11 พ.ย. 2022 เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

Goals Setting: บ่อยครั้งที่ความล้มเหลวมีค่ามากกว่าความสำเร็จ

จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เรามักตั้งเป้าหมายโดยไม่รู้ค่าที่ตัวเองให้ และ ไม่ตระหนักรู้ถึงอิสรภาพชีวิตที่ตัวเองมี เมื่อทำเป้าหมายนั้นๆสำเร็จ จึงรู้สึกไม่มีความสุขกับเป้าหมายนั้น รู้สึกถึงความว่างเปล่า
จนทำให้ต้องตั้งเป้าหมายใหม่ไปเรื่อยๆ เพียงเพื่อตอบสนอง"ความรู้สึกและหลอกตัวเอง"ว่านั่นคือเป้าหมายที่ต้องการ
ถ้า"บังคับ"ตัวเองให้ตั้งเป้าหมายเพียงเพื่อให้ได้"รู้สึก"ว่ามีเป้าหมาย
หรือเพียงเพื่ออยากให้"สังคมมอง"ว่าไม่ได้ใช้ชีวิตไปวันๆ เป้าหมายที่ตั้งขึ้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยและไร้ประโยชน์ทันที
เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้ง สามารถปฏิบัติได้จริงและบรรลุได้ง่ายขึ้น ได้แบ่งประเภทของเป้าหมายตาม"ค่าที่ให้" ในบทความเรื่อง what makes us who we are : ตัว(ของ)ตน (ตอน 2) ออกเป็นนามธรรมและรูปธรรม ดังนี้
1) เป้าหมายนามธรรม (Intangible Goals) คือ เป้าหมายที่จับต้องไม่ได้ แต่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงสภาวะแห่งความสุขสงบที่ยั่งยืน (Contentment)
มีเหตุจากแรงบันดาลใจภายใน และส่งผลบวกต่อจิตใจที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เช่น การมีอิสรภาพทางการเงิน การมีความสัมพันธ์ที่ดี การพัฒนาตัวเอง อื่นๆอีกมากมาย
2) เป้าหมายรูปธรรม (Tangible Goals) คือ เป้าหมายที่จับต้องและวัดผลได้ ทำให้เรารู้สึกได้ถึงสภาวะช่วงเวลาแห่งความสุข (Happiness)
ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และเป็นพลังที่คอยกระตุ้นให้เราอดทนทำในสิ่งที่ต้องการ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามที่คาดหวัง เช่น การออมเงิน การซื้อบ้าน การหยุดดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และ อื่นๆอีกมากมาย
*บ่อยครั้งที่เป้าหมายนามธรรม เป็นตัวผลักดัน เพื่อให้เป้าหมายรูปธรรมเกิด
เช่น ความต้องการมีอิสรภาพทางการเงิน(นามธรรม) จึงตั้งเป้าหมาย เก็บออมเงิน(รูปธรรม) หรือ ความต้องการเป็นอิสระและไม่อยากอาศัยพึ่งพาพ่อแม่(นามธรรม) จึงตั้งเป้าหมาย มีบ้านเป็นของตัวเอง(รูปธรรม) เป็นต้น
เป้าหมายที่เกิดผลได้จริงต้อง..
1) เกิดจากแรงขับภายในที่ตัวเองต้องการอย่างแท้จริง โดยสอดคล้องกับค่าที่ให้ในชีวิตและอิสรภาพชีวิตที่ตัวเองมี
2) ตอบตัวเองให้ได้ว่า"ทำไม"ถึงต้องการเป้าหมายนั้นๆ ถ้าเราตอบไม่ได้ว่า"ทำไม" เป้าหมายนั้นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่เลื่อนลอยและไร้ค่าได้
เป้าหมาย : มีเงินเก็บสองแสนบาทภายในสิ้นปี
เหตุผล : เพราะฉันอยากมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือ
เป้าหมาย : หยุดดื่มเหล้า สูบบุหรี่
เหตุผล : เพราะฉันอยากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และจะนำเงินที่หมดไปกับการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เปลี่ยนเป็นเงินเก็บออม เป็นต้น
ถ้ายึดมั่นและทำตามเป้าหมายที่สอดคล้องกับ “ค่าที่เราให้ในชีวิต และ อิสรภาพทางชีวิต” เป้าหมายนั้นจะเป็นเป้าหมายถูกทางชีวิตที่เป็นของเรา และเราสามารถทำเป้าหมายนั้นให้บรรลุได้ตรงตามที่คาดหวังมากขึ้น
ในกรณี ที่เรายึดมั่นและไล่ตามเป้าหมายโดยไม่รู้ “ค่าที่เราให้ในชีวิต และ อิสรภาพทางชีวิต” เป้าหมายนั้นอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ และกลายเป็นเพียงแค่เป้าหมายที่ไร้ทิศทาง ทำให้เรารู้สึกถึงความล้มเหลวและเป็นทุกข์
ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า "บางครั้งคุณค่าของเป้าหมายไม่ได้อยู่กับสิ่งที่เราทำสำเร็จ แต่อยู่ในทิศทางที่เป้าหมายให้เรา"
เพราะในระหว่างทางที่เราเริ่มเข้าใกล้เป้าหมาย ซึ่งอาจจะจบลงด้วยการลงทุนมากกว่าที่ควรเป็น เสียเวลา เสียเงินทอง แรงกายและแรงใจที่ทุ่มเทลงไป ซึ่งอาจพบว่าเป้าหมายนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ
เรา คือ คนกำหนดเป้าหมายและลงมือทำ ดังนั้นคนที่วัดความสำเร็จ คือ ตัวเรา ไม่ใช่ใครอื่น
1
เรา คือ คนควบคุมเป้าหมายและกระบวนการทั้งหมด
เราจะรู้ว่าเมื่อใดควรหยุดหรือเดินหน้าต่อ ยังดีกว่าเสียเวลาตะบี้ตะบันทำตามเป้าหมาย ปล่อยให้ตัวเองเสียสุขภาพจิต ทำลายแรงบันดาลใจ และหมดไฟในการใช้ชีวิต
บอกเตือนตัวเองเสมอว่า "ไม่เป็นไร" ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะปล่อยเป้าหมายนั้นทิ้งและเปลี่ยนเป็นเป้าหมายใหม่ อย่างน้อยเราได้เรียนรู้ให้เป็นประสบการณ์ และทำให้รู้จักตัวเองว่าเป็นใครและต้องการอะไรในชีวิตมากขึ้น
และนี่คือเหตุผลที่ "บางครั้งความล้มเหลวนั้นมีค่ามากกว่าความสำเร็จ"
เพราะความล้มเหลว สอนเราถึงสิ่งสำคัญที่เราควรจะไล่ตามแทน และให้บทเรียนที่มีค่าพอๆ กับประโยชน์ที่จะนำมาให้กับชีวิตเราทุกครั้งไป
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา