15 ก.ย. 2022 เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์
ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายที่เกือบทุกองค์กรในทุกอุตสาหกรรมกำลังมุ่งหน้าทำให้สำเร็จ รวมถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งแต่เดิมเป็นอุตสาหกรรมอันดับสองที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก แต่หลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มจากผู้ผลิต พฤติกรรมผู้บริโภค และนโยบายรัฐก็พยายามทำให้ความสวยงามกับความยั่งยืนมาพบกันให้ได้
1. จุดจบของฟาสต์แฟชั่น: การเติบโตของตลาดสินค้ามือสอง การอัพไซเคิล และเศรษฐกิจหมุนเวียน
เสื้อผ้าตามกระแสนิยม เน้นราคาถูกแต่คุณภาพไม่ดี ใส่เพียงไม่กี่ครั้งก็ชำรุดหรือตกกระแส ในแต่ละปีโลกต้องฝังกลบขยะเหล่านี้มากกว่า 10 ล้านตัน การสนับสนุนให้ผู้บริโภคด้วยกันเองซ่อมแซมเสื้อผ้าที่ชำรุดเสียหายกลับมาใช้ใหม่ รู้จักมิกซ์แอนด์แมทช์ในแบบของตัวเอง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนถึงเกือบ 7 เท่า และใช้น้ำน้อยกว่าถึง 65 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อเสื้อผ้าใหม่
ปัจจุบันวงการแฟชั่นได้หันไปสู่การออกแบบเพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง กล่าวคือ นักออกแบบหรือดีไซเนอร์อาจต้องวางแผนคิดไว้ล่วงหน้าเลยว่าหากถึงจุดหนึ่งที่เสื้อผ้าชุดนี้ไม่อยู่ในกระแสนิยมแล้ว กระดุม ผ้า และวัสดุองค์ประกอบต่าง ๆ ในชุดจะสามารถแยกส่วนไปใช้งานต่อได้อย่างไร
2. ยุคสมัยแห่งความหรูหราในราคาที่จับต้องได้: โลกที่ยั่งยืนด้วยโอต์กูตูร์
คำว่าโอต์กูตูร์ (Haute Couture) หรืองานตัดเย็บชั้นสูงจะหมายถึงเสื้อผ้า “สั่งตัด” ที่ต้องใช้ช่างตัดเย็บและชั่วโมงการทำงานจำนวนมากในการออกแบบ ตัดเย็บ และเก็บรายละเอียดงานอย่างประณีตให้สมบูรณ์แบบและเหมาะกับรูปร่างของผู้สวมใส่เฉพาะบุคคล แบรนด์เสื้อผ้าที่เป็นโอต์กูตูร์เริ่มผลิตเสื้อผ้าที่เป็น Ready-to-wear หรือสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้จริงมากยิ่งขึ้น จับต้องง่ายและใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หากผู้คนในอนาคตยังสนใจในเรื่องเครื่องแต่งกายและแฟชั่นอยู่ การมีเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติหรือเทคโนโลยีอื่น ๆ อาจช่วยให้ผู้คนสามารถผลิตเครื่องนุ่งห่มเฉพาะบุคคลตามรสนิยมของตนเองได้ด้วยมาตรฐานการเลือกใช้วัสดุและการผลิตที่ยั่งยืน
3. เมตาเวิร์ส: เมื่อเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซและแฟชั่นหันมาบรรจบ
การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แต่ละแบรนด์เสื้อผ้าร่วมกับเทรนด์โลกเมตาเวิร์ส ทำให้เกิดการซื้อขายและเก็งกำไรสินค้าแฟชั่นในลักษณะโทเคนดิจิทัล การซื้อขายสินค้าแฟชั่นในโลกออนไลน์เริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มเมตาเวิร์สมากขึ้น เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าหนึ่งครั้งอาจได้รับทั้งสินค้าในโลกจริงและโทเคนดิจิทัลของสินค้านั้นในโลกเสมือน
จุดที่น่าสนใจต่อมาคือหากในอนาคตผู้คนให้ไปใช้ชีวิตในแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น การออกมาใช้ชีวิตในสถานที่ต่าง ๆ ในโลกจริงมากหรือน้อยลงหรือไม่ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือผู้คนยังจะให้ค่ากับการแต่งหน้าแต่งตัวต่างไปจากในปัจจุบันอย่างไรเมื่อการใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลักเสียแล้ว
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ผู้บริโภคจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านพฤติกรรมการบริโภคและการกดดันแบรนด์แฟชั่นทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงยังสามารถเป็นผู้ตรวจสอบว่าการสื่อสารองค์กรเกี่ยวกับความยั่งยืนของแบรนด์แฟชั่นเป็นความตั้งใจที่เห็นผลจริงหรือเป็นเพียงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด
- การยุติวงจรฟาสต์แฟชั่นจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานในโรงงาน ซึ่งมักมีการใช้แรงงานหนัก แรงงานผิดกฎหมาย ให้ค่าตอบแทนต่ำ และไม่มีสวัสดิการดูแลพนักงานที่ดีพอ อย่างไรก็ตาม การยุติงานดังกล่าวาอาจนำไปสู่ปัญหาการว่างงานจำนวนมาก ภาครัฐควรเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบโรงงานจนถึงการหางานใหม่ให้กับพนักงานอย่างถูกกฎหมาย
- เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการของอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมไปถึงการสร้างงานรูปแบบใหม่ และตัดกระบวนการทำงานรูปแบบเก่าออกไป จนไปถึงการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการผลิตงานแฟชั่นในอนาคต
- การให้ข้อมูล ความคิดเห็น และการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะของผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่นเกี่ยวกับประเด็นแฟชั่นและความยั่งยืนจะส่งผลอย่างมากต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้บริโภค
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofPlay #FutureofSustainability #FastFashion #Upcycling #CircularEconomy #MQDC
โฆษณา