13 ธ.ค. 2022 เวลา 08:58 • ไลฟ์สไตล์
คเณศคีตา จาก คเณศปุราณะ
บทที่ 4
การปฏิบัติโยคะและการปล่อยวาง
กษัตริย์วาเรณยา กล่าวว่า ‘ท่านได้อธิบายถึงการปล่อยวางและการปฏิบัติโยคะ แต่ระหว่างสองสิ่งนี้ โปรดบอกข้าฯ เถิดว่าเส้นทางใดดีที่สุด?’
คชานนะ กล่าวว่า ‘ทั้งการปฏิบัติโยคะและการปล่อยวาง [การกระทำ] เป็นหนทางสู่การหลุดพ้น แต่สองเส้นทางนี้มีความแตกต่างกัน ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความเป็นคู่ ผู้ที่ไม่เกลียดชังและไม่ปรารถนาสิ่งใด ผู้นั้นย่อมปล่อยวางและเป็นอิสระจากพันธะอย่างง่ายดายในทันที กล่าวกันว่าการยอมรับกรรม [ผลของการกระทำ] และการปล่อยวางกรรม [การกระทำ] ให้ผลที่แตกต่างกัน
ด้วยความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ประกอบกับอานุภาพแรงดึงดูดจากโยคะนั้น แม้ปราชญ์ผู้มีปัญญาก็ยังยึดติดกับบางสิ่ง สิ่งใดก็ตามที่ได้จากการปล่อยวางผลของกรรม [การกระทำ] ก็คือผลของการปฏิบัติโยคะ ผู้ใดก็ตามที่รู้ว่าโยคะเหมือนกับการปล่อยวางผลของกรรม เขาคือผู้รู้ที่แท้จริง
ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่รู้ว่าการปล่อยวางมิใช่การละเว้นต่อการกระทำ โยคีผู้ปฏิบัติกิจโดยสิ้นปรารถนาย่อมตั้งอยู่ในพรหมัน บริสุทธิ์ด้วยการระงับจิตและตัวตน [อัตตา-อาตมัน] เขาพิชิตผัสสะ ซึมซับในโยคะอย่างสมบูรณ์ เขาเห็นอาตมันในสรรพชีวิต เขากระทำโดยปราศจากมลทิน ผู้ที่รู้ความจริงและมีตัวตน [อัตตา-อาตมัน] ที่ควบคุมแล้วด้วยโยคะ ย่อมไม่คิดว่า ‘ข้าฯ กำลังกระทำ’ [ข้าฯ กำลังก่อกรรม] เขาถือว่าผัสสะทั้งสิบเอ็ด นั้นต่างหากที่เป็นผู้กระทำ
บุรุษที่กระทำควรถวายผลการกระทำทั้งหมดแด่พระเจ้าโดยไม่รับผลทั้งบาปหรือบุญ เช่นเดียวกับแสงตะวันที่โคจรไป แต่มิได้ส่งผลกับวัตถุที่สัมผัสแสงอย่างแท้จริง หลังจากการละกิเลส - เกี่ยวกับกาย วาจา พุทธิ [สติปัญญา] ผัสสะ และจิต – เพื่อชำระสติให้บริสุทธิ์ บุรุษผู้รู้โยคะย่อมปฏิบัติเช่นนั้น แต่ผู้ไม่สถิตในโยคะเขาปรารถนาผลแห่งกรรม ย่อมถูกผูกพันด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งกรรม และในที่สุดสิ่งนี้ก็กลายเป็นความทุกข์ของบุคคลนั้น
หลังจากที่ละทิ้งการกระทำทั้งหมดภายในจิตใจแล้ว โยคีก็จะมีความสุข เขามิได้ทำเพื่อความเพลิดเพลินของตนเอง และมิได้ทำเพื่อให้ผู้อื่นคล้อยตาม เขาชื่นชมยินดีในสภาวะใดก็ตามไม่ว่าดีหรือร้าย
ข้าฯ มิได้เป็นผู้สร้างกรรมหรือนำพากรรมให้กับผู้ใด ข้าฯ มิได้แทรกแซงกรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติผ่านพลังงานของข้าฯ [มหาราชา] ข้าฯ มิได้ก่อให้เกิดผลดีหรือชั่วแก่ผู้ใด ผู้ที่อับจนด้วยความรู้ สติปัญญาของพวกเขาปกคลุมไปด้วยมายา เขาจึงงงงัน บรรดาผู้ที่ทำลายอวิชชาด้วยตนเองผ่านการปฏิบัติของตนเอง ความรู้อันล้ำเลิศของเขานั้นส่องสว่างดั่งดวงตะวัน
บรรดาผู้ที่ซึมซาบอยู่กับข้าฯ จิตใจพักพิงอยู่ในข้าฯ อย่างมั่นคง ความคิดของเขามีเพียงข้าฯ ยึดมั่นเพียงข้าฯ มีความรู้ที่แยกแยะได้ เขาจะไม่กำเนิดใหม่ กรรมของเขาย่อมถูกทำลาย มุนีผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งมีสายตาที่มองเห็นสุนัข ผู้กินสุนัข โค ช้างและสรรพชีวิตว่าเท่าเทียมกัน พราหมณ์ผู้มีความรู้ที่แยกแยะได้ และมี ความรู้โดยสหัชญาณ เขาเห็นว่าประสบการณ์บนโลกเป็นเช่นเดียวกับสวรรค์อยู่เสมอ เขาเห็นสรรพสิ่งเท่ากันทั้งหมด พวกเขาหลุดพ้นในขณะที่มีชีวิตอยู่
เนื่องจากพรหมันบริสุทธิ์และเสมอภาค พวกเขารับรู้สิ่งนี้ เมื่อได้ผ่านประสบการณ์ทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจแล้ว เขาก็ไม่ยินดียินร้าย พักพิงในพรหมัน ในความรู้ที่สมบูรณ์ เขาตระหนักรู้ถึงพรหมัน ถือว่าสรรพสิ่งเป็นจิตวิญญาณเดียวกัน’
กษัตริย์วาเรณยา กล่าวว่า ‘ความสุขใดในสามโลก เมื่อเกิดเป็นกึ่งเทพหรือคนธรรพ์? โปรดบอกข้าฯ ด้วยเถิด, พระองค์ผู้ความชำนาญในสรรพวิทยา’
คเณศ กล่าวว่า ‘ผู้ที่มีความยินดีในตนเอง และตั้งมั่นในตนเอง ย่อมบรรลุถึงความสุขอันเป็นนิรันดร เพราะไม่มีความสุขใดในดินแดนของผัสสะ ความเพลิดเพลินที่เกิดจากวัตถุแห่งผัสสะเป็นเหตุแห่งทุกข์และเชื่อมต่อกับการเกิดและการตาย ผู้มีปัญญาไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ เพราะความปรารถนาและความโกรธเป็นเหตุ
บุรุษพึงเอาชนะกิเลสโดยละทิ้งความทะเยอทะยานทางโลก แล้วจึงจะบรรลุความสุขอันถาวร ซึมซาบในวิญญาณ ส่องสว่างในวิญญาณ สุขในวิญญาณ ผู้ที่ยินดีในวิญญาณ และเป็นผู้ปรารถนาดีต่อสรรพชีวิตทั้งหลาย ย่อมบรรลุถึงพรหมันนิรันดร์อย่างแน่นอน พวกเขาพิชิตศัตรูทั้งหก สงบและสามารถควบคุมได้
จงฟัง! สำหรับผู้ที่รู้จักอาตมันของตนเอง พรหมันย่อมขจรขจายไปทั่วทุกหนแห่ง พึงนั่งในอาสนะโยคะ ควบคุมจิตด้วยการปล่อยวางจากวัตถุแห่งผัสสะ หลังจากตั้งจิตจดจ่ออยู่ที่กลางคิ้วแล้ว, ก็นั่งลง, เน้นการควบคุมลมหายใจซึ่งเป็นการกลั้นลมหายใจเข้า ปราชญ์ผู้รอบรู้กล่าวว่าปราณยามะมีสามระดับ แบ่งออกเป็น ระดับอ่อนแอ ระดับกลาง และระดับสูงสุด ระดับอ่อนแอที่สุดคือ 12 ระดับกลางคือ 21 และระดับมาตรฐานสูงสุดคือ 36
ถ้าเราเปรียบว่าสิงโตหรือเสือนั้นอ่อนแอเมื่อเทียบกับช้างที่กำลังโกรธ บุคคลทั่วไปก็ย่อมมีปราณที่อ่อนแอเมื่อเทียบกับโยคี บุคคลควรควบคุมลมหายใจออกและลมหายใจเข้า ห้ามทำร้ายสัตว์หรือคนที่อยู่ในความอุปถัมภ์ [มหาราชา] บุรุษผู้มีปราณอันควบคุมได้ ปราณย่อมเผาไหม้กรรมของผู้นั้น, มิใช่การเผาไหม้ร่างกาย
การฝึกฝนให้ได้ระดับที่สูงขึ้นสำหรับบุคคลทั่วไป (โยคีจะหายใจเข้าและควบคุมลมหายใจให้เคลื่อนที่ลง) ควรฝึกดึงลมหายใจ, กลั้นลมหายใจ และหายใจออกด้วยรูจมูกข้างเดียว หลังจากนั้นเขาจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลก และเขาจะรู้อดีตและอนาคต สมาธิของจิตนั้นถือได้ว่าเป็นผลจากฝึกฝนที่ยอดเยี่ยมของหฐโยคะ
โยคะนั้นมีสองเส้นทาง ผู้ปฏิบัติโยคะควรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ ผู้ใดที่ทำได้เช่นนี้ ผู้นั้นย่อมรู้ถึงสามโลก โลกทั้งสามจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาอย่างง่ายดาย [มหาราชา] เขาเห็นโลกในอาตมันแห่งตนเองภายใต้รูปของพรหมัน
ด้วยวิธีนี้ “อาสนะโยคะ” หรือ “การปล่อยวางผลของการกระทำ” ย่อมให้ผลเช่นเดียวกัน ผู้ทำความดีเพื่อผู้อื่น ไม่ยึดติดกับผลของกรรม หลังจากที่เขารู้จักข้าฯ ในฐานะพระเจ้าผู้ทรงอำนาจแห่งโลกทั้งสามแล้วเขาก็จะได้รับการปลดปล่อย
โอม นี่คือสัจธรรม นี่คือ ‘การปฏิบัติโยคะและการปล่อยวาง’ ในบทสนทนา บทที่ 4 ระหว่างพระพิฆเนศและกษัตริย์วาเรณยาในรัฐอุตตราขัณฑ์ และ คเณศปุราณะที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาเป็นตำราเรียนเรื่องความเป็นอมตะของโยคะ คเณศคีตาอันศักดิ์สิทธิ์คือแก่นแท้ของอุปนิษัท

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา