3 ต.ค. 2022 เวลา 00:15 • หนังสือ
สถิติฮา มึน โฮ
โดย นำชัย ชีววิวรรธน์
Photo by Justin Morgan on Unsplash
บางครั้งงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ อาจสรุปได้แค่ใช่หรือไม่ใช่ คือเป็นแบบเชิงคุณภาพเท่านั้น
แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่สามารถตรวจวัดเชิงปริมาณได้ด้วย และตัวเลขที่ได้บางครั้งก็น่าทึ่งหรือชวนคิด บางครั้งก็ชวนอมยิ้มหรือชวนขบขัน
ขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้ผลแปลกๆ มาให้ชมกันแบบ "ยำใหญ่ใส่สารพัด" นะครับ
มีงานวิจัยที่พบว่าคนที่จู้จี้จุกจิกเจ้าระเบียบมากๆ นั้น แม้ว่าจะทำให้ลูกน้องเหน็ดเหนื่อยอิดหนาระอาใจได้มาก แต่ก็มีแนวโน้มจะทำให้เจ้าตัวเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อมน้อยกว่า
แต่กระนั้นก็ไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป สำหรับคนที่ปล่อยให้โต๊ะของคุณรกอยู่ตลอดเวลา เพราะมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งสรุปว่า คนที่โต๊ะทำงานรกๆ นี่ ความคิดสร้างสรรค์สูงกว่า...นะเออ !
แต่ไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหน ก็ต้องหัดฝึกตัวเองเอาไว้ไม่ให้เป็นคนขี้กังวลครับ คนที่มีนิสัยแบบนี้อย่างถาวร มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) สูงกว่าคนทั่วไปยามอายุมากขึ้น
แม้ว่าจะไม่จำเป็นที่ต้องกลายไปเป็นอัลไซเมอร์ในที่สุดก็ตาม
Photo by Markus Spiske on Unsplash
ได้เงินฟรีๆ ดีไหมครับ ?
ถ้าได้รับธนบัตร 100 บาทรวม 5 ใบ เทียบกับได้ธนบัตร 500 บาทหนึ่งใบ คุณคิดว่าจะมีผลต่อการใช้จ่ายของคุณหรือไม่ ?
มีปรากฏการณ์แบบหนึ่งในแวดวงจิตวิทยา เรียกว่า denomination effect ซึ่งทำนายไว้ว่า หากมีธนบัตรใหญ่กับธนบัตรย่อยที่มีมูลค่ารวมแล้วเท่าๆ กัน เราจะมีโอกาสใช้จ่ายออกไปด้วยเงินในรูปธนบัตรย่อยมากกว่า
แต่เมื่อนักวิจัยชาวแคนาดาทดลองซ้ำโดยเพิ่มเงื่อนไขว่า ธนบัตรใหญ่นั้นต้อง "เก่าเก๋ากึ๊ก" ส่วนธนบัตรเล็กกว่าต้อง "ใหม่เอี่ยม" ผลกลับตรงกันข้ามคือ แม้จะได้ธนบัตรมูลค่าสูงกว่า แต่คนก็จะรีบจับจ่ายออกไป แถมยังซื้อของมากกว่าด้วยคือ มากกว่าถึง 82%
นักวิจัยอธิบายว่าเป็นเพราะคนเรามักรังเกียจไม่อยากสัมผัสธนบัตรเก่า เพราะกลัวติดโรคจากความสกปรก จึงพยายามใช้ออกไปให้เร็วที่สุด
มองในมุมกลับ ในซูเปอร์สโตร์ใหญ่ๆ ห้างร้านต่างๆ อาจเพิ่มยอดขายโดยรวมได้ ด้วยการทอนธนบัตรเก่าๆ ให้มากขึ้นอีกหน่อย
แต่ไม่แน่เหมือนกันว่า อาจจะ...ดีกับร้านอื่นมากกว่านะครับ
เรื่องของเงินทองยังมีอีก เคยมีงานวิจัยปี 2007 ของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตทซึ่งวัดความเกี่ยวข้องระหว่างระดับสติปัญญา (โดยดูจากค่าไอคิว) เทียบกับสถานะทางการเงินของคนในกลุ่มตัวอย่าง 7,500 คน
ผลการทดลองคือ ทุกๆ คะแนนของไอคิวที่เพิ่มสูงขึ้นหมายถึงเงิน 200-600 เหรียญต่อปีที่จะหาได้มากขึ้น เช่น คนที่มีไอคิว 140 จะมีรายได้มากกว่าคนที่มีไอคิว 120 (ค่าสูงสุดของค่าเฉลี่ยคนทั่วไป) ราว 8,000 เหรียญขึ้นไป เป็นต้น
แต่คนที่มีระดับไอคิวต่ำกว่าก็มีวิธีการชดเชยจุดอ่อนเรื่องรายรับ โดยอาศัยการคิดเรื่องการ เก็บและใช้เงินของตนเองอย่างละเอียดรอบคอบและถี่ถ้วนมากกว่า
แต่นั่นยังไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก หากได้ทราบผลจากงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียที่ตีพิมพ์ปี 2008 ที่ว่า ความสุขไม่ได้ขึ้นกับการหาหรือใช้เงินที่มีอยู่ "เพื่อตัวเอง" โดยตรงเท่าใดนัก แต่แปรผันตรงกับการใช้เงินนั้น "เพื่อคนอื่น" มากกว่า
งานวิจัยเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือก็น่าสนใจไม่เบา
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูทาห์พบว่า การจราจรในสหรัฐฯ มีความเร็วเฉลี่ยลดลงราว 10% เทียบกับก่อนหน้านี้
หลายคนอาจทายถูก ใช่แล้วครับ...เป็นเพราะผู้ขับขี่ใส่ใจกับโทรศัพท์มือถือไม่แพ้การจราจรที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งจะว่าไปแล้วคนพวกนี้ก็อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวได้บ้าง หากทราบเรื่องที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์แนลค้นพบว่า นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า 1 ใน 3 (37%) ระบุว่าตัวเองมักโกหกเวลาคุยโทรศัพท์มือถือกับคนอื่น
โดยเปอร์เซนต์จะลดลงชัดเจน หากเป็นการคุยต่อหน้า หรือแม้แต่แค่เปลี่ยนมาเป็นการพิมพ์ข้อความส่งให้กัน
ลมปากมนุษย์นี่เชื่อถือได้ยากจริงๆ !!!
พูดถึงเรื่องการพูดคุยก็เลยอยากจะไปต่อที่เรื่องซุบซิบของบรรดาสาวๆ ด้วย นักจิตวิทยาท่านหนึ่งคือ อแมนดา โรส (Amanda Rose) ศึกษาในสาวน้อยก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่นรวม 813 คน ทำให้ทราบว่า การพูดคุยซึ่งครอบคลุมเรื่องผู้ชาย ดารานักร้อง และเรื่องรอบตัวต่างๆ นั้น
มีส่วนดีคือทำให้สาวๆ เหล่านี้รู้สึกผูกพันกันมากขึ้น
แต่ก็มีข้อเสียตามด้วยคือ ทำให้แต่ละนางเก็บเอาเรื่องที่คุยตามตัวไปด้วย ซึ่งบ่อยครั้งก็ทำให้รู้สึกเก็บกดหรือหงุดหงิดรำคาญใจมากขึ้นตามไปด้วย
แถมไม่ได้เป็นนิดๆ หน่อยๆ แต่อาจเป็นมากจนถึงกับทำให้เกิดซึมเศร้าหรือทำให้ทานอาหารไม่ได้ทีเดียว...เห็นคุยกันดีๆ แต่ที่จริงแฝงความรุนแรงแบบ "ซ่อนดาบในรอยยิ้ม" เลยนะเนี่ย !
ครั้นจะไม่เข้ากลุ่มกับสาวคนอื่นๆ ก็ใช่ว่าจะดี นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาดตีพิมพ์ในปี 2008 ว่า การศึกษาสาวน้อยระดับมัธยมต้นและปลายรวม 4,500 คน ทำให้ทราบว่าสาวน้อยที่ไม่ค่อยป๊อปในหมู่เพื่อน หรืออาจลามไปถึงขั้นมีนิสัยต่อต้านสังคม มักจะอ้วนมากกว่าเฉลี่ย
น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากกว่านั้น สามารถวัดเป็นตัวเลขได้เลยคือ ราว 11 ปอนด์ (5 กิโลกรัม) ในสองปีการศึกษา
การขาดแคลนเพื่อนทำให้มีโอกาสเครียด จนหันไปหาการกินเพื่อผ่อนคลาย หรือไม่ก็ลืมระมัดระวังดูแลรูปร่างตัวเอง เพราะไม่มีคนคอยเตือน (หรือจิกกัด) นั่นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างคนเรานี่ก็ซับซ้อนมากจริงๆ
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนปี 2008 ระบุว่าพวกที่อายุน้อยๆ จะต่อล้อต่อเถียงกับคนใกล้ชิด ทั้งเพื่อน ญาติ หรือผู้ปกครอง บ่อยมากกว่าพวกที่อายุมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็ค่อยๆ ทำแบบนี้น้อยลง ที่น่าตกใจก็คือ พฤติกรรมแบบนี้สวนทางกันกับกรณีของคู่สมรส
บั้นปลายชีวิตคู่ของหลายๆ คนจึงเข้าทำนอง "ขิงก็รา ข่าก็แรง" แบบภาษิตไทยๆ จริงๆ !!!
บทความนี้รวมอยู่ในหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
หน้าปกหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน, สนใจสอบถามได้ที่ https://www.facebook.com/matichonbook
โฆษณา