18 ส.ค. 2022 เวลา 12:04 • สุขภาพ
กลุ่มอาการคุชชิง (CUSHING SYNDROME)
เกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) สูง ซึ่งอาจเป็นเพราะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มากเกินไป หรือร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนนี้ออกมามากกว่าปกติ ทำให้มีอาการ เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น มีภาวะอ้วน ใบหน้ากลมผิดปกติ มีก้อนไขมันด้านหลังช่วงระหว่างไหล่ และผิวหนังหน้าท้องแตกลายเป็นสีม่วงหรือสีชมพู เป็นต้น
ส่วนการรักษา Cushing Syndrome ได้แก่ การปรับลดปริมาณฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายให้เป็นปกติ รักษาตามสาเหตุ รวมถึงรักษาประคับประคองตามอาการ หากรักษาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยจะมีโอกาสฟื้นฟูเป็นปกติได้ดียิ่งขึ้น
กลุ่มอาการคุชชิง (CUSHING SYNDROME)
อาการของ Cushing Syndrome
แบ่งได้เป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
อาการที่พบได้ทั่วไป
• หิวบ่อย กินจุ ใบหน้าอ้วนกลม น้ำหนักเพิ่ม
• อ้วนขึ้น โดยเฉพาะส่วนกลางลำตัว เช่น บริเวณไหปลาร้า ลำตัวส่วนบน พุง แต่แขนขาลีบ
• มีก้อนไขมันสะสม โดยเฉพาะที่ใบหน้า ส่วนกลางลำตัว หลังส่วนบนหรือช่วงระหว่างบ่า
• ปัสสาวะมากและปัสสาวะบ่อย
• นอนไม่หลับ
อาการทางผิวหนัง
• ผิวหนังแห้ง
• ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือด หรือเกิดรอยช้ำได้ง่าย
• ผิวหนังแตกลายเป็นสีชมพูหรือสีม่วง บริเวณต้นขา ท้องแขน และหน้าอก
• เกิดรอยแผลเป็นได้ง่าย
• เป็นสิวทั้งตามตัวและใบหน้า
อาการทางกระดูก
• กระดูกพรุน สูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักง่าย
อาการทางกล้ามเนื้อ
• กล้ามเนื้ออ่อนแอ ต้นแขนต้นขาลีบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
อาการทางหัวใจและหลอดเลือด
• ความดันโลหิตสูง
• ปวดศีรษะ
อาการทางต่อมไร้ท่อ
• น้ำตาลในเลือดสูง
• เบาหวาน
อาการทางสมองและจิตใจ
• บกพร่องทางกระบวนการคิด
• วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย
• ซึมเศร้า สับสน
• ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน
อาการทางระบบภูมิคุ้มกัน
• ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย และอาจมีอาการป่วยที่รุนแรง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเพศชายอาจมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือเผชิญภาวะมีบุตรยากด้วย
ส่วนเพศหญิงประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ หรือมีขนที่ใบหน้าและลำตัวมากกว่าปกติ หากพบอาการข้างต้น
โดยเฉพาะหากอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นในขณะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์รักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น ข้ออักเสบ โรคหืด หรือโรคลำไส้อักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็น Cushing Syndrome ได้
สาเหตุของ Cushing Syndrome
Cushing Syndrome เกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) สูง โดยฮอร์โมนคอร์ติซอลนั้นผลิตจากต่อมหมวกไต ทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ลดการตอบสนองต่อการอักเสบในระบบภูมิคุ้มกัน แปลงไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงาน สร้างความสมดุลให้กับอินซูลิน และเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความเครียด
สาเหตุที่พบบ่อยของ Cushing Syndrome
คือ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานในปริมาณมากและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาเพรดนิโซน โดยแพทย์จะใช้ยาประเภทนี้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือรักษาโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ
เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง และข้ออักเสบ นอกจากนั้น การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการปวดหลัง การใช้ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรพื้นบ้าน หรือยาอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ก็ทำให้เป็น Cushing Syndrome ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดดมในปริมาณไม่มากที่มักใช้ในผู้ป่วยโรคหืด หรือการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดครีมในผู้ป่วยผิวหนังอักเสบ มักไม่ทำให้เกิด Cushing Syndrome ได้
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป ได้แก่
• มีความเครียดสูง เช่น ความเครียดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บ การผ่าตัด การตั้งครรภ์ หรือนักกีฬาที่เครียดจากการฝึกฝนอย่างหนัก
• ภาวะซึมเศร้า หรือเป็นโรคแพนิค
• ภาวะขาดสารอาหาร
• ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำให้ร่างกายผลิตฮอรโมนคอร์ติซอลออกมามาก โดยระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะลดลงเป็นปกติเมื่อหยุดดื่ม
• เกิดความผิดปกติ หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
• เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ทำให้ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคทรอพิก (Adrenocorticotropic hormone) ออกมามากเกินไป จนทำให้เกิด Cushing Syndrome
• เกิดเนื้องอกในปอด ต่อมไร้ท่อหรือต่อมไทรอยด์ และตับอ่อน
• กรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยอาจสืบทอดการเกิดเนื้องอกในต่อมไร้ท่อ ซี่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และทำให้เกิด Cushing Syndromeได้
การวินิจฉัย Cushing Syndrome
แพทย์จะวินิจฉัยโดยสอบถามรายละเอียดของอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกาย รวมทั้งอาจตรวจเพิ่มเติมประกอบการวินิจฉัย เช่น
• ตรวจปัสสาวะ โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล
• ตรวจเลือด โดยการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในห้องปฏิบัติการ
• ตรวจน้ำลาย เพื่อดูระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลาย ซึ่งจะทำการตรวจในเวลากลางคืน เพราะโดยปกติ ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะลดลงในช่วงเย็นเป็นต้นไป
• ตรวจภาพถ่าย ด้วยการทำซีที สแกน (Computerized Tomography: CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ สแกน (Magnetic Resonance Imaging: MRI Scan) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต เช่น ตรวจหาเนื้องอก เป็นต้น
หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น Cushing Syndrome แพทย์อาจส่งตัวไปยังผู้เชี่ยวชาญโรคนี้โดยเฉพาะ ซึ่งอาจมีการตรวจทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติมในภายหลัง
การรักษา Cushing Syndrome
การรักษาใช้วิธีลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายที่เพิ่มสูงเกินไป และมักขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการป่วยด้วย เช่น
• การลดหรือหยุดใช้ยาสเตียรอยด์
แพทย์จะตรวจสอบว่าควรหยุดใช้ยาหรือควรลดปริมาณการใช้ยาลงหรือไม่ รวมไปถึงสั่งยาตัวใหม่ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยผู้ป่วยไม่ควรหยุดหรือลดการใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยตนเอง ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดยาเท่านั้น เพราะการหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันอาจทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ ซึ่งอาจทำให้มีไข้สูง ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลียมาก หรือช็อก หากพบอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
• การผ่าตัดเนื้องอกออก
ในกรณีที่มีเนื้องอกเป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกต่อมหมวกไต เนื้องอกตับอ่อนหรือปอด โดยแพทย์จะทดสอบหาตำแหน่งของเนื้องอกก่อนพิจารณาผ่าตัด แต่หากไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แพทย์อาจฉายรังสี หรือใช้ยารักษาเพื่อให้เนื้องอกหดเล็กลง
• การฉายรังสี
แพทย์อาจใช้วิธีนี้เมื่อไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้องอกได้
• การใช้ยารักษา
ใช้เพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดและฉายรังสีได้ หรืออาจใช้ก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อช่วยลดอาการต่าง ๆ และลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด
ตัวอย่างยาที่ใช้ควบคุมการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล ได้แก่ ยาไมโทเทน ยาคีตาโคนาโซล และยามีไทราโฟน โดยยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
• การรักษาประคับประคองตามอาการ
รักษาอาการต่าง ๆ ที่เป็นผลจากฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง เช่น ให้ยารักษาโรคเบาหวานเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือให้ยาลดความดันโลหิตเมื่อมีความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Cushing Syndrome
ภาวะแทรกซ้อนของ Cushing Syndrome อาจเกิดขึ้นได้หากภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษา เช่น กระดูกหักง่ายบริเวณเท้าและซี่โครงจากโรคกระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบและไม่มีแรงจากการเสียมวลกล้ามเนื้อ ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายและรุนแรงจากฮอร์โมนกดภูมิคุ้มกันโรค โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จากภาวะพร่องอินซูลิน มีไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ความดันโลหิตสูง เนื้องอกต่อมใต้สมอง นิ่วในไต เกิดความผิดปกติของระดับน้ำตาลและเกลือแร่ต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
การป้องกัน Cushing Syndrome
การป้องกันตนเองจากภาวะ Cushing Syndrome หรือป้องกันการเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายหลังป่วยด้วยกลุ่มอาการนี้ ได้แก่
• หากต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ขาดยาหรือหยุดใช้ยาด้วยตนเอง ไม่ใช้ยาเกินปริมาณหรือนานกว่าที่แพทย์กำหนด
• ไม่ซื้อยาสเตียรอยด์ใช้เอง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาลูกกลอน ยาสมุนไพรพื้นบ้าน หรือยาชุด ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ
• รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ในการฟื้นฟูร่างกาย รวมถึงอาจช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินจากภาวะ Cushing Syndrome ได้ นอกจากนั้น ควรได้รับวิตามิน ดี และแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพื่อให้กระดูกแข็งแรงและลดการเสียมวลกระดูกที่มักเกิดจาก Cushing Syndrome
• หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหากดื่มในปริมาณมาก จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามาก
• ระมัดระวังเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และการเกิดอุบัติเหตุ เพราะกระดูกอาจแตกหักได้ง่าย
• เพิ่มการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างช้า ๆ และเหมาะสม เพราะกล้ามเนื้อยังอ่อนแอ เพื่อให้เกิดผลดีในระยะยาว
• บรรเทาอาการเจ็บปวดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งการนวด การอาบน้ำร้อน การออกกำลังกายที่เกิดแรงกระแทกน้อย เช่น แอโรบิกในน้ำ และไทชิ อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อและข้อต่อจาก Cushing Syndromeได้
• ดูแลควบคุมน้ำหนักตัว ไม่กินมากเกินไป และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรือมีน้ำตาลสูง เพราะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ง่าย
• ดูแลสุขภาพจิต เพราะ Cushing Syndrome อาจทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้าได้ หากมีอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์หรือนักบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูจิตใจ
• ควรสอบถามแพทย์หรือหาข้อมูล เพื่อเข้าร่วมกลุ่มบำบัดช่วยเหลือผู้ป่วย Cushing Syndrome เพราะผู้ป่วยจะได้เข้ากลุ่มและเจอกับผู้ที่เป็นโรคเดียวกัน มีการรักษาและประสบการณ์อื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรับมือและฟื้นฟูโรคนี้ได้เป็นอย่างดี โดยควรเข้ารับการบำบัดควบคู่กับความช่วยและกำลังใจจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนด้วย
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา