29 ส.ค. 2022 เวลา 08:43 • ความคิดเห็น
ประเมินตนสูง แต่ส่วนใหญ่ไม่รอด : รู้จัก Survivorship Bias อธิบายว่าทำไมคนถึงประเมินโอกาสในความสำเร็จของตัวเองสูงเกินจริง
1
ทุกครั้งที่เห็นเราเห็นคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือชีวิต เชื่อว่าตามธรรมชาติของมนุษย์แล้วเรามักจะพยายาม ‘ถอดรหัสความสำเร็จ’ และเรียนรู้บทเรียนจากบุคคลเหล่านั้น
แต่นั่นอาจนำมาซึ่งปัญหา เพราะสิ่งที่เรามองเห็นคือคนที่ประสบความสำเร็จและรอดชีวิตมาจนถึงจุดที่ทุกคนเรียกเขาว่าผู้ชนะเท่านั้น ถ้าเปรียบก็คงเหมือนกลาดิเอเตอร์ที่ฟันฝ่าจนสามารถกลายเป็นแชมเปียนได้
เราเห็นถ้วยรางวัล เหรียญทอง ชื่อเสียง เพราะมันสวยงาม
สิ่งที่เราไม่เห็นคือคนที่พ่ายแพ้ระหว่างทางและคนที่พยายามแล้วแต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน และถ้าให้เทียบสถิติกันแล้ว คนที่ไปถึงดวงดาวนั้นมีเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
เอาอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพหรือการเป็นศิลปินนักร้องก็ได้ อัตราการล้มเหลวเมื่อเลือกเดินอาชีพนี้สูงถึง 90% พูดง่าย ๆ ทำไปสิบครั้งจะล้มไป 9 เหลือรอดมาเจิดจรัสฉายแสงและบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จแค่ 1 คนเท่านั้น ส่วนอาชีพหรือเส้นทางอื่นก็โหดร้ายไม่แพ้กันหรอกครับ มีคนสำเร็จก็มีคนร่วงหล่นไปตามทางเช่นกัน
ในแต่ละวันเราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับความสำเร็จตลอด เคล็ดลับความสำเร็จจากเศรษฐีคนนั้น นักรับเทรดหุ้นยูทูบเบอร์มือทองเทรดได้วันละแสนสองแสน ซื้อรถเงินสดสามสี่ล้าน (อุ้ย!) นักร้อง ศิลปิน หรือแม้แต่นักเขียน ชัยชนะถูกนำเสนออย่างเด่นชัด จึงไม่แปลกใจเลยที่เราจะรู้สึกว่า “ฉันก็น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน” เริ่มประเมินตนเองสูง เข้าข้างตนเองไปโดยอัตโนมัติ เหมือนคนนอกมองแล้วหลงกับภาพมายาของความสำเร็จและไม่รู้เลยว่าโอกาสมันน้อยมากขนาดไหน
2
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “Survivorship Bias” หรือ “อคติจากการเห็นผู้อยู่รอด” ซึ่งเป็นความเอนเอียงจากการให้น้ำหนักการตัดสินใจโดยมองแค่ด้านเดียวหรือในที่นี้คือบุคคลที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้มองว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นมีมากขนาดไหน
สื่อในปัจจุบันเชิดชูผู้ประสบความสำเร็จเพราะมันขายง่าย แต่มันก็เป็นอันตรายทำให้คุณมีอคติจากการเห็นผู้อยู่รอดแล้วพยายามเลียนแบบหรือทำตาม มักทำให้คุณประเมินว่าตัวเองนั้นน่าจะประสบความสำเร็จสูงเกินไปอย่างไม่รู้ตัว
และสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วอคตินี้ยิ่งอันตรายมากกว่าอีก เพราะคุณจะประเมินความสามารถของตัวเองสูงเกินไป คิดว่าตัวเองมาถึงจุดนี้ได้เพราะความสามารถ ทั้ง ๆ ที่บางทีอาจมีปัจจัยอื่นที่เข้ามามีส่วนด้วย มีตัวอย่างหนึ่งในหนังสือ “Psychology of Money” ที่ Jesse Livermore นักเทรดหุ้นสร้างรายได้ภายในวันเดียวถึง 3000 ล้านเหรียญจากการ short ตลาดหุ้นช่วง Great Depression ในปี 1929 เขารู้สึกฮึกเหิมมากเพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความสามารถของตัวเองล้วน ๆ
เขาประเมินตัวเองสูงเกินไป ต่อมาแค่ 3 ปี เขาก็สูญเงินตรงนั้นไปทั้งหมด สุดท้ายก็เลือกจบชีวิตตัวเองเพราะรับความจริงไม่ได้
เอาหล่ะ...พูดมาถึงตรงนี้ก็ไม่ได้อยากให้ท้อใจอะไรหรอกนะครับ ไม่ได้อยากให้คุณเลิกวิ่งตามความฝันหรือหยุดทำในสิ่งที่ต้องการทำหรอกนะครับ เพียงแต่อยากบอกว่าเวลาจะทำอะไร ลงทุนในตลาดหุ้น ในธุรกิจ เลือกสายงาน หรืออะไรก็ตามในชีวิต ขอให้ลองดูหลาย ๆ ด้านเข้าไว้ ลองดูคนที่ล้มเหลว คนที่พลาด ว่าเกิดอะไรขึ้น ลองหาเหตุผลเบื้องหลังดู แม้มันจะดูหดหู่ แต่เชื่อว่าจะช่วยทำให้อคติตรงนี้ลดลงได้ไม่น้อยเลยหล่ะครับ
อ่านบนเว็บ​ : https://rb.gy/yhprz5
ช่องทางติดตามบทความเพิ่มเติม
The People, Beartai, The Matter, CapitalRead, 101.World, GQ, a day Bulletin : สามารถค้นหาชื่อ ‘โสภณ ศุภมั่งมี’ ได้เลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา