22 ก.ย. 2022 เวลา 11:31 • อาหาร
"อะล็องอะโหล่น: ประเพณีส่งเวรแต่ได้บุญของคนมอญประเทศเมียนมา"
เคยเห็นประเพณีตักบาตรสมัยโบราณของคนไทย ลาว พม่า และมอญบ้างไหมครับ ที่คนลาวคนไทยอีสานตักบาตรเฉพาะข้าวเหนียว หรือคนมอญคนพม่าตักบาตรแต่ข้าวสวย ตักข้าวใส่บาตรเสร็จหันหลังกลับเข้าบ้านเฉย พระก็ปิดฝาบาตรเดินจีวรปลิวจากไป ไม่มีแม้แต่ให้ศีลให้พร กลับถึงวัดแล้วพระจะฉันข้าวกับอะไร?
ผู้หญิงมอญบ้านเกาะซ่าก รัฐมอญ ประเทศเมียนมา เทินสำรับบนศีรษะเข้าวัด “อะล็องอะโหล่น” หรือ “ส่งเวร”
การ “ส่งเวร” หรือ “อะล็องอะโหล่น” ของผู้หญิงมอญบ้านเกาะซ่าก
ถึงหอฉันบนวัดแล้วก็จัดแจงอาหารลงถ้วยจานชามครบชุดสำหรับพระเณร
วันสำคัญและหน้าเทศกาลจะมีญาติโยมนำภัตตาหารมาถวายพระเณรจำนวนมาก
ถึงวันนี้ คาดว่ากระแสความนิยมตักบาตรข้าวเหนียวในลาวจะยังคงสร้างกระบวนการเรียนรู้ในหมู่นักท่องเที่ยวได้ไม่มาก ทำนองเดียวกับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าพระสงฆ์พม่าบิณฑบาตทั้งวันด้วยการเหมารวม แม้จะเป็นจริง แต่ก็สามารถอธิบายได้ด้วยคำพังเพยที่ว่า ตาบอดคลำช้าง เพราะการบิณฑบาตในเมียนมานั้นมีหลายวิถีปฏิบัติ รวมทั้งเนื้อใน “ความเป็นเมียนมา” ก็กอรปขึ้นจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
หนึ่งในนั้นคือ มอญ เจ้าของอารยธรรมสูงแห่งที่ราบลุ่มอิรวดี กับประเพณี “อะล็องอะโหล่น” ที่สืบเนื่องจากการบิณฑบาตซึ่งฆราวาสอุทิศปฏิบัติวัตรฐากสมณะสงฆ์ด้วยศรัทธา
ด้วยมอญนั้นเป็นชนชาติเก่าแก่ แม้ปัจจุบันจะไม่มีประเทศเอกราช รวมทั้งภายหลังการเสียเอกราชบ้านแตกสาแหรกขาด คนมอญจำนวนมหาศาลอพยพหลบหนีภัยสงครามจากดินแดนตน (ปัจจุบันคือเมียนมา) เข้าเมืองไทยหลายยุคหลายสมัย คนเหล่านั้นได้นำเอาธรรมเนียมปฏิบัติในทางพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่ตนคุ้นเคยติดตัวเข้ามาด้วย และยังคงสืบสานอยูในชุมชนมอญเมืองไทยทุกวันนี้
การได้เห็นพระเมียนมาเดินบิณฑบาตจนสายโด่ง มองว่ารบกวนญาติโยมจนเกินพอดี แต่บางคนตำหนิว่าบกพร่องในกิจของสงฆ์ ด้วยไม่เคยเห็นออกบิณฑบาตเลย เอาแต่รอฉันอาหารที่มีโยมอุปัฏฐากหุงหาให้เสร็จสรรพภายในวัด ขณะที่น้อยคนจะพบเห็นด้วยตาตนเองว่า พระในเมียนมาออกบิณฑบาตก็จริงแต่ก็เป็นเวลาเช้าตรู่ เดินเร็วปรื๋อ เหมือนไม่ง้อคนใส่บาตร มิหนำซ้ำชาวบ้านที่ต้องตื่นแต่มืดแต่ดึกทำกับข้าวไม่ทันหรือไม่ก็คงยากจนจึงใส่บาตรเพียงข้าวสวย
ทั้งหมดที่มีคนพบเจอต่างกรรมต่างวาระแล้วนำมาบอกเล่าเท่าที่ตนมีประสบการณ์นั้นเป็นความจริงทุกกรณี และความต่างของวิถีปฏิบัติในพิธีทางสงฆ์ในเมียนมาก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยรองรับทั้งสิ้น
ลองพิจารณาตั้งคำถามแบบลำลองกันดู ของการตักบาตรในเมืองไทยที่เราคุ้นเคยมีแบบแผนอย่างไร เทียบเคียงระหว่างปัจจุบัน-แต่ก่อน ชนบท-ในตลาดหรือมีความเป็นเมือง สิ่งที่พบเห็นโดยมากในชุมชนเมืองปัจจุบันก็คือ การใส่บาตรด้วยข้าวถุงแกงถุงรวมกันลงไปในบาตรเดียว ไม่ว่าจะหุงต้มเองหรือซื้อหาที่คนขายจัดไว้ให้เป็นชุด จากนั้นลองมองกลับไปที่ยังชนบทไทยแต่ก่อน อย่างที่เราชอบยกขึ้นมาเทียบเป็นเชิงข่มเพื่อนบ้านว่า
“โอ้โห!...บ้านเรือนถนนหนทางผู้คนเมียนมา ลาว กัมพูชา เหมือนเมืองไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้วเลย!”
คำถามที่เกิดจากความต่างที่พบอาจได้คำตอบที่ต่างออกไป เป็นต้นว่า วิถีชีวิตของคนชนบทที่ไม่เร่งร้อน ศรัทธาของคนต่างสังคมมีขนาดไม่เท่ากัน สังคมสมัยใหม่มีถุงพลาสติกที่ใช้งานสะดวก ถุงพลาสติกทำให้ใส่ข้าวสวยและแกงลงในบาตรได้พร้อมกัน พระในสังคมเก่าไม่มีความจำเป็นต้องรับบาตรมากเกินจำเป็นแล้วขายคืนแม่ค้ารับเงินใส่ย่ามกลับวัดอย่างพระสังคมใหม่บางรูป เหล่านี้คือคำตอบของยุคสมัย และเป็นเครื่องมือช่วยมองวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจน
วัดในเมียนมาบางวัดตั้งอยู่ในชุมชนเมือง บ้างเป็นวัดของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งอยู่ท่ามกลางชุมชนต่างชาติพันธุ์ หรือต่างนิกาย ทำให้ไม่มีญาติโยมมากพอที่จะใส่บาตรเพียงพอ บางกรณีเป็นวัดสายการศึกษาพระปริยัติธรรมที่มุ่งเน้นการศึกษาพระไตรปิฎก มีญาติโยมแสดงความจำนงเป็นเจ้าภาพภัตตาหารทุกวัน มีการตั้งโรงครัว ว่าจ้างคนทำอาหารหรือศรัทธาญาติโยมอาสาหุงต้มถวายทุกมื้อ ไม่ต้องเสียเวลาบิณฑบาตที่มักจะได้ภัตตาหารเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย
วัดกึ่งเมืองบางวัดไม่มีศรัทธาญาติโยมประจำ ชาวบ้านยากจนต้องดิ้นรนเรื่องปากท้อง พระเณรแยกกันบิณฑบาต ทำสังฆกรรม และฉันใครฉันมัน บางครั้งจำเป็นต้องบิณฑบาตหลายชั่วโมงกว่าจะได้ภัตตาหารเพียงพอต่อการขบฉันแต่ละวัน
ความต่างของชุมชนมอญเมืองไทยกับชุมชนมอญในประเทศเมียนมา ฆราวาสและพระสงฆ์มีธรรมเนียมปฏิบัติหรือวัตรปฏิบัติคล้ายคลึงกัน ที่เกิดจากวัฒนธรรมเดียวกัน แม้ว่าประเพณีปฏิบัติของแต่ละชุมชนในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม
ผมได้ยินคำว่า “อะล็องอะโหล่น” มาแต่เด็ก อย่างน้อยประมาณเดือนละครั้ง พ่อแม่จะเตรียมอาหารคาวหวานอย่างดี คราวละมาก ๆ ขนาดกินได้สัก 10 คน ขนลงเรือพายไปวัด จัดแจงจัดลงสำรับพอดีจำนวนพระเณรทั้งวัด ประเคนพระฉันจนแล้วเสร็จ รับศีลรับพร ถ่ายอาหารที่เหลือลงภาชนะอื่นเก็บให้เด็กวัดเป็นมื้อเย็น เป็นอันจบสิ้นภารกิจ “อะล็องอะโหล่น”
หมู่บ้านผู้เขียนทุกวันนี้แทบไม่มีใครสืบทอดประเพณีนี้แล้ว คนเก่า ๆ ล้มหายตายจาก ลูกหลานมีการงานรัดตัว จึงถูกแทนที่ด้วยการสนับสนุนปัจจัยเป็นครั้งคราว รวมทั้งการได้มาซึ่งภัตตาหารของพระเณรในปัจจุบันก็เปลี่ยนรูปแบบไป ญาติโยมสามารถใส่บาตรได้ทุกวัน ใส่ทั้งข้าวสวย กับข้าว ขนม น้ำดื่ม ตลอดจนดอกไม้ธูปเทียน และอาจรวมทั้งปัจจัยไทยธรรมพร้อมกันได้ในคราวเดียว
1
เท่าที่ทราบ ประเพณีส่งเวรของชุมชนมอญในเมืองไทยปัจจุบันเหลือไม่มากนัก เช่น สามโคก จังหวัดปทุมธานี บ้านโป่ง โพธาราม จังหวัดราชบุรี สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และบางกระดี่ กรุงเทพฯ เป็นต้น โดยมากมักจะทำกันเฉพาะช่วงเข้าพรรษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้พระเณรไม่ต้องออกบิณฑบาตเฉอะแฉะในหน้าฝน ต่างจากมอญในเมืองมอญที่ยังทำหน้าที่กันตลอดทั้งปี
“อะล็องอะโหล่น” แปลว่า “ส่งเวร” หากจะแปลโดยแยกศัพท์ตามความหมายในภาษามอญ “อะล็อง" เป็นคำกริยา แปลว่า “ส่ง” ส่วน "อะโหล่น" เป็นคำนาม แปลว่า “ครั้ง คราว หน เที่ยว วาระ” รวมแล้ว “อะล็องอะโหล่น” จึงหมายถึงการส่ง(ของ)เป็นครั้งคราวตามวาระที่ตนรับผิดชอบเมื่อวาระหรือเวรนั้นเวียนมาถึง
“ของ” ที่ส่งเป็นครั้งคราวตามวาระหรือตามเวรที่ตนเองรับผิดชอบเมื่อเวียนมาถึงตนในที่นี้ก็คือ ภัตตาหารสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณรที่วัด
คนมอญบ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ชุมชนที่ยังคงรักษาประเพณีปฏิบัตินี้ไว้อย่างเข้มแข็ง เล่าให้ฟังว่า
ตอนเช้าจะตักบาตรพระที่เดินมาบิณฑบาตหน้าบ้านเฉพาะข้าวสวย ส่วนกับข้าวชาวบ้านจะเอาไปถวายที่วัด ในแต่ละวันจะมี 12 บ้าน ที่รับผิดชอบ โดยจะรับผิดชอบทั้ง 2 มื้อ และเปลี่ยนชุดคนรับผิดชอบทุก 2 เดือน แต่บางบ้านก็ไปถวายทุกวัน...นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้ ใส่ข้าวกับของเหลวปนกันไป ข้าวเสีย ฉันไม่ได้...มันทำให้ชาวบ้านได้ใกล้ชิดพระ พระถ่ายทอดคติคำสอนให้ชาวบ้าน ชาวบ้านได้พึ่งพิงพระ อย่างน้อยก็แบบอย่างที่ถูกที่ควร...ไม่อยากให้วัฒนธรรมประเพณีนี้สูญเสียไป
นิรันดร แสนดี (2558)
ชุมชนมอญบ้านเกาะซั่วและบ้านเกาะซ่าก รัฐมอญ ประเทศเมียนมา ที่ผมสัมผัสคลุกคลีกินนอนด้วยหลายครั้งหลายหน พบว่ายังคงรักษาประเพณีเหนียวแน่น แต่ละครัวเรือนรับหน้าที่ของตนไปตาม “เวร” ด้วยความเอาใจใส่ กุลีกุจอ ยิ้มแย้มอิ่มบุญ
เช้าตรู่ของแต่ละวัน ขณะฟ้ายังไม่ทันสางดี พระเณรทั้งวัดจะเดินเรียงแถวออกจากวัดจนรอบหมู่บ้าน ชาวบ้านที่ต่างตื่นแต่มืดแต่ดึกเป็นปกติวิสัยของชาวนาชาวไร่ ต่างคดข้าวสวยใส่โถหรือภาชนะที่เหมาะสมนั่งรออยู่สองข้างทางที่พระเดินผ่าน (โดยมากจะเป็นผู้หญิง) ระหว่างรอก็พูดคุยกันไป เมื่อพระมาถึงก็ยกโอข้าวขึ้นจบเหนือหัว ใช้ทัพพีตักข้าวสวยใส่บาตรพระเณรจนครบทุกรูป
คนมอญบ้านวังกะ กาญจนบุรี ตักบาตรข้าวสวย (ภาพ: www.aksornsobhon.co.th)
คนมอญบ้านวังกะ กาญจนบุรี นั่งจับกลุ่มพูดคุยระหว่างรอพระรับบิณฑบาต
คนมอญบ้านเกาะซั่ว แขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ รัฐมอญ ประเทศเมียนมา
ข้าวที่เหลือจากการตักบาตรจะเป็นทานแก่ฝูงสัตว์ นกหนูหมูหมากาไก่
ระหว่างนั้นทั้งพระและโยมก็พูดคุยทักทายกัน บางครั้งพระก็บอกบุญ ขอความร่วมมือลงแรงทำงานสาธารณประโยชน์ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ญาติโยมก็ซักถามเรื่องข่าวคราวบ้านเมือง ธุระปะปังจิปาถะ ไม่ได้มีระยะห่างพินอบพิเทามากมาย แต่ก็เต็มไปด้วยความเคารพศรัทธา เสร็จแล้วก็ก้มลงกราบไปกับพื้น ยกโอข้าวที่เหลือขึ้นจบเหนือหัวอีกครั้ง ตักเทลงบนรั้วบ้าน คาคบไม้ และพื้นดินให้เป็นทานแก่ฝูงสัตว์
1
พระเณรรับบาตรได้เพียงข้าวสวย แล้วกับข้าวล่ะ?
คล้อยหลังจากพระญาติโยมที่ตักบาตรแล้วก็พากันเข้าครัว ขณะที่พระกลับถึงวัดมักจะไม่ได้ฉันข้าวในทันทีเพราะยังเช้าตรู่ ต่างถอดจีวรที่ห่มคลุมออกเหลือแต่อังสะ ทำงานพัฒนาต่าง ๆ ซ่อมสร้างกุฏิเสนาสนะสงฆ์ ถมถนน ขุดลอกคูคลอง หากไม่มีงานก็นั่งอ่านหนังสือท่องบ่นสวดมนต์ ระหว่างนั้นกลิ่นอาหารจากแต่ละครัวเรือนก็ลอยมาถึงวัดล่วงหน้าเจ้าของกันแล้ว
กรรมการวัดแต่ละหมู่บ้านจะจับสลากจัดเวรให้ชาวบ้านหุงเวรถวายพระทุกวัน โดยจัดให้ 1 เดือนมี 31 เวร ซึ่งในวันเดียวกันจะมีหลายครัวเรือนร่วมกัน หากหมู่บ้านใหญ่ก็อาจรับเวรเพียงบ้านละครั้ง แต่หากหมู่บ้านเล็กก็อาจจะต้องมีคนที่มีความพร้อมรับเวรมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้ครบทั้งเดือน
นอกจากนี้ บรรดาวัดมอญด้วยกันก็มีความแตกต่างกันระหว่างชนบทกับตลาดหรือในเมือง ที่ความสัมพันธ์ของวัดและชาวบ้านต่างกัน รวมทั้งฐานะของผู้คนที่ต่างกัน เช่นวัดมอญในตัวเมืองย่างกุ้ง มัณฑะเล ที่แต่ละวัดตั้งอยู่ชิดติดกันนับร้อยวัด มีลักษณะเป็น นิคมวัดนานาชาติพันธุ์ ตัววัดจำนวนมากมีลักษณะเป็นตึกสูงหลายชั้น โดยมีกุฏิ ศาลา อุโบสถ หอสวดมนต์ และหอฉันรวมอยู่ในอาคารเดียวกัน วัดลักษณะนี้บางวัดจะไม่มีการ “อะล็องอะโหล่น” แต่จะมีผู้ทำหน้าที่หุงหาอาหารประจำภายในวัด
เป็นที่สังเกตว่า หน้าที่ “อะล็องอะโหล่น” หรือส่งเวรในเมืองมอญจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง น่าจะเป็นเพราะในเมียนมา ผู้หญิงสามารถประเคนสิ่งของให้พระสงฆ์ได้โดยตรงไม่ต้องมีผ้ารับประเคน ขณะที่หมู่บ้านมอญในเมืองไทยโดยมากจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เพราะต้องขึ้นลงหอฉันที่อยู่หว่างกลางกุฏิสงฆ์ ค้นหาภาชนะในห้องครัวแบ่งถ่าย และประเคนกับพระเณรได้สะดวก ป้องกันไม่ให้ผู้หญิงยุ่มย่ามในเขตสังฆาวาส
ผู้หญิงมอญในเมืองมอญจึงทำหน้าที่ครบทั้งกระบวนการโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชาย ตั้งแต่การปรุง ลำเลียงไปวัด จัดสำรับ ยกประเคน รอจนพระฉันเสร็จเก็บล้าง ที่เหลือรวมใส่หม้อกะละมังให้เด็กวัดหรือพวกผู้ชายที่ช่วยงานวัดได้กินมื้อกลางวันและเย็น จากนั้นก็ล้างภาชนะของตนเอาขึ้นเทินหัวเดินกลับบ้านใครบ้านมัน
การบิณฑบาตของพระแต่ละถิ่นในเมียนมามีวัตรปฏิบัติต่างกัน จากคนต่างเผ่าพันธุ์ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คนมอญที่นั่นยังมั่นคง รับหน้าที่ “อะล็องอะโหล่น” ปฏิบัติวัตรฐากภิกษุสงฆ์ผู้สืบทอดพระศาสนาในแบบซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสวยงามตามธรรมชาติ ไม่ใช่ความงามที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าเลนส์เมื่อนักท่องเที่ยวร้องขอ
แฟชั่นสำรับถวายพระของแต่ละบ้าน มีการตกแต่งขันกันอยู่ในที
แฟชั่นสำรับภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร
แฟชั่นสำรับภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร
แฟชั่นสำรับภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร
แฟชั่นสำรับภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร
แฟชั่นสำรับภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร
แฟชั่นสำรับภัตตาหารถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร
รสมือและเมนูนิยมที่ได้จาก "อะล็องอะโหล่น" ของแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน บ้านหนึ่งจะหุงเวร ส่งเวร และหมดเวรในเดือนนั้นเพียงครั้งเดียว อาจจะมีพระเณรบางรูปแอบติดใจรสมือหรือเมนูนิยมของบางบ้านก็อาจกรวดน้ำท่องมนต์ให้มากพิเศษ และก็คงจะต้องรอรสมืออันคุ้นเคยนั้นจนเดือนหน้าเมื่อเวรใหม่มาถึง
รายการอ้างอิง
องค์ บรรจุน. (2559). อะล็องอะโหล่น: เวรย่อม
ระงับด้วยการส่งเวร. ใน ศิลปวัฒนธรรม.
37(9): 32-39.
โฆษณา