12 ต.ค. 2022 เวลา 08:36 • นิยาย เรื่องสั้น
[เชียงใหม่ในฉากชีวิต] : 6.คนต่างถิ่น
เชียงใหม่เคยเป็นศูนย์กลางของรัฐล้านนาที่พัฒนาอารยธรรมของตัวเองจนมีลักษณะเด่น และมีเอกลักษณ์มากในภูมิภาคแห่งนี้ แม้จะได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ระบบการนับเดือน และปีนักษัตริย์แบบล้านนา ก็แตกต่างจากการนับของคนภาคกลาง วิธีคิดเรื่องทิศทางก็เช่นเดียวกันในความเข้าใจของคนเมืองที่ระบุทิศทางโดยยึดพื้นที่เชียงใหม่หลัก การเป็นคนใต้ จึงไม่ได้หมายความถึงคนปักษ์ใต้ กลุ่มคนชายทะเลในถิ่นด้ามขวานที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมเฉพาะแบบ หากแต่หมายถึงคนจากภูมิภาคอื่น ที่อยู่ใต้เชียงใหม่ลงไป
เชียงใหม่ จึงเต็มไปด้วย “คนใต้” ที่มาอยู่อาศัย
หลังจากอยู่อาศัยมาได้สักระยะหนึ่ง ผมเริ่มจะออกสำรวจซอกซอยต่าง ๆ เพื่อหาอาหารประทังชีวิต จากที่กินอาหารตามสั่งข้างหอมานานแสนนาน ซอยที่ผมอยู่ถูกเรียกว่า “ซอยวัดอุโมงค์” ซอยที่เชื่อมระหว่างถนนสุเทพจากฝั่งหลังม.ออกไปยังวัดอุโมงค์ วัดเก่าแก่ของเชียงใหม่ที่เป็นที่สร้างตั้งแต่สมัยพญากือนา อีกทั้งยังมีร่องรอยของชุมชนดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ ท่ามกลางพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เปิดเป็นหอพักและร้านอาหาร
การเข้ามาอาศัยของนักศึกษาที่จับจองห้องหับทำให้พื้นที่ชุมชนรอบซอยวัดอุโมงค์อุดมไปด้วยความหลากหลาย ภาพของนักศึกษาซ้อนมอเตอร์ไซค์เทียวไปเทียวมาในเวลาเช้าและเวลาเย็น โดยมีไอ้ขาว สุนัขเจ้าถิ่นที่ไล่กวดมอเตอร์ไซค์ทุกคันที่ขับผ่าน เป็นภาพที่เห็นได้จนชินตา
วันดีคืนดีก็จะมีเสียงขวดแก้วกระทบกันแกร๊ง ๆ ตามด้วยเสียงโหวกเหวกเคล้ากับเสียงกีต้าร์ ที่นอกจากจะทำให้ผมหวนคิดถึงช่วงเวลาสมัยปริญญาตรีแล้ว มันยังเป็นนาฬิกาปลุกชั้นดี ที่ปลุกผมในยามเช้าเคล้ากับเสียงเสียงไก่ขัน ด้วยอาการสะลึมสะลือหลังอดตาหลับขับตาข่มใจทำสมาธิสู้เสียงนักร้องที่เมามายมาทั้งคืน
ซอยวัดอุโมงค์อันอุดมด้วยอาหาร และผู้คน ในวันอากาศกำลังสบายในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ปลายหน้าฝน (กันยายน,2021)
นอกจากความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายของร้านอาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จัดจ้านในย่านนี้ ทั้งอาหารพื้นเมืองของคนเมืองเหนือ อาหารแบบชาติพันธุ์ที่ปกติจะหากินไม่ค่อยได้ในพื้นที่ราบ และอาหารจากอีกหลายภูมิภาค หลายประเทศที่มาให้ลองลิ้มชิมรสกันอีกมากมายนอกจากจะเป็นตัวชี้วัดชั้นดีถึงการเคลื่อนที่ของรสนิยมทางอาหารที่เคลื่อนย้ายไปมาในโลกสมัยใหม่โดยไม่มีพรมแดนใด ๆ มากั้นขวาง ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนผู้รับประทานอาหารประเภทดังกล่าวที่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่ต่าง ๆ จนต้องมีร้านอาหารมาบริการรองรับอีกด้วย
หากกล่าวโดยภาพรวม นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคส่วนเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักที่ร้านอาหารเหล่านั้นจะผุดพรายขึ้นอย่างมหาศาล ไม่เพียงเฉพาะย่านวัดอุโมงค์เท่านั้น แต่เราสามารถหาอาหารฝรั่งเศสกินเป็นมื้อกลางวัน และอาหารเยอรมันเป็นมื้อเย็นได้ที่ทั่วทั้งเมือง
วิถีแห่งความหลากหลายเช่นนี้ทำให้เชียงใหม่มีเสน่ห์เย้ายวนเกินพรรณนา
ประชาคมชาว มช ส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักไม่ใช่คนเมือง แต่เป็นคนที่ผมเคยรู้จักมักจี่อย่างห่าง ๆ ในอดีตที่ขึ้นมาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่นี่ ทั้งเพื่อนสมัยม.ต้น รุ่นน้องสมัยม.ปลาย กระทั่งเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยที่ซิ่วมาเรียนอีกคณะหนึ่ง จะว่าไป นับแต่ฝังรากชีวิตได้ปีกว่า คนที่ผมรู้จักอย่างเข้าขั้นสนิทส่วนใหญ่ ทั้งในเชียงใหม่และลำพูน ก็ล้วนเป็นคนที่มาจากภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งสิ้น
ครั้งหนึ่งที่ผมกับมิตรสหายไปซื้อผลไม้ที่ร้านประจำที่เคยไปซื้อ ด้วยความที่แม่ค้าและมิตรสหายของผมเป็นชาวอีสานเหมือนกัน ความรู้สึกของคนพลัดถิ่นแบบเดียวกันทำให้บทสนทนาออกรสออกชาติพอ ๆ กับแตงโมฉ่ำ ๆ พวกเรามักจะยืนคุยกันเสียนานสองนานกว่าจะกลับกันไป และได้ผลไม้แถมมามากมายจนกินกันไม่หวาดไม่ไหว วันนั้นเราก็เดินกันไปตามปกติ ป้าแกก็กำลังขายของ และพูดคุยกับลูกค้าอย่างสนุกสนานเป็นภาษากำเมือง พอเห็นพวกผมเดินมา จึงร้องทักทายเป็นภาษาอีสาน
ลูกค้าของป้าเป็นหญิงวัยกลางคน อายุประมาณ 50 ต้น ๆ ป้าคนนั้นดูท่าทีการสนทนาของพวกเราอยู่นานสองนานจึงเดินเข้ามากล่าวทักทาย
“อั่นนี่น้องลุกมาแต่ใด? เป่นคนหละปูนก่า?”
เมืองลำพูนบริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ที่คนพื้นที่รู้กันดีว่าเป็น “แยกวัดใจ” (ตุลาคม,2021)
ผมอึกอัก รู้สึกตัวเองกลับไปเป็นเด็กม.ต้นที่ได้ยินฝรั่งรัวภาษาอังกฤษมาแต่แปลความหมายไม่ออกซักคำ กลืนน้ำลายแล้วตอบด้วยภาษาไทยกลางอย่างสุภาพว่า ไม่ใช่คนลำพูน มาเรียนต่อเฉย ๆ
รอยยิ้มน้อย ๆ ปรากฏขึ้นบนดวงหน้าของคู่สนทนา ป้าเขาจึงรัวบทสนทนาเรื่องบ้าน และอสังหาริมทรัย์ซึ่งเป็นธุรกิจที่บ้านของป้าในทันทีด้วยภาษาไทยกลาง ผมที่กำลังฟังอยู่จึงนึกขำอยู่ในใจเล็ก ๆ ไม่คิดว่าการมาซื้อผลไม้ อาจทำให้ได้บ้านหลังใหญ่แถมกลับมาด้วยอีกอย่างหนึ่ง
ผมไม่ปฏิเสธว่าเคยคิดจะย้ายมาอยู่ที่นี่อย่างจริงจัง แม้จะรู้สึกคุ้นเคยกับเชียงใหม่-ลำพูนจนรู้สึกเหมือนบ้าน แต่ในใจลึก ๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนต่างถิ่น เป็นคนแปลกหน้า ผมที่กระเสือกกระสนอย่างสุดกำลังในการหลบหนีจากเมืองใหญ่มาอยู่ในที่ที่ค่าครองชีพไม่แพง สภาพแวดล้อมดี น่าอยู่ และความรวดเร็วของการใช้ชีวิตมีน้อยกลับรู้สึกว่า ผมเป็นเพียง “คนใต้” คนหนึ่งในหมู่คนอีกมากมายที่ขึ้นมาอยู่อาศัย
พื้นฐานความสัมพันธ์ของผมกับผู้คนที่เองถือว่ามีน้อยเหลือเกิน การจะขยับขยายสร้างกิจการใด ๆ ในเมืองแห่งนี้คงกระทำได้ยากในอนาคต หากสภาพการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป
อีกทั้งภาระทางการศึกษาในระดับปริญญาโทในตอนนั้นยังคงค้ำคออยู่ ทำให้ยังไม่สามารถลงมือทำสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอันได้ อย่างที่อาจารย์เคยพูดว่าถ้าปั้นข้าวนึ่งแล้ว ก็ปั้นให้เสร็จ อย่าเพิ่งล้างมือ วิทยานิพนธ์ถ้าทำแล้วก็อย่าล้างมือไปทำอย่างอื่น ให้ทำให้สำเร็จเรียบร้อยเสียก่อน
พอบทที่มีคนมาแนะนำเรื่องบ้าน และอสังหาริมทรัพย์เลยเผอิญนึกย้อนไปถึงจุดมุ่งหมายที่เลือกจะพาตัวเองมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรก ความฝันในอนาคต ชีวิตที่ต้องการที่สวนทางกับภาวะทางเศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัวลงไปเรื่อย ๆ ทุกขณะ และความผันผวนของชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
หากวัน เวลา และชะตาที่ลิขิตไว้ทำให้ผมได้อยู่ที่เมืองแห่งนี้ ผมคงเลือกอยู่แบบคนที่นี่ กินแบบคนที่นี่ และกลืนกลายเป็นคนที่นี่มากกว่าที่จะใช้ชีวิตแบบ “คนใต้” เห่อเชียงใหม่ที่จับจองห้องพักในคอนโดไว้ ทว่าปิดไฟมืดสนิท นาน ๆ ทีจะกลับมาเดินเล่นย่านนักท่องเที่ยวที่ข้าวของราคาแพง และหาอะไรแบบนี้กินได้ที่กรุงเทพฯเช่นเดียวกัน
ผมปฏิเสธป้าคนนั้นไปอย่างนุ่มนวลว่ายังไม่มีโครงการที่จะทำบ้าน หรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในเร็ววันนี้ กล่าวขอบคุณ และขอช่องทางติดต่อกลับเอาไว้ เผื่อได้ทำอะไรในอนาคต
มิตรสหายของผมซื้อผลไม้เสร็จจึงพากันจะเดินกลับ ป้าคนนั้นจึงถามคำถามทำลายน้ำแข็ง (Break the Ice) ว่า
“แล้วน้องเป็นคนที่ไหน?”
เท่านั้นแหละ คำตอบที่ผมไม่คาดคิดจึงเกิดขึ้น
“ไอ้หยา ข่นตายเห้อนิ? พั่นหนี่เหร่าแหล้งตายใส้กั่นเลย” {ไอ้หยา คนใต้หรอ อย่างนี้เราพูดใต้ใส่กันเลย}
ตั้งแต่ตอนนั้น ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนต่างถิ่นอีกต่อไปแล้ว
เพราะแถวนี้มีแต่ “คนใต้” มาอยู่อาศัยจริง ๆ ด้วย
แมวขี้เกียจที่ชอบนอนหน้าห้องน้ำที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ใกล้ ๆ จุดเกิดเหตุ (มิถุนายน,2021)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา