8 พ.ย. 2022 เวลา 15:21 • หนังสือ
คุยเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง THE POWER OF INPUT - (Shion Kabasawa ชิออน คาบาซาวะ) สำนักพิมพ์แซนด์คล็อคบุ๊คส์
หนังสือเล่มนี้เป็นภาคต่อของเล่ม Output แต่ความจริงอยากแนะนำให้อ่านเล่มนี้ก่อน เพราะว่าจะมีการกล่าวเนื้อหาบางอย่างที่พูดถึงใน Output ด้วย ซึ่งผู้ว่าจะทำให้เราได้เข้าใจข้อมูลล่วงหน้าไปบางส่วน
ปัญหาของเราตอนนี้ไม่ใช่ไม่มีข้อมูล แต่เรามีข้อมูลเยอะเกินไป
เล่มนี้จั่วหัวมาก็จะเขียนตรงๆ เลยว่าข้อมูลที่เราเอามาส่วนใหญ่ในแต่ละวันนั้น ไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ เนื่องจากเราอยู่ในยุคสังคมสารสนเทศ (Information Society) จึงแถมเรื่องการทะลักล้นของข้อมูล (Information Explosion) ผู้เขียนถึงขนาดกล่าวว่า ถ้าวันหนึ่งเรารับข้อมูล 100 เรื่อง มีโอกาสที่ประมาณ 97% ถูกลืมไปโดยเปล่าประโยชน์
ซึ่งเนื้อหาก็จะแบ่งออกเป็นบทย่อยๆ เยอะแยะจนตาลาย แถมยังพูดในเรื่องหลากหลาย ดังนั้นผมจึงคัดเอาสาระสำคัญบางส่วนมาให้ได้อ่านกันครับ
  • โฟกัสที่ "คุณภาพ" ข้อมูล ก่อนตามด้วยปรืมาณ - ในเล่มก่อนผู้เขียนได้บอกว่าอ่านหนังสือ 1 เล่มแล้วทำ Output ดีกว่า อ่านหนังสือ 3 เล่มแล้วไม่ทำ Output เลย คราวนี้ในกรณีของการรับข้อมูลก็เช่นกัน ผู้เขียนแนะนำให้เราหาหนังสือหรือสื่อความรู้ที่ "เข้มข้น" ซึ่งหมายถึงเล่มที่มีข้อมูลที่เป็นคุณภาพสูงนั่นเอง ซึ่งอันนี้คงต้องใช้พลังการอ่านรีวิวกันเหนื่อยระดับหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งการเปรียบเทียบก็เหมือนเดิม อ่านหนังสือเข้มข้น 1 เล่มก็ดีกว่าอ่านหนังสือไม่เข้มข้น 3 เล่ม
ซึ่งพอมองถึงคำว่า "หนังสือเข้มข้น" ผมคิดว่าที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะเป็นหนังสือที่มี "ความรู้ (Knowledge)" เยอะกว่า "ข้อมูล (Data)"
ข้อมูล (Data) มีวันหมดอายุ อาจเป็นสิ่งที่ใช้ได้แค่ในช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว ส่วนความรู้ (Knowledge) จะไม่มีวันหมดอายุ จะเป็นเหมือนสิ่งพื้นฐานในด้านนั้นๆ
ถ้าเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เก่าแล้ว แต่สิ่งที่เขียนในหนังสือยังสามารถปรับใช้ในปัจจุบันได้ แปลว่าหนังสือนั้นเป็น "ความรู้"
ซึ่งผมคิดว่าหนังสือพวกนั้นส่วนใหญ่ก็น่าจะมีคนมารีวีวป้ายยากันเยอะอยู่ แต่ถ้าไม่รู้ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นหนังสือพวกเจาะไปทางพื้นฐานนั่นแหละครับ ก่อนที่จะเจาะไปที่ด้านต่างๆ หรือหนังสือที่เป็นข้อมูลที่เขียนมาเพื่อใช้ได้แค่ระหว่างกระแส สู้ไปอ่านหนังสือที่พูดถึงพื้นฐานเลยจะดีกว่า เพราะถ้าพื้นฐานดี พอเกิดการเปลี่ยนเทรนด์ไป เราก็ยังเอาความรู้พวกนั้นมาประยุกต์ใหม่ได้ เหมือนกับนักดนตรีที่อ่านโน้ตเพลงเป็น ต่อให้เล่นเพลงที่ตัวเองไม่เคยเล่น หรือเป็นคนละแนวกับที่ตัวเองเล่น ก็สามารถเล่นได้ทันที
  • การเช็คสมาร์ทโฟน = การทำ Input คุณภาพต่ำ เพราะเราแทบจำข้อมูลพวกนั้นไม่ได้เลย เพราะ Input ประเภทนี้ถูกจัดว่าเป็น Input ปลอม ที่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา หรือกวาดตาอ่านผ่านๆ แล้วไม่ได้อะไร พูดง่ายๆ ก็คือดูแล้วลืมนั่นแหละ
  • Input จริงจะต้องเป็นสิ่งที่อธิบายได้ เมื่ออธิบายได้ตอนนั้นแหละที่จะเกิดการพัฒนา จีงทำให้มีกฏข้อสำคัญว่า "ห้ามรับ Input ไปแบบงั้นๆ" ต้องอ่านอย่างตั้งใจ ดูอย่างตั้งใจ ฟังอย่างตั้งใจ
  • ก่อนทำ Input ต้องตั้งเป้าหมาย พูดง่ายๆ คือ เลือกสื่อที่ต้องการเสพนั่นเอง ข้อมูลไหนจำเป็นก็ใช้เวลาเรียนรู้ให้มาก ส่วนข้อมูลไหนไม่มีประโยชน์ก็ไม่ต้องดู ไม่ต้องรับรู้ โยนมันทิ้งไป แถมตั้งเรื่องที่จะเรียนรู้ จะเรียนรู้ไปถึงเมื่อไหร่ และจุดประสงค์คืออะไร การทำแบบนั้นจะทำให้เรารู้สึกกดันซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันจะทำให้เราโฟกัสได้มากขึ้น จะได้ไม่เกิดโมเมนต์แบบดูไปผ่านๆ ฟังไปผ่านๆ เหมือนเวลาดูหนัง ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าต้องไปเล่าไปวิเคราะห์ให้คนอื่นฟัง แน่นอนว่าเราต้องตั้งดูมากๆ อยู่แล้ว
  • Input กับ Output ควรทำอย่างไหนก่อนกัน คำตอบจากอาจารย์ก็ตรงกับประสบการณ์ของผมเหมือนกัน นั่นก็คือ "ต้องทำควบคู่กันไป" ผมชอบ Treat Input กับ Output ให้เหมือนเหรียญที่สลับหัวก้อยไปมาตลอดกระบวนการการเรียนรู้
  • การตั้งเสารับสัญญาณของตัวเอง - ความหมายในที่นี้ก็คือการสร้าง Selective Attention นั่นเอง สิ่งนี้จะทำหน้าทีเป็นดั่งตาข่ายที่ช่วยกรองข้อมูลที่คุณสนใจออกจากข้อมูลน้ำๆ ก็ทำได้โดยการเขียน Keyword สิ่งนั้นออกมา กำหนดเป้าหมายใน Keyword ด้านนั้นๆ แบบชัดเจน คิดด้วยว่าอยากพัฒนาอะไรในด้านนั้น และกำหนดเป้าหมายล่วงหน้า ถ้าทำแบบนี้รับรองว่าเวลาเราอยู่ที่ไหนก็ตามพอได้ยินใครพูด Keyword ที่เราสนใจออกมาหูเราต้องผึ่งแน่นอน
อาจารย์กล่าวย้ำเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของ "คุณภาพ" ก่อน "ปริมาณ" ซึ่งทำให้คนที่รู้สึกลนลานอยู่ตลอดเวลาอย่างผมได้มีโอกาสลองผ่อนจังหวะลงดูหน่อย อย่างเช่นการอ่าน ผมก็จะชอบทำเวลา พยายามอ่านให้เร็ว เพราะคิดว่าถ้าอ่านได้เร็ว ข้อมูลที่เข้ามาก็จะได้เยอะ แถมถ้าความเร็วแซงระดับคนทั่วไปได้ ก็จะได้เอาเศษเวลาที่ต่างไปอ่านเล่มต่อไปต่อ (คุ้มเห็นๆ) แต่ก็ไม่คิดว่านิสัยนี้จะกลายเป็นข้อเสียเมื่อมันลามไปเรื่องอื่นๆ ด้วย
ผมกลายเป็นคนที่ลนลาน เหมือนต้องทำความเร็ว เร่งทุกครั้งเวลาทำอะไร เพื่อคิดว่าจะได้ใช้เวลาให้คุ้มค่า แต่ผมเริ่มรูัตัวว่าตัวเอง กลายเป็นคนที่เรียนรู้อะไรแค่เผินๆ ปริ่มๆ น้ำเท่านั้น เพราะเมื่อไหร่ที่เราอ่านไปจนถึงจุดยากที่ต้องใช้เวลานานในการทำความเข้าใจ ซึ่งตามหลักทั่วไปแล้ว เราก็ควรหยุดอ่านแล้วทำความเข้าใจให้เรียบร้อยก่อนที่จะไปต่อ แต่ผมกลับกระโดดข้ามไปเลย เหตุเพราะ "กลัวเสียเวลา" ก็เลยเหมือนกับเน้นเร็วเข้าว่าไว้ก่อน ไม่ได้คำนึงเลยว่าข้อมูลที่ได้มามันถ่องแท้และชัดเจนขนาดไหน
จะมองมันก็เหมือนกับเวลาเราหัดเรียนรู้อะไรสักอย่าง เช่น ดนตรี ตอนเรายังเป็นมือใหม่สิ่งที่หลายคนชอบทำ (ผมก็ชอบ) นั่นก็คือการรีบข้ามบทเรียน เราข้ามการฝึกพื้นฐาน เพราะมันน่าเบื่อ แถมยังไม่ใช่เป้าหมายที่เราต้องการอีก เราต้องการเล่นเพลงที่เราปรารถนา ซึ่งตอนแรกมันอาจจะดูดี เพราะเมื่อเทียบกับคนที่ฝึกพื้นฐานให้แน่นนั้น เราดูเหมือนจะพุ่งไปได้เร็วกว่า แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่ง เราจะหัวชนเพดาน เพราะพื้นฐานเราไม่ดี เราจะต่อยอดไปต่อไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องถอยย้อนกลับมา ที่พื้นฐานอย่างการหัดวางมือบนเปียโนใหม่เลยก็ได้
อ่านให้ "ลึกซึ้ง" อ่านให้ "ละเอียด" ก่อน แล้ว "จำนวน" กับ "ความเร็ว" เอาไว้ทีหลัง
  • การรับข้อมูล เราอาจจะพบเจอสิ่งที่เรียกว่า Confirmation Bias หรือก็คือเราจะรับเอาข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อเราเท่านั้น ถ้าสิ่งไหนขัดกับแนวคิดพื้นฐานของเรา เราก็จะทำเหมือนหูทวนลมไป อาจารย์จึงแนะนำว่าเวลาศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็มองสัก 3 ด้าน ด้านดี ด้านเสีย ด้านเฉยๆ เพื่อลด Confirmation Bias
  • แต่ถึงแม้ว่าการอ่านควรอ่านให้ละเอียดก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเร่งให้เร็วได้นะ อย่างเช่น การอ่านแบบกระโดดไปมา คุณเปิดหนังสือ อ่านบทนำเพื่อเตรียมว่าจะได้ข้อมูลแบบใด ก่อนเปิดไปในบทนึง คุณเปิดไปปุ๊ป ให้ข้ามมาที่ส่วนสรุปก่อน ก็จะอยู่ส่วนท้ายในแต่ละบท ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่เน้นภาพ หรือมีตัวอักษรสีสรุปตัวใหญ่ๆ อยู่หลังแต่ละบท เหมือนเล่มนี้นะ อ่รนแค่พวกนั้นผ่านๆ ก็จะได้ข้อมูลมาเกินครึ่งแล้ว
  • การจดโน้ตขณะฟัง บางครั้งเราจดโน้ตเวลาฟัง แค่เพื่อดึงให้ตัวเองมีสมาธิกับหัวช้อตรงหน้าเท่านั้น บางครั้งไม่จำเป็นต้องเปิดมาดูใหม่เราก็จำได้ ซึ่งผมพยายามทำให้เป็นนิสัยอยู่ เวลาเรียนรู้อะไรก็ตามหรือรับขัอมูลสำคัญอะไรก็ตาม ให้ร่างกายเอื้อมไปหยิบสมุดจดโดยอัตโนมัติ
  • หนึ่งในคีย์หลักที่ผู้เขียนบอกในเล่มก่อนหน้า ก็คือ "เราควรทำ Input เรื่องนั้นมากกว่า 3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้จำได้" แต่ในกรณีที่อาจจะยุ่งถึงขีดสุดจนไม่ได้ทำ Output มากกว่า 3 ครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ การทำ Input มากกว่า 3 ครั้ง ใน 2 สัปดาห์ก็ยังจะดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย
  • มีวิธีการเก็บบันทึกบทความไว้อ่านทีหลัง แบบจริงจัง (มากๆ) เช่น การ Save หน้าบทความที่ต้องการอ่าน เป็นไฟล์ .pdf แล้วก็สร้างโฟลเดอร์แบ่งประเภทข้อมูลชัดเจน ซึ่งว่างๆ ผมก็อาจจะลอง เพราะดูแล้ว ประโยชน์ข้อหนึ่งที่ชัดเจนก็น่าจะเป็นเรื่องป้องกันสมาธิเรา เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่อานบทความในเว็บแล้วจะไหลไปเรือ่ยๆ ตามแถบเสนอบทความอื่นๆ ด้านข้าง การ save เป็นไฟล์จะได้ข้อมูลที่เราต้องการจริงๆ แถมอ่านได้ไม่ว่อกแว่กอีกด้วย
  • เขียน To-do list แบบไม่แบ่งแยกระหว่าง "กิจกรรมสันทนาการ" กับ "งาน" - เหตุผลหลักของการทำอย่างนี้ก็เเพราะบางครั้ง ต่อให้เป็นเรื่องเล่น เราก็ยังไม่ทำ ตัวอย่างง่ายๆ เลยก็คงเป็นเวลาดูเน็ตฟลิกส์ ที่กดเลื่อนแล้วเลื่อนอีกเป็นชั่วโมงก่อนที่จะจบลงโดยการไม่ดูแล้วไปไถมือถือต่อ ส่วนตัวผมใช้วิธีหยิบหนังเข้าลิสต์ แล้วพอเปิดปุ๊ปก็ไปที่ลิสต์ทันที แล้วก็กลั้นใจกดไปสักเรื่อง บางเรื่องก่อนกดอาจจะยังรู้สึกไม่อยากดู แต่เดี๋ยวพอหนังเริ่มก็จะอยากดูเอง นี่คือวิธีผมครับ
ต่อให้เป็นเรื่องเล่นๆ แต่ถ้าอยากเล่นให้สนุก บางคนเราก็ต้องจริงจังกับเรื่องเล่นๆ พวกนี้แหละคร้าบ
อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ดูจะชอบดูหนังเอามากๆ แถมรสนิยมก็คล้ายผมอยู่เหมือนกัน ต่างที่ผมไม่ใช่แฟนสตาร์วอร์ส (เอ้อ ในหนังสืออาจารย์มีบอกลิสต์ 10 หนังในดวงใจด้วยนะ) ส่วน Fight Club กับ SAW ติดอันดับจารย์ด้วยนิ ผมเกือบตัวลอย555
  • เวลาที่ดีที่สุดในการทำ Output ก็คือ หลังทำ Input เสร็จทันที หลักๆ เลยก็เพราะว่าข้อมูลความรู้ที่ได้มายังสดๆ อยู่นั่นแหละ
  • เทคนิครับข้อมูลแบบ 3 + 3 +... ก็คือเวลาเราศึกษาหรืออ่านหนังสืออะไรก็ตาม ให้ลองคิดว่าจะเอาความรู้แค่ 3 เรื่องมาใช้ก็พอ เมื่อจำได้หรือทำแล้ว ก็ค่อยเพิ่มอีก 3 ไปเรื่อยๆ เหตุผลหลักก็เป็นเหมือนที่อาจารย์พูดตลอด ก็คือให้เน้น "คุณภาพ" ก่อนนั่นเอง ถ้าเราอ่านและตั้งใจจะให้เข้าหมดทุกข้อ ส่วนใหญ่ก็จะประหลาดใจกับผลลัพธ์ว่า เราจำอะไรไม่ได้เลย 555 ได้ 3 อย่างก็คงดีกว่าไม่ได้สักอย่างใช่ไหมล่ะคับ
ซึ่งเทคนิคนี้ใช้ได้กับแทบทุกอย่างบนโลกใบนี้ อย่างที่ผมประสบมาก็เป็นเรื่องการออกกำลังกายกับดนตรี ตอนเล่นเวทใหม่ เซตหนึ่งเล่นลองไปทุกท่า แต่จับหลักอะไรไม่ได้เลย ก่อนจะลองลดมาโฟกัสแค่ 3-4 ท่าก็พอ
ดนตรีก็เช่นกัน ตอนหัดใหม่ กดคอร์ดไปเรื่อยๆ เปิดเจอคอร์ดไหนก็กดหมด ถ้าไปคุยกับเพื่อนหรือคนที่เล่นดนตรีเป็นก็จะเห็นว่าเขาจะบอกให้เราหัดจับแค่ประมาณ 4 คอร์ดวนไปก่อน หลักการก็คล้ายกันประมาณนี้ครับ คำที่น่าจะตรงที่สุดก็คือ "โฟกัส"
ส่วนท้ายของหนังสือ ก็จะหลุดกลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาชีวิตส่วนตัวไป จนบางคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วมันเกี่ยวกับการรับข้อมูลยังไง เช่น การ Join Community ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน การหาไอดอลหรือ Mentor ของเราแล้วลอกเลียนแบบวิธีการพัฒนาของเขา แม้กระทั่ง การดูหนัง ดูงานศิลป์ การเที่ยวต่างประเทศเพื่อค้นพบประสบการณ์ใหม่ๆ การแวะเดินเส้นทางที่ตัวเองไม่เคยเดิน กินอาหารในร้านที่อยู่ห่างออกไปไม่เกิน 30 นาที ที่บางทีเราอาจไม่รู้ว่ามันมีอยู่ด้วยซ้ำ
การรู้จักตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย มันคือสิ่งที่เราต้องทำไปตลอดชีวิต หรือจะบอกว่า ชีวิตคนเราคือการเดินทางเพื่อทำความรู้จักกับตัวเองก็ว่าได้
สรุปแล้ว The Power of Input ก็ยังคงความเป็นเหมือนเล่มแรก ทั้งการอ่านง่าย มีภาพประกอบเยอะ แถมตัวหนังสือใหญ่หลากสีสัน หัวข้อที่ซอยซะละเอียดยิบ และการพูดคุยในหลายแง่มุม ไม่ใช่แค่การรับข้อมูลเพื่อการศึกษาเท่านั้น
สิ่งที่ผมอยากจะทำหลังอ่านหนังสือครั้งนี้ ที่ดูจะวิชาการสุดก็น่าจะเป็นการหยิบกฏ 3+3 มาใช้ การ save บทความไว้อ่าน ส่วนที่เหลือกลับกลายเป็น การอยากเที่ยวต่างประเทศ ลองลิ้มรสร้านอาหารใหม่ๆ ที่ไม่เคยไป กลับบ้านด้วยเส้นทางที่ตัวเองไม่เคยกลับ ดูงานศิลป์เพื่อค้นพบอารมณ์ใหม่ที่ไม่เคยสัมผัส
แต่สุดท้ายสิ่งที่ผู้เขียนได้บอกก็คือ ของพวกนี้ล้วนเป็นกระบวนการอันยาวนาน มันอาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย Input Output ก่อนที่จะทำมันไปเรื่อยๆ ทุกวันเป็นนิสัยหรือกิจวัตร ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาหลายปีกว่าเราจะถึงเป้าหมาย เป็นตัวเราในแบบที่อยากจะเป็น
--- Boy in 20s
โฆษณา