13 ธ.ค. 2022 เวลา 08:59 • ไลฟ์สไตล์
คเณศคีตา จาก คเณศปุราณะ
บทที่ 5
โยคะซึ่งเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้โยคะ
คชานะ กล่าวว่า ‘ราชาที่รัก โดยไม่ปรารถนาผลแห่งกรรม ไม่ว่าจะเป็นการถือพรหมจรรย์หรือพิธีกรรมบูชา โยคีพึงกระทำหน้าที่ มิใช่หยุดการกระทำ แต่ทำหน้าที่โดยพึ่งพาโยคะ [มหาราชา] ข้าฯ คิดว่าความภักดีสิ่งเดียวเป็นสาเหตุของการบรรลุโยคะ
ความสงบและระงับผัสสะถือว่าเป็นเหตุแห่งความสำเร็จในสิทธาโยคะ การให้ความสำคัญกับผัสสะวัตถุเป็นศัตรูของตนเอง โยคผู้ละเลยต่อผัสสะจะได้รับความสำเร็จ
อาตมันแห่งตนมีอยู่ในตนเองเท่านั้น เราไม่เคยแยกจากอาตมัน ไม่ว่าในมิตรภาพหรือความเป็นปฏิปักษ์ ในเสรีภาพหรือถูกจองจำ ในเกียรติหรือความอัปยศ ในสุขหรือทุกข์ หรือเพื่อนสนิท หรือหมู่คนดี ในสหาย ในศัตรู ในความเฉยเมยหรือเกลียดชัง ในเหล็กและทองคำ
ผู้ที่เอาชนะตนเองได้ มีความรู้ที่แยกแยะได้ มีความรู้โดยสหัชญาณ และควบคุมตนเหนือผัสสะอย่างต่อเนื่อง รักษาความสงบอย่างมั่นคง และการปฏิบัติโยคะจะทำให้การควบคุมเหล่านี้ดีมากขึ้น ไม่ว่าเขาจะทุกข์ เหนื่อย สับสน หิว กระวนกระวายในความคิด ไม่ว่าเวลาใด อุณหภูมิที่เย็นจัด ร้อนจัด มีลมแรง มีไฟหรือน้ำ เมื่อเงียบสงัด หรือแก่ชรามาก ไม่ว่าในคอกวัว ในกองไฟ ใกล้น้ำ ในสระหรือในถ้ำ ในสุสาน ริมแม่น้ำ ใกล้กำแพงเก่า ใกล้งานศพ ที่อนุสาวรีย์ที่มีจอมปลวก ในดินแดนที่อุดมด้วยปีศาจ ฯลฯ
ผู้รู้โยคะซึ่งอุทิศตนเพื่อการทำสมาธิและฝึกโยคะ ไม่ควรฝึกโยคะด้วยการนิ่งเฉยเพียงอย่างเดียว
อาการขี้ลืม เป็นใบ้ หูหนวก เมา เป็นไข้ และโง่เขลา มักเกิดขึ้นได้เสมอ อาการเหล่านี้เป็นข้อบกพร่องที่เกิดจากการห่างออกจากความรู้ ข้อบกพร่องเหล่านี้จะต้องถูกขจัดให้สิ้นโดยผู้ที่ปฏิบัติโยคะเป็นนิสัย เพราะขาดความขยันหมั่นเพียรในการฝึกโยคะ ทำให้ความจำเสื่อม และเรื่องอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
โยคีไม่บริโภคมากหรือน้อยจนเกินไป ไม่นอนหรือตื่นนานเกินไป บุรุษผู้บรรลุความสำเร็จ [มหาราชา] พึงฝึกโยคะอยู่เสมอ บุรุษควรละทิ้งความปรารถนาที่มั่นหมายและเมื่อควบคุมการกินการนอนแล้ว หลังจากควบคุมผัสสะได้ทั้งหมด เขาก็ควรจะค่อยๆ ถอนความรู้สึกด้วยสติปัญญา เขาควรจะถอนตัวสติอันแปรปรวนที่ฝังตัวอยู่ และหลังจากรวบรวมจิตเป็นสมาธิแล้ว เขาควรควบคุมตนอย่างพากเพียร หากทำเช่นนี้อยู่เสมอ โยคีย่อมได้รับความสุขสูงสุด ย่อมเห็นอาตมันในทุกสิ่ง และเห็นทุกสิ่งในอาตมันของเขาเอง
ใครก็ตามที่เข้าถึงข้าฯ ด้วยโยคะ ข้าฯ ย่อมเข้าหาเขาด้วยความเคารพเช่นกัน ข้าฯ จะปลดปล่อยเขาตราบเท่าที่เขาไม่ละทิ้งข้าฯ หาไม่แล้ว ข้าฯ ก็มิอาจปลดปล่อยเขา บุรุษผู้มีเจตคติเท่าเทียมกันในความสุข ความเจ็บปวด ความเย่อหยิ่ง ความเกลียดชัง ความอิ่มใจ และในความกระหายอยาก เขาย่อมรู้ว่าข้าฯ อยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งและรู้ถึงสรรพชีวิตผ่านอาตมันที่เหมือนกัน เขาเป็นอิสระในขณะที่มีชีวิตอยู่ เขาเป็นเจ้าแห่งโยคีเพียงเพราะเขาตั้งมั่นต่อข้าฯ และเขาจะได้รับการสรรเสริญจากเหล่ากึ่งเทพในพิธีพราหมณ์’
กษัตริย์วาเรณยา กล่าวว่า ‘ข้าฯ คิดว่าโยคะนี้ควรแบ่งเป็นสองประเภท เพราะจิตใจนั้น เลว กลับกลอก และยากที่จะยึดถือ’ [พระองค์]
คชานนะผู้รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ‘ผู้ใดก็ตามยับยั้งจิตที่ยากต่อการควบคุม ย่อมเป็นอิสระจากกงล้อแห่งการดำรงอยู่ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องจักรผันน้ำ ข้าฯ สร้างกงล้ออันแข็งแกร่งขึ้นจากวัตถุแห่งผัสสะ มนุษย์ไม่สามารถผ่ามันออกได้เมื่อถูกกามารมณ์ครอบไว้
ความเคร่งครัด ไร้อคติ ความใจเย็น ไร้ปรารถนาในกามสุข พรของคุรุ สมาคมกับสิ่งที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือพิชิตชัยชนะเหนือสังสารวัฏ หรือโดยปฏิบัติโยคะ บุรุษควรฝึกจิตให้อยู่ในการควบคุมเพื่อความสำเร็จ วาเรณยา, การบรรลุโยคะนี้ยากยิ่งหากปราศจากชัยชนะเหนือจิตใจ’
กษัตริย์วาเรณยา กล่าวว่า ‘โลกของบุรุษผู้ปฏิบัติโยคะไม่สำเร็จคืออะไร? อะไรคือคติของเขา และจะได้รับผลเช่นไร? พระองค์, สัพพัญญู โปรดไขข้อสงสัยนี้เพื่อนำไปสู่สติปัญญา’
คชานนะผู้รุ่งโรจน์ กล่าวว่า ‘บุรุษผู้ปฏิบัติโยคะ (แต่ไม่หลุดพ้น) ย่อมไปสู่เทวโลกเมื่อร่างกายนี้ดับลง หลังจากได้เพลินเพลินในสวรรค์แล้ว เขาจะถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของโยคี ในครอบครัวของผู้บริสุทธิ์ โยคีนี้เกิดใหม่จากการก่อตัวของจิตที่สร้างขึ้นจากกรรมในอดีต บุรุษผู้มีบุญสะสมย่อมไม่ไปสู่นรก โดยตั้งมั่นในความรู้ ตั้งมั่นในสติปัญญา ตั้งมั่นในความเคร่งครัด และตั้งมั่นในการกระทำที่ถูกต้อง เขาย่อมเป็นนายเหนือมนุษย์ เป็นโยคีที่ดีที่สุด ในหมู่โยคี ผู้ดีที่สุดคือโยคีผู้อุทิศตนเพื่อข้าฯ’
โอม นี่คือสัจธรรม นี่คือ 'โยคะซึ่งเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้โยคะ' ในบทสนทนา บทที่ 5 ระหว่างพระพิฆเนศและกษัตริย์วาเรณยาในรัฐอุตตราขัณฑ์ และ คเณศปุราณะที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาเป็นตำราเรียนเรื่องความเป็นอมตะของโยคะ คเณศคีตาอันศักดิ์สิทธิ์คือแก่นแท้ของอุปนิษัท

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา