27 ต.ค. 2022 เวลา 12:00 • หนังสือ
เมื่อแมวยึดครองโลก (วรรณกรรม)
เรามักจะมีมุกตลกกันในหมู่ทาสแมวว่า จริงๆแล้วแมวเป็นสัตว์ที่จ้องจะยึดครองโลก ซึ่งช่วงหลังๆมานี้ น้องแมวก็เหมือนจะทำได้จริงแล้วกับโลกวรรณกรรม ไม่ว่าจะชื่อเรื่อง หน้าปกหนังสือ หรือในฐานะตัวละครหลักล้วนแล้วแต่มีน้องแมวยึดครอง
วันนี้แอดเลยนำความสงสัย (แปลกๆ) ของแอดไปไขหาคำตอบให้ชาว BD มาค่ะ ว่าเราโดนน้องแมวยึดพื้นที่ปกและเนื้อเรื่องในวรรณกรรมกันได้อย่างไร เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ (และมีแมวอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้หรือไม่)
นักเขียนและแมว
มีนักเขียนชื่อดังมากมายที่เลี้ยงและรักแมวมากๆจนยากที่จะมองข้าม ถึงขนาดมีหนังสือชื่อ Writers and Their cats ซึ่งเขียนโดย Alison Nastasi กล่าวถึงประเด็นนี้เป็นการเฉพาะ
อีกทั้งยังมีนักเขียนชื่อดังมากมาย อาทิ Edgar Allan Poe, Ernest Hemingway, Gillian Flynn หรือ Haruki Murakami ต่างก็ยอมรับ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เคยกล่าวถึงสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ว่าพวกเขาเลี้ยงแมวและรักมันมากแค่ไหน บ้างถึงกับบอกว่า แมวของเขา คอยเฝ้ามอง ให้กำลังใจ และบางครั้งเป็นแรงบันดาลใจในการเขียน หรือเขียนเองซะเลยด้วยการนั่งทับแป้นพิมพ์
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่เหมาะกับอาชีพนักเขียนที่สุด ก็เพราะส่วนใหญ่ นักเขียนมักจะมีบุคลิกแบบ Introvert (สูญเสียพลังงานได้ง่ายเมื่อต้องเข้าสังคมนานๆและชอบอยู่กับตัวเอง) และเป็นผู้ซึ่งชอบใช้เวลาไปกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์
ลักษณะนิสัยของแมวที่ไม่ได้ต้องการใกล้ชิดเจ้าของตลอดเวลา และมีความคิด ความต้องการของตัวเอง (แถมยังฉลาดและมีเล่ห์เหลี่ยมเป็นบางคราว) จึงเข้ากับอาชีพนักเขียนได้ดี แถมยังช่วยคลายเครียดให้การทำงานของพวกเขาด้วยพฤติกรรมเอ๋อๆมึนๆเป็นบางครั้งคราวด้วย
ประกอบกับการที่นักเขียน เป็นอาชีพที่ต้องพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติและต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่ซับซ้อน การต้องเดาใจและความต้องการของแมวบางทีก็ซับซ้อนพอกัน พวกเขาบางคนจึงมองว่าการเลี้ยงแมวช่างเข้ากับนิสัยและความคุ้นชินของพวกเขาเสียจริง
ภาพ Gillian Flynn ผู้เขียนเรื่อง Gone Girl และน้องแมวดำที่เธอมองว่าน่ารักที่สุดในบรรดาแมวทุกสีแล้ว ที่มา: https://www.writerswrite.co.za/the-relationship-between-writers-their-cats/
แมวและวัฒนธรรมญี่ปุ่น
นอกเหนือไปจากนิสัยและพฤติกรรมต่างๆของน้องแมวที่ใกล้เคียงกับเหล่านักเขียนที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ในประเทศญี่ปุ่นยังมีสายสัมพันธ์ที่พิเศษลึกซึ้งในแง่วัฒนธรรมและความเชื่อระหว่างคนกับแมวเพิ่มขึ้นไปอีก
ตั้งแต่แมวมาถึงญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 6 โดยมากับเรือจากประเทศจีน ทั้งวรรณกรรม ศิลปะ และเรื่องเล่าพื้นบ้านในประเทศญี่ปุ่นก็เต็มไปด้วยแมว แมวยึดพื้นที่ด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์อย่างมั่นคง
แมวเป็นสัญลักษณ์ถึงหลายสิ่งในประเทศญี่ปุ่น แต่ความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุดของแมว คือ การปกป้องและการนำมาซึ่งโชคลาภ
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว มีขุนนางศักดินาคนหนึ่งยืนอยู่ใต้ต้นไม้ แต่เขาเห็นแมวประหลาดกำลังทำท่าเหมือนกวักมือเรียกเขา ด้วยความสงสัยเขาจึงเดินเข้าไปหามัน และทันใดนั้น ฟ้าก็ผ่าลงมาที่ต้นไม้ที่เขายืนอยู่เมื่อครู่ เขาจึงรอดชีวิตมาได้เพราะแมวที่ถูกเรียกว่า มาเนกิ-เนโกะ หรือที่เรารู้จักกันในนามของแมวกวักนั่นเอง
ภาพ มาเนกิ-เนโกะ หรือแมวกวัก ที่มา: https://www.objetjaponais.com/figurine-maneki-neko/
นอกจากนี้ในวรรณกรรมเรื่องดังของ Natsume Soseki เรื่อง "I am a cat" หรือชื่อไทย "อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว" ก็เป็นวรรณกรรมที่บรรยายการเปลี่ยนแปลงช่วงยุคเมจิผ่านสายตาของแมว ซึ่งทำให้แมวได้ความหมายเชิงสัญลักษณ์อีกประการที่สื่อถึงความฉลาดและลึกลับซับซ้อน
ภาพ หน้าปกหนังสือ อันตัวข้าพเจ้านี้คือแมว ที่มา: https://readery.co/9786165630405
และในวรรณกรรมร่วมสมัยของนักเขียนญี่ปุ่นรุ่นต่อๆมา หากไม่ใช้แมวเป็นตัวเดินเรื่องที่ดูลึกลับ ก็เป็นตัวเดินเรื่องที่แสดงให้เห็นมุมความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ถูกละทิ้งก่อนที่แมวจะเข้ามาเป็นตัวประสาน ทำลายกำแพงและอคติที่เคยมีระหว่างผู้คน เช่นเรื่อง The Travelling Cat Chronicles ของ Hiro Arikawa ซึ่งภายหลังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย
จะบอกว่าฝั่งวรรณกรรมญี่ปุ่นค่อนข้างหมกมุ่นและรักสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "แมว" อย่างโงหัวไม่ขึ้นก็ไม่ผิด พวกเขามองแมวในแง่ดีและเป็นสิ่งนำโชค
นักเขียนญี่ปุ่นหลายคนก็เลี้ยงแมว และชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวนักอ่านก็คงไม่พ้น Haruki Murakami ที่แม้ยามก่อนเป็นนักเขียน ยังเคยเปิดบาร์แจ๊สที่ใช้ชื่อ Peter cat ตามชื่อแมวของเขาเอง
ภาพ ที่รองแก้วจากสมัยที่ Murakami เปิดบาร์แจ็สชื่อ Peter cat ที่มา: http://loscaffaledelleswappine.blogspot.com/2015/09/murakamis-peter-cat-chiunqueabbia-letto.html?m=1
แมวและวัฒนธรรมตะวันตก
ในขณะเดียวกัน ทางวรรณกรรมฝั่งตะวันตกเอง แมวก็ยึดครองพื้นที่ในงานวรรณกรรมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แต่โชคร้ายหน่อยที่น้องแมวยังไม่สามารถทำการตลาดสู้น้องหมาได้ในพื้นที่นี้ แถมยังถูกแปะป้ายให้ดูเป็นสิ่งลี้ลับ หรือมีพลังลึกลับน่ากลัวขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังอีกต่างหาก
ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการส่งต่อวัฒนธรรมจากอียิปต์โบราณมาสู่อาณาจักรโรมันที่มองแม่ในฐานะเทพที่ต้องบูชา แถมตำนานเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดในเทพปกรนัมอย่าง สฟิงค์ ที่เป็นญาติห่างๆของแมวก็มักได้รับบทตัวร้าย ยิ่งในยุคกลางสถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้าย เมื่อภาพลักษณ์ของแมวถูกเชื่อมกับความลี้ลับและมนต์ดำ
ต้องรอจนถึงศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว กว่าแมวจะถูกมองว่าเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารักน่ากอด และถูกเลี้ยงอย่างแพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในยุโรปและอเมริกา
แมวเริ่มบุกเข้าสู่เพลงและนิทานของเด็กในยุคนี้ ทั้งในแบบเป็นมิตรน่ารัก และแบบที่ยังคงความลึกลับอยู่อย่าง Cheshire Cat เจ้าแมวหน้ายิ้มใน Alice's Adventure in Wonderland
ภาพ Cheshire Cat ที่มา: https://daily.jstor.org/a-brief-history-of-literary-cats/
โดยนักวิจารย์วรรณกรรม Maria Nikolajeva ได้กล่าวไว้ในบทความของเธอที่ตีพิมพ์ในปี 2009 ว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแมวเป็นตัวละครที่เป็นที่นิยมมากๆในเรื่องราวทุกรูปแบบ ทั้งจากลักษณะของมันที่ดูลึกลับ พึ่งพาตัวเองได้ เจ้าเล่ห์ และส่วนผสมที่แปลกประหลาดยากคาดเดาระหว่างความเสียสละให้เรา แต่ก็พร้อมหักหลังตลอดเวลาของมัน"
กล่าวได้ว่า ในแง่คุณภาพและเสน่ห์ของตัวละครน้องแมวในวรรณกรรม มันได้ยึดครองทั้งใจนักเขียนและนักอ่านไปแล้วนั่นเอง
อ่านบทความจบแล้ว
ฝากกดติดตาม และเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในคอมเม้นกับแอดได้นะคะ ใครมีหนังสือวรรณกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับแมวก็มาแนะนำเพื่อนๆกันได้นะคะ วันนี้แอดขอลาไปก่อน พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ
โฆษณา