3 ต.ค. 2022 เวลา 04:44 • ดนตรี เพลง
ประวัติเพลงสรรเสริญ
พระนารายณ์ -สายสมร
"สายสมร" หรือต่อมาคือ "สรรเสริญพระนารายณ์"
เป็นเพลงมโหรีไทยสมัยอาณาจักรอยุธยาที่ปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุลาลูแบร์ (Du Royaume de Siam) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2234 เป็นบันทึกของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 ในนาม "A Siamies Song" (เพลงสยาม) ถือเป็นโน้ตเพลงที่เก่าแก่อีกเพลงหนึ่งของประเทศไทย[1]
นอกจากนี้นีกอลา แฌร์แวซ (Nicolas Gervaise) นักบวชชาวฝรั่งเศส ผู้เคยเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกเพลงไทยเพลงหนึ่งชื่อ "สุดใจ" (Sout-Chai) ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) เมื่อ พ.ศ. 2231[2]
ทำนองเพลง "A Siamies Song" ในเอกสารของลา ลูแบร์ (พ.ศ. 2234)
แม้จะได้รับการบันทึกโน้ตอย่างสากล แต่ก็ไม่ปรากฏที่มาหรือชื่อเสียงเรียงนามของเพลงนี้ โดยชื่อ "สายสมร" ก็นำมาจากเนื้อร้องที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "Say Samon..." เป็นภาษาไทยที่ถูกถอดเป็นอักษรโรมัน[1][3][4][5] โดยบันทึกอย่างหยาบเป็นทำนองเดียว ไม่มีเสียงประสาน เข้าใจว่าคงบันทึกจากเสียงร้อง เพราะมีการบันทึกเนื้อเพลงควบคู่ไปตัวโน้ต[1]
พบข้อบกพร่องในการบันทึกโน้ต หรือเป็นโน้ตที่วิ่นแหว่ง และมีแนวโน้มว่าคงเป็นบางส่วนของทั้งเพลงเท่านั้น[4] แต่ก็ถือเป็นการบันทึกทำนองที่พิถีพิถันที่จะทำให้เนื้อร้องเข้าทำนองมากกว่าเพลง "สุดใจ"[5] เนื้อเพลงที่ถูกบันทึกเป็นอักษรโรมันนั้นมีการถอดออกมาหลายสำนวน เช่น[2]
สายสมรเอย ลูกประคำซ้อนเสื้อ
ขอแนบเนื้อฉะอ้อน เคียงที่นอนในเอย
เพลงนี้ก็เจ้าเอยเพลงใด เพลงระบำหรือเจ้าเอยเจ้าใต้
เพลงนี้ก็เท่าเอย เพลงซอนะเอย พี่เอย
หวังละจะเชยจะเยื้องก้าวย่าง นางช่างจะเลี้ยว จะเดินเอย
1
เนื้อเพลง "สายสมร" โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงถอดเอาไว้ ความว่า[6]
สาย สมร เอย เลี้ยว ประคอง สร เสื้อ
ขอแนบ เนื้อ ฉอ้อน ข่วน เดี๋ยว เหนื่อย
เพลง นี้ ขอ เจ้า เพลง ระบำ หรือ ไฉน เจ้า ไถ่
เพลง นี้ ขอ เจ้า เพลง สาว น้อย
เผย หวัง แล เชย ข้อง ของ นาง ช่าง เฉลียว ระ เดิร เอย
ธีรพงศ์ เรืองขำ สันนิษฐานว่าเพลง "สายสมร" คือเพลงมโหรีบรรเลงขับกล่อมพระมหากษัตริย์ในเขตพระราชฐานชั้นใน
ดังที่ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า "หกทุ่มเบิกเสภาดนตรี" ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้เวลาในการปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยมีพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นชาวตะวันตกเพียงคนเดียวที่ร่วมอยู่ในการนั้น เป็นคนที่ชำนาญการใช้ภาษาต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสติดต่อกับราชทูตฝรั่งเศสได้โดยตรง เขาอาจเป็นผู้ถอดเสียงเพลง "สายสมร" ให้ลา ลูแบร์บันทึก และเข้าใจว่า "สายสมร" ในที่นี้น่าจะหมายถึงพระอัครมเหสีที่สวรรคตไปแล้วของสมเด็จพระนารายณ์[2]
ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวินิจฉัยว่าเพลง "สายสมร" หาใช่เพลงสรรเสริญพระบารมี เพราะเนื้อหาบ่งในเชิงสังวาสมากกว่า[7]
ขณะที่ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ให้ความเห็นว่า งานเขียนของลา ลูแบร์ อาจเขียนขึ้นจาก "ความแปลกประหลาด" ที่ชาวตะวันตกมองคนนอกยุโรป จึงสร้างเนื้อเพลงมาประกอบเท่านั้น เพลงนี้จึงอาจไม่มีอยู่จริง เพราะ "
...โน้ตเพลงสายสมรออกจะเป็นการบันทึกที่เลอะเทอะหาแก่นสารอะไรไม่ได้"[8] สอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ที่ให้ข้อมูลว่า "[เพลงสายสมร]...ไม่สะดวกกับการขับร้อง และท่วงทำนองก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นเพลงตะวันออกแต่อย่างใด"[5]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงฟื้นฟูศิลปวิทยาการใน พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา พระองค์โปรดเพลง "สายสมร" และจัดไว้อยู่ในตับเพลงอรชร เพราะมีต้นเค้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่ปรากฏเนื้อหรือทำนองเพลง[2]
ในเพลงยาวที่บรรยายบรรยากาศการเล่นเพลงมโหรีที่บ้านของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ระบุว่ามีการเล่นเพลง "สายสมร" ร่วมด้วย[9]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจัดให้อยู่ในเพลงประเภทมโหรีที่ผิดเพี้ยนไปมาก[2] และเข้าใจว่าเพลง "สายสมร" นี้ น่าจะเป็นเพลงเดียวกันกับเพลงที่ซีมง เดอ ลา ลูแบร์บันทึกไว้[10]
ครั้นเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2440 ทรงสนพระทัยเพลง "สายสมร" ที่ถูกบันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์
จึงโปรดเกล้าให้กัปตันไมเคิล ฟุสโก หัวหน้าวงดุริยางค์กองทัพเรือ เรียบเรียงเป็นทำนองเปียโน แล้วพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า "สรรเสริญพระนารายณ์" ใน พ.ศ. 2442[2][3] ต่อมาพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) นำเพลงมาเรียบเรียงใหม่บรรเลงโดยวงออร์เคสตรา เนื้อร้องโดยนาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร (สวาท นิยมธรรม) ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (พ.ศ. 2484) และตั้งชื่อเพลงว่า "ศรีอยุธยา"[3]
ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการบรรเลงเพลง "สรรเสริญพระนารายณ์" โดยวงดุริยางค์ทหารบก พร้อมกับเพลง "สรรเสริญเสือป่า" และ "พญาโศกลอยลม" โดยบรรเลงเมื่อพระบรมโกศได้ประดิษฐานอยู่บนพระมหาพิชัยราชรถ แล้วเคลื่อนริ้วขบวนสู่พระเมรุมาศในท้องสนามหลวง[2]
โฆษณา