31 ส.ค. 2022 เวลา 06:21 • ความคิดเห็น
เหนื่อยกับงาน ยิ่งนานยิ่งท้อใจ : เทคนิคของคุณครูที่ Quiet Quitting กว่า 2 ปีโดยไม่กระทบกับงานประจำ
แมกกี้ เพอร์กินส์ (Maggie Perkins) วัย 30 ปีฝันมาโดยตลอดว่าชีวิตนี้เธออยากเป็นคุณครู
“ฉันอยากเป็นครูทุกวันตลอดชีวิตที่ผ่านมา และตลอดไป มันเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขมาก”
ฟังแล้วดูเหมือนแมกกี้จะเจอสิ่ง Passion หรือ “งานที่รัก” ของตัวเองมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเจ้างานที่รักเนี้ยไม่ค่อยรักเธอตอบสักเท่าไหร่
เธอทำงานหนักมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ลองคิดง่าย ๆ ว่า อาทิตย์หนึ่งมี 168 ชั่วโมง นอนไปแล้ว 1/3 หรือ 56 ชั่วโมง เหลือ 112 ชั่วโมง ซึ่งหักเวลาที่จำเป็นอย่างกินข้าว อาบน้ำ ดูแลตัวเอง เดินทางไปทำงานอีก 42 ชั่วโมง เหลือ 70 ชั่วโมง แล้วถ้าทำงานอีก 60 ชั่วโมง เหลือเวลาว่างอีกแค่อาทิตย์ละ 10 ชั่วโมงเท่านั้น)
แน่นอนเบิร์นเอาท์ถามหาครับ แถมไม่พอเงินเดือนได้แค่ 50,000 เหรียญต่อปี หรือ ราว ๆ 1.8 ล้านบาท อาจจะฟังดูเยอะ แต่ถ้าดูค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีของพนักงานในอเมริกาอยู่ที่ราว 70,000 เหรียญต่อปี และค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้เลยว่าแมกกี้นั้นได้เงินไม่เยอะเลย
เธอจึงตัดสินใจ ‘Quiet Quitting’ หรือทำงานตามหน้าที่ที่มอบหมาย ทุ่มเทให้กับงานในเวลาที่ทำงาน แต่นอกเหนือจากเวลางานก็หันไปทำอย่างอื่นเพื่อปรับสมดุลย์ให้กับชีวิตตัวเองอีกครั้ง
2
เธอเริ่มทำตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่เทรนด์ของคำว่า “Quiet Quitting” จะกลายเป็นกระแสเหมือนอย่างในตอนนี้ซะอีก
(ผมเขียนเรื่อง Quiet Quitting ไว้ตรงนี้ ลองอ่านกันเพิ่มเติมได้ครับ - https://capitalread.co/quiet-quitting/ และ https://www.beartai.com/brief/1139968)
ซึ่งก่อนหน้านี้เราเห็นเทรนด์ของ ‘Great Resignation’ หรือการลาออกครั้งใหญ่ผ่านไปหลังจากโควิดเริ่มคลายตัวและพนักงานพากันลาออกเพราะว่าไม่อยากกลับไปทำงานเหมือนเดิมแล้ว แต่สำหรับหลาย ๆ คนแล้วการลาออกไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้ (หรือยังไม่ใช่เวลา)
ฉะนั้นเจ้าเทรนด์ Quiet Quitting เลยการเหมือนจุดกึ่งกลางที่เหมาะสำหรับพนักงานเหนื่อย ท้อกับงาน แต่ก็ยังไม่อยากลาออก แต่หันกลับมาสนใจชีวิตความเป็นอยู่และสร้างสมดุลให้ชีวิตตัวเองมากขึ้นนั่นเอง
แมกกี้ได้แชร์เทคนิคที่ใช้ไว้ประมาณนี้
1. เริ่มช้า ๆ อย่าตัดทั้งหมด จัดเรียงความสำคัญว่าอันไหนที่ต้องทำเพื่อให้งานยังดำเนินต่อไปได้
หลายคนคิดว่าการ Quiet Quitting คือบอก ‘ปฏิเสธ’ ทุกอย่างที่ไม่ใช่หน้าที่ที่มอบหมายเลยทันที แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น แมกกี้อธิบายว่าในฐานะของคุณครูหลายต่อหลายครั้งการเตรียมการสอนก็มีใช้เงินตัวเองเพื่อซื้ออุปกรณ์เข้าห้องบ้าง ปีหนึ่งรวม ๆ กันก็หลายบาท แถมยังต้องเจอผู้ปกครองจากนักเรียนโจมตี เหนื่อยขนาดไหนก็หยุดงานไม่ได้ มันเหมือนกับ ‘กบที่กำลังอยู่ในน้ำที่กำลังเดือดขึ้นเรื่อย ๆ’ สุดท้ายก็เบิร์นเอาท์และต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
1
แมกกี้อธิบายว่าค่อย ๆ ลดภาระหน้าที่ของตัวเองลง ทำแบบปุ๊บปั๊บชั่วข้ามคืนไม่ได้ ไม่ต้องบอกใคร แค่ลดลงให้เหลืองานที่จำเป็นต้องทำจริง ๆ จัดสรรเวลาการทำงานให้ดี ปรับวิถีการทำงานให้มีประสิทธิภาพและจัดเรียงความสำคัญว่างานไหนต้องทำเพื่อให้หน้าที่ของตนเองนั้นสมบูรณ์แบบ ไม่มากกว่านั้น ไม่น้อยกว่านั้น
2. การ Quiet Quitting ไม่ได้หมายความว่าเลิกใส่ใจงาน
2
“มันไม่ได้หมายความว่าปล่อยวาง ไม่เอาอะไรสักอย่าง แต่เป็นการลดภาระความรับผิดชอบ ไม่ต้องแสดงตัวเยอะ หรือทำงานนอกเหนือจากหน้าที่มาก”
เรายังต้องทำงานให้เสร็จ ไม่ใช่เป็นการเอาเปรียบบริษัท ลดความรับผิดชอบอันเป็นหน้าที่ของตัวเองลง คุณแค่ทำงานในสิ่งที่คุณต้องทำให้เสร็จ ถ้าเข้างาน 8 ถึง 5 โมง ก็ทำให้เต็มที่ช่วงนั้นแล้วก็ไม่ต้องเอางานกลับไปทำที่บ้านต่อ ถ้างานไหนที่นอกเหนือเวลางาน ไม่จำเป็นต้องทำ ก็ปฏิเสธไป
3. วัฒนธรรมเชิดชูการทำงานหนักนำมาซึ่งเบิร์นเอาท์
ในฝั่งของหัวหน้างานหรือเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าการทำงานหนักทุ่มสุดตัว ‘above and beyond’ วันหยุดก็มาทำงาน โอทีก็ไม่เกี่ยง คือคุณลักษณะที่น่าเชิดชูในตัวพนักงาน แต่มันคือจุดเริ่มต้นของเบิร์นเอาท์เลย
ผมเองก็เคยผ่านมาแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเคยผ่านมาแล้วเช่นกัน มันเป็นการหมดไฟ ร่างกายไม่ไหว สภาพจิตใจย่ำแย่ห่อเหี่ยว คือกว่าจะกลับมาได้ถือว่าใช้เวลานานมาก
ในสถิติเขาบอกว่าช่วงปี 2021 มีพนักงานเพียง 34% (ประมาณ 1/3) ของบริษัทในอเมริกาเท่านั้นที่รู้สึกว่าตัวเองมีไฟในการทำงาน ซึ่งถือว่าต่ำมาก (เชื่อว่าบ้านเราก็คงไม่ต่างกัน)
แมกกี้บอกว่า “มันถึงเวลาที่พวกเขาจะเลิกทำงานในลักษณะแบบนี้ได้แล้ว”
ไม่ใช่เพราะเราไม่อยากทำงาน ไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถ แต่สภาพแวดล้อมและความกดดันจากวัฒนธรรมการทำงานหนักทำให้เรารู้สึกเหนื่อยกับงาน ยิ่งทำยิ่งท้อใจ และสุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็ไม่มีความสุขกับการทำงานอีกต่อไป
คนมักมองว่าการทำงานหนักตลอดเวลาเป็นเรื่องน่าเชิดชู แต่ผมมองว่าการทำงานหนักในเวลาที่เหมาะสมและแบ่งเวลาให้ตัวเองด้วยต่างหากคือเรื่องที่น่าเชิดชู เพราะชีวิตไม่ได้มีแต่การทำงาน
เชื่อเถอะว่าไม่มีคนใกล้ตายที่พูดว่า “รู้งี้ทำงานให้หนักกว่านี้ก็ได้”
อ่านเรื่องราวของแมกกี้เต็ม ๆ ได้ที่นี่ครับ : https://www.businessinsider.com/how-to-quiet-quit-work-less-get-paid-former-teacher-2022-8
ช่องทางติดตามบทความเพิ่มเติม
The People, Beartai, The Matter, CapitalRead, 101.World, GQ, a day Bulletin : สามารถค้นหาชื่อ ‘โสภณ ศุภมั่งมี’ ได้เลยครับ
อ่านบนเว็บ : https://rb.gy/9bkklb

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา