7 ต.ค. 2022 เวลา 07:21 • ไลฟ์สไตล์
[เชียงใหม่ในฉากชีวิต] : 5.อาหาร
ความตื่นตาตื่นใจของชาวไทยเกิดขึ้นเมื่อเว็บไซต์ TasteAtlas จัดอันดับ “ข้าวซอย” เป็นอาหารอันดับหนึ่งใน 50 Best Soups เท่านั้นแหละครับ สังคมโซเชียลพากันพูดถึงอาหารชนิดนี้กันเป็นวงกว้าง บ้างก็ว่ามันไม่ใช่อาหารเหนือ บ้างก็ว่ามันไม่ใช่ซุป หรืออะไรอีกหลายอย่างที่เกี่ยวกับข้าวซอยและอาหารเหนือ เช่นว่าทำไมอาหารเหนือไม่แพร่หลายเท่าอาหารอีสานหรืออาหารใต้ ที่ปรากฏร้านให้เห็นอยู่ทุกมุมเมือง?
ในแง่หนึ่งอาหารคือการอวยพรของพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานวัตถุดิบชั้นเลิศแก่มนุษยชาติ ทั้งยังประทานสติปัญญาในการพัฒนาสูตรอาหารที่ถูกบ่มเพาะผ่านกาลเวลา และวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพื่อความสุนทรียะแห่งชิวหารสให้เกษมสำราญ ทั้งยังเป็นพลังงานในการธำรงร่างกายเพื่อคงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์มาได้อย่างยาวนาน
ในขณะเดียวกัน สำรับอาหารก็บอกเล่าสภาพชีวิตของมนุษย์ได้ดีพอ ๆ กับงานวรรณกรรม เรื่องเล่าในมื้ออาหารเช้าปกติหลังค่ำคืนแสนประหลาด มีการปิดล้อมสถานีรถไฟ จุดไฟเผาหัวรถจักร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารพราน และหน่วยคอมมานโดล้อมปราบ และใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงในเรื่องสั้น ยามเช้า* ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความ “หัวหมอ” ที่ตัวละคร “ผม” ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าเข้ามาพูดคุย สนทนาเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบ และจบที่การนั่งกินข้าวจนหมดหม้อ แม้ตัวละครในเรื่องจะไม่ได้ไว้วางใจ แต่บทสนทนาในวงข้าวก็ออกรส แม้จะเฝื่อน ๆ หน่อยก็ตาม
เหตุการณ์ทำนองนี้นับว่ามีวัตถุดิบมาจากเรื่องจริงที่พบเห็นได้ในสังคมคนปักษ์ใต้ ซึ่งแม้จะน้อยลงตามกาลเวลา แต่ลักษณะทางสังคมเช่นนี้ก็ยังหลงเหลือเอาไว้ในคำทักทายติดปากของภูมิภาคว่า “กินข้าวแล้วม่าย?” ที่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของอาหารการกิน และความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารชนิดที่ว่าแขกไปใครมาก็ล้วนแต่ได้ลิ้มรสมือของคนใต้เมื่อนั้น แม้จะไม่ใช่เวลามื้อปกติก็ตาม
บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบันเองก็อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ภาคไหน ๆ ที่ราบหุบเขาและอุณหภูมิที่ต่ำกว่าภาคกลางส่งผลต่อลักษณะของพืชพรรณและสัตว์ป่า การติดต่อสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องของวัฒนธรรมที่หลากหลายหล่อหลอมวิถีชีวิตของคนในที่ราบหุบเขาตอนในให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนไม่อาจเอาบรรทัดฐานใดมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย
นั่นจึงนำมาสู่ความพิถีพิถันของรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์
ลาบจิ้นควายจากร้านลาบสบทา ลาบร้านหนึ่งที่อร่อยมากในจังหวัดลำพูน (กรกฎาคม,2022)
ความเลิศล้ำของรสอาหารคนเมืองเป็นสิ่งที่นอกจากจะติดลิ้นแล้ว ยังติดอกติดใจชนิดถวิลหา ครั้งหนึ่งที่โรคระบาดสร้างระเบียบการเดินทางข้ามเขตจังหวัด ผมติดแหง็กอยู่กับมิตรสหายที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถไปไหนได้ สิ่งที่เราใช้บรรเทาอาการคิดถึงเมืองเหนือ คือไส้อั่วอุตสาหกรรมสีเหลือง ๆ ที่ขายตามร้านไส้กรอกทอด เอานั่งกินอยู่ริมสระน้ำหน้าตึกโดมบริหาร เคล้าเสียงพูดของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี พอให้หายคิดถึงไส้อั่วป้าพรริมน้ำกวงได้บ้าง แม้ว่าอากาศจะต่างกันลิบลับ ชนิดที่ไม่ต้องนึ่งข้าวนึ่งก็ร้อนให้พอดีกิน
แต่แม้จะมีลักษณะแบบนั้นก็ไม่ได้เป็นมิตรกับคนทุกคน ความยูนีคของอาหารเมืองทำให้มิตรสหายบางท่านที่ดั้นด้นมาจากทุ่งรังสิตถึงกับส่ายหน้าเมื่อได้ลองลิ้ม “ลาบเมือง” เป็นครั้งแรก ซึ่งเอาจริง ๆ ผมว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะชินกับกลิ่นและรสของพริกลาบที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด สำหรับบางคนอาจใช้เวลาปรับตัวแค่แป๊บเดียว แต่สำหรับบางคน แม้ทุกวันนี้จะออกจากพื้นที่แล้วก็ยังไม่ชินกลิ่นพริกลาบอยู่ดี
ประสบการณ์ทางรสชาติที่ผมได้รับในตอนนั้นมักจะเกิดขึ้นจากการสุ่ม ด้วยความอยากเรียนรู้ ซึมซับวิถีของคนพื้นที่จริง ๆ ผมจึงทำการแทงสวนรีวิวทุกสำนัก และวิ่งเข้าหาร้านที่ดู local ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งร้านไหนที่เจ้าของกำลังเอนกายสัปปะหงกอยู่หลังเก้าอี้รอให้ลูกค้าประจำเดินมาซื้อด้วยนี่ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ จนครั้งหนึ่งระหว่างทริปไปเที่ยววัดพระธาตุศรีจอมทอง ผมจึงได้ลองกินแอ๊บปลาที่เอาปลาตัวเล็ก ๆ ที่หาได้มาทำ หรือแอ๊บถั่วเน่าที่รสชาติพอกินได้ แต่กลิ่นแรงไปหน่อยก็เถอะ
แต่ถ้าจะให้ local จริงคงต้องเป็นลาบไก่บ้านโฮ่ง ที่ลำพูน จากที่เคยคุยกับคนลำพูนเขาว่าลำ แต่ผมยังใจไม่กล้าพอ
ครั้งหนึ่งหลังกลับจากคอนเสิร์ตรับลมหนาวที่จังหวัดน่าน ผมมุ่งหน้าสู่ถิ่นพำนักของมิตรสหายที่ลำพูน กะจะพักผ่อนเอาแรงก่อนกลับไปเผชิญชีวิตกันต่อในวันจันทร์ การเดินทางและความอิ่มหนำของอาหารเย็น ที่ต่างคนต่างก็สวาปามกันไปเสียเต็มที่ทำให้เรากระหายหาการนอนยิ่งกว่าสิ่งใด ขณะกำลังวาดฝันถึงที่นอนนุ่ม ๆ และลมหนาวที่กำลังพัดพา กระหึ่มเสียงดนตรีเพลงซ้อสตริงพื้นเมืองก็ดังมาตามคันนาประสานกับเสียงหริ่งหรีดเรไร
“อุตส่าห์ไปถึงน่านได้ฟังไม่กี่วง กลับมานี่ได้ฟังเต็มที่แน่เลยว่ะ” เราสองคนมองหน้ากันแล้วนึกขำในใจ แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะคาดว่าคงเป็นเสียงจากร้านเหล้าตองใกล้ ๆ ที่มักจะกินกันจนดึกดื่น
เดินไปทางขวาอีกประมาณหนึ่งกิโล จะเจอร้านเหล้าตองที่คนในละแวกนั้นชอบไปกินกัน (กรกฎาคม,2022)
ปรากฏว่า เสียงนั้นกระหึ่มดังนั้นมีที่มาจากงานขึ้นบ้านใหม่ที่จัดขึ้นอยู่ตรงหน้าบ้านของเรา เต๊นท์ แสงไฟ สุรา และคาราโอเกะจัดแจงพร้อมสรรพอยู่โดยไม่มีทีท่าว่าจะมีสิ่งใดหยุดความรื่นเริงนี้ได้ ชาวบ้านระแวกใกล้เคียงมารวมกันอยู่ที่นี่โดยที่นัดหมายกันล่วงหน้า
ลุงเจ้าของบ้านเช่าต้อนรับพวกเราพร้อมแก้วเหล้าด้วยอาการยิ้มร่าหน้าแดง และเชิญเราไปร้องเพลงด้วยกันเสียสองสามเพลง ความง่วงหงาวหาวนอนและความกรึ่มด้วยฤทธิ์สุราทำให้เราร้องเพลงเหมือนคนดำน้ำ แต่ดูเหมือนว่าไมค์คาราโอเกะคืนนั้นจะมีพลังพิเศษบางอย่างที่ทุกคนในงานสนุกสนานกันประหนึ่งว่าเสียงร้องของพวกเราคือเสียงของเอวิส เพรสลีย์กลับชาติมาเกิด
เอาจริงผมตื่นเต้นกับอาหารมากกว่าเหล้า แต่ด้วยความอิ่มและอาหารในงานร่อยหรอไปตามความมืดค่ำ ผมได้จกชิมได้สองสามอย่าง ยำวุ้นเส้นอมน้ำ ไส้กรอกทอด และกับแกล้มง่าย ๆ อีกนิดหน่อย รสชาติก็ดีตามดีกรีของเหล้าขาว ส่วนสิ่งที่ผมใคร่อยากลิ้มลองมากที่สุดอย่างลาบ แน่นอนว่าไม่เหลือตกมาให้ผมลิ้มลองแต่อย่างใด
สุดท้ายก็ไม่ได้ลองกินอาหารที่คนเมืองแบบที่ไม่ได้แป๋ง**เพื่อขาย
หลังจากลงมาอยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ ผมไม่ได้กินอาหารเหนืออีกเลย จนกระทั่งคราวหนึ่งที่ญาติที่อาศัยอยู่ด้วยกันเกิดอยากกินอาหารเหนืออย่างไม่ทราบสาเหตุ จึงจัดแจงสังอาหารเหนือจากร้านประจำมาให้กิน พร้อมกับรับรองกับผมเป็นแม่นมั่นว่าร้านนี้ “อร่อย”
ในสำรับ มีไส้อั่ว ลาบคั่ว แกงฮังเล น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ไข่ต้ม และหมูย่าง อาหารที่เราหาได้ตามงานเลี้ยงขันโตกดินเนอร์ แต่พอกัดเข้าไปคำแรกผมแทบจะสบถออกมาด้วยความผิดหวังเลยว่า “อั่นนี่ลำแล่วก๋า?”
ว่าแล้วก็คิดถึงไส้อั่วป้าพร ริมแม่น้ำกวง ร้านแอ๊บถั่วเน่าที่กาดหน้าวัด หรือร้านลาบสบทาที่ลาบออกมาได้น้ำลายสอ ถ้าอยู่นานกว่านี้คงไปนั่งร้านเหล้าตอง กินลาบ แล้วก็ชวนลุงเจ้าของบ้านเช่าคุย จะได้ทำคามรู้จักตัวตน และวิถีชีวิตของคนเมืองให้มากกว่านี้ ดีไม่ดีแกจะลาบให้กินด้วยซ้ำ
แต่ขออย่างเดียวลุง ผมไม่กินลาบไก่ดิบ
อาหารมื้อส่งท้ายก่อนผมจะออกจากพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน เราตัดสินใจลาบกันเอง เผอิญว่ามีสมาชิกบางท่านไม่กินอาหารดิบ เลยทำเป็นลาบคั่วออกมา (กรกฎาคม,2022)
*เรื่องสั้น ยามเช้า ตีพิมพ์ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2534 และเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นจากหนังสือรวมเรื่องสั้น สะพานขาด หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่องแรกของนักเขียน “หนุ่มตลอดกาล” กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2539 จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “แผ่นดินอื่น” ตอนที่ยังอายุน้อยกว่านี้ กลวิธีทางภาษา และการลำดับเรื่องผ่านบทสนทนาทำให้ผมไม่ค่อยเข้าใจมันเสียสักเท่าไรนัก แต่เมื่อวัยวุฒิเพิ่มขึ้น เรื่องสั้นเรื่องนี้มีประเด็นต่าง ๆ ที่น่ากล่าวถึงมากมาย ถ้ามีโอกาสคงได้กล่าวถึงในภายหลัง
**แป๋ง เป็นภาษากำเมือง แปลว่า ทำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา