2 ก.ย. 2022 เวลา 06:21 • สุขภาพ
Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 4 ยุโรปในยุคตกต่ำ
เข้าสู่ยุคกลางที่ประชากรกว่าครึ่งยุโรปล้มตายลงด้วยโรคระบาด เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ซ้ายมือสุดคือจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดของกาฬโรค เทียบกับโรคระบาดอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ ขณะที่ COVID-19 ยังไม่สิ้นสุดแต่ก็ควบคุมได้แล้ว (Photo Credit: Original image by South Front. Uploaded by Mark Cartwright, published on 20 March 2020, World History Encyclopedia)
ปรากฏการณ์กาฬโรค ที่จริงเกิดจากโรคติดเชื้อสามชนิด คือ กาฬโรคต่อมนำ้เหลือง (Bubonic plague, Pneumonic plague) และกาฬโรคในกระแสโลหิต (Septicemic plague)
ผู้คนยุคนั้นพยายามสู้กับโรคด้วยการใช้ตำรับยาชง น้ำมันยาและครีมเข้าช่วย แต่เราคงจะเดาได้ว่า วิธีพวกนี้ได้ผลน้อยมาก เพราะเหมือนกับเอาไม้ซีกไปงัดกับไม้ซุง
การแพร่กระจายของกาฬโรค (black death) ในยุโรปยุคกลางภายในเวลาไม่กี่ปี (Photo Credit: Original image by Flappiefh. Uploaded by Mark Cartwright)
วิธีการรักษาโรคที่นิยมกันในยุโรปยุคกลาง คือการอาบน้ำเย็น การกรีดเลือดให้ไหล การเจาะรูที่หัวกะโหลก (เพื่อปลดปล่อยวิญญาณชั่วร้ายออกไป) และที่มากที่สุดคือการสวดมนต์บนบานและใช้ไสยศาสตร์ รวมไปถึงการบูชายัญคนที่อยู่นอกศาสนาคริสต์ บทบาทหลักจึงตกอยู่กับพระและนักบวช
ภาพเขียน "ชัยชนะของความตาย" (De triomf van de Doods) โดยจิตรกรชาวดัทช์ Pieter Bruegel the Elder ปี 1562 ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Prado กรุงแมดริด (Photo Credit: Museo del Prado. Uploaded by Arienne King.)
สาเหตุที่มนุษย์ยุคนั้นอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองแทบไม่ได้เลย ก็เพราะศัตรูเป็นส่ิงมีชีวิตเล็ก ๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ตอนนั้นยังไม่ถึงเวลาที่นักวิทยาศาสตร์จะค้นพบเชื้อโรคอย่างแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของโรคระบาด
ในยุคกลางที่ยุโรปจึงเต็มไปด้วยไสยศาสตร์ มนต์ดำ และบรรดาแม่มดหมอผีแพร่หลาย ความรู้ความเข้าใจในเรื่องยาของมนุษยชาติที่เคยเจริญก้าวหน้าขึ้นมากมายที่ตะวันออกกลาง จึงต้องหยุดชะงักไปเป็นเวลาหลายร้อยปี
ยารักษาโรค แม้ในฐานะ "อุปกรณ์เสริม" ให้กับไสยศาสตร์ ก็ยังถูกบดบังและด้อยค่าลงมาก
ต่อมาได้เกิดทฤษฎีที่พยายามอธิบายที่มาของโรค เป็นที่เชื่อถือกันแพร่หลาย หนึ่งในนั้นคือทฤษฎีที่ว่า "โรคระบาดเกิดจากไอพิษที่ระเหยจากดินและพืช หรือสิ่งโสโครก (Miasmatic Theory)" ที่มาพร้อมกับความเน่าเหม็น
ภาพสีลิโธกราฟ กล่าวถึงทฤษฎีไอพิษหรือส่ิงโสโครก (Photo Credit: Robert Seymour - Cholera "Tramples the victors & the vanquished both." U.S. National Library of Medicine Digital Collections., Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=117446532)
ความเชื่อนี้ก้ำกึ่งกับไสยศาสตร์ ไอพิษไม่ได้มีอยู่จริง แต่นั่นก็เป็นสิ่งใกล้เคียงที่สุดที่พอจะอธิบายได้ ก่อนที่จะมีการค้นพบเชื้อโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์ในเวลาต่อมา
ทว่าอย่างน้อยความกลัวในสิ่งสกปรก ก็ได้กระตุ้นให้เกิดระบบบำบัดน้ำเสียและสุขลักษณะที่ดีขึ้นกว่าเดิมขึ้นเรื่อย ๆ
จนมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือเรเนซองส์ (Renaissance) ในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ไอเดียใหม่ ๆ ด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์เบ่งบานขึ้นอีกครั้ง
บรรดาความรู้ใหม่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ เริ่มจากเครื่องพิมพ์ของกูเต็นเบิร์กที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นที่เยอรมัน อุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นตัวเร่งทำให้ความรู้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและคนทั่วไปเข้าถึงได้เพราะมีราคาถูก
เทียบได้กับการมีอินเตอร์เน็ทในยุคนี้
ความรู้ใหม่ในด้านยา เกิดขึ้นชัดเจนโดยปราชญ์ที่ชื่อแพราเซลซัส (AD 1493-1541) ซึ่งเป็นชาวเยอรมันในสวิตเซอร์แลนด์
จากความรู้ทางเคมี เขาได้เป็นผู้กำหนดกฎแห่งพิษวิทยา (The Discipline of Toxicology) อีกทั้งยังเป็นนักสังเกตความเป็นไปของธรรมชาติ และเป็นผู้ให้แนวคิดว่า โรคบางโรคมีสาเหตุมาจากภาวะการป่วยทางจิต
แพราเซลซัส https://www.thefamouspeople.com/profiles/paracelsus-142.php
ประวัติของชายคนนี้มีความแปลกและลึกลับอยู่มาก แพราเซลซัสเป็นผู้ริเริ่มนำสารเคมีและแร่ธาตุมาใช้เป็นยารักษาโรคในยุโรป เขามองว่าโรคภัยไข้เจ็บและสุขภาพนั้นขึ้นอยู่กับความลงตัวของมนุษย์และธรรมชาติ มนุษย์ต้องอยู่ในสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย และอาการเจ็บป่วยบางประการของร่างกายก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยสารเคมี
ในความเป็นนักเคมี เขาริเริ่มใช้คำว่าซิงค์แทนธาตุสังกะสีในปี 1526 โดยมาจากศัพท์เยอรมันซิงค์ที่แปลว่าแหลมคมตามรูปร่างของตัวผลึกสังกะสี ซึ่งเขานำมาใช้ในการทดลองเพื่อศึกษาร่างกายมนุษย์
ผลึกของ Zincite หรือสารแร่ของ Zinc Oxide (Photo Credit: cobalt123 - https://www.flickr.com/photos/cobalt/91712256/in/set-72157600434321810/, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4268506)
นอกจากนี้เขายังมีส่วนคิดค้นทิงเจอร์จากฝิ่นอีกด้วย มีชื่อเรียกว่า Laudanum และยังมีใช้มาจนทุกวันนี้
ขวดทิงเจอร์ของฝิ่น ที่นิยมเรียกกันว่า Laudanum (Photo Credit: Wellcome Images, Science Museum, London)
และด้วยจิตวิญญาณของนักปฏิรูป แพราเซลซัสปฏิเสธแนวคิดดั้งเดิมของกรีกโรมัน ที่นิยมรักษาโรคด้วยการถ่ายเลือดออกจากร่างเพื่อคืนความสมดุลให้กับของเหลวสี่ชนิดในร่างกาย
เขาถึงกับเผาตำราดั้งเดิมของเกแลนและแอวิเซนนาที่คนจำนวนมากเคารพนับถือ และยังเขียนหนังสือโต้แย้งแนวคิดของเกแลนโดยเสนอทฤษฎีใหม่ว่าอาการเจ็บป่วยในคนเรานั้นไม่ได้เกิดจากของเหลวภายใน แต่มีสาเหตุและรวมทั้งรักษาได้ด้วยความรู้ทางเคมี
แพราเซลซัสเชื่อว่า ผลผลิตจากพืชมีความสามารถในการรักษาโรคก็จริง แต่ฤทธิ์อ่อนเกินไป เขาจึงพยายามโน้มน้าวให้คนหันมาใช้สารเคมีในการรักษาแทน (เท่ากับฟื้นฟูความรู้ในยุครุ่งเรืองของตะวันออกกลาง)
เนื่องจากเติบโตในเหมืองแร่ ผลงานชิ้นโบว์แดงของแพราเซลซัสคืองานวิจัยด้านโลหะที่ช่วยป้องกันคนงานเหมืองจากเจ็บป่วยและอันตรายจากงานโลหะ เขาใช้สารประกอบเกลือของปรอทรักษาโรคซิฟิลิส และใช้สารประกอบเกลือของโลหะอื่นรักษาโรคหลายชนิด
สารประกอบเหล่านี้หลายอย่างแม้จะเป็นพิษก็ยังมีการใช้อย่างได้ผลในยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมยาสมัยใหม่เมื่อไม่ถึง 100 ปีที่แล้วนี้เอง
เหตุที่เขาได้รับการขนานนามว่า เป็นบิดาแห่งวิชาพิษวิทยา เพราะเขาเชื่อว่าสารทุกชนิดเป็นพิษและไม่มีสารใดที่ไม่เป็นพิษ ยารักษาโรคจะเป็นพิษในบางปริมาณเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “ปริมาณยาทำให้เกิดพิษ” (the dose makes the poison)
ปัจจุบันนี้เราทราบว่า สารที่พิจารณาว่ามีพิษมากถ้าใช้ในปริมาณน้อยก็จะปลอดภัย แต่ในทางกลับกันสารที่พิจารณาว่าไม่เป็นพิษถ้าใช้มากก็เกิดพิษได้เช่นกัน
ปริมาณยาทำให้เกิดพิษ (the dose makes the poison)
แพราเซลซัส
ในชั่วชีวิตของเขา แพราเซลซัสเผยแพร่งานเขียนเกี่ยวกับยา เคมีและการแพทย์มากมาย ซึ่งล้วนเป็นความรู้ที่ล้ำยุคที่เขามีชีวิตอยู่ไปมาก คงจะไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า ยาและอุตสาหกรรมยายุคใหม่มีรากมาจากปรัชญาแนวคิดของแพราเซลซัส ที่มาได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในภายหลัง
นวัตกรรมของแพราเซลซัสล้ำสมัยไปมาก เพราะในยุคนั้นสภาพแวดล้อมความเชื่อของสังคมรวมทั้งแพราเซลซัสเองก็ยังได้รับอิทธิพลจากวิชาโหราศาสตร์และศาสนาอยู่ไม่น้อย
ยิ่งถ้าถอยออกมายืนดูภาพรวมของยารักษาโรค ยาเสพติด และยาพิษ จากมุมของความรู้และเทคโนโลยีใหม่ อารยธรรมด้านยาของมนุษย์เรเนซองส์ยังถือว่าอยู่ในยุคสมัยที่เรียกว่า "ยุคแห่งพืช"
แม้จะมีการค้นพบใหม่ ๆ แต่ยาในยุคเรเนซองส์ก็ยังอยู่ในยุคของพืชสมุนไพร (Photo Credit: Rafa Damrongchai)
โลกยังไม่มีอุตสาหกรรมยา วิชาเคมีก็ยังอยู่ในยุคของการเล่นแร่แปรธาตุ ยาใหม่เกือบทั้งหมดที่ใช้กันมาจากพืช และ "เภสัชศาสตร์" ก็เป็นหนึ่งศาสตร์ที่แตกแขนงออกมาจาก "พฤกษศาสตร์"
เรื่องราวของ EP นี้คงจะไม่สมบูรณ์อย่างย่ิง ถ้าเราไม่เอ่ยถึงนักบุกเบิกอีกคนหนึ่งในสมัยเดียวกันนี้ ชื่อของเขาคือ "คอร์ดุส"
วาเลรีอุส คอร์ดุส (AD 1515–1544) ชาวเยอรมัน เกิดมาในครอบครัวของแพทย์และเภสัชกร ในยุคที่การเล่นแร่แปรธาตุกำลังเป็นที่นิยม คอร์ดุสกลับสนใจค้นคว้าด้านพฤกษศาสตร์และสมุนไพรอย่างลึกซึ้ง
แม้เขาจะเชี่ยวชาญตำรับยากรีก แต่คอร์ดุสเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ต้องค้นหาและสร้างยาใหม่ ๆ ด้วย เขาศึกษาวิชาเคมีจนสามารถสังเคราะห์ "อีเธอร์" (ในยุคนั้นเรียกว่า oil of vitriol) จากกรดซัลฟุริกและอัลกอฮอล์
วาเลรีอุส คอร์ดุส (Photo Credit: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Valerius-Cordus.png#/media/File:Valerius-Cordus.png)
เดิมนั้นแพราเซลซัสได้ระบุว่าอีเธอร์ใช้เป็นยาแก้ปวดได้ แต่คอร์ดุสนอกจากสังเคราะห์อีเธอร์ได้แล้ว (มีผู้ตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่ในปี 1561) เขายังได้บรรยายคุณสมบัติทางเคมีและทางการแพทย์ของอีเธอร์เอาไว้เพิ่มเติมอย่างละเอียดว่าใช้บรรเทาอาการไอได้ด้วย
เราจะกลับมาพูดถึงอีเธอร์ และจะได้เห็นว่าอีเธอร์มีบทบาทสร้างอุตสาหกรรมยายุคใหม่ขึ้นมาได้อย่างไรในตอนต่อ ๆ ไป
ผลงานของแพราเซลซัสและคอร์ดุสนี่เอง ที่เริ่มฉายแสงสว่างนำพายุโรปออกจากความตกต่ำ
References and Further Readings
The Drug Hunters: The Improbable Quest to Discover New Medicines (2017 by Donald R. Kirsch and Ogi Ogas)
โฆษณา