22 ส.ค. 2022 เวลา 13:09 • ความคิดเห็น
“ตามเขาไม่ทัน” ไม่มีอยู่จริงในชีวิต - มีแต่ความคาดหวังกลวงๆจากสังคมที่บิดเบี้ยว
เมื่อสองสามวันก่อนไปเห็นโพสต์หนึ่งผ่านตาประมาณว่า “อายุ 25 แล้วแต่เหมือนยังไปไม่ถึงไหนเลย” ถ้าจำไม่ผิดเหมือนเป็นกระทู้บางอย่าง
ก็อดแปลกใจไม่ได้เลยกดเข้าไปอ่าน คอมเมนต์ในนั้นก็มีแบบ “เหมือนกันเลย นี่จะ 25 แล้วแต่รู้สึกเหมือนตามเพื่อนๆคนอื่นๆไม่ทัน เหมือนตัวเองไม่มีค่าเลย” ซึ่งไม่ใช่คนเดียวด้วย มีคนคอมเมนต์ประมาณนี้อยู่จำนวนไม่น้อย
พออ่านแล้วก็หันมาถามตัวเองว่า “25 กูทำบ้าอะไรอยู่วะเนี้ย? เหมือนจะเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เหมือนจะกำลังเพิ่งเริ่มทำงานแบบจริงๆจังๆถ้าจำไม่ผิด”
ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะยุคสมัยที่แตกต่างกันหรือเป็นเพราะความกดดันจากสิ่งแวดล้อม คนรอบตัว ไอดอลออนไลน์ สื่อต่างๆ ที่บิดเบี้ยวจนกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้ความคาดหวังจากเด็กๆรุ่นใหม่ต้องทำทุกอย่างสำเร็จตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ
แค่ทำงานหาเงินเอาตัวรอดและใช้ชีวิตในสังคมนั้นดูเหมือนจะไม่เพียงพออีกต่อไป เราต้องมีทุกอย่าง เก่งทุกด้าน มากกว่าทุกคน - นั้นถึงจะเรียกว่าสำเร็จ จริงๆเหรอ?
วันก่อนผมเห็นวิดีโอหนึ่งบน TikTok ที่ผู้หญิงคนหนึ่งถือเงินสดราวๆสองล้านบาทออกมาจากถุงกระดาษแล้วไปยื่นให้แม่บอกในห้องครัวเพราะความรัก ซึ่งพอดูวิดีโออันอื่นต่อจากนั้นเธอก็ถ่ายวิดีโอตามมุมต่างๆของบ้านพร้อมบอกมูลค่าว่าทั้งหมดหลายสิบล้านบาทที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอ ทั้งๆที่อายุยังน้อยๆอยู่เลย
แน่นอนว่าผมชื่นชมในตัวเธอ ต้องขยันและเก่งมากขนาดไหนกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้
อินเตอร์เน็ตสามารถสร้างโอกาสมหาศาลและในขณะเดียวกันก็ทำลายความมั่นใจและความเป็นตัวเองของผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนได้เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าเราจะไปกล่าวโทษคนที่ขวนขวายจนถีบตนเองขึ้นไปจนมีทุกสิ่งทุกอย่างที่น่าอิจฉาคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง พวกเขาไม่ได้ผิดที่คนอื่นๆจะรู้สึกขุ่นเคืองหรือคิดว่าตัวเองบกพร่อง ไม่ใช่ความรับผิดชอบที่จะต้องมารับรู้ว่าคนที่เห็นจะรู้สึกยังไง
ทุกที่ที่เราเปิดเจอ YouTube, TikTok, Facebook, Instagram, Twitter หรือพวกโฆษณา ทีวี ภาพยนต์ นิตยสาร ต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่าเป้าหมายของเราคือร่ำรวยและมีชื่อเสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงทำให้เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะหนีภาพไอเดียเหล่านี้ (ถ้าไม่ใช่ว่าจะปลีกวิเวกไปอยู่ในป่าเขาคนเดียวอะนะครับ)
1
บางส่วนของผมก็เข้าใจในความรู้สึกนี้ไม่มากก็น้อย ชีวิตที่ช่วงเวลาหนึ่งที่ผมพยายามแข่งขันหรือมีเป้าหมายว่าจะต้องหาเงินให้ได้มากจนสามารถเป็นอิสระทางการเงินให้ได้
สามารถเดินทางรอบโลกได้โดยไม่ต้องนั่งกังวลถึงค่าใช้จ่าย สามารถบินไปกินอาหารกลางวันที่ฮ่องกงแล้วบินไปตบซูชิเข้าปากที่โตเกียวเป็นของว่างก่อนจะบินกลับมานอนที่บ้าน
อยากจะไปยืนบนหอไอเฟลถ่ายเซลฟี่ ดื่มไวน์ใต้แสงเทียนในปารีส อยากมีหน้า wikipedia ของตัวเอง มีหนังสือ New York Times Bestseller มีคนติดตามบน IG หลายล้านคน อยากมอบชีวิตที่ดีให้กับคนที่อยู่รอบๆ ครอบครัว ภรรยา ลูกสาว ฯลฯ
ถามว่าผิดไหมที่คิดแบบนี้? ไม่ผิดหรอกครับ แต่พอถึงจุดหนึ่งผมก็รู้ว่าตัวเองกำลังติดกับดักทางความคิด หลงวนอยู่ใน “rat race” ที่ทำงานหนักเพื่อจะได้ทำงานที่หนักขึ้นไปอีกอย่างไม่มีวันจบสิ้น ลืมไปว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับตัวเองคืออะไร และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาตัวเองไปเทียบกับใคร
เมื่อเทียบกับ Bill Gates ผมก็ไม่ต่างอะไรกับคนจรไร้บ้านคนหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาตัวเองไปเทียบกับประชากรชาวเกาหลีเหนือที่ยากจน เราก็อาจจะเป็น Bill Gates ในสายตาของพวกเขา มันคืออยู่กับบริบท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นเป็นเชื้อเพลิงเร่งผลักดันตัวเรา .
การเห็นคนอื่น “ได้ดิบได้ดี” มีอาชีพการงานที่รุ่งเรืองสดใส หรือ เห็นเด็กวัยรุ่นสร้างรายได้มากมายจากการทำวิดีโอไวรัลบน TikTok ทำให้ชีวิตปกติๆ (ที่ความจริงอาจจะดีก็ได้) ดูห่วยลงไปถนัดตา
1
ไม่ว่าชีวิตคุณจะมีมากแค่ไหน คุณก็จะมีน้อยกว่าใครสักคนหนึ่งเสมอ
1
“ตามเขาไม่ทัน” ไม่มีอยู่จริงในชีวิต มีแต่ความคาดหวังกลวงๆจากสังคมที่บิดเบี้ยว
1
เราเอาตัวเองไปเทียบกับใคร? เพื่อนจากมหาวิทยาลัย? รุ่นน้อง รุ่นพี่? เรารู้สึกตามคนอื่นไม่ทันเพราะระดับความสุขของเราไปเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและสังคมที่เราอยู่ ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีการอยู่นิ่ง เราเอาสิ่งที่สังคมบอกว่านี่คือความสำเร็จมาเป็นต้นแบบให้เราชื่นชมและทุ่มเทโดยลืมถามคำถามที่สำคัญที่สุดไป
“เราต้องการความสำเร็จเพราะอะไร?”
1
บางทีการใคร่ครวญกับคำถามตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ บางทีเราอาจจะไม่ได้ต้องการความสำเร็จเลยก็ได้ เราอาจจะแค่ต้องการได้รับการยอมรับจากใครสักคนหนึ่ง อยากจะมีคนรับฟัง คนมองเห็น หรือแค่อยากจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตัวเองอยู่เท่านั้น เราอาจจะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราร่ำรวยและมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เลย
ถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เราต้องการในชีวิตของเราจริงๆคืออะไร เราอาจจะเห็นเพื่อนที่ทำงานตำแหน่งหัวหน้าในบริษัทใหญ่โต เดินทางเที่ยวต่างประเทศเป็นว่าเล่น แต่นั้นก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่คุณต้องไปใส่ใจถ้าจริงๆแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ เรามีทางของเรา ความฝันของเรา ความชื่นชอบของเรา สิ่งนั้นควรเป็นสิ่งที่เราให้ความสนใจมากกว่ารึเปล่า
1
การเอาคนหนึ่งมาเทียบกับอีกคนหนึ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เลย
1
ถ้ามองในมุมของโลกแล้วผมเองถือว่าตามเพื่อนๆในกลุ่มหรือรุ่นน้องหลายคนไม่ทันแล้ว ช่วงหนึ่งผมแทบเป็นบ้าเพราะคิดแต่จะหาวิธีผลักให้ตัวเองเด่น ดังและหาเงินให้ได้เยอะๆให้ได้ แต่ถึงจุดหนึ่งผมก็รู้แล้วว่ามันไม่ได้นำมาซึ่งความสุขเลย
1
ทุกคนมีความชอบต่างกัน เริ่มต้นต่างกัน ความสามารถต่างกัน และที่สำคัญเป้าหมายต่างกัน มีคำกล่าวหนึ่งที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวเอาไว้ว่า
1
“ทุกคนเป็นอัจฉริยะ แต่ถ้าคุณตัดสินปลาโดยความสามารถในการปีนต้นไม้ทั้งชีวิต มันจะคิดว่ามันโง่”
ปลาไม่ควรที่จะไปปีนต้นไม้ตั้งแต่แรก, ถามตัวเองให้เยอะๆว่าเป้าหมายของเราคืออะไร (คือถ้าเป้าหมายคือการเป็นคนร่ำรวยและมีคนติดตามหลายล้านคนจริงๆ อันนั้นก็ลุยตามนั้น) และหยุดทำร้ายตัวเองด้วยการเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่นได้แล้ว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา