23 พ.ย. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
พลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นหรือพลังงานที่ได้ระหว่างกระบวนการควบรวมตัวกันของนิวเคลียสในอะตอมธาตุที่เบากลายเป็นธาตุที่หนักขึ้น เช่น ไอโซโทปของไฮโดรเจน 2 อะตอม (ดิวเทอเรียมกับทริเทียม) ที่ควบรวมกันเป็นฮีเลียม 1 อะตอม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในดวงอาทิตย์นั้น ถูกคาดหวังว่าจะเป็นอนาคตของความมั่งคงทางพลังงาน
2
เพราะแก๊สไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่มีมากบนโลก ให้พลังงานสูงต่อหน่วยถึง 10 ล้านเท่าของการพลังงานฟอสซิล หากผลิตออกมาจะเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุดเท่าที่มนุษย์จะมีมาที่ราคา 0.03 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
เมื่อประกอบกับการคาดการณ์อนาคตของ FutureTales Lab ที่เห็นว่าช่วงปี ค.ศ. 2041 - 2050 จะเป็นยุคที่แต่ละครัวเรือนมีความมั่นคงด้านอาหาร น้ำ พลังงาน และการกำจัดขยะได้ด้วยตัวเอง หรือความเป็นไปได้ในการสร้างอาณานิคมอวกาศในปี ค.ศ. 2061 เป็นต้นไปแล้ว พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นดูจะเป็นความหวังของโลกอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั่วโลกตั้งเป้าจะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้กลายเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และมีการคาดการณ์ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะมีสัดส่วนถึง 14% ในการสร้างพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2050
ถึงกระนั้นความพยายามตลอดหลายสิบปีของหลายประเทศทั่วโลกในการสร้าง “ดวงอาทิตย์จำลอง” (Artificial Sun) ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา และคาดว่าจะไม่ทันใช้งานจริงภายในปี ค.ศ. 2050
ในขณะที่พลังงานจากปฏิกิริยาฟิชชันคือการแตกตัวธาตุใหญ่ เช่น ยูเรเนียม ออกเป็นธาตุเล็กซึ่งต้องใช้พลังงานในการผลิตสูงกว่า มีเสถียรภาพต่ำกว่า และสร้างกากกัมมันตรังสีและอันตรายมากกว่า กลับเป็นพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นได้จริงและถูกใช้มานานแล้ว มิหนำซ้ำพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิชชันที่อันตรายนี้เองที่เป็นพลังงานนิวเคลียร์ประเภทที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง
ปัจจุบันจีนกำลังมุ่งไปสู่พลังงานนิวเคลียร์ ทั้งวิจัยในฟิวชั่นและสร้างโรงงานแบบฟิชชัน ขณะที่ญี่ปุ่นจะกลับมาเปิดโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง สหภาพยุโรปกำลังพัฒนาดวงอาทิตย์จำลองที่เป็นปฏิกิริยาฟิวชั่น
หลายประเทศทั่วยุโรปเองก็มีแผนอย่างชัดเจนว่าจะต่ออายุและเพิ่มจำนวนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันซึ่งแต่เดิมชะลอตัวไปแล้วในปี ค.ศ. 2020 อาทิ ฝรั่งเศส เบลเยียม โปแลนด์ โรมาเนีย สหราชอาณาจักร เป็นต้น หลังจากยุโรปต้องเผชิญกับวิกฤติความมั่นคงทางพลังงานเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย เมื่อรัสเซียคือประเทศมหาอำนาจด้านพลังงาน
นอกจากนี้ยังมีประเทศหน้าใหม่ที่เพิ่งใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2020 เช่น เบลารุส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมองพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์การแพทย์ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ก็กำลังจะเริ่มโครงการพัฒนาดวงอาทิตย์จำลองของตัวเองเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกและการยกระดับเศรษฐกิจใหม่เช่นเดียวกันโดยเริ่มในปี ค.ศ. 2023
อย่างไรก็ตาม การจะตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับต้องเผชิญกับแรงเสียดทานและความกดดันมากมายทั้งในมิติของสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง กฎหมาย และค่านิยมของผู้คน โดยเหตุผลหลัก ๆ อาจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
(1) ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการระบบและเทคโนโลยีภายในโรงงานที่มีความซับซ้อน อ่อนไหวต่อสภาพอากาศ ทำให้ต้องมีระบบหล่อน้ำเย็น และอาจต้องชะลอกำลังการผลิตพลังงานในวันที่อากาศร้อน
(2) ประเด็นเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพราะการลงทุนจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยปกติต้องใช้เวลาถึง 5 - 8.5 ปี นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ฟิชชันในปัจจุบันยังสูงถึง 112 – 189 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานลมที่มีต้นทุนการผลิต 29 – 56 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง หรือพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนการผลิต 36 – 44 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง
อีกทั้งทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานทางเลือกที่ปลอดภัยและได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว อีกหนึ่งข้อโต้แย้งที่ขาดไม่ได้คือในขณะที่การวิจัยนิวเคลียร์ฟิวชั่นยังใช้งบประมาณไม่แน่นอน วัฏจักรเชื้อเพลิงในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แบบฟิชชันก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีจำนวนมหาศาลซึ่งจัดการกำจัดได้ยากจนถึงไม่ได้เลย
(3) ประเด็นเรื่องความมั่นคง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นเป้าหมายแรก ๆ ที่ง่ายต่อปฏิบัติการก่อการร้ายและการโจมตีทางไซเบอร์ เป็นจุดเปราะบางในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการทหารและสงคราม รวมไปถึงแนวทางการกำกับควบคุมทั้งทางกฎหมายซึ่งอาจไม่สอดคล้องในทางปฏิบัติ และ
(4) ประเด็นเรื่องความไม่เห็นด้วยของประชาชนโดยทั่วไปและองค์กรอิสระต่อการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจำเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์เพื่อก่อสงครามและเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด
ในขณะที่การถกเถียงยังคงดำเนินต่อไป และหลายประเทศเลือกที่จะขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ยังมีอีกกลุ่มประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี ลักแซมเบิร์ก และสเปนที่คัดค้านการลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์ หรือไต้หวันที่กำลังดำเนินการปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2021 - 2025 รวมไปถึงมีนักกิจกรรมบางกลุ่มที่เรียกร้องให้สถาบันการเงินและการลงทุนแยกการลงทุนพลังงานนิวเคลียร์ออกจากกลุ่มการลงทุนที่ยั่งยืนอีกด้วย
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การลงทุนเรื่องพลังงานทางเลือกระดับประเทศของรัฐบาลควรต้องเลือกลงทุนในหลากหลายทางเลือกตามบริบทของพื้นที่และความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อจัดสรรพอร์ตฟอลิโอแหล่งพลังงานภายในประเทศ
2
- การตัดสินใจลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยพิจารณาการเป็นพันธมิตรและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคที่สำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
- ผู้คนทั่วโลกจะยิ่งแสวงหาการใช้งานและการลงทุนในพลังงานทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้น เช่น พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานคลื่นความร้อนใต้พิภพ พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น
- มหาสมุทรจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการศึกษาแหล่งพลังงานทางเลือกไปพร้อมกับการชั่งน้ำหนักและข้อถกเถียงเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการสร้างรายได้ให้คนในในพื้นที่
อ้างอิงจาก
- IAEA Projections for Nuclear Power Growth Increase for Second Year Amid Climate, Energy Security Concerns https://www.iaea.org/newscenter/pressreleases/iaea-projections-for-nuclear-power-growth-increase-for-second-year-amid-climate-energy-security-concerns
- Peoples’ Perception towards Nuclear Energyhttps://doi.org/10.3390/en15124397
- สงครามยูเครน-ภาวะโลกร้อน จูงใจยุโรปหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ https://www.voathai.com/a/ukraine-climate-goals-push-some-in-europe-to-reconsider-nuclear/6570372.html
- เหตุผล 6 ประการ ที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบของโลกที่ยั่งยืนและสันติสุข https://www.greenpeace.org/thailand/story/23434/climate-nuclear-6reasons-why-nuclear-is-not-the-way-to-green-and-peaceful-world/
- EGAT joined Thailand’s first “Artificial Sun” project, a promising clean energy source https://www.egat.co.th/home/en/20220228e/
- เกาะติดสถานการณ์ “พลังงานนิวเคลียร์” ในปัจจุบัน จีนมาแรงที่สุดในโลก https://www.salika.co/2021/10/05/nuclear-power-trend-china-and-global/
- สิ่งนี้กำลังมา…เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์องครักษ์ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี https://waymagazine.org/nuclear-reactor/
- "ญี่ปุ่น" วางแผนกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ ตั้งเป้าพัฒนาโรงงานใหม่ https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/japan-plan-factory-240865
- Japan taps industry to build safer, more secure nuclear energy future https://www.theregister.com/2022/09/29/mitsubishi_heavy_safer_nuclear_reactor/
- อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย? https://th.boell.org/en/2021/06/21/thai-nuclear-power
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofSustainability #NuclearEnergy #MQDC
โฆษณา