13 ธ.ค. 2022 เวลา 08:51 • ไลฟ์สไตล์
คเณศคีตา จาก คเณศปุราณะ
บทที่ 1
แก่นแท้ของสังขยะ โยคะ
มหาฤๅษีเชานาคา กล่าวว่า ‘ท่านได้ลิ้มรสน้ำหวานนี้ ซึ่งกล่าวไว้ในปุราณะทั้งสิบแปด ข้าฯ ยังปรารถนาจะดื่มน้ำทิพย์อันสูงส่งซึ่งมีรสแสนมหัศจรรย์นี้ด้วย บุรุษผู้ถูกเติมเต็มด้วยน้ำทิพย์นี้ บรรลุถึงพรหมันสูงสุด เป็นผู้เปี่ยมสุข โปรดบอกข้าฯ ด้วยความเมตตาเกี่ยวกับน้ำทิพย์ของโยคะนี้’
ท่านวยาสะ กล่าวว่า ‘ในที่นี้ข้าฯ ขอบอกท่านว่า “คีตา” ที่จะมอบให้กับท่าน จะแสดงให้เห็นเส้นทางของโยคะ’ ซึ่งพระเป็นเจ้าผู้มีพระพักตร์เป็นช้าง ได้มอบให้กับกษัตริย์วาเรณยาผู้ใคร่รู้ผู้นั้น ด้วยคำขอจากกษัตริย์วาเรณยา ซึ่งได้กล่าวว่า ‘พระเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค, เทพผู้ทรงอานุภาพ, ผู้ทรงรอบรู้ในศาสตร์ทั้งปวง, ผู้รู้ความหมายที่แท้จริงของคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด, โปรดบอกข้าฯ เกี่ยวกับโยคะนี้’
คชานนะ กล่าวว่า ‘ข้าฯ แต่ราชา, คำขอของท่านจะถูกเติมเต็มโดยข้าฯ ด้วยความโปรดปรานแล้ว ข้าฯ จะบอกท่านถึงคีตาซึ่งประกอบด้วยน้ำทิพย์ของโยคะ
กล่าวได้ว่า โยคะนี้ไม่ใช่โยคะแห่งความมั่งคั่ง เข้าถึงมิได้ด้วยวัตถุแห่งผัสสะ และไม่สามารถหาได้จากองค์ประกอบทางวัตถุเช่นกัน โยคะนี้เป็นนายเหนือมนุษย์ การรวมเป็นหนึ่งของบิดาและมารดาไม่ใช่โยคะ ไม่ใช่การรวมกันของบุตร ญาติพี่น้องและคนอื่น ๆ และไม่ใช่อัษฎางค์โยคะ
มันไม่ใช่โยคะแห่งการรวมกับสตรีตามที่ระบุไว้ในพระสูตร ไม่ใช่โยคะของอำนาจปกครองเหนืออาณาจักร หรือโยคะในการควบคุมช้างและม้า หรือการรวมตัวกับโลกของพระอินทร์ หรือโยคะอันเป็นที่รักของผู้มีโยคะเป็นเป้าหมาย หรือโยคะที่ทำให้ข้าฯ เป็นหนึ่งเดียวกับอาณาจักรสวรรค์
โยคะนี้ไม่ใช่การรวมตัวกับที่พำนักของศิวะ หรือที่พำนักของวิษณุ โยคะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสุริยัน จันทรา กุเวร วิษณุ อัคนี ไม่ใช่เพื่อเป็นอมตะ หรือเพื่ออยู่เหนือกาล ไม่ใช่เพื่อกลายเป็น วรุณ หรือ นิรุตติ ไม่ใช่เพื่อครองโลก เหล่าผู้ไม่มีความรู้ทางจิตวิญญาณที่แท้จริงฝึกโยคะอันหลากหลาย [มหาราชา]
ในโลกนี้ เหล่าผู้บรรลุโยคะอย่างแท้จริง ย่อมเอาชนะความหิว ความกระหาย และความปรารถนาที่จะสืบเชื้อสายได้ พวกเขาชำระโลกทั้งใบให้บริสุทธิ์ และได้นำทั้งสามโลกมาอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขา จิตใจของพวกเขาเต็มไปด้วยความเมตตาและพวกเขาสอนทุกคน พวกเขาหลุดพ้นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และเอิบอาบอยู่ในสระน้ำทิพย์แห่งความสุขอันสูงสุด ยามพวกเขาหลับตาก็จะเห็นพรหมัน สูงสุดในดวงใจ
พวกเขาต่างก็บำเพ็ญถึงพรหมันสูงสุด ซึ่งปรากฏอยู่ในใจของพวกเขาด้วยโยคะนี้ พวกเขาถือว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเหมือนกับตัวของพวกเขาเอง ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตา พวกเขาเดินเตร่อยู่บนโลกโดยไม่คำนึงว่าใครจะทำร้ายเขา ไม่ใยดีว่าใครอยากติดตามหรือว่าใครที่หลบลี้หนีหน้าพวกเขา เพื่อชำระล้างสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย, พวกเขาเอาชนะความโกรธและผัสสะ พวกเขาก็แค่แบกร่างกายของเขาไป [มหาราชา] ดินและทองมีค่าเท่ากันสำหรับพวกเขา ผู้ที่ได้พบกับจิตวิญญาณที่หายากเช่นนี้นับว่าโชคดีมาก เขาเป็นผู้ที่ข้าฯ รักที่สุด
ข้าฯ จะบอกท่านเกี่ยวกับโยคะที่ยอดเยี่ยมนี้ จงฟังอย่างตั้งใจ มันเป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่ได้รับการปลดปล่อย จากการกระทำชั่วและจากมหาสมุทรแห่งโลกทางวัตถุ โยคะใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับจิตที่ตั้งมั่นอยู่ที่ ศิวะ วิษณุ ศักติ สุริยะ และตัวข้าฯ [มหาราชา] เป็นโยคะที่ถูกต้องในความคิดของข้าฯ
ลำพังตัวข้าฯ มีหลากหลายรูป สร้าง ปกป้องและทำลายโลกด้วยตัวข้าฯ เอง ข้าฯ ผู้เดียวนี้ก็คือมหาวิษณุ ข้าฯ ผู้เดียวนี้ก็คือสทาศิวะ ข้าฯ ผู้เดียวนี้ก็คือศักติที่ยิ่งใหญ่ ข้าฯ ผู้เดียวนี้ก็คืออารยัน ท่านผู้เป็นที่รัก ข้าฯ ผู้เดียวนี้ก็คือพระเจ้าแห่งมนุษย์ซึ่งปรากฏขึ้นก่อนดั่งธาตุพื้นฐานทั้งห้า
เหตุเพราะอวิชชา พวกเขาจึงไม่รู้ว่าข้าฯ เป็นมูลเหตุแห่งโลก ข้าฯ คือไฟ น้ำ ดิน และข้าฯ คือที่ว่างและอากาศ พรหม วิษณุ รุทระ [มหาราชา] และทุกความเป็นไป วสุ มารุต โค ปราชญ์ และสรรพสัตว์ แม่น้ำ มหาสมุทร ยักษา พฤกษา และฝูงนก และสวรรค์ภูมิ (ทั้งยี่สิบเอ็ด) นาคา และป่า (ทั้งเจ็ด) ภูเขา มนุษย์ วิทยาธร สิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์ และไพร่พลของรากษส
ข้าฯ คือพยานผู้รู้เห็น คือดวงตาแห่งโลก ผู้ไม่ถูกแปดเปื้อนด้วยการกระทำทั้งปวง ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอนันต์ ข้าฯ คือผู้ไม่ปรากฏ อยู่ทุกหนทุกแห่งและไม่เสื่อมสลาย ข้าฯ เพียงผู้เดียวคือพรหมันสูงสุดผู้เปี่ยมด้วยความสุขนิรันดร์ [มหาราชา]
เหล่ามนุษย์ผู้เป็นเลิศทั้งหลายล้วนถูกลวงด้วยพลังมายาแห่งข้าฯ มนุษย์รับรู้วัตถุธาตุด้วยผัสสะทั้งหก มนุษย์ผู้ตั้งมั่นในข้าฯ อยู่เสมอ จะค่อยๆ ละทิ้งม่านมายาลงได้หลังจากการเกิดมากมายหลายชาติภพ ต่อเมื่อเขาปล่อยวาง [เป็นผู้เพิกเฉยต่อ] วัตถุแห่งผัสสะ เขาควรตระหนักรู้ถึงพรหมันโดยอาศัยความรู้ที่ถูกต้อง พรหมันไม่อาจถูกทำลายด้วยอาวุธ [ฟาดฟันด้วยดาบ] ไม่อาจถูกเผาด้วยไฟ ไม่อาจทำให้เปียก [ด้วยสิ่งมีชีวิต] หรือไม่อาจทำให้แห้งด้วยลม พรหมันไม่ถูกประหาร แม้ร่างกายจะถูกทำลาย, [มหาราชา]
บรรดาผู้หลงผิดที่หมกมุ่นอยู่กับพระเวท ที่กล่าวคำสรรเสริญอันสวยงาม [ดุจดอกไม้] และมิได้นึกถึงสิ่งใดนอกจากนั้น พวกเขาผูกพันในกิจกรรมที่ส่งผลเป็นการเวียนว่ายตายเกิด พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับอำนาจและสวรรค์ จิตก็กระจัดกระจาย และพุทธิ [สติปัญญา] ก็ซึมซับแต่ความเพลิดเพลินในกามตัณหา พวกเขาสร้างพันธนาการของตนด้วยตนเอง [มหาราชา]
บรรดาผู้หลงผิดที่หมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมต่างๆ ได้เข้าร่วมในวงล้อแห่งวัฏสงสาร ผู้มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ควรกระทำกิจและถวายผล [ของการกระทำ] นั้นให้กับข้าฯ เพื่อให้หน่ออันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดจากเมล็ดแห่งกรรมของเขานั้นจะได้ถูกตัดออกไป จิตของเขาจะบริสุทธิ์อย่างยิ่ง และเขาจะได้รับความรู้ทางจิตวิญญาณ เขาจะตระหนักรู้ถึงพรหมันสูงสุดโดยความรู้นี้ เพราะฉะนั้น [มหาราชา] มนุษย์พึงกระทำด้วยพุทธิที่เอิบอาบ [ซึมซับ] ในข้าฯ
แต่ก็ไม่ควรที่ใครจะเพิกเฉยและละทิ้งหน้าที่ของตนเอง หากผู้ใดละทิ้งการกระทำแล้ว เขาผู้นั้นจะไม่พบกับความสำเร็จ ในเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ยังไม่ตระหนักรู้อย่างถ่องแท้ ควรที่จะจับหลัก [โฟกัส] ที่การกระทำ ผู้ที่ได้ชำระจิตใจจนบริสุทธิ์แล้ว การกระทำของผู้นั้นย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธิ ยิ่งกว่านั้น เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่าโยคะนี้นำไปสู่สภาวะการเป็นอมตะ
ข้าฯ จะอธิบายโยคะอื่น จงฟัง [มหาราชา] เพราะมันยอดเยี่ยมมาก บุรุษควรเห็นสัตว์ บุตร มิตร ศัตรู ญาติ และมิตรที่ดี ว่าเท่าเทียมกัน ด้วยการปล่อยวางเขาควรจะมีทัศนคติที่เหมือนกันต่อ ความยินดี ความเจ็บปวด ความอดทน ความอิ่มใจ ความกลัว ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความเพลิดเพลินทางกามารมณ์ ชัยชนะ และความพ่ายแพ้ ไม่ว่าจะเป็นการได้มา การสูญเสีย และความตาย เขาพึงมีความเห็นเสมอเหมือนเดิม [เท่าเทียมกัน] และพึงเห็นข้าฯ ทั้งภายในและภายนอกของสิ่งทั้งปวง
ผู้ใดเห็นข้าฯ ใน สุริยัน จันทรา วรุณ อัคนี ศิวะ ศักติ คนธรรพ์ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ อยู่เสมอเป็นนิจ กล่าวได้ว่าเขาคือผู้รู้โยคะนี้และมีความเป็นพรหมันอันสถิตในหัวใจ ในแม่น้ำใหญ่ ในการลุยน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในเทวะสถาน ในการกำจัดความชั่วร้าย ในวิษณุ ในเทพทั้งปวง ยักษา และนาคา [ในสรรพสิ่งและในทุกสถาน]
หลังจากที่เขาขจัดความรู้สึกออกจากวัตถุได้ ถือว่าพุทธิของเขามีความเป็นกลางต่อสรรพสิ่ง ข้าฯ พิจารณาว่าสิ่งนี้คือโยคะ [มหาราชา] [สภาวะความเป็นกลางแห่ง] พุทธิของเขานั้นได้จากปฏิบัติโยคะของตนด้วยตนเอง เขาติดข้องอยู่กับหน้าที่ของเขา ซึ่งปรากฎขึ้นจากอานุภาพที่กำหนดไว้ [ให้เกิดขึ้นในภายภาคหน้า - เป็นผลของกรรมในอดีต]
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า โยคะนี้เป็นโยคะที่แท้จริง บุรุษผู้รวมเป็นหนึ่งกับพุทธิ เขาปล่อยวางทั้งการกระทำและไม่กระทำ [กรรมและอกรรม] หลังจากนั้นเขาพึงปฏิบัติโยคะอย่างต่อเนื่อง “โยคะ” คือความเจริญรุ่งเรืองในศาสตรา
ภายหลังจากที่เขาหยุดทั้งการกระทำและไม่กระทำ [กรรมและอกรรม] เขาผู้สมบูรณ์ พิชิตผัสสะ เป็นอิสระจากพันธะ การเกิด และไปสู่สุคติ เมื่อพุทธิของมนุษย์เอาชนะความขุ่นมัวแห่งอวิชชาได้แล้ว เขาจะค่อยๆ หมดความหลงใหลต่อคำสอนของพระเวทและอื่นๆ เมื่อพุทธิของผู้มีจิตผิดแผกแตกต่างไปจากพระเวททั้งสาม ได้กลายสู่ความมั่นคงและพักพิงในอาตมันสูงสุด แล้ว นั่นคือเขาบรรลุโยคะ เมื่อบุรุษผู้มีปัญญาหยุดความปรารถนาในจิตได้สิ้น ราชาที่รัก เขาพึงพอใจในตนเองด้วยตนเองแล้ว กล่าวได้ว่าพุทธิของเขามีความมั่นคง
บุรุษผู้ไม่ปรารถนาความนับถือจากมิตร ผู้ที่ไม่เดือดร้อนเมื่อประสบความเจ็บปวด และ ผู้ที่ปราศจากความกลัว ความเจ็บปวดหรือกิเลสแล้ว กล่าวได้ว่าเขามีพุทธิที่มั่นคง ดั่งเต่าที่หดแขนขาไว้ในกระดอง ดังนั้น บุรุษควรซึมซับอยู่ในโยคะ ถอนความรู้สึกของตนออกจากวัตถุ วัตถุแห่งผัสสะนั้นสร้างทุกข์ให้กับผู้ปฏิบัติที่ยังยึดถือตัวตน บุรุษผู้ปราศจากกิเลสหรือเมื่อกิเลสหมดไปนั้น เขาย่อมเห็นพรหมัน
เมื่อตั้งมั่นในความแน่วแน่แห่งโยคี ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วย่อมมุ่งสู่โยคะเสมอ (เพราะเขาจะสามารถขับความรู้สึกกระวนกระวายใจออกไปได้ทุกเมื่อ) บุรุษผู้ควบคุมตนเองได้และมีผัสสะอยู่ภายใต้การควบคุมจะซึมซับอยู่ในข้าฯ เสมอเป็นนิจ ผู้ใดก็ตามที่ยับยั้งความรู้สึกได้คือผู้มีปัญญา [เป็นผู้ที่ได้บรรลุถึงพุทธิ-สติปัญญา-สติสัมปชัญญะ]
สำหรับบุรุษผู้ตอบสนองต่อวัตถุแห่งผัสสะ [อธิบายสภาวะของผลสะท้อนจากผัสสะดังนี้] เมื่อการยึดมั่นถือมั่นก่อตัวขึ้น จะเกิดความปรารถนาและความโกรธจะเพิ่มขึ้น จากนั้นความโกรธจะก่อให้เกิดอวิชชา แล้วสูญเสียความทรงจำ จากการสูญเสียความทรงจำ ความคิดที่ถูกต้องจะล้มเหลว จากนั้นจิตวิญญาณของเขาก็พินาศ
เมื่อปราศจากความเกลียดชัง กิเลส และวัตถุแห่งผัสสะ บุรุษนั้นย่อมกระทำด้วยความรู้สึก หัวใจของเขาไม่ถูกควบคุมโดยผัสสะ ความพึงพอใจก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อเขาพึงพอใจแล้วความทุกข์สามประการ ย่อมถูกกำจัดออกไป และบุรุษผู้ตั้งตนอยู่ในปัญญาจะมีจิตใจที่สงบสุข หากปราศจากความสงบย่อมไม่มีความคิดที่ถูกต้อง และเมื่อไม่มีสิ่งนั้น จะไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ เมื่อไม่มีความสงบแล้ว ความสุขจะมาจากไหน?
เพราะจิตที่เป็นไปตามผัสสะ จะเหมือนอาชาที่วิ่งตระเวนไปตามวัตถุนั้น มันย่อมจะทำลายความคิดที่ถูกต้อง เปรียบเหมือนลมที่ทำลายเรือที่ลอยอยู่ในน้ำ
ราตรีสำหรับสรรพชีวิตทั้งหลายคืออะไร เขาไม่เคยหลับใหล [นั่นคือทิวาสำหรับเขา] ทิวาสำหรับสรรพชีวิตทั้งหลายคืออะไร นั่นคือราตรีสำหรับเขา [มหาราชา] เช่นเดียวกับแม่น้ำที่ไหลมาสู่มหาสมุทรจากทุกหนทุกแห่ง ดังนั้น ผู้ที่มีความปรารถนาทางวัตถุจะไม่มีวันสงบสุข
เพราะฉะนั้น หลังจากที่เขาปิดกั้นประสาทสัมผัสจากทุกสิ่งในโลกอย่างสมบูรณ์ เขาหนีจาก [การยึดถือ] วัตถุ [แห่งผัสสะ] ของตน และพุทธิของเขาก็มั่นคง หลังจากที่ล้มเลิกความคิดทั้งหมดเกี่ยวกับตัวฉัน [ที่ถูกกระทำ] และตัวฉัน [ที่กระทำ] ทั้งหมด เขาควรจะหยุดความปรารถนาให้สิ้นและควรเน้นที่ความรู้โดยสหัชญาณ จากความรู้โดยสหัชญาณนั้นเอง เขาจะกลายเป็นผู้ที่หลุดพ้น
[มหาราชา] ท่านคือผู้รู้ปรีชาญาณแห่งพรหมันเพราะโชคชะตาและหลังจากได้รับโยคะแล้ว ท่านจะหลุดพ้นได้ด้วยธรรมชาติของท่านเอง’
โอม นี่คือสัจธรรม นี่คือ 'แก่นแท้ของสังขยะ โยคะ' ในบทสนทนาระหว่างพระพิฆเนศและกษัตริย์วาเรณยาในรัฐอุตตราขัณฑ์ และ คเณศปุราณะที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาเป็นตำราเรียนเรื่องความเป็นอมตะของโยคะ คเณศคีตาอันศักดิ์สิทธิ์คือแก่นแท้ของอุปนิษัท

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา