1 พ.ย. 2022 เวลา 06:47 • ไลฟ์สไตล์
จัดชีสบอร์ด (Cheese Board) ยังไงดีนะ ? (ฉบับมือใหม่ จัดหาง่าย)
ถ้าพูดถึงเรื่องราวของชีสเนี่ย ไม่ว่าอย่างไรจะต้องแวะเวียนมาพูดถึงเรื่องราวของการจัดชีสบอร์ดจนได้ 🤓👍
ในบทความก่อนโน้น พวกเราเลยพูดเรื่องราวของ Charcuterie board ที่มีทั้งชีสวางคู่กับเนื้อแบบ Cold cut หลากหลายชนิด
เพียงแต่ว่า ในโพสนี้พวกเรา InfoStory จะพูดถึงเรื่องราวของ Cheese board กันสักน้ดหน่อย
คือ ถ้าเป็น Cheese board หรือ Cheese platter เนี่ย
เขาก็จะเน้นการจัดวางชีสหลากหลายชนิด ให้ได้ลิ้มลอง พร้อมกับผลไม้แห้งหรือถั่วนานาชนิดวางบนถาดไม้ไว้ทานเคล้ากันไป (ที่ขาดไม่ได้เลยคงจะเป็นไวน์ดีดีสักขวด 🧀🍷)
ทั้งนี้การจัดชีสบอร์ดไม่ได้มีกฎตายตัว และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชีสที่มีราคาแพงหรือว่าหาได้ยาก
เท่าที่พวกเราสังเกตตามร้านอาหารส่วนใหญ่จะจัดชีสประมาณ 5 - 6 ชนิด ต่อ 3 ท่าน
อย่างนั้นแล้ว พวกเราก็ขอพาเพื่อน ๆ ไปรับชมรูปแบบการจัดเรียงชีสบอร์ดในแบบฉบับมือใหม่กันเลยดีกว่าคร้าบบ ! 😊
[ ใครเป็นคนต้นคิดการหยิบชีสมาวางเรียง ๆ กันบนกระดานไม้ แบบนี้นะ ? 🧀]
ชีสบอร์ด (Cheese Board) มองผ่าน ๆ อาจเหมือนเป็นแค่การหยิบชีสมาวาง ๆ เรียง ๆ กันในชีสบอร์ดไม้
(คือ มันดูเหมือนง่ายและไม่มีเรื่องราวเนอะ)
แน่นอนว่า..เกริ่นมาแบบนี้ พวกเราก็คงจะต้องมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชีสบอร์ดกันบ้างละเนอะ ฮ่า ๆ
ต้นกำเนิดของชีสบอร์ด อาจจะต้องเล่าเรื่องราวของ Charcuterie Board กันสักนิดนึง
(เดี๋ยวเราใส่โพสอันเก่าที่เคยพูดถึงเรื่องนี้สั้น ๆ ให้เพื่อน ๆ ตามไปส่องในคอนเมนต์นะคร้าบ)
“Charcuterie Board” เจ้าบอร์ดกระดานไม้ที่มีเนื้อสัตว์แบบเคียวร์มีท (Cured Meat)
Charcuterie Board
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือเนื้อแบบตัดเย็น (Cold cut) 🥩 ที่วางให้เลือกหยิบทานคู่กับเครื่องเคียง ได้อย่างหลากหลาย(เช่น ชีสและของหมักดอง) 🫐🧀
อ่านแค่ชื่อก็พอเดาได้เลยว่า น่าจะต้องกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส 🇫🇷
ซึ่งก็..ใช่นะคร้าบบ ✔ คือ ว่ากันว่ากำเนิดในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 15
โดยไอเดียในการทำเจ้าบอร์ดเนื้ออันนี้ก็มาจากการที่ชาวฝรั่งเศสพยายามใช้งานทุกส่วนของชิ้นเนื้อสัตว์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด (เศษเนื้อที่หลงเหลือจากการทำอาหาร ก็นำมาบดรวมกัน หรือ ชิ้นเนื้อบางส่วนที่ปรุงสุกไม่ค่อยดีมาก ก็จะแล่เนื้อเป็นแผ่นนำมาถนอมอาหารเป็นเนื้อแบบเย็น)
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า❓
French Charcuterie Board (แบบ Tradition) จะมีแค่เนื้อโคลต์คัตและเนื้อบด (pâté) ที่มาจากฝรั่งเศสเท่านั้น (ไม่ได้มีพวกผลไม้ ของหวาน หรือชีส)
French Charcuterie Board (แบบ Tradition)
โอเค มาถึงชีสบอร์ด (Cheese Board) พระเอกหลักของเราในโพสนี้กันบ้าง 🧀
ไอเดียของต้นกำเนิดเมนชีสบอร์ด ก็จะคล้ายคลึงกับเจ้า Charcuterie Board
กล่าวคือ กำเนิดจากร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Café Voisin” ที่กรุงปารีสในปีค.ศ. 1870 🇫🇷
Café Voisin Paris
แต่ว่า…เจ้าเมนูชีสบอร์ด มันไม่ได้โด่งดังในแบบฉบับของชาวฝรั่งเศสนะสิ..
แบบฉบับของชีสบอร์ด ที่ทำให้ผู้คนรู้จักกันทั่วโลก กลับเป็นเวอร์ชั่นของโรงแรม Waldorf Astoria ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี 1910 แทนคร้าบ 🇺🇸
ถึงแม้ว่าจะมาจากอเมริกาก็จริง…แต่สูตรการจัดชีสของโรงแรม Waldorf กลับใช้ชีสจากฝรั่งเศสเสียเป็นส่วนใหญ่ (เช่น ชีสนุ่มเป็น Camembert, ชีสกึ่งนุ่มใช้ Port Salut, ชีสแข็งใช้ Comté, บลูชีส Roquefort)
จนกระทั่งในช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 คาบเกี่ยวจนมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2
เจ้าเมนูชีสบอร์ด ก็กลายเป็นเมนูยอดนิยมของชาวยุโรป โดยเขาจะทานหลังมื้ออาหารของชนชั้นสูงทานคู่กับไวน์แดงชั้นดี (เข้าใจว่าเพราะราคามันแพง)
จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลก (ปี 1946 เป็นต้นมา)
ชีสบอร์ด ก็กลับไปเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันอีกครั้ง
แต่ว่าครั้งนี้เนี่ย ชาวอเมริกันก็ได้เริ่มจัดวางชีสในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ใช้เวลาเตรียมน้อย และชีสไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง
จากค่านิยมการจัดวางชีสบอร์ดแบบอเมริกัน ที่เน้นถูก เร็ว และอร่อยได้แบบง่าย ๆ จึงทำให้ชีสบอร์ดกลับมาเป็นที่นิยมและเข้าถึงง่ายไปทั่วโลก (แต่พวกร้านอาหารฝรั่งเศส อิตาลี ราคาไม่ถูกเท่าไรเลยคร้าบ ฮ่า ๆ 🥲)
[ ชีสบอร์ด..เสิร์ฟเวลาไหนดีนะ ? ]
เมนูชีสบอร์ด ที่เราเจอส่วนใหญ่ก็จะนิยมทานก่อนอาหารจานหลัก (Main)
😋 แต่ว่าที่จริงแล้ว เจ้าชีสบอร์ดนี้ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องทานช่วงเวลาใด (ก่อนของหวานเป็นพอ)
หลาย ๆ ประเทศในยุโรป ก็นำชีสบอร์ดมาทานเล่น ระหว่างอ่านหนังสือ, ในช่วงเวลาที่เพื่อน ๆ มาปาร์ตี้ที่บ้าน แล้วต้องรออาหารจานหลัก ก็ทานชีสบอร์ดรองท้องไปก่อน
หรือ หลาย ๆ ร้านในยุโรปยังเสิร์ฟหลังอาหารจานหลัก ก็มีเยอะอยู่เหมือนกันนะ
อย่างตอนที่พวกเราไปเที่ยวอิตาลีก็ชอบเสิร์ฟหลังจากอาหารจานหลักอย่างพาสต้าหรือสเต็กออกมาแล้ว ตรงนี้พวกเราเข้าใจว่า มันเลยไม่ได้มีกฎตายตัว หากผิดพลาดประการใดต้องกราบขออภัยล่วงหน้านะคร้าบ ☺️🙏
บนชีสบอร์ด ก็จะประกอบด้วย ชีส 5-6 ชนิด โดยส่วนใหญ่จะเลือกมา 1 ชนิดต่อ ชีส 1 กลุ่ม
(เช่น ชีสนุ่มก็จะเลือกมาแค่ Brie เป็นต้น)
ส่วนเรื่องการหยิบเลือกชีสมาทั้งก้อน หรือจะตัดเป็นชิ้น ๆ มา ก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนคน (ถ้าอ้างอิงจากกลุ่มของพวกเรา 4 คน ที่ไปทานเนี่ย สารภาพว่า เคยเจอ ชีสบอร์ด ที่มีชีส 3 ก้อน กับอีก 2 ที่เป็นแค่ชิ้นตัดประมาณ ¼ … ซึ่งเอาตรง ๆ คือ ซัดไม่หมดคร้าบ แอบเยอะอยู่นะ T^T)
1. ชีสสด (หรืออาจจะเป็น Aged fresh cheese)
- กลุ่มชีสสด (เก็บได้ไม่นาน) ยกตัวอย่างเช่น Halloumi, Feta, Ricotta
- ส่วนพวก Aged Fresh Cheese ที่เราชอบและพอจะเห็นได้อยู่บ้างก็เช่น Valençay, Clochette
2. ชีสนุ่ม (Soft Cheese)
ยกตัวอย่างเช่น Camembert de Normandie, Brillat-Savarin, Capricorn Goat, Brie de Melun
3. ชีสกึ่งนุ่ม-กึ่งแข็ง (Semi-Soft Cheese)
ยกตัวอย่างเช่น Taleggio, Edam, Vacherin Mont d’Or, Havarti
4. ชีสแข็ง (Hard Cheese)
ยกตัวอย่างเช่น Manchego, Comté, Gruyère, Emmentaler, Cheddar (เชดดาร์เราไม่ค่อยเห็นบนชีสบอร์ดมากเท่าไรแห่ะ)
5. บลูชีส (Blue Cheese)
ยกตัวอย่างเช่น Roquefort, Stilton, Gorgonzola, Bavaria Blu
6. ชีสสอดไส้ (Flavor-Added Cheeses)
ยกตัวอย่างเช่น Yarg Cornish, Wensleydale, Taramundi (ตัวนี้จะผลไม้แห้งพวกแครนเบอร์รี), Nagelkaas, Idiazabal
ของตกแต่งที่ทานคู่ไปด้วยกันได้
- Cured meat / Cold cut 🥩
หรือพวกเนื้อสัตว์รมควัน เช่น Prosciutto / Parma Ham (สำหรับเราคือมีหรือไม่มีก็ได้นะ เพราะหากสั่งทั้ง 2 อย่าง (Cheese+Cold cut) ก็แอบแพงอยู่เหมือนกัน)
- แคร็กเกอร์
เจ้าแคร็กเกอร์หรือพวกขนมปังชิ้นเล็ก ๆ นี้ ส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันก็เค็ม ๆ มัน ๆ นะ แต่พอทานคู่กับชีสกับผลไม้แห้งแล้ว…เออ แห่ะ เข้ากันได้ดีเฉย (ทานเพลินเลย)
- ถั่ว 🫘🥜
มีแคร็กเกอร์ก็ต้องมีถั่ว เช่น พิตาชิโอ อัลมอนต์ วอลนัต หรือแมกคาเดเมีย ช่วยเพิ่มรสชาติได้ดีไม่แพ้กัน
- ผลไม้แห้ง 🍇🫐🍒🍎
ส่วนตัวพวกเราแล้ว รู้สึกว่าผลไม้แห้งกับแคร็กเกอร์ เหมือนมันช่วยเพิ่ม aftertaste ของตัวชีสในปากเรายังไงก็ไม่รู้ (ตรงนี้ไม่มั่นใจว่า เราคิดไปเองหรือเปล่านะคร้าบ แห่ะ ๆ)
แล้วก็มีคนเคยแนะนำว่า องุ่น จะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับบลูชีส (แต่ว่าลิ้นเราอาจจะไม่ถึงขั้นที่จะรับรู้ได้…😭)
ส่วนวิธีการทาน สำหรับพวกเรามือใหม่ก็จะค่อย ๆ เริ่มจากชีสสด ชีสนุ่ม ค่อย ๆ ไล่ขึ้นไปยังกลุ่มชีสแข็ง และปิดที่บลูชีส (ระหว่างทางก็จะมีจิบไวน์ เคี้ยวผลไม้แห้งกับถั่วไปพลาง ๆ) เนื่องด้วยรสชาติที่เริ่มจากเบา ๆ ค่อย ๆ เพิ่มเลเยอร์ขึ้นมาเรื่อย ๆ
พวกเราก็เลยรํู้สึกว่าสำหรับมือใหม่(ที่ยังแยกชีสไม่ค่อยออก) หากว่าผู้จัดวางชีส วางให้เป็นลำดับหรือวางเรียงกัน ก็พอจะช่วยให้มือใหม่อย่างเรา ค่อย ๆ ไล่ชิมได้อยู่นะคร้าบ 😁☺️
ก็พอหอมปากหอมคอกันเช่นเคย
เพื่อน ๆ ท่านไหนที่ได้ลิ้มลอง Cheese board มาแชร์ลายแทงหรือรูปแบบการจัดชีสสุดโปรดกับพวกเราได้น้า 😁
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
-หนังสือ World Cheese Book โดย Juliet Harbutt
โฆษณา