5 พ.ย. 2022 เวลา 14:04 • หนังสือ
คุยเรื่องหนังสือ - The Power of OUTPUT (Shion Kabasawa ชิออน คาบาซาวะ)
นี่เป็นรีวีวหนังสือครั้งแรก (หรือส่วนตัวผมเรียกว่าคุยเกี่ยวกับมันดีกว่า เพราะอาจจะมีการใส่เนื้อหาอะไรที่หลากหลายได้มากกว่า) ซึ่งแน่นอนว่าคงรกแน่ๆ 555+
ถ้าถามผมว่าอยากเริ่มอ่านหนังสือ แล้วหนังสือเล่มไหนควรอ่านเป็นเล่มแรก ผมก็คงตอบว่าเล่มนี้แหละ
ผมคิดว่าถ้าคุณเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะเนี่ย ทุกคนคงต้องมีความรู้สึกคล้ายกันนั่นก็คือ รู้สึกว่าที่อ่านไม่ค่อยได้นำไปใช้อะไรเลย หรือแบบ เรื่องนี้เรารู้ เราเข้าใจนะแต่เราก็ไม่ได้ปฏิบัติอยู่ดี
โดยเฉพาะเรื่องของหนังสือแนว Self-Development หรือ How-To ทั้งหลายที่เมื่ออ่านจบเราจะรู้สึก "พึงพอใจ" มากกว่า และนั่นก็ไม่ได้ทำให้ฟันเฟืองแห่งการพัฒนาตัวเอง (จะพูดถึงในสรุปด้านล่าง) หมุนอีกด้วย
ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็เปลี่ยนให้เราโฟกัสไปที่การเปลี่ยนวิธีการอ่านแค่เพื่อ "สร้างความพึงพอใจให้ตนเอง" ให้เป็นการ "พัฒนาตนเอง" อย่างแท้ทรู
Input ทำให้ "โลกในสมอง" เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่การสร้าง Output เปลี่ยนแปลง "โลกในความเป็นจริงได้"
ในที่นี้ การสร้าง Input ก็เช่นการอ่านหนังสือ ดูวิดีโอ ส่วนการสร้าง Output นั้นที่ถูกพูดถึงเยอะที่สุดก็คงไม่พ้นการปฏิบัติ (การเขียนรีวีวก็ใช่)
พูดตามตรงผมเริ่มสนใจในการเขียนบล็อก เขียนรีวิวก็ด้วยหนังสือเล่มนี้แหละ แต่ก่อนก็อยากเป็นนะแบบ อัจฉริยะที่ไม่มีใครรู้ว่าทำอะไรอยู่ แต่กลับรู้ทุกเรื่อง ไม่อยากจะบอกใครว่าอ่านอะไร ศึกษาอะไรอยู่ เดี๋ยวถูกหาว่าขี้อวด เสียฟอร์ม (นั่นเป็นความคิดตอนสมัยเบียวๆ นะครับ 555) แต่ตอนนี้เรากลับคิดว่า ในเมื่อเรารู้เรื่องอะไรบางอย่าง การแชร์ให้คนอื่นหรืออย่างน้อยก็แนะนำให้กับคนอื่นดีกว่าเห็นๆ
ซึ่งหนังสือเล่มนี้อยากให้เป็นเล่มแรกๆ ที่ให้ทุกคนอ่านก็เพราะมันเปลี่ยนแนวคิดผมตรงนี้แหละ
2
บางครั้งเราก็อยากจะเปลี่ยนแปลงมุมมองของตัวเอง สลับฝั่งจาก "ผู้อ่าน" เป็น "ผู้เขียน" บ้าง
"ผู้ถูกสอน" เป็น "ผู้สอน" บ้าง
เนื้อหาคร่าวๆ ในหนังสือที่ผมสนใจและหยิบมาเล่าให้ฟังเล็กน้อย (อาจมีการดัดแปลงเป็นภาษาตัวเอง)
อัตราส่วนที่ดีที่สุดระหว่าง Input กับ Output คือ 3:7
  • คนที่อ่านหนังสือเดือนละ 3 เล่มแล้วทำ Output ดีกว่าคนที่อ่านหนังสือ 10 เล่ม โดยที่ไม่ได้เอาความรู้ไปปฏิบัติใช้เลย
  • Muscle Memory จำด้วยร่างกายจะลืมยาก
  • ทดสอบตัวเอง (Test Yourself) อยู่เสมอ เช่น ถ้าเป็นการเรียนก็เป็นการทำข้อสอบเก่า ถ้าใครเคยอ่านหรือเรียนคอร์ส Learning How to Learn ก็น่าจะเข้าใจว่าเขาเชียร์ให้ทดสอบตัวเองขนาดไหน
  • วงจรพัฒนาตัวเองประกอบด้วย Input Output Feedback ทำเช่นนี้เป็นลูปไปเรื่อยๆ จึงเกิดการพัฒนาต้วเอง (นี่เป็นวงจรที่สำคัญมากและใช้ได้กับทุกเรื่อง)
  • พูดยังไงให้ได้ Output = ข้อเท็จจริง + ความรู้สึก + ความคิดเห็น
  • เปลี่ยนการพูดแบบ No But... เป็น Yes But... หรือ Yes and... / Yes How...
  • การทำแบบทดสอบของสิ่งที่เรียนล่วงหน้า (Pre-Test) เพื่อเห็นภาพรวม แถมเป็นการกำหนด Output
  • การกำหนด Output ล่วงหน้าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันเหมือนกับการตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ที่ชัดเจน
  • การเขียนบทความ (ใช่ แม้แต่เรื่องเขียนบทความอาจารย์เขาก็ยังสอน) ให้กำหนดเวลาที่จะใช้ และร่าง Outline
  • To-do list สไตล์อาจารย์ สิ่งที่ต้องทำตอนเช้า 3 บ่าย 3 Routine 3 Free time/เล่น 3 อื่นๆ 3
  • การเหม่อลอย ทำให้สมองว่าง มีผลต่อการเกิดไอเดีย
  • การสร้างไอเดีย #1 โดยคิดอ่านจัดการกับปัญหาอย่างเต็มที่ ทิ้งปัญหาไว้ หยุดพัก ไม่ต้องคิดถึงมัน (อาจใช้เวลาหลักชั่วโมงหรือวันก็ได้) จากนั้นก็จะเกิด Aha Moment และเอาไอเดียนั้นไปใช้ สุดท้ายอย่าลืมดู Feedback ด้วย
  • การสร้างไอเดีย #2 เขียนออกมาก่อนจนสมองว่างเปล่าคิดอะไรไม่ออกอีก สร้างความเชื่อมโยงระหว่างไอเดีย อาจเป็น Keyword การซอยหัวข้อย่อยลงไป จำเป็นที่ว่ากระบวนการนี้ "ปริมาณ" มาก่อน "คุณภาพ" สุดท้ายก็จัดหมวดหมู่คัดกรอง (ตอนแรกไอเดียจะกระจัดกระจาย) และนำมาสร้าง Outline
  • การจดโน้ต ให้เน้นการ "ค้นพบ" ความรู้ใหม่ กับ "To do" ที่เราจะเอาไปทำ
  • บางทีการออกไอเดียก็ควรทำแบบ "Analog" ดีที่สุด เพราะทำให้มองเห็นภาพรวมกว้าง ก่อนที่จะเอาลง "Digital" เพื่อมองลึกและทำให้ไอเดียเป็นรูปธรรม
งาน Analog คือการสรุปภาพรวมออกมาแบบคร่าวๆ งาน Digital คือการเพิ่มความละเอียด พิถีพิถันลงไป
  • หากเราสร้าง Output อย่างน้อย 3 ครั้งภายใน 2 สัปดาห์หลังได้รับข้อมูล ข้อมูลนั้นจะกลายเป็นความทรงจำระยะยาวได้ง่าย
  • เนื่องจากอัตราส่วนที่ดีที่สุดระหว่าง Input กับ Output คือ 3:7 เราจึงควรใช้เวลาอ่านหนังสือเท่านึง และใช้เวลาทำแบบฝึกหัดอีกเท่าตัว
  • การทำอย่างต่อเนื่อง ต้องเน้นสร้าง Output ทุกวัน ลองคิดแค่ว่าจะทำสิ่งนั้น "วันนี้" "ตอนนี้" ก็พอ (หรืออาจใช้ 5 Minute Rule ก็ได้) ซอยงานให้เล็ก บันทึกผลเมื่อทำสำเร็จเพื่อดูย้อนหลัง และสุดท้ายอย่าลืมให้รางวัลตัวเองและหาความสนุกในการทำงานด้วย
  • "สอน" คนอื่นให้มากขึ้น "คนที่พัฒนาตนเองได้มากสุดคือ 'ผู้สอน' "
  • ถ้าไม่มีเวลาทำ Output ก็อาจต้องใช้ไม้แข็ง ลดเวลาทำ Input ลงหน่อยดีกว่ามั้ย จากเดิมอ่านหนังสือ 3 เล่มต่อเดือน แต่ไม่ได้เขียนรีวีวเลย เพราะไม่มีเวลา คราวนี้ลองสะกดตัวเองให้อ่านแค่เล่มเดียวพอ แต่ให้เขียนรีวีว วิเคราะห์ด้วย
สิ่งที่ผมกำลังนำไปปฏิบัติหลังอ่านเล่มนี้ (Things that I 'struggle' to do)
  • อ่านหนังสือให้ได้ 3 เล่ม ทำ Output (เขียนรีวิว) 3 เล่มต่อเดือน (ซึ่งน่าจะยากเพราะเรียน+ งานอดิเรกยุ่งมาก555)
  • สร้างการทำ Output ให้เป็นนิสัย ไม่ต้องเน้น "คุณภาพ" หรือ "ปริมาณ" อะไรนัก แต่ต้องทำทุกวัน (ในช่วงนี้นอกจากเรียนและเขียนบล็อก ผมก็เขียนนิยายเรื่องยาวอยู่ด้วย)
  • นอนให้เพียงพอ (เอ๊ะ เกี่ยวมั้ยนะ) ลองให้ Scale ความรู้สึกดูว่าอยู่ในอารมณ์ไหน แฮปปี้ เฉยๆ หรือไม่โอเค แล้วลองมองไปถึงปัจจัยที่เป็นอย่างนั้น (เช่น นอนไปกี่ชั่วโมง) ผมว่ามันก็ฟังดู Mindfulness ดีนะ
  • Review หนังสือ (กำลังทำอยู่นี่ไงล้าาา)
ไม่ว่าเราจะมี "เสน่ห์" หรือ "ความสามารถ" ขนาดไหน ถ้าไม่ทำ Output คนอื่นก็ไม่มีวันรู้
มาเรื่องความรู้สึกส่วนตัวของผมกัน (ตามที่อาจารย์ชิออนบอกนั่นแหละ ถ้ารีวิวแล้วไม่ใส่อารมณ์ส่วนตัวร่วมไปเลย เดี๋ยวไม่เรียกว่ารีวิว)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผิดคาดผมพอสมควร เนื่องจากตอนที่ซื้อมา (ไม่ได้พลิกอ่านด้านในเลย) คิดว่าคงเป็นบทความเชิงวิชาการที่ตัวหนังสือเยอะๆ เสียมากกว่า
แต่กลับเต็มไปด้วยรูปภาพ บทสรุปในแต่ละบทที่เรียกว่าอ่านแค่ตัวหนังสือสรุปตัวโตๆ ก็เข้าใจเล่มนี้เกือบ 90% แล้ว แถมมีการแบ่งบทย่อยๆ ให้ทำตามได้ทันที แถมยังไม่ได้กล่าวถึงแค่การทำ Output ในมุมมองของการศึกษา เรียนรู้แค่อย่างเดียว แต่ยังพูดถึงมุมมองอื่นในการเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เรียกได้ว่าอาจารย์เขาเขียนได้ครอบคลุมกว้างมาก
ความเป็นจริงแล้วเนี่ย อาจารย์แกเชียร์ให้ผู้อ่านลองเขียนรีวิวหนังสือค่อนข้างหนักเลยนะ แต่อาจารย์บอกว่าอาจเริ่มง่ายๆ ก่อนเช่น Before (ก่อนอ่านเล่มนี้ฉัน...) Discover (เมื่อได้อ่านแล้วฉันได้ค้นพบเกี่ยวกับ...) To-do (หลังจากอ่านแล้ว ฉันจะลงมือทำ...) หรือง่ายกว่านั้นก็ให้เขียนลงบนทวิตเตอร์ไปเลย เพราะมันจำกัดตัวอักษร แต่ผมก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน ว่าไปๆ มาๆ ทำไมถึงได้มาเขียนนั่งฝอยยาวเหยียดมั่วซั่วแบบนี้ไปได้ แต่เมื่อเป็นการเขียนครั้งแรกก็ไม่ได้แปลกใจหรือขัดใจอะไรมาก 555
ซึ่งอ่านมาถึงช่วงท้าย ผมก็ต้องขอบอกและนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่เน้นเข้าไม่เน้นออกเหมือนกัน แต่หลังจากอ่านเล่มนี้ผมก็เริ่มคิดว่าบางครั้งเราควรจะเริ่มปฏิบัติมากขึ้น ควรจะหยุดซื้อหนังสือพัฒนาตัวเองที่อ่านแล้วก็ไม่เคยพัฒนาเสียที แล้วหยิบเล่มเก่าๆ ที่อ่านผ่านๆ ไปปรับใช้จริงๆ น่าจะดีกว่า ไม่อย่างนั้นตัวเองก็คงมีแค่การเปลี่ยนแปลงในหัว แต่ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในโลกความเป็นจริงเสียที
ก็ขอฝากผู้อ่านทุกคนติดตามการก้าวออกจาก Comfort Zone ก้าวเล็กๆ นี้ด้วยนะครับ
--- Boy in 20s (ถึงผู้อ่านในอนาคต ถ้าชื่อเพจเปลี่ยนไปต้องตกใจนะ อันนี้ตั้งไปก่อนคิดชื่อไม่ออก)
หนังสือที่แนะนำให้อ่านต่อ
  • The Power of Input (Shion Kabasawa) คนเขียนคนเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นภาคต่อ แต่ความจริงผมแนะนำให้อ่าน Input ก่อน Output นะ เพราะรู้สึกว่าอาจารย์ได้กล่าวถึงเนื้อหาใน Output ไปบางส่วนด้วย
  • Learning How to Learn (Barbara Oakley) อันนี้มีเป็นเวอร์ชันหนังสือ และก็เป็นคอร์สซึ่งเนื้อหาไม่ค่อยต่างกัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา