30 ต.ค. 2022 เวลา 06:52 • อาหาร
"ทุคคตะทาน: ความเท่าเทียมในทานระหว่างเศรษฐีกับยาจกสมัยพุทธกาล"
"มหาทุคคตะ" ชายผู้ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดแห่งเมืองพาราณสีต้องการจะถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ทว่าเกิดอุปสรรคนานัปการ เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับนิมนต์แม้ตระหนักว่าอาหารของยาจกเป็นเพียงอาหารชั้นเลว ความปรารถนาที่จะถวายพระกระยาหารแด่พระศาสดาแรงกล้า ร้อนถึงท้าวสักกะหรือองค์อินทร์ต้องเหาะลงจากสรวงสวรรค์เนรมิตอาหารชั้นเลวเป็นอาหารทิพย์ พร้อมดลบันดาลฝนแก้ว 7 ประการแด่ยาจกจนเข็ญใจ
"ทุคคตะ" หรือขอทานยุคปัจจุบันในอินเดีย (ภาพ: www.indiaindream.com/)
"ทุคคตะ" หรือขอทานยุคปัจจุบันในอินเดีย (ภาพ: www.indiaindream.com/)
ช่วงเข้าพรรษาของปีอธิกมาส หรือภาษาชาวบ้านว่า “ปีที่มีเดือนแปดสองหน” ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก 3 ปี ชาวมอญจะมีประเพณี “ทุคคตะทาน” อันมีที่มาจาก “มหาทุคคตะ” ชายผู้ยากจนแห่งเมืองพาราณสี สมัยพุทธกาล ที่ต้องทำงานหนักด้วยต้องการจะทำบุญเลี้ยงพระอย่างคนรวยสักครั้งแต่ก็มีอุปสรรคนานัปการ จนกลายเป็นที่มาของบทบัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์ต้องรับ "สังฆทาน" จากศาสนิกชนโดยเท่าเทียม ห้ามมิให้เลือกที่รักมักที่ชัง
ประเพณี "ทุคคตะทาน" กำหนดให้ชาวบ้านที่ต้องการเลี้ยงพระที่บ้านตนเองแสดงความประสงค์ เขียนชื่อครอบครัวของตนลงในสลาก แล้วนิมนต์พระสงฆ์จับสลาก เมื่อถึงวันนัดหมายแต่ละบ้านจะรับพระสงฆ์จากวัดไปสวดมนต์ฉันเพลเรียงไปตามลำดับในสลาก ตัดปัญหาที่พระสงฆ์อาจเลือกที่รักมักที่ชังหรือรับนิมนต์เฉพาะบ้านผู้มีอันจะกิน อุบายนี้ทำให้คนรวยและคนจนต่างมีโอกาสทำบุญเสมอกัน
1
“ทุคคตะทาน” มีความเป็นมาย้อนกลับไปถึงสมัยพุทธกาล ธรรมนิยายที่ยกมาต่อจากนี้คัดมาจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่าด้วย “มหาทุคคตะ” อดีตชาติของสามเณรบัณฑิต มีเนื้อความโดยย่อ ความว่า
ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า กัสสป พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ 2 หมื่นรูปได้เสด็จไปยังกรุงพาราณสี ชาวเมืองต่างพากันถวายทานตามกำลังของตน หลังฉันภัตตาหารแล้วเสร็จ พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุโมทนาว่า บุคคลผู้ทำบุญโดยมิได้ชักชวนผู้อื่น เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทรัพย์สมบัติแต่ไม่ได้บริวารสมบัติ บุคคลผู้ชักชวนผู้อื่นทำแต่ไม่ได้ทำเอง เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้บริวารสมบัติแต่ไม่ได้ทรัพย์สมบัติ
บุคคลผู้ทั้งไม่ได้ทำเองและไม่ได้ชักชวนผู้อื่น เมื่อเกิดในที่ใดย่อมไม่ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ ขณะบุคคลที่ทำบุญด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่นด้วย เมื่อเกิดในที่ใดย่อมได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ
ขณะนั้นมีบุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้ฟังแล้วนึกปรารถนาจะทำบุญอันเป็นเหตุให้ได้ทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ จึงไปเฝ้าอาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุสาวกให้รับอาหารของตนในวันรุ่งขึ้น
จากนั้นจึงเที่ยวบอกชาวบ้านทั้งหลายว่า ตนได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ 2 หมื่นรูป เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ขอให้ผู้ที่มีกำลังศรัทธาแจ้งยอดว่าประสงค์จะเป็นเจ้าภาพพระสงฆ์กี่รูป เพื่อที่ตนจะได้จดลงบัญชี จึงมีผู้แสดงความจำนงค์มากมาย บ้าง 10 รูป บ้าง 20 รูป หรือกว่า 100 รูปในรายคหบดีเศรษฐีมีฐานะ
นอกจากนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตก็ได้เอ่ยปากชักชวน "มหาทุคคตะ" ชื่อที่มหาชนขนามนามให้ซึ่งมีความหมายว่า "ยากจนมาก" เพื่อให้ "มหาทุคคตะ" รับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง
เบื้องต้น มหาทุคคตะได้ปฏิเสธออกไป ด้วยเห็นว่าการเลี้ยงพระเป็นเรื่องของคนมีทรัพย์ เนื่องจากลำพังตัวเขาหาเลี้ยงตนเองและภรรยาก็แสนยาก ทำงานรับจ้าง เลี้ยงชีพด้วยความฝืดเคือง ไม่มีแม้แต่ข้าวสารสักทะนานหนึ่งที่จะหุงต้มในวันรุ่งขึ้น
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตได้กล่าวยกแม่น้ำทั้งห้า หว่านล้อมให้มหาทุคคตะเห็นว่า ในเมืองพาราณสีมีคนร่ำรวยจำนวนมากมีข้าวปลาอาหารอย่างดีบริโภค แต่งกายด้วยอาภรณ์เนื้อดี นอนบนที่นอนอ่อนนุ่มกว้างใหญ่ เพราะสะสมบุญไว้แต่ชาติปางก่อน การที่มหาทุคคตะต้องการเพียงแค่อาหารอย่างเลวแต่ทำงานรับจ้างทั้งวันกลับไม่ได้ดังต้องการ เป็นเพราะไม่ได้ทำบุญไว้ในกาลก่อน
บุรุษผู้เป็นบัณฑิต จึงกล่าวให้สติแก่มหาทุคคตะว่า อย่าได้ประมาท จงรีบขวนขวายในการบุญ อันสามารถทำได้ตามสติกำลังของแต่ละบุคคล
"ทุคคตะ" หรือขอทานยุคปัจจุบันในอินเดีย (ภาพ: www.indiaindream.com/)
เมื่อมหาทุคคตะได้ฟังจึงกลับมีมานะขึ้น แจ้งให้บุรุษผู้เป็นบัณฑิตลงบัญชีภิกษุรูปหนึ่งไว้สำหรับเขา ซึ่งเขาจะรับจ้างทำงานเพื่อให้ได้เงินมาทำบุญในวันรุ่งขึ้น
ผู้ชักชวนเห็นว่า มหาทุคคตะ จองเป็นเจ้าภาพเพียงรูปเดียว จึงมิได้จดลงในบัญชี ฝ่าย มหาทุคคตะ กลับไปยังเรือนตน บอกเรื่องดังกล่าวแก่ภรรยาของเขาซึ่งเป็นผู้มีจิตกุศลเช่นกัน ภรรยาเห็นชอบและพลอยยินดีกับการกระทำของสามี เห็นควรที่จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระสักรูปหนึ่ง
สองสามีภรรยาได้ไปยังเรือนของเศรษฐีเพื่อของานทำ พอเหมาะกับเศรษฐีได้รับเลี้ยงพระ 2-3 ร้อยรูปในวันรุ่งขึ้น จึงจัดให้มหาทุคคตะผ่าฟืนสำหรับหุงต้ม เขาทำงานด้วยความอุตสาหะและร่าเริงอย่างยิ่ง
เศรษฐีสังเกตอาการของเขาแปลกกว่าที่เคยจึงสอบถาม มหาทุคคตะจึงเล่าเรื่องที่รับเลี้ยงพระให้เศรษฐีทราบ เศรษฐีรู้สึกนับถือและเลื่อมใสในจิตใจของเขาว่าได้กระทำในสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง มิได้เฉยเมยว่ายากจน อุตสาหะทำงานด้วยกำลังทั้งหมด เพื่อจะได้มีส่วนในการเลี้ยงพระ
ขณะที่ภรรยาของมหาทุคคตะ ได้ไปขอรับจ้างทำงานกับภรรยาเศรษฐี ภรรยาเศรษฐีได้มอบงานให้ตำข้าว นางตำข้าวและฝัดข้าวเสมือนหนึ่งรำละครด้วยอาการยินดีอย่างยิ่ง ภรรยาเศรษฐีจึงเกิดความประหลาดใจ สอบถามจนได้ความเช่นเดียวกับที่เศรษฐีได้รับจากสามีนาง
เมื่อมหาทุคคตะผ่าฟืนเสร็จ เศรษฐีได้มอบข้าวสาลีแก่เขา 4 ทะนานเป็นค่าจ้าง และอีก 4 ทะนาน ให้ด้วยความพอใจในตัวเขา ฝ่ายภรรยาเศรษฐี ได้มอบเนยใสและนมส้มอย่างละกระปุก เครื่องเทศ และข้าวสาลีอย่างละหนึ่งทะนาน
สองสามีภรรยาพากันดีใจที่ได้เครื่องไทยธรรมแล้ว เช้าตรู่ทั้งคู่ตื่นขึ้นมาเตรียมอาหาร ฝ่ายสามีไปหาผักที่ริมฝั่งน้ำ ด้วยไม่อาจเก็บความรู้สึกยินดีที่จะได้ถวายอาหารภิกษุสงฆ์ไว้ได้ จึงเก็บผักไปพลางร้องเพลงไปพลาง ชาวประมงผู้ยืนทอดแหอยู่ริมแม่น้ำได้ยินเสียงร้องเพลงรู้สึกแปลกใจ
มหาทุคคตะ เล่าให้ฟังในเบื้องแรก ชาวประมงจึงพูดจาเป็นเชิงล้อเลียนว่า พระที่ฉันผักของแกคงจะต้องอิ่มมาก
แต่เมื่อมหาทุคคตะบอกว่า เขาเป็นเพียงคนจนจำต้องเลี้ยงพระตามมีตามเกิด ชาวประมงเห็นใจจึงเอ่ยปากให้ปลาแก่เขา ระหว่างที่เขากำลังร้อยปลาจะนำไปทำกับข้าว ชาวเมืองก็มาซื้อไปเสียหมด จนเมื่อใกล้ถึงเวลาที่พระจะมาฉัน เขาจึงบอกแก่ชาวประมงว่าจะต้องรีบไป ชาวประมงจึงขุดเอาปลาตะเพียน 4 ตัว ซึ่งหมกทรายไว้เพื่อตัวเขาเองให้แก่มหาทุคคตะ
เช้าวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ ทรงทราบเรื่องมหาทุคคตะโดยตลอด จึงดำริขึ้นว่า ในวันนี้มหาทุคคตะจะไม่ได้ภิกษุรูปใดเลย เพราะบุรุษผู้เป็นบัณฑิตไม่ได้จดรายชื่อเขาไว้ในบัญชี เว้นเสียแต่พระองค์เพียงผู้เดียว อันเป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่ทรงพอพระทัยในการสงเคราะห์คนยาก
มหาทุคคตะ นำปลาตะเพียนที่ได้มาให้ภรรยาทำกับข้าว ซึ่งมีท้าวสักกะเทวราชปลอมตนเป็นพ่อครัวมาช่วยปรุงอาหารด้วย
มหาทุคคตะ รีบไปนิมนต์พระเพื่อมาฉันภัตตาหารที่เรือนของตน เมื่อเข้าไปหาบุรุษผู้เป็นบัณฑิตที่ชักชวนให้เขาทำบุญ แต่บุรุษนั้นไม่ได้จดไว้ เขาพยายามขอโทษมหาทุคคตะ แต่มหาทุคคตะไม่อาจระงับความเสียใจไว้ได้ เขาร่ำไห้พลางพร่ำพรรณนาและบอกเล่าความตั้งใจจริงและความอุตสาหะในการรับจ้างทำงานของเขาและภรรยาเมื่อวันวาน
1
คนทั้งหลายได้เห็นอาการของมหาทุคคตะแล้วพากันสงสาร กล่าวโทษบุรุษผู้เป็นบัณฑิตว่าได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว บุรุษผู้นั้นละอายใจจึงกล่าวกับมหาทุคคตะว่า เขาเองก็ลำบากใจอย่างยิ่ง ไม่รู้จะทำอย่างไรดี คนทั้งหลายได้นำภิกษุไปตามบัญชีของตนหมดแล้ว ไม่มีใครยอมถอนบัญชีภิกษุแม้เพียงรูปเดียว คงเหลือแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้พระองค์ประทับอยู่ในพระคันธกุฎี เหล่าเสนาบดีเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ต่างเฝ้ารอรับบาตรของพระองค์อยู่ ให้มหาทุคคตะไปเข้าเฝ้าพระองค์ และกราบอาราธนาพระองค์ไปยังเรือนของตน
มหาทุคคตะ รีบมุ่งหน้าไปยังวิหาร เมื่อมีผู้พบเข้าจึงออกปากไล่ให้ไปเสียด้วยมิใช่เวลาอาหารอย่างที่เขาเคยมากินเดนอยู่เนือง ๆ
มหาทุคคตะจึงกล่าวว่า ตนมิได้ต้องการอาหาร แต่มาเพื่ออาราธนาพระศาสดาไปเสวยพระกระยาหารที่เรือนของตน จากนั้นเขาได้หมอบลงที่ธรณีพระคันธกุฏี ถวายบังคมเบญจางคประดิษฐ์และกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ ในพระนครนี้ขึ้นชื่อว่าผู้ยากจนกว่าข้าพระพุทธเจ้ามิได้มี ขอพระองค์ได้โปรดสงเคราะห์และทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด”
พระศาสดาทรงเผยพระทวาร ประทานบาตรแก่เขา มหาทุคคตะปลาบปลื้มเสมือนได้สมบัติพระจักรพรรดิ
พระมหากษัตริย์พร้อมเหล่าราชวงศ์ต่างพากันพิศวง แต่ไม่บังอาจแย่งบาตรที่พระศาสดาทรงประทานแล้วแก่ผู้ใดได้ พระมหากษัตริย์ได้พยายามอ้อนวอนขอซื้อบาตรจากมหาทุคคตะ โดยพระองค์จะตอบแทนด้วยทรัพย์นับพันนับแสน
เมื่ออ้อนวอนไม่สำเร็จ ผู้คนส่วนใหญ่ต่างพากันกลับ เหลือแต่องค์กษัตริย์เท่านั้นที่เสด็จติดตามพระศาสดาไป เพื่อทอดพระเนตรว่ามหาทุคคตะจัดถวายเครื่องไทยธรรมสิ่งใดบ้าง หากมีน้อยและพระศาสดาเสวยไม่พออิ่ม ก็จะนำเสด็จพระราชวังอีกครั้งหนึ่ง
แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า ท้าวสักกะเทวราชได้ลงมาช่วยปรุงอาหารด้วย ดังนั้นเมื่อเปิดฝาออก กลิ่นของอาหารก็ฟุ้งตลบไปทั่ว แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็มิเคยทรงได้กลิ่นอาหารอันหอมหวลเช่นนี้มาก่อน พระองค์ได้กราบทูลพระศาสดาถึงสาเหตุที่เสด็จตามมา จากนั้นจึงเสด็จกลับพระราชวัง
เมื่อพระศาสดาเสวยพระกระยาหารและกล่าวอนุโมทนาแล้วเสร็จ มหาทุคคตะได้ส่งเสด็จพระศาสดาและท้าวสักกะเทวราช ท้าวสักกะเทวราชได้บันดาลให้ฝนแก้ว 7 ประการ ตกลงมาเต็มเรือนของมหาทุคคตะ
มหาทุคคตะได้เห็นแก้วแหวนเงินทองเต็มเรือนเช่นนั้นก็ปลาบปลื้มว่า บุญที่ทำแก่พระพุทธเจ้าให้ผลทันตา จึงได้ไปกราบทูลกษัตริย์ขอให้นำเกวียนไปบรรทุกทรัพย์เหล่านั้นมา จากนั้นพระองค์ได้ตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งเศรษฐี
มหาทุคคตะ ยังคงประกอบทานบารมีจนตลอดชีวิต ภายหลังสิ้นชีวิตแล้วไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง มาถึงสมัยแห่งพระโคตม อดีตมหาทุคคตะได้บังเกิดในท้องธิดาคนโตของสกุลอุปฐากของพระสารีบุตรในกรุงสาวัตถี นางแพ้ท้องอยากถวายกระยาหารพระสัก 500 รูป ด้วยปลาตะเพียน แล้วนุ่งห่มผ้าสากายะ นั่งบริโภคอาหารเป็นเดนของภิกษุ บรรดาญาติได้จัดให้เธอทำตามประสงค์ อาการแพ้ท้องจึงระงับลง
เมื่อครบกำหนด นางให้กำเนิดทารกเพศชาย ชื่อว่า บัณฑิต เพราะเหตุที่นับแต่เมื่อทารกนั้นอยู่ในครรภ์จนคลอด คนโง่เขลาในบ้านของนางกลับเป็นคนฉลาดเสียสิ้น นางจึงตั้งใจว่าจะตามใจบุตรในทุกสิ่ง ไม่ว่าบุตรของนางต้องการสิ่งใด หากเป็นไปในทางที่ชอบแล้ว นางจะอนุโลมตามทุกประการ
จนเมื่อเด็กน้อยอายุได้ 7 ขวบ ได้ขอกับบิดามารดาอุปสมบทในสำนักของพระสารีบุตร ภายหลังอุปสมบทได้เพียง 1 วัน ขณะออกบิณฑบาตรกับพระอุปัชฌาย์ในตอนเช้าตรู่ ระหว่างนั้นเกิดข้อปุจฉาของสามเณรบัณฑิต ที่เมื่อได้รับการแนะข้อธรรมเพียงเล็กน้อย สามเณรบัณฑิตก็ได้บรรลุพระอรหันตผลในบัดดล
ประเพณีทำบุญ "ทุคคตะทาน" ของชาวมอญบ้านทุ่งเข็น ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ชาดกนอกนิบาตนี้บอกกับเราว่า การสร้างบุญทานของบุคคลไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยขนาด จำนวน และระยะห่างทางฐานะ หากขึ้นกับสำนึกเป็นสำคัญ เมื่อย้อนนึกถึงความปรารถนาในการเข้าถึงการบุญของมหาทุคคตะเพื่อให้ได้ถวายทานเพียงครั้งเดียว บุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียม ในอันที่จะสำแดงเจตนาของตนตามอัตภาพ ไม่ขึ้นกับมั่งมียากจน คนเก่าผู้เจนในรสธรรมย่อมตระหนักว่าการทำดีไม่จำเป็นต้องประกาศ เพราะแม้มนุษย์ไม่เห็นแต่เทวดาย่อมเห็นในกุศลจิตนั้น
1
รายการอ้างอิง
องค์ บรรจุน. (2557). ทุคคตะทาน: ความเท่า
เทียมในบุญของผู้ยาก. ใน ศิลปวัฒนธรรม.
35(3): 54-59.
โฆษณา