชาวอเมริกันในตลาดหลายปัจจัย แต่คาดว่าผู้บริโภคในตลาดจะยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านทรงตัวในปีนี้จากปัจจัยด้านความต้องการบริโภคส่วนเกิน (Excess Demand) ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชาวอเมริกันบางส่วนยังต้องการที่จะซื้อบ้านเพื่อให้ทันกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำอยู่ในขณะนี้เมื่อเทียบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีแผนปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 3 – 4 ครั้งภายในปีนี้
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2564 พบว่า มีมูลค่าทั้งสิ้น 3.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา
โดยสินค้าเฟอร์นิเจอร์มีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 40.46) รองลงมา ได้แก่ เก้าอี้ (ร้อยละ 36.84) โคมไฟ (ร้อยละ 13.34) ที่นอน (ร้อยละ 7.00) เฟอร์นิเจอร์ทางการแพทย์ (ร้อยละ 1.64) และวัสดุสำหรับประดับอาคาร (ร้อยละ 0.72)
แหล่งน้ำเข้าหลัก ได้แก่ จีน (ร้อยละ 35.97) เวียดนาม (ร้อยละ 17.35) เม็กซิโก (ร้อยละ 15.60) แคนาดา (ร้อยละ 6.83) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 2.91) ตามลำดับ
ในส่วนของการนำเข้าจากไทยในช่วงเดียวกันนั้นมีมูลค่าทั้งสิ้น 512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา สินค้าศักยภาพของไทย ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ไม้ เก้าอี้ทำจากไม้ โคมไฟเพดาน และที่นอน เป็นต้น
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมาไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านไปสหรัฐฯ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาด อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ พิจารณายกเลิกมาตรการตอบโต้ทางการค้าจีนเพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยได้ในอนาคต
โดยรวมแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านในสหรัฐฯ ยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาซึ่งน่าจะยังคงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรที่จะพิจารณาปรับปรุงการออกแบบสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติและวัสดุเพื่อความยั่งยืน (Sustainable) ที่ไทยมีจุดแข็งสามารถจัดหาวัตถุดิบในง่ายในประเทศ เช่น ไม้มะม่วง ไม้ผา และหวาย เป็นต้น
นอกจากนี้ การควบคุมต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เช่น การเลือกใช้เครื่องจักรทันสมัยทดแทนแรงงานในอุตสาหกรรม และการออกแบบสินค้าเพื่อประหยัดพื้นที่ระวางเรือก็น่าจะช่วยให้สินค้าไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาด
ทั้งนี้ การที่โครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalize System of Preference หรือ GSP) หมดอายุลงตั้งแต่สิ้นปี 2563 ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับการต่ออายุทำให้สินค้าส่งออกจากไทยบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องนอนและโคมไฟจะต้องชำระภาษีนำเข้าซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาด
ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถหาโอกาสหรือหาความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อเจรจาให้สหรัฐฯ เร่งกระบวนการพิจารณาต่ออายุก็น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ หากไทยและสหรัฐฯ สามารถหาโอกาสเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อสร้างความร่วมมือทางการค้าในระดับทวิภาคีร่วมกันได้ก็น่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ในระยะยาวด้วย
โฆษณา