9 ต.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“Theodore W. Schultz” นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ที่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์
เมื่อผู้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เมื่อพวกเขาได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น พวกเขาสามารถเรียนรู้อะไรมากมายในเวลาอันสั้น และ กำลังแรงงานมีประสิทธิภาพเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ
ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ ศาสตราจารย์ Theodore W. Schultz
เจ้าของรางวัลโนเบลในปี 1979 (ร่วมกับ Sir William Arthur Lewis)
ที่สร้างสรรค์ผลงานในการแก้ไขความยากจน และ ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณค่าของมนุษย์
📌 มีเพียงแค่การศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้
ศาสตราจารย์ Theodore เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่รัฐ เซาท์ดาโกตา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ตั้งแต่วัยเด็กศาสตราจารย์เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามาก
เพราะศาสตราจารย์เชื่อว่า มีเพียงแค่การศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้
ช่วงวัยเด็กศาสตราจารย์ Theodore ต้องเดินเท้ากว่า 4 กิโลเมตรเพื่อไป-กลับระหว่างบ้านและโรงเรียน ช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์รู้สึกว่าระยะทางนั้นยาวไกลมาก โดยเฉพาะในวันที่อากาศหนาวเหน็บ สิ่งที่ศาสตราจารย์ทำได้มีเพียงแค่การใส่เสื้อให้หนาๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นทางด้านการเรียนของศาสตราจารย์ก็ต้องสะดุดลง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ประเทศขาดแคลนแรงงาน
ศาสตราจารย์จึงต้องหยุดเรียน เพื่อไปช่วยเหลือครอบครัวและชาวนาในท้องถิ่นทำการเพาะปลูก
ต่อมา งานด้านการเกษตรในครั้งนั้น ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานเชิงประจักษ์ของศาสตราจารย์ Theodore
📌 เศรษฐศาสตร์การเกษตร เศรษฐศาสตร์แห่งความจน
ความยากจนคืออะไร ? นี่เป็นคำถามที่ศาสตราจารย์ Theodore ให้ความสนใจ
และคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์
ซึ่งศาสตราจารย์พยายามจะระบุความยากจน ที่ไม่ได้หมายถึง ความจนในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ศาสตราจารย์กำลังนึกถึงความจนทั้งชุมชน และ คนทั้งประเทศ
โดยศาสตราจารย์ได้พัฒนาวิธีการที่มีประสิทธิภาพ 3 วิธีในการระบุความยากจน คือ
  • 1.
    รายได้เกินครึ่งหนึ่งหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านอาหาร
  • 2.
    อายุขัยเฉลี่ย
  • 3.
    ระดับของความรู้ ซึ่งข้อนี้ศาสตราจารย์มองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะยังมีคนอีกมากที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ในขณะที่ 75% ของรายได้ประจำปีนั้นมาจากการทำงานที่อาศัยทักษะที่สูง
เมื่อเราสามารถระบุความยากจนได้แล้ว
เราจะยกระดับสวัสดิการคนยากจนได้อย่างไร?
ศาสตราจารย์ Theodore เชื่อว่า เพื่อให้เศรษฐกิจก้าวหน้า
เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ไม่ใช่เกษตรกรรม
เพราะเกษตรกรรมเป็นสัญลักษณ์ของอดีต ไม่ใช่อนาคต
และคนจนส่วนใหญ่ในโลกยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม
เมื่อเราเข้าใจเศรษฐศาสตร์การเกษตร
เราก็จะเข้าใจเศรษฐศาสตร์แห่งความจน
โดยศาสตราจารย์ยกตัวอย่างในทวีปแอฟริกาว่า
เกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่แห้งแล้ง พืชผลการเกษตรไม่เพียงพอ
กับ เกษตรกรที่เพาะปลูกบนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นก็คือ “พวกเขาต่างก็ยากจน”
ศาสตราจารย์จึงเห็นว่า ปัจจัยด้านที่ดินจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรยากจน
แต่เป็นตัวของมนุษย์เองต่างหาก ดังนั้น การลงทุนในการปรับปรุงคุณภาพประชากรจะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและสวัสดิการของคนยากจนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
📌 กุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จทางเศรษฐกิจ คือ ทักษะของมนุษย์
ศาสตราจารย์ Theodore ตั้งข้อสังเกตถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วอย่างน่าทึ่งหลังสงครามของญี่ปุ่นและเยอรมนีตะวันตก
โดยศาสตราจารย์สรุปว่า กุญแจของความสำเร็จของเยอรมนีและญี่ปุ่น คือ ประชากรที่มีสุขภาพดีและมีการศึกษาของทั้งสองประเทศ
ซึ่งในที่สุดข้อสรุปนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของทฤษฎีทุนมนุษย์ (Human Capital Theory)
สิ่งนี้ทำให้เขาเน้นย้ำคุณภาพของประชากรเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ มากกว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น คุณภาพของที่ดิน หรือ ทรัพยากร
สิ่งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการส่งเสริมการศึกษาและสุขภาพโดยสถาบันระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ World Bank
The future of mankind is open ended;
our future is not predestined by space, energy and cropland.
It will be determined by the intelligent evolution of humanity.
(อนาคตของมนุษยชาตินั้นไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัว
อนาคตของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับ พื้นดิน ลมฟ้าอากาศ
แต่ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการอันชาญฉลาดของความเป็นมนุษย์)
Theodore W. Schultz
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : The University of Chicago Photographic Archive และ Nobel Prize
โฆษณา