3 ก.ย. 2022 เวลา 07:32 • สุขภาพ
Series: ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยา - ตอนที่ 5 ยาที่ร่างกายสร้างขึ้นมาได้เอง
1
เราเห็นกันจากตอนที่แล้วว่า "สารเคมี" คือกุญแจดอกหนึ่งสู่ยารักษาโรค
วิชาเคมี เป็นกุญแจทรงพลังดอกแรก ที่ไขประตูของประวัติศาสตร์ ให้ออกจากยุคที่ยาเป็นเพียงอุปกรณ์เสริม เข้าสู่ยุคที่มนุษย์สร้างยาใหม่ขึ้นมาได้ เพื่อให้ยาสามารถรับใช้สังคมในวงกว้างต่อไป
1
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 มีสองปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น
3
อย่างหนึ่งก็คือ ความรู้เกี่ยวกับวิชาเคมีที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
จากเดิมที่เป็นเพียงการเล่นแร่แปรธาตุ หวังเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทอง ฯลฯ เริ่มกลายเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระบบมากขึ้น
และอีกปรากฏการณ์หนึ่งก็คือ การค้นพบความมหัศจรรย์ของ "ภูมิคุ้มกัน" ที่กลายเป็นกุญแจทรงพลังดอกที่สอง ที่ทำให้ยาสามารถรับใช้สังคมในวงกว้างได้จริง
2
แนวคิดทางเคมีที่ใช้พัฒนายา กับแนวคิดของการใช้ภูมิคุ้มกันนั้น แตกต่างกันมาก ทำนองเดียวกับที่การใช้ยาเบื่อหนู ต่างกับวิธีเลี้ยงแมวไว้คอยจับหนู
1
EP นี้เราจะเที่ยวรอบโลก และไปดูที่มาของวัคซีน และภูมิคุ้มกันดีกว่า
1
วัคซีนไม่ได้ทำจากชิ้นส่วนของพืชที่สกัดออกมา หรือการสังเคราะห์สารเคมีอย่างที่ผ่านมา
1
หากแต่มาจากแหล่งที่คาดไม่ถึง นั่นก็คือ ตัวคนที่ป่วยเป็นโรคเอง
1
เรื่องเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 1 พันปีที่แล้ว
2
คนสมัยนั้นสังเกตเห็นว่า ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคบางอย่างเช่นฝีดาษครั้งหนึ่งแล้ว จะไม่ติดโรคอีก
2
จึงมีการใช้วิธีการเอาชิ้นส่วนจากคนป่วยเข้าไปใส่ในตัวของคนที่ยังไม่ป่วย ทั้งในรูปแบบของการกรีดผิวหนังแล้วใส่เลือดหรือน้ำหนองจากคนที่ติดเชื้อเข้าไป หรือการสูดดมควันของผงที่ทำจากสะเก็ดแผลที่เกิดจากฝี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
1
การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการสูดดมควันที่ประเทศจีนเริ่มเมื่อศตวรรษที่ 15 โดยใช้สะเก็ดแผลของคนที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษในระดับที่ไม่รุนแรง นำมาป่นให้แห้งเป็นผง  (Photo Credit: Kerry Evans, Labroots.com)
วิธีการนี้มีใช้ในอินเดียและจีนแล้ว รวมทั้งในยุครุ่งเรืองในตะวันออกกลาง มีชื่อเรียกว่า variolation
2
ต่อมาจึงใช้คำว่า inoculation ที่แปลว่าปลูกแบบทาบกิ่งไม้ ซึ่งก็คือการปลูกฝีนั่นเอง
2
อย่าลืมว่าในเวลานั้นมนุษย์เรายังไม่รู้จักเชื้อโรคเลย จึงไม่รู้ว่าวิธีนี้เป็นการเอาเชื้อเป็น ๆ เข้ามากระตุ้นภูมิโดยตรง เป็นวิธีการที่ยังเสี่ยงมากเพราะอาจตายจากการติดเชื้อได้ง่าย ๆ และการตายด้วยวิธีนี้ก็มีให้เห็นไม่ใช่เรื่องแปลก
3
เพราะความไม่รู้นี้แหละจึงกล้าทำ แต่เมื่อทำแล้วเห็นผล แม้จะต้องตายบ้าง ก็ยังทำต่อ ๆ กันมา
1
และยิ่งในนาทีที่เกิดภาวะโรคระบาดรุนแรง มนุษย์ก็ยิ่งต้องตัดสินใจหยุดยั้งโรคโดยใช้ความกล้าเสี่ยง แม้ว่าจะยังไม่เข้าใจนักว่า วิธีนี้จริง ๆ แล้วทำไมถึงใช้ได้ผล
เลดี้ มารี มองตากู ภรรยาทูตอังกฤษประจำอาณาจักรออตโตมัน (Photo Credit: Samuel Freeman - https://probaway.wordpress.com/tag/variolation-of-flu/, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=17679436)
เลดี้ มารี มองตากู ภรรยาสาวของทูตอังกฤษประจำอาณาจักรออตโตมัน เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากโรคฝีดาษ แต่ได้สูญเสียน้องชายไปต่อหน้าต่อตา ท่ามกลางการระบาดของโรค
3
เมื่อได้เห็นการทำ variolation ที่ตะวันออกกลาง เธอจดบันทึกขั้นตอนไว้อย่างละเอียด และนำวิธีนี้มาใช้ช่วยชีวิตลูกชายของเธอด้วย ในที่สุดจึงเป็นผู้ริเริ่มนำวิธีนี้มาใช้ที่อังกฤษจนแพร่หลาย
3
ในปี ค.ศ.​1776 ที่สหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพ เกิดฝีดาษระบาดขึ้นที่เขตอาณานิคมบอสตันและฟิลาเดลเฟีย ยามนั้น จอร์จ วอชิงตัน และผู้นำหลายคนที่ต่อมาได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเช่น จอห์น อดัมส์และครอบครัว ก็ได้สนับสนุนและเข้ารับการปลูกฝีนี้ด้วยตัวเอง
5
ท่ามกลางพายุการแพร่ระบาดอย่างน่ากลัวของโรคฝีดาษ ชนชั้นนำและครอบครัว รวมทั้งประชาชนที่ได้รับการปลูกฝีที่เสี่ยงตายนี้มีจำนวนไม่น้อย และก็รอดชีวิตมาได้ไม่น้อย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากผู้ไม่เห็นด้วยที่ไม่เชื่อในเทคนิคนี้ ทั้งเพราะกลัวความเสี่ยง และกลัวว่าการกระทำนี้ขัดต่อประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
1
หมอเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Photo Credit:  https://wellcomeimages.org https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=36560529)
จนกระทั่งมามีหลักฐานการฉีดวัคซีนครั้งแรกปรากฏชัดเมื่อตอนที่แพทย์ชาวอังกฤษที่ชื่อเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (AD 1749-1823) สังเกตเห็นว่า หญิงรีดนมวัวไม่ค่อยเป็นฝีดาษ
3
จึงเอาหนองจากมือของหญิงรีดนมวัวที่เป็นโรคฝีดาษวัว (ฝีดาษวัวสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในคนได้ โดยมีอาการอ่อน ๆ ไม่ร้ายแรง และต่างกับฝีดาษคน) มาปลูกให้เด็กชายคนหนึ่ง
3
เสร็จแล้วหมอเจนเนอร์ก็ลองเด็กให้สัมผัสกับเชื้อฝีดาษระหว่างที่โรคกำลังแพร่ระบาด และก็พบว่าป้องกันเด็กชายคนนี้ไม่ให้ป่วย และรอดมาได้ แสดงว่าเด็กคนนี้ได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
1
หมอเจนเนอร์ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างฝีดาษวัวกับโรคฝีดาษในคน และใช้หนองฝีดาษวัวสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในคน (Photo Credit: Wellcome Collection gallery (2018-03-21) https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=36505815)
แม้ว่าในยุคของหมอเจนเนอร์นั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องเชื้อโรคยังไม่มี และแม้จะพอรู้ว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกัน แต่กลไกการทำงานของมันยังเป็นที่เข้าใจน้อยมาก กระนั้นวิธีการฉีดวัคซีน (vaccination) ของหมอเจนเนอร์ที่คิดขึ้นใหม่นี้ก็ช่วยรักษาชีวิตคนได้มหาศาล
3
หลังจากนั้น วัคซีนก็ได้ถูกนำไปใช้ทั่วยุโรป นโปเลียนแห่งฝรั่งเศสถึงกับยกย่องหมอเจนเนอร์ซึ่งเป็นคนชาติคู่อริว่าเป็นผู้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่แก่มนุษยชาติ
4
หวังว่าวิธีการฉีดวัคซีนฝีดาษวัวให้มนุษย์จะแพร่หลายไปทั่วโลก และเมื่อวันนั้นมาถึงจะไม่มีโรคฝีดาษอีกต่อไป
นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์
1
ไม่ช้าไม่นานวัคซีนก็ได้แพร่ไปจนถึงญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเข้าสู่ปลายยุคเอโดะ ยุคแห่งซามุไร
1
นาเบชิมะ นาโอมาสะ ไดเมียว (ผู้ปกครองแคว้น) แห่งซางะ (Saga) บนเกาะคิวชู เป็นผู้มีความรู้และวิสัยทัศน์ เขาได้สั่งวัคซีนจากตะวันตกเข้ามาฉีดให้ประชาชนที่กำลังทุกข์ยากจากการระบาดของโรคฝีดาษ แต่กลับประสบปัญหาโลจิสติกส์
2
เพราะวัคซีนจากฝีดาษวัวที่ส่งมาทางเรือจากยุโรปคือเชื้อเป็น ๆ มันจึงเสื่อมสภาพจากระยะเวลาเดินทางที่ยาวนานก่อนจะมาถึงท่าเรือนางาซากิ
1
ดังนั้นแทนที่จะใช้หนองจากฝีสด แพทย์ชาวญี่ปุ่นจึงแนะนำให้ใช้สะเก็ดแผลแห้งของฝีดาษวัวแทน โดยเชื่อว่าเชื้อน่าจะไม่ตายเสียระหว่างทาง ปรากฏว่านำมาใช้ได้ผลดี
2
นาเบชิมะ นาโอมาสะ ไดเมียวแห่งซางะ ผู้นำที่ริเริ่มใช้วัคซีนในญี่ปุ่น (https://mag.japaaan.com/archives/155790/3)
แต่เวลานั้นชาวญี่ปุ่นทั่วไปมีความระแวงวิธีการนี้ บ้างก็ว่าฉีดวัคซีนแล้วเดี๋ยวจะกลายเป็นวัว จะมีเขางอกบ้าง เป็นความระแวงที่มาพร้อมกับความระแวงต่อคนต่างชาติ
2
นาเบชิมะจึงแก้ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับลูกชายของตน เมื่อทุกคนเห็นว่าไม่มีผลข้างเคียง วัคซีนจึงแพร่หลายไปยังเมืองใหญ่อื่น ๆ อย่างเกียวโตและเอโดะในที่สุด
3
ผ่านมาอีกไม่กี่สิบปีที่ยุโรป หลุยส์ ปาสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (AD 1822-1895) ก็ใช้วิธีคล้ายกันรักษาชีวิตของเด็กชายที่ถูกหมากัด
3
แต่คราวนี้วิธีของปาสเตอร์คือใช้เชื้อไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงฉีดเข้าไป ผลคือสามารถช่วยไม่ให้เด็กป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าได้สำเร็จ เป็นการตอกย้ำประสิทธิภาพของวัคซีน
2
หลุยส์ ปาสเตอร์ (Photo Credit: Paul Nadar - File:Louis Pasteur, foto av Paul Nadar.jpg, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=28039885)
ปาสเตอร์ไม่ใช่หมอ ก่อนหน้านั้นเขาถูกขอจากวงการอุตสาหกรรมอาหารให้ช่วยศึกษาวิจัยว่าเหตุใดไวน์จึงบูด จนกระทั่งค้นพบและพิสูจน์การมีอยู่ของจุลินทรีย์
3
รอบนี้จึงต่างจากสมัยของหมอเจนเนอร์ เพราะด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ปาสเตอร์จึงทำวิจัยในห้องแลป และเกิดความรู้ใหม่เกี่ยวกับสาเหตุของโรคเพิ่มขึ้นมา
1
ความรู้นี้เรียกว่า "ทฤษฎีเชื้อโรค (Germ Theory)"
2
นำไปสู่การรู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคจำนวนมากที่คร่าชีวิตคนมาตลอดประวัติศาสตร์ และทำให้ยกระดับการรักษาโรคและการวิจัย พัฒนายารวมทั้งวัคซีนไปไกลมาก
3
จนถึงการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) ที่เราจะพูดถึงในอีกหลายตอนข้างหน้า
เอาแค่มาถึงจุดนี้ ผู้เกี่ยวข้องในวงการยานอกจากหมอ นักเคมีแล้ว ก็ยังมี "นักจุลชีววิทยา" ที่ถือกุญแจทรงพลังดอกที่สามเข้ามาร่วมวง และบิดาของนักจุลชีววิทยาทั้งมวลก็ไม่ใช่ใคร คือหลุยส์ ปาสเตอร์นั่นเอง
3
มีความรู้ครบก็เหมือนอาวุธครบ วัคซีนถูกผลิตและนำไปใช้กับอีกหลายโรคเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นให้ร่างกายสร้าง "ยา (ภูมิคุ้มกัน)" ขึ้นมาสู้กับโรคติดเชื้อได้ด้วยตัวเอง
1
ในเมื่อการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแต่ละครั้งต้องใช้ในปริมาณมาก ก็เลยทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน พร้อมกับการรณรงค์ของรัฐบาลทั่วโลกที่ให้ฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกรวม ๆ แล้วเป็นหลักร้อยล้านถึงพันล้านคน ช่วยรักษาชีวิตคนไว้ได้เป็นจำนวนมหาศาล
1
ผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือในที่สุดเมื่อ 44 ปีก่อน องค์การอนามัยโลกก็ประกาศว่าโรคฝีดาษได้ถูกกำจัดหมดสิ้นไปจากโลกไป
3
แต่สงคราวกับเชื้อโรคยังไม่ถือว่าจบ ที่จริงแล้วตอนนี้เรารู้ตัวแล้วว่าสงครามนี้จะไม่มีวันจบ เห็นได้จากการระบาดของโควิด-19 เรื่อยมาจนกระทั่งเกิดโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดในทุกวันนี้
3
References and Further Readings
‘A fearsome decision’: Abigail Adams had her children inoculated against smallpox
江戸時代、どこよりも早くワクチン接種を敢行!天然痘の抑え込みに成功した佐賀藩主・鍋島直正に学ぶ
โฆษณา