19 ส.ค. 2022 เวลา 13:29 • ธุรกิจ
ทำไมจึงขายต่ำกว่าราคาทุน!
หลายคนคงน่าจะเคยสงสัยเหมือนกันว่า เวลาเห็นป้าย Sell 70-90% โหหหห เซลล์หนักขนาดนี้ จะไม่กินไปถึงต้นทุนของผู้ขายเลยเหรอ มันยังมีกำไรอยู่ไหม ทำไมผู้ขายจึงยอมขายในราคานั้นได้ เพราะเหตุใด
ในทางการตลาดแล้ว แต่ละผู้ประกอบการอาจมีวิธีในการทำราคาแตกต่างกันไป ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะมีเทคนิคแพรวพราวแค่ไหนเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขาย
แต่ในการดำเนินธุรกิจ ก็มีเหตุผลในการตั้งราคาขายอีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าจะขายให้ได้กำไรเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุในการตั้งราคาเพื่อให้ขายสินค้าออก เช่น
- สินค้าไม่ได้มาตรฐาน
- สินค้าตกรุ่น/หมดสมัยนิยม
- สินค้าใกล้หมดอายุ/หมดอายุ
- สินค้าเศษซากที่เหลือจากการส่งออก
- วัตถุดิบที่นำไปใช้ผลิตไม่ได้แล้ว
เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ กิจการก็ต้องหาวิธีที่ทำยังไงก็ได้ให้ขายสินค้าออก เพื่อไม่เป็นภาระในการดูแลรักษาต่อไป ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้กันนั้นก็คือการ ลดราคาต่ำกว่าทุนนั่นเอง
แต่เราคงเคยได้ยินมาว่า การขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุสมควร เจ้าหน้าที่สรรพากรมีอำนาจประเมินราคาสินค้าให้เป็นตามราคาตลาดในวันที่มีการขายสินค้าได้
1
และเมื่อถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรประเมินราคาขายเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลทำให้กิจการจะต้องเสียภาษีมากขึ้น!
จากเหตุการณ์นี้ หากคำนึงถึงหลักการทางบัญชีและภาษี ผู้ประกอบการจะสามารถขายในราคาต่ำกว่าทุนได้หรือไม่ ?
สำหรับการดำเนินการทางบัญชีและภาษี
ในการลงบัญชีต้นทุนหรือตัดรายจ่าย ‘ของเสียตามปกติ’ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของผลิตภัณฑ์หน่วยที่ดีด้วย
ส่วน ’ของเสียเกินปกติ’ ที่เกิดขึ้นจากการกระบวนการผลิตสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าตกรุ่น สินค้าที่หมดอายุและเศษซาก
📌 ในกรณี ที่กิจการต้องการจะทำลายสินค้า สามารถตัดเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่ทำลายนั้น
โดยต้องปฏิบัติตามข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.79/2541 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีการทำลายของเสีย สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุและเศษซาก ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
📌 ส่วนในกรณีที่กิจการ ประสงค์จะขายสินค้าที่ใกล้หมดอายุ สินค้าหมดอายุ สินค้าที่เหลือจากการส่งออก สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน วัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่มีตำหนิไม่สามารถนำไปใช้ในการผลิตได้
โดยขายในราคาต่ำกว่าต้นทุน มิใช่เป็นการทำลายสินค้า ถือเป็นการโอนทรัพย์สิน โดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด
หากมีการตรวจสอบสภาพสินค้าตามเงื่อนไขที่กิจการกำหนดไว้ และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ หรือเศษซาก
และมีบุคคลสังเกตการณ์ร่วมด้วย ได้แก่ ฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายบัญชี พร้อมลงลายมือชื่อเป็นพยานในการขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี อันเนื่องจากการขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุนนั้น
เหตุการณ์ดังนี้ ถือได้ว่ากิจการ โอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฏากร
** กิจการไม่จำเป็นต้องให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับรองอีกก็ได้ **
มาถึงตรงนี้ก็คงพอจะเข้าใจแล้วว่า ทำไมผู้ขายถึงยอมขายในราคาขาดทุน เพราะไม่ได้มีเหตุผลในการขายสินค้าเพียงเพื่อให้ได้กำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลอื่นที่จำเป็นต้องขายสินค้าออกให้ได้
และแน่นอนว่าไม่มีใครอยากขายสินค้าต่ำกว่าทุน แต่ถ้ามันจำเป็นมีเหตุที่จำต้องขาย เพราะถ้าไม่ขายเลย ก็อาจจะทำให้กิจการเกิดความเสียหายหนักกว่าก็เป็นได้ค่ะ
อ้างอิง : ข้อหารือกรมสรรพากร เลขที่ กค 0811(กม)/134
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา