21 ก.ย. 2022 เวลา 02:42 • หนังสือ
โกงเป็นหมู่เหล่า
นำชัย ชีววิวรรธน์
ผมเคยเขียนถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการโกหกหลอกลวงและการโกง รวมแล้วหลายตอนด้วยกัน
โดยสรุปแล้วปัจจัยที่ทำให้คนโกงมีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ที่เห็นได้ชัดเจน คงเป็นความอยากมีอยากได้นั่นเอง
ที่น่าตกใจคือนักวิจัยพบว่า ยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะโกงมากขึ้นไปด้วย แถมยังโกงอย่างลดเลี้ยวยากไล่ตามทันเสียด้วย
แต่ยังมีปัจจัยที่น่าสนใจมากอีก 2-3 เรื่องที่คนยังพูดถึงกันน้อย
ปัจจัยหนึ่งคือเรื่อง "เพศสภาพ" สัดส่วนของคนโกงที่เป็นเพศชายมีมากกว่าเพศหญิงอย่างเห็นได้ชัด เรื่องนี้ก็คล้ายกับเรื่องของอาชญากรรมโดยรวมที่พบว่า ผู้ชายเป็นอาชญากรมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
Photo by David von Diemar on Unsplash
อีกเรื่องก็คือ "ความกลัว" ไม่ว่าจะเป็นกลัวสูญเสียหน้าที่ การงาน ตำแหน่ง ฯลฯ
อันที่จริงนักวิจัยพบว่าเรื่องนี้เป็นปัจจัยหลักของการฉ้อฉลในวงการวิทยาศาสตร์ทีเดียว ดังจะกล่าวต่อไป
ปัจจัยสุดท้ายที่อย่างพูดถึงด้วยก็คือ "ตัวอย่างที่ไม่ดี" ครับ
เรื่องนี้มีผลอย่างสำคัญ ทำให้คนอื่นๆ ที่ไม่กล้าโกงแต่แรก หากเห็นตัวอย่างที่โกงแล้วอยู่ดีมีสุขไม่เดือดไม่ร้อน ก็จะยิ่งกล้าโกงมากยิ่งขึ้น
โจแอน เบนเนตต์ (Joan Bennett) แห่งมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ สรุปการศึกษาในกลุ่มนักวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (life sciences) โดยรวมไปถึงพวกนักศึกษาด้วย ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่าในทุกระดับการศึกษา (จบสูงเท่าใดก็ตาม) และสถานะการทำงาน (เด็กล้างขวดในห้องแล็ปไปจนถึงศาสตราจารย์ประจำห้องแล็ป) ต่างก็มีคนโกงปะปนอยู่ และผู้ชายก็เป็น "ไอ้ตัวร้าย" ในเรื่องพวกนี้
แต่ยังสรุปไม่ได้แน่นอนนักว่า ทำไมเพศชายจึงมีความถี่ในการโกงมากกว่าผู้หญิง
จะเป็นด้วยพฤติกรรมแบบผู้ชายที่มีรากฐานจากฮอร์โมน หรือจะมาจากการเลี้ยงดู หรือการหล่อหลอมจากวัฒนธรรมในสังคม หรือยังมีสาเหตุอื่นๆ อยู่อีก ซึ่งก็คงต้องสืบสวนกันต่อไป
งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2008 สรุปจากตัวอย่างจำนวนมากทำให้ทราบว่า ความไม่ซื่อสัตย์ในโลกแห่งความจริงนั้น เป็นผลมาจากคนเหล่านั้นพบว่า ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่อาจสูญเสียเงินทอง ความรับผิดชอบ หรือแม้แต่อาชีพไป ความกังวลใจแบบนี้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้เกิดการโกหกโป้ปดข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์
เมื่อดูในรายละเอียดก็พบว่า ผลงานตีพิมพ์กว่า 2,000 เรื่องที่ถูกถอดถอนในภายหลัง (ทำเสมือนไม่เคยมีการตีพิมพ์และห้ามไม่ให้อ้างอิงถึงต่อไป) ของกลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพนั้น มีการโกหกปั้นแต่งข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น "สัดส่วน" ถึงราว 10 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันและแรงกดดันที่นักวิทยาศาสตร์ต้องเขียนขอทุน ทำวิจัย และตีพิมพ์ผลงาน บางครั้งก็รวมถึงภาระงานด้านการสอนอีกด้วยหากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
Photo by Julia Koblitz on Unsplash
การใช้ตัววัดเป็นจำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเป็นแรงกดดันมหาศาลที่กดลงบนไหล่ของคนเหล่านี้ตลอดเวลา
เมื่อมีการลงมือโกหกหรือคดโกงครั้งแรกไปแล้ว จะส่งผลต่อเนื่องอะไรในระยะยาวได้บ้าง
มีแน่นอนครับ มีหลักฐานว่าหากทำได้สำเร็จในครั้งแรก นักโกงรายนั้นก็จะทำต่อไปด้วยความย่ามใจ โดยรู้สึกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่หนักใจเท่ากับหนแรกสุด
งานวิจัยเรื่องการถอนผลงานตีพิมพ์ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่สุดขั้วที่สุดกรณีหนึ่งคือ นักวิสัญญีวิทยา (งานหลักหนึ่งคือ ดูแลเรื่องยาสลบคนไข้) ชื่อ โยชิทะกะ ฟูจิอิ (Yoshitaka Fujii) ซึ่งเคยทำงานที่มหาวิทยาลัยโตโฮ (Toho University) ในกรุงโตเกียว
เขาเคยปั้นแต่งข้อมูลปลอมทางวิทยาศาสตร์เพื่อตีพิมพ์มากมายถึง 183 ฉบับ !
การเห็นคนโกงแล้วได้ดีหรือรอดเงื้อมมือกระบวนการยุติธรรมก็มีส่วนขับดันการโกงเช่นกัน
ค.ศ.2011 มีงานวิจัยจากทีมมหาวิทยาลัยลูบลิน (University of Lublin) ในโปแลนด์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเรียนถูกจัดฉากให้อยู่ในห้องสอบที่มีกระจกมองทางเดียวอยู่โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
พวกนักเรียนต้องทำข้อสอบการสะกดคำ โดยผู้ทดลองบอกว่าห้ามใช้พจนานุกรมที่มีอยู่ในห้องเป็นตัวช่วย ก่อนที่เขาจะเดินจากไป ปล่อยให้พวกนักเรียนทำข้อสอบกันไป
ผลก็คือหากมีหน้าม้าในห้องที่แอบใช้พจนานุกรม นักเรียนก็จะโกงด้วยวิธีการนี้เพิ่มมากขึ้นเป็น 3 เท่าเลยทีเดียว
นักวิจัยสรุปว่าความคดโกงที่ไม่โดนจัดการ มีส่วนสนับสนุนความคิดความรู้สึกที่ว่า แต่ละคน "จำต้อง" โกงเช่นกัน เพื่อให้ยังคงความสามารถในการแข่งขันอยู่ได้
Photo by Shubham Sharan on Unsplash
การโกงแบบนี้จึงคล้ายกับโรคติดต่อรูปแบบหนึ่ง มีรายงานว่าในการสอบคราวหนึ่ง นักศึกษามหาวิทยาลัยดังอย่างฮาร์วาดมากถึง 125 คนจากทั้งหมด 279 คนที่โกงการสอบ
เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้นมีนักศึกษามากกว่าครึ่งหนึ่งของ 125 คนนี้ที่ถูกลงโทษพักการเรียนถึง 1 ปี
แต่ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยคนขี้โกงโดยรวมๆ ในสังคมในสัดส่วน 3% หากเป็นผู้ชายและ 1% หากเป็นผู้หญิง
คำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้จึงเป็นว่า มีการร่วมมือกันและลอกเลียนพฤติกรรมการโกงกัน
สำหรับการลงโทษก็มีการถกเถียงกันมาก เพราะการลงโทษอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะช่วยได้จริง
ในขณะที่เทคโนโลยีบางอย่างอาจช่วยลดการโกงในบางรูปแบบได้บ้าง มีผู้เสนอให้เปลี่ยนจากระบบลงโทษเป็นให้รางวัลแทนในกรณีของนักวิจัย รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับทีมมากขึ้น ก็อาจช่วยลดการคดโกงแบบรายบุคคลได้บ้าง
สุดท้ายอาจจะเป็นว่าการรับรู้ของผู้คนต่อตัวอย่าง "คนไม่โกงที่ประสบความสำเร็จ" กับ "คนโกงที่ได้รับผลจากการโกง" อาจเป็นต้นแบบสำคัญให้กับลูกหลานและสังคมโดยรวม ได้ดีกว่าคำขวัญหรือคอร์สอบรมใดๆ ก็ตามที่สอนเรื่องการไม่โกง ที่บางครั้งถึงกับตลกกันไม่ออกทีเดียว เพราะ...
คอร์สสอน "ไม่โกง" เหล่านั้น โกงกันสารพัดรูปแบบ เพื่อให้เกิดเป็นคอร์สขึ้นมา
อ่านบทความเกี่ยวกับการโกงเพิ่มเติมได้ที่
บทความนี้อยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
หน้าปกหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน, สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/matichonbook
โฆษณา