25 ก.ย. 2022 เวลา 05:00 • การตลาด
สิงคโปร์ขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นาย ลี เซียนลุง ได้กล่าวในงาน National Day Rally 2022 ในประเด็นการขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องปรับขึ้น GST เนื่องจากสิงคโปร์กำลังเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัย
ดังนั้นสิงคโปร์ต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้น รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือค่ายา เพื่อลดภาระค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังต้องสร้างโรงพยาบาล โพลีคลินิก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่มขึ้น
เพื่อให้ประชากรสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและสังคมของสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายกฯ กล่าวต่อว่า การไม่ขึ้นภาษี GST เป็นการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมทางการเมือง แต่จะเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะรัฐบาลฯ มีความกังวลเกี่ยวกับทรัพยากร (งบประมาณ) ว่าอาจไม่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัวที่มีรายได้น้อยและความต้องการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ในขณะนี้หนึ่งในหกของประชากรสิงคโปร์มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
แต่ภายในปี 2573 จำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในสี่ โดยได้ยกตัวอย่างถึงช่วงที่นายกฯ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี 2523 ประชากรเขต Teck Ghee อยู่ในวัยหนุ่มสาวแต่งงาน แต่ในขณะนี้ต่างถือไม้เท้า หรือใช้รถเข็น แสดงให้เห็นถึงความต้องการการดูแลด้านการรักษาพยาบาลจะต้องเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปี
ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิงคโปร์สามารถรับมือได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากการจัดการทางการเงินที่ดีและมีทุนสำรองเพียงพอ ดังนั้น รัฐบาลฯ ควรรักษาการออมและมีการวางแผนสำหรับอนาคต
ภาพรวมประชากรผู้สูงอายุในสิงคโปร์
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสิงคโปร์ (Department of Statistics) ระบุว่า ในปี 2564 สิงคโปร์มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 5.45 ล้านคน (ลดลง -4.1% จากปี 2563) ประกอบไปด้วยชาวสิงคโปร์ 3.5 ล้านคน และผู้ถือบัตรพำนักถาวร (Permanent Residents : PR) 0.49 ล้านคน คิดรวมเป็นทั้งสิ้น 3.99 ล้านคน (ลดลง -1.4% จากปี 2563) และชาวต่างชาติ 1.47 ล้านคน
โดยสัดส่วนจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ต่อจำนวนประชากรอายุ 20-64 ปี ในสิงคโปร์ได้ปรับลดลงเรื่อยๆ จากในปี 2533 อัตราส่วนอยู่ที่ผู้สูงอายุหนึ่งคนต่อวัยทำงาน 10.5 คน
ในขณะที่ในปี 2564 อัตราส่วนอยู่ที่ผู้สูงอายุหนึ่งคนต่อวัยทำงาน 4 คน แสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุในสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 23.8 % หรือเกือบหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2573
ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ผู้สูงอายุจะเป็นกระแสหลักทางด้านประชากรศาสตร์ในช่วงปี 2562-2583 ของสิงคโปร์ ประกอบกับอัตราการเกิดที่ลดลง และอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ที่สูงขึ้น ส่งผลให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชากรสูงอายุสูงที่สุดอันดับสามของโลกภายในปี 2583
โดยกลุ่มประชากรอายุต่ำกว่า 60 ปี จะหดตัวลง ในขณะที่ประชากรกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นกว่า 300% ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มผู้บริโภคในสิงคโปร์มากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้เตรียมความพร้อมต่างๆ ในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2558 The Ministerial Committee of Ageing (MCA) ได้ออกแผนปฏิบัติการเพื่อการสูงวัยอย่างประสบความสำเร็จ (The Action Plan for Successful Ageing) เพื่อเป็นการช่วยชาวสิงคโปร์ให้เป็นสุขในวัยสูงอายุ และยังคงความคล่องแคล่ว
โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวมีมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (77,100 ล้านบาท) ภายในระยะเวลา 5 ปี แบ่งออกเป็นสามระดับ ได้แก่
1) ระดับปัจเจก โดยการช่วยเหลือให้ชาวสิงคโปร์มีอายุยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดี
2) ระดับชุมชน โดยการสร้างสังคมปรองดองระหว่างวัย
3) ระดับเมือง โดยการสร้างเมืองเป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย
หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงสิงคโปร์และไทยต่างกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเชิงประชากร และเป็นความท้าทายที่ประเทศต้องเผชิญในการเตรียมการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิงคโปร์มีการจัดทำแผนนโยบายแห่งชาติ และดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ เช่น การดูแลเงินสบทบทุนกองทุนส่วนกลาง
รวมไปถึงนโยบายการขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) ในปีหน้า ที่ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้การดูแลรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุ และสวัสดิการต่างๆ อีกทั้งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ยารักษา อาหารเสริม หรือ แว่นสายตาที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ร้านขายยา ร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงาม ร้านแว่นสายตาในสิงคโปร์ต่างเติบโตขึ้น
ในขณะเดียวกัน อาหารเสริมที่มาจากยาสมุนไพรหรือแผนโบราณได้รับความนิยมเช่นกัน เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาช่วยนอนหลับ ยาช่วยย่อยอาหาร บำรุงกระเพาะ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะชาวสิงคโปร์มีความนิยมสินค้าที่ทำมาจากธรรมชาติ และมีความเชื่อว่าจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าสินค้าที่ทำมาจากเคมี สินค้าไทยที่เกี่ยวกับสมุนไพรได้รับความนิยมและน่าเชื่อถือในสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยต้องทำการศึกษาและปฏิบัติตามกฎของหน่วยงาน Health Sciences Authority (HSA) ในการขอใบอนุญาตต่างๆ อย่างเคร่งครัด
โฆษณา