คเณศคีตา จาก คเณศปุราณะ อยู่ในบทที่ 138-148 ของกฤดาขัณฑ์ (ซึ่งคล้ายคลึงกับภควัทคีตา) พระพิฆเนศมอบคำสอนศักดิ์สิทธิ์นี้ให้กับกษัตริย์วาเรณยา ในช่วงที่พระพิฆเนศวรอวตารเป็น ‘คชานนะ’
“คเชนทราโมกษะ คีตา” (Gajendra Moksha Gita) เป็นตำนานในภควัทปุราณะ (Bhāgavata Purāṇa) ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญ ดังปรากฏภาพหินสลักบนผนังทิศตะวันตกของปราสาททศวาตาร เมืองทิโอการ์ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย แสดงภาพเล่าเรื่องราวของคเชนทราโมกษะ เป็นภาพขององค์ศรีวิษณุ (หรือมักเรียกกันว่าพระนารายณ์) ทรงครุฑ ลงมาปกป้องช้างที่กำลังชูดอกบัวเพื่อบูชาแด่พระนารายณ์ เพื่อขอความช่วยเหลือให้รอดพ้นจากจระเข้ร้าย แต่ในงานศิลปะนี้ได้ใช้รูปนาคพันที่ขาช้าง เพื่อแทนความหมายของความชั่วร้าย (ศิลปะทางศาสนาฮินดูมักจะใช้สัญลักษณ์รูปจระเข้หรือนาคแทนความไม่ถูกต้องหรือความชั่วร้าย และ ใช้ครุฑแทนความหมายของความดี)
พื้นฐานแห่งอัษฏาวกระคีตาคือการตระหนักรู้สัจธรรมที่ว่า มีเพียงอาตมันเท่านั้นที่เป็นจริง สิ่งอื่นนอกเหนือจากอาตมันนั้นเป็นเพียงภาพมายาที่การปรากฎ การจำแนกแยกแยะว่ามีอาตมันและสิ่งที่มิใช่อาตมันนั้นก่อให้เกิดพันธะ ดังนั้น, พันธะจึงเกิดจากความหลงผิดหรืออวิชชา การบรรลุถึงธรรมชาติที่แท้จริงหรืออาตมันจะเกิดขึ้นทันทีที่อวิชชาได้หายไป เปรียบเหมือนฝุ่นที่ปลิวหายและแสงแห่งอรุณของการบรรลุธรรมก็สาดส่อง ผู้คนมีความทุกข์เพราะไม่ตระหนักถึงอิสระที่มีอยู่ในตนเองและคิดว่าตัวเองมีพันธะจึงก่อให้เกิดทุกข์ เปรียบเหมือนคนใส่สร้อยคอทองคำที่ลืมไปว่าเขาสวมใส่สร้อยอยู่ เขาจึงเป็นทุกข์เพราะโหยหาที่จะได้สร้อยคืนมา จวบจนมีใครอีกคนได้เตือนว่า สร้อยทองนั้นสวมอยู่ที่คอของเขา เป็นของเขา มิได้หายไปไหน ทันทีที่เขาตระหนักรู้ ความทุกข์ของเขาก็จะหายไปในทันที ท่านอัษฏาวกระอธิบายได้อย่างง่ายที่สุดว่า “เมื่อท่านคิดว่าท่านเป็นอิสระ ท่านก็เป็นอิสระ เมื่อท่านคิดว่าท่านมีพันธะ ท่านก็มีพันธะ” ในความเป็นจริงแล้วอาตมันนั้นเป็นอิสระ และอิสระนั้นไม่ต้องไขว่คว้า เราเพียงแต่ตระหนักถึงอาตมัน แล้วเราก็จะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยพลัน อุปสรรคทั่วไปของการตระหนักรู้ถึงอาตมันคือการงานอาชีพที่เรารับผิดชอบอยู่กับโลก มันนำเราไปสู่ความขัดแย้งในผลประโยชน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลที่ตามมาคือ ความบาดหมาง อิจฉาริษยา พยาบาท ล้างแค้น และการทุจริตคิดมิชอบ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างกำแพงสมมุติขึ้นระหว่างคน ทำให้เกิดความแบ่งแยกไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน การทำลายกำแพงนี้จะต้องใช้ความพยายามฝึกฝนทัศนคติเชิงบวก และฝึกการปล่อยวาง โดยใช้ความคุณงามความดี การให้อภัย ความจริงใจ และความรัก อันเป็นสัจธรรม ทั้งหมดนี้เป็นการฝึกฝนที่กระทำภายใน มิได้เกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกเลย ไม่ต้องลงทุนและให้ผลเป็นความสูงส่งของจิตใจที่ถูกยกระดับขึ้น อัษฏาวกระคีตา ประกอบด้วย บทสนทนาระหว่างคุรุอัษฎาวกระ และ กษัตริย์ชนกผู้เป็นศิษย์ จำนวน 18 บท บทที่ 1 การแสดงธรรมเพื่อประจักษ์ถึงตัวตนอันแท้จริง เริ่มจากกษัตริย์ชนกถามปราชญ์อัษฏาวกระ ในการบรรลุถึงความรู้, การปล่อยวาง, และการปลดปล่อย และคุรุได้แสดงธรรมนั้นแก่เขา บทที่ 2 ความปิติเมื่อบรรลุธรรม กษัตริย์ชนกบรรลุธรรมที่คุรุแสดงแก่เขา เขาเกิดความปิติจึงอธิบายถึงความปิติและความประหลาดใจในสภาวะของการบรรลุธรรมนี้ บทที่ 3 บททดสอบการบรรลุธรรม อัษฏาวกระยินดีกับการบรรลุธรรมของศิษย์ แต่คุรุเห็นบางสิ่งในสภาวะนั้น คุรุจึงดับกระแสแห่งไฟของการยึดติดความปิติหรือความพึงพอใจนั้น บทที่ 4 สดุดีการบรรลุธรรม อัษฏาวกระกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่บนบรมสุขนั้น บทที่ 5 หนทางทั้งสี่สู่นิพพาน อัษฏาวกระได้แสดงหนทางอันรวบรัดทั้งสี่เพื่อก้าวสู่ “นิพพาน” บทที่ 6 ความรู้ที่สูงกว่า อัษฏาวกระกล่าวถึงความรู้ในขั้นที่สูงขึ้นไป เน้นย้ำความลวงของโลกมายาทั้งความอิ่มเอมและความขาดแคลน บทที่ 7 ศิษย์ผู้บรรลุธรรม กษัตริย์ชนกอธิบายถึงภาวะของการบรรลุธรรม บทที่ 8 พันธะและการหลุดพ้น อัษฏาวกระได้แนะนำศิษย์ในรายละเอียดของพันธะและการหลุดพ้นในขั้นที่สูงกว่า บทที่ 9 การปล่อยวาง อัษฏาวกระได้อธิบายถึงวิธีการปล่อยวาง บทที่ 10 ภาวะแห่งความสงบเงียบ อัษฏาวกระชี้ให้เห็นผลจากการกระทำในอดีต และหลุดพ้นวัฏสงสาร บทที่ 11 ปัญญา อัษฏาวกระได้อธิบายถึงสภาวะที่สิ้นความปรารถนา บทที่ 12 ศิษย์ผู้บรรลุธรรม กษัตริย์ชนกอธิบายภาวะของการบรรลุธรรมสูงสุด บทที่ 13 ความสุข กษัตริย์ชนกได้ถูกแนะนำจากคุรุให้ “จงเป็นสุข” แสดงว่าเขาเป็นเช่นนั้นจริง บทที่ 14 ความสงบ กษัตริย์ชนกสรุปสภาวะอันสูงส่งของเขา บทที่ 15 ความรู้แห่งอาตมัน แม้จะน่าประทับใจแต่การสอนยังไม่ตลอดรอดฝั่ง อัษฏาวกระได้ชี้ให้เห็นถึงความว่างเปล่าอันยิ่งใหญ่ของอาตมัน บทที่ 16 คำแนะนำพิเศษ อัษฏาวกระชี้โทษของความพยายามอันไร้ประโยชน์ของความรู้ บทที่ 17 ผู้รู้ที่แท้จริง อัษฏาวกระอธิบายถึงธรรมชาติของผู้ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง บทที่ 18 ศานติ อัษฏาวกระกล่าวถึง 100 โศลกของความไม่เป็นคู่อันบริสุทธิ์ บทที่ 19 สถิตในอาตมัน กษัตริย์ชนกผู้เป็นศิษย์ได้สดับฟังคำสอนเรื่องบรมสุขในอาตมัน และได้ตระหนักรู้ในสิ่งนั้น บทที่ 20 การหลุดพ้นในชีวิต กษัตริย์ชนกผู้เป็นศิษย์ได้อธิบาย สภาวะของวิญญาณที่เป็นอิสระซึ่งสถิตอยู่ในอาตมัน แม้ขณะที่ยังมีชีวิต ทีมงานตาณฑวะหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “อภิปรัชญาของการดำรงอยู่และความหมายของการหลุดพ้นในขณะที่ยังมีชีวิต” ของปราชญ์อัษฏาวกระ ซึ่งได้ปรากฏแก่สายตาของท่านบนเวบไซต์นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตหรือเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อชีวิตของท่านผู้อ่าน (หรือผู้ฟัง) ไม่มากก็น้อย ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามผลงานของเรา ทีมงานตาณฑวะ
“ฤภูคีตา” บทเพลงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์ปุราณะ คำสอนแห่งพระศิวะ ณ เกทาระ บนยอดเขาหิมาลัย "หัวใจของคัมภีร์ปุราณะ" ฤภูคีตา (สันสกฤต: ऋभुगीता; IAST : ṛbhugītā) เป็นบทเพลงหรือบทสนทนาศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ระหว่างปราชญ์ฤภู (ผู้เป็นคุรุ) และ ปราชญ์นิทากะ (ผู้เป็นศิษย์) ฤภูคีตาเป็นบทเพลงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์ปุราณะซึ่งมีเนื้อหาอธิบายเป็นอัทไวตะ, ความเป็นหนึ่งเดียวและไร้สิ่งคู่ ฤภูคีตามีประมาณสองพันโศลกเป็นส่วนที่หกของศิวรหัสยะมีเนื้อหากล่าวถึงอาตมันและพรหมัน ฤภูคีตาใช้การปฏิเสธ , การยืนยันและการกล่าวซ้ำๆ ในรายละเอียดที่ถี่ถ้วน เพื่อพิจารณาธรรมชาติของความเป็นจริงภายใต้หัวข้อต่างๆ "ฤภูคีตานำผู้อ่านไปสู่การรู้แจ้ง" ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้แก่ รามานา มหาศรี (Ramana Maharshi) และศรีจันทรเชกาเร็นดรา สรัสวดี (Sri Chandrashekarendra Saraswati) ถือว่าฤภูคีตาเป็นบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ ภควัน ศรีรามานา มหาศรี แนะนำว่าการท่องฤภูคีตา (แบบอาขยาน) จะช่วยส่งเสริมศรัทธาที่แข็งแกร่งทางจิตวิญญาณ ท่านกล่าวว่า “การท่องฤภูคีตาหรือการอ่านออกเสียง (แบบอาขยาน) นั้นจะสามารถนำผู้นั้นไปสู่การรู้แจ้งในธรรมชาติของตนเองได้” ฤภูคีตาเป็นคัมภีร์จะส่งผลดีถ้าอ่านแบบออกเสียง, มันมีรูปแบบโบราณที่ออกแบบมาเป็นหนังสือสวดมนต์ วิธีการเขียนเอื้อต่อการอ่านออกเสียงมากที่สุด แม้จะอ่านให้กับตนเองฟังเพียงคนเดียวก็ตาม โดยการท่องมนต์ตามโศลกในฤภูคีตานั้น, จิตใจจะปรับเข้ากับความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อจิตใจได้รับการชำระให้บริสุทธิ์, ก็จะเป็นการง่ายที่จิตใจจะกลับไปยังแหล่งที่มาและตั้งอยู่ที่นั่น “มันไม่สำคัญว่าคุณจะเข้าใจหรือไม่, แต่ก็ยังจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณ” "การอ่านฤภูคีตานั้นดีพอ ๆ กับสมาธิ" ความสำคัญของฤภูคีตา จะเห็นได้จากเรื่องจริงตั้งแต่สมัยที่ท่านภควันได้สวดมนต์และนั่งคุยกับสาวกของท่าน หลายต่อหลายครั้งในการสวดมนต์และสนทนาธรรม ท่านแนะนำให้สาวกอ่านและศึกษาฤภูคีตาเป็นประจำ นอกจากนี้ท่านยังยืนยันว่าการทำซ้ำๆ จะเป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพในการสอบถามและทบทวนตนเองและท่านได้กล่าวว่า "สิ่งที่ได้จากการอ่านจากฤภูคีตานั้นดีพอ ๆ กับสมาธิ" ท่านภควันมักกล่าวว่า เราควรศึกษาและอ่านฤภูคีตาเป็นประจำ ในฤภูคีตามักกล่าวว่า “ฉันไม่ใช่ร่างกาย” “ฉันไม่ใชจิต” “ฉันคือพรหมัน” “ฉันคือสรรพสิ่ง” เราจะต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นสภาพธรรมชาติของเรา "สิ่งที่พระศิวะได้สอนบุตรของพระองค์" ฤภูคือบุตรที่เกิดจากจิตใจของพรหมผู้สร้าง (หนึ่งในตรีเทพสูงสุด) ฤภูมีธรรมชาติเป็นความรู้แห่งพรหมัน ส่วนนิทากะคือศิษย์ผู้เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์แต่ยังขาดความมั่นคงในความรู้แห่งพรหมัน เนื่องจากนิทากะไม่สามารถเข้าใจถึงความเป็นจริงที่เป็นรากฐานของสรรพสิ่งในจักรวาล ฤภูได้สังเกตเห็นและให้คำแนะนำต่อศิษย์ดังแสดงในคีตานั่นเอง คำสอนที่ฤภูแสดงต่อนิทากะในฤภูคีตานั้นคือคำสอนของศิวะที่สอนให้กับฤภู ณ เกทาระ บนเขาไกรลาส ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ศิวะได้สอนแก่สกันทะบุตรชายของพระองค์ นั่นเองฯ remark/reference IAST ย่อมาจาก The International Alphabet of Sanskrit Transliteration การปฏิเสธที่ใช้ในฤภูคีตา คือ neti-neti (ไม่ใช่สิ่งนี้และไม่ใช่สิ่งนั้น) อ้างอิงจาก website: https://en.wikipedia.org/wiki/Shivarahasya_Purana https://en.wikipedia.org/wiki/Ramana_Maharshi https://en.wikipedia.org/wiki/Chandrashekarendra_Saraswati The Mountain Path, June 1993, p.103 https://end-to-suffering.blogspot.com/2006/04/ribhu-gita-essence.html Self-Realization by B.V. Narasimha Swami, Ch. 26. First edition www.sivanandaonline.org