13 ธ.ค. 2022 เวลา 09:08 • ไลฟ์สไตล์
คเณศคีตา จาก คเณศปุราณะ
ภาคผนวก
Translated by Prof Gregory Baily and Edited by C. Devadas
แปลโดย Prof Gregory Baily และเรียบเรียงโดย C. Devadas
คำอธิบายเพิ่มเติม
คเณศ (สันสกฤต: गणेश) ชาวไทยนิยมเรียกว่า พระพิฆเนศ (สันสกฤต: विघ्नेश) พระนามอื่น เช่น พระพิฆเณศวร พระพิฆเณศวร์ หรือ คณปติ เป็นเทวดาในศาสนาฮินดูที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างแพร่หลายที่สุดพระองค์หนึ่ง ในศาสนาฮินดูทุกนิกายล้วนเคารพบูชาพระคเณศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในคาณปัตยะเท่านั้น พระลักษณะที่โดดเด่นคือพระเศียรเป็นช้าง เป็นที่เคารพกันโดยทั่วไปในฐานะของเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค, องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทั้งปวง
และทรงเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดเฉลียวและปัญญา ในฐานะที่พระองค์เป็นปฐมบูชาเทพ ในบทสวดบูชาต่าง ๆ ก่อนเริ่มพิธีการหรือกิจกรรมใด ๆ ก็จะเปล่งพระนามพระองค์ก่อนเสมอ ; เทพปกรณัมฮินดูระบุว่าพระคเณศทรงเป็นพระบุตรของพระศิวะและพระปารวตี พระคเณศทรงเป็นเทพเจ้าสูงสุดในนิกายคาณปัตยะ คัมภีร์หลักของพระคเณศเช่น คเณศปุราณะ, มุทคลปุราณะ และ คณปติอรรถวศีรษะ
ปุราณะ แปลว่า เก่าแก่ โบราณ “ปุราณะ” เป็นวรรณคดีอินเดียครอบคลุมเนื้อหาจำนวนมาก เปรียบเหมือนสารานุกรมที่รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ กล่าวกันว่า ท่านวยาสะ ผู้เล่าเรื่องมหาภารตะเป็นผู้รวบรวมคัมภีร์ปุราณะ ; คเณศปุราณะ (สันสกฤต: गणेश पुराणम्) เป็นปุราณะสันสกฤตที่เกี่ยวข้องกับเทพฮินดูพระพิฆเนศวร เป็นอุปปุราณะ (ปุราณะรอง) ที่มีตำนาน จักรวาล ลำดับวงศ์ตระกูล อุปลักษณ์ โยคะ เทววิทยา และปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศวร
เทพผู้ขจัดอุปสรรค หมายถึง พระคเณศ
โยคะ หมายถึง การรวมเข้าด้วยกัน การปฏิบัติเพื่อรวมร่างกายและใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ในศาสนาฮินดู หมายถึง การรวมเป็นหนึ่งกับพระผู้เป็นเจ้า หรือ การรวมเป็นหนึ่งกับพรหมัน ความเป็นจริงสูงสุดของจักรวาล
การหลุดพ้น คือ การหลุดพ้นจากสัมสาระ (สังสารวัฏแห่งการเกิดและการตาย) มักเรียกในคัมภีร์ว่า การปลดปล่อย อิสระ เสรี การตรัสรู้
พระพรหม หนึ่งในตรีเทพสูงสุดของศาสนาฮินดู คือ พระพรหม พระนารายณ์ (หรือพระวิษณุ) และพระศิวะ
คชานนะ เป็นอวตารของพระคเณศ
คเณศคีตา อยู่ในบทที่ 138-148 ของกฤดาขัณฑ์ (ซึ่งคล้ายคลึงกับภควัทคีตา) พระพิฆเนศมอบคำสอนศักดิ์สิทธิ์นี้ให้กับกษัตริย์วาเรณยา ในช่วงที่พระพิฆเนศวรอวตารเป็น ‘คชานนะ’
วยาสะ แปลว่า ผู้รวบรวม เวทวยาสะ คือผู้รวบรวมพระเวท หรือ ฤๅษีวยาส เป็นฤๅษีในตำนานที่ปรากฏในมหาภารตะ ชาวฮินดูถือว่าเป็นผู้ประพันธ์มหาภารตะ และเป็นอวตารของพระวิษณุ
พระผู้มีสี่พักตร์ หมายถึง พระพรหม
พระเป็นเจ้าผู้มีพระพักตร์เป็นช้าง หมายถึง พระคเณศ
ผัสสะ คือ ประสาทสัมผัส ; อวัยวะแห่งผัสสะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ; วัตถุแห่งผัสสะ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด)
อัษฎางค์โยคะ คือ องค์แปดของโยคะ ตามตำราอันเก่าแก่ที่สุดของศาสตร์แห่งโยคะ โดยท่านปตัญชลี เพื่อความมุ่งหมายสูงสุดคือการหลุดพ้น (โมกษะ)
กุเวร คือ เทพผู้เป็นใหญ่เหนือยักษ์ รากษส และกินนร เทพแห่งทรัพย์สมบัติ บางทีเรียก ท้าวเวสสุวัณ
อัคนี คือ พระอัคนี หรือ พระอัคคี เทพแห่งไฟ
วรุณ คือ พระพิรุณ เทพแห่งน้ำและฝน
นิรุตติ (Nirriti) เป็นเทพธิดาแห่งความตาย ความเน่าเปื่อย ความเศร้าโศก ในพระเวทหมายถึง อาณาจักรแห่งความไม่มีอยู่จริงและความมืดมิดโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะกลืนกินผู้ที่ล้มเหลวในการทำหน้าที่
[มหาราชา] เป็นคำที่พระคเณศใช้เรียกกษัตริย์วาเรณยาในการสนทนา
พรหมัน คือ ความเป็นจริงสูงสุด เป็นสิ่งสัมบูรณ์ ไม่มีรูปร่าง ไร้ขีดจำกัด เป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นที่มาและจุดหมายปลายทางของสรรพสิ่งในสกลจักรวาล
พรหมันสูงสุด หรือ พรหมัน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปรมาตมัน คือ อาตมันหรือตัวตนสูงสุด เป็นปฐมชีพ เป็นจุดกำเนิดและปลายทางแห่งสิ่งทั้งมวล เป็นอมตะ ไม่มีจุดสิ้นสุด (ศรีริน)
การปลดปล่อย คือ การหลุดพ้นจากสัมสาระ (สังสารวัฏแห่งการเกิดและการตาย) มักเรียกในคัมภีร์ว่า อิสระ เสรี การหลุดพ้น การตรัสรู้
ศักติ คือ คือพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนเอกภพ
สทาศิวะ คือพระปรเมศวร เชื่อว่าทรงมีอำนาจทุกอย่างแต่ยังคงความละเอียดอ่อนและลึกลับ แน่นอน และส่องสว่าง รูปเคารพของพระสทาศิวะมักจะมีห้าพักตร์และสิบกร
อารยัน คือผู้ที่เจริญแล้ว ในศาสนาฮินดูชาวอารยันคือคนที่เขียนพระเวท
ธาตุพื้นฐานทั้งห้า คือ ดิน (อาโป) ไฟ (เตโช) ลม (วาโย) น้ำ (วรุณ) และที่ว่าง (อากาศ)
อวิชชา คือ ความไม่รู้ ความโง่เขลา ความหลงผิด
รุทระ คือ พระนามของพระศิวะ
วสุ คือ เทวดา 8 องค์ เป็นบริวารของพระอินทร์
มารุต คือ เทวดาผู้รักษาลมทั้งเจ็ด (พระพาย บุตรของเทวฤๅษีกัศยปะและนางทิติ)
วิทยาธร คือ เป็นอมนุษย์พวกหนึ่ง มีฐานะตํ่ากว่าเทวดา มีฤทธิ์เหาะได้ ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นมนุษย์ครึ่งเทพทำหน้าที่รับใช้พระศิวะที่ภูเขาหิมาลัย
รากษส คือ เป็นอสูรชั้นต่ำ นิสัยดุร้าย ถ้าอยู่ในนํ้าเรียกว่าผีเสื้อนํ้า ถ้าอยู่รักษาเมืองเรียกว่าพระเสื้อเมือง
พระเวท (สันสกฤต: वेद) เป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบด้วยคัมภีร์ 4 เล่ม ได้แก่ ฤคเวทใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้า สามเวทใช้สำหรับสวดในพิธีกรรมถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้า ยชุรเวทว่าด้วยระเบียบวิธีในการประกอบพิธีบูชายัญและบวงสรวงต่าง ๆ และ อาถรรพเวท ใช้เป็นที่รวบรวมคาถาอาคมหรือเวทมนตร์
พุทธิ คือ หนึ่งในสี่คณะภายในของบุคคล (อันตกรณะ) นั่นคือ มนัส (จิตที่รับ) พุทธิ (จิตที่รู้ - สติปัญญา) จิต (ความคิด) และ อหังการ (การยึดมั่น) บางครั้งใช้พุทธิแทนคำว่าจิต หมายความรวมทั้ง มนัส-พุทธิ-จิต เป็นจิตโดยรวม
วัฏสงสาร หรือ สัมสาระ คือ การเวียนว่ายตายเกิด
พระเวททั้งสาม พระเวท (สันสกฤต: वेद) เป็นคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบด้วยคัมภีร์ 3 เล่ม ได้แก่ ฤคเวทใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้า สามเวทใช้สำหรับสวดในพิธีกรรมถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้า ยชุรเวทว่าด้วยระเบียบวิธีในการประกอบพิธีบูชายัญและบวงสรวงต่างๆ ; ส่วนเล่มที่ 4 คือ อาถรรพเวท ซึ่งรจนาขึ้นในภายหลัง เป็นที่รวบรวมคาถาอาคมหรือเวทมนตร์
อาตมันสูงสุด คือ พรหมันสูงสุด หรือ ปรมาตมัน
ความทุกข์สามประการ คือ อาธยาตมิกะ : ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เกิดจากการผิดปกติขององค์ประกอบของตนเอง เช่น อวัยวะทำงานไม่ปกติ จิตใจไม่เป็นปกติ ; อธิเภาติกะ : ความทุกข์เกิดจากถูกกระทำจากภายนอก เกิดจากการโดนทำร้ายจากสัตว์หรือมนุษย์ด้วยกัน ; อธิไทวิกะ : ความทุกข์ที่เกิดจากเหตุเหนือวิสัยปกติ เช่น ธรรมชาติ (ร้อน, เย็น, ลม, ฝน ฯลฯ), กรรมเก่า, ภูติ, ผี, ปีศาจ, วิญญาณ หรือ เวทย์มนตร์ไสยศาสตร์ เป็นต้น
สหัชญาณ คือ ความหยั่งรู้ความเข้าใจอันซาบซึ้งที่เกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณ
สังขยะ หรือ สางขยะ คือ ปรัชญาเก่าแก่ของฮินดู เป็นปรัชญาทวินิยม ถือว่า ปุรุษะนี้คือผู้รับรู้ ประกฤติคือมูลเหตุของโลก เป็นรากเหง้าที่มองไม่เห็นของสรรพสิ่ง วิวัฒนาการของสิ่งต่างๆเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างปุรุษะกับประกฤติ โมกษะเป็นเป้าหมายของชีวิตที่พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยการพิจารณาให้เห็นความแตกต่างระหว่างปุรุษะกับประกฤติ แล้วแยกทั้งสองสิ่งนี้ออกจากกันเมื่อแยกได้เด็ดขาดก็เป็นอันถึงซึ่งโมกษะ
อุตตราขัณฑ์ หรือชื่อเดิม อุตตรนาจัล เป็นรัฐในภาคเหนือของประเทศอินเดีย ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เทวภูมิ" อันได้มาจากมนเทียรและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากมายในรัฐ
อุปนิษัท เป็นคัมภีร์ของศาสนาฮินดู เนื้อหาเป็นหลักธรรม หรือคำสอนอันลึกซึ้ง นับเป็นส่วนสุดท้ายของวรรณกรรมพระเวท จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เวทานตะ
โยคะแห่งความรู้ หรือ โยคะแห่งพุทธิ เป็นความรู้ว่าด้วยสางขยะโยคะ
โยคะแห่งการปฏิบัติ คือ กรรมะโยคะ
ตัวตนที่แท้จริงของบุคคลคืออาตมัน เมื่อบุคคลยึดถือในตัวตนก็เป็นอัตตา เมื่อละทิ้งตัวตนได้ก็คืออาตมัน
วรรณะ คือระบบชนชั้นของศาสนาฮินดู คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และ ศูทร แต่ละวรรณะมีสิทธิและหน้าที่แตกต่างกันโดยชาติกำเนิด
ต้นกัลปพฤกษ์ มีทั้งหมด 5 ต้น เกิดขึ้นเมื่อครั้งกวนเกษียรสมุทร ได้แก่ มนทาระ (मन्दार) หรือ มนทนะ, ปาริชาต (पारिजात), สันตาน (संतान), กัลปะ (कल्प) และหริจันทน์ (हरिचन्दन) คติเรื่องกัลปพฤกษ์ในแต่ละศาสนาก็แตกต่างกันไป ทั้งฮินดู ไชนะ และพุทธศาสนา แต่ทุกความเชื่อนั้นสอดคล้องกันว่ากัลปพฤกษ์นี้เป็นต้นไม้ที่ให้ทุกสิ่งที่ขอได้
บรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุด คือ หลุดพ้น หรือ ตรัสรู้
พระเหรัมภะ หรือ เหรัมภะ คณปติ เป็นรูปแบบหนึ่งของพระคเณศ ปางเหรัมภะนี้ได้รับความนิยมมากในเนปาลเป็นพิเศษ และเป็นหนึ่งในปางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพระพิฆเนศ 32 ปาง พระเหรัมภะมีพระลักษณะคือ เศียรเป็นช้าง 5 เศียร สี่เศียรหันไปในทิศทางต่าง ๆ และอีกเศียรอยู่ด้านบน
อวตาร คือ การแบ่งภาคมาเกิดในโลก
อาศรม คือ ระยะของชีวิต 4 ระยะ ได้แก่ พรหมจรรยะ (ผู้เรียน), คฤหัสถะ (ผู้ครองเรือน), วานปรัสถะ (ผู้ออกจาริก) และ สันยาสะ (ผู้ละทิ้งทางโลก)
สหัสวรรษคือ รอบระยะเวลา 1000 ปี
การสร้างวรรณะทั้งสี่ ก่อนการเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง มีธรรมชาติพื้นฐานอยู่ 2 อย่าง คือปุรุษะ ที่เป็นจิต และประกฤติที่เป็นวัตถุ ทั้งสองนี้ได้มาผสมผสานคลุกเคล้าเข้าด้วยกันด้วยอำนาจดึงดูดของประกฤติ ก่อให้เกิดไตรคุณ หรือ ลักษณะ 3 ประการ คือ สัตวะ รชะ และตมะ และสิ่งทั้งสามได้พัฒนาออกไปเป็น ผู้คนทั้งสามวรรณะ คือสัตวะ ธรรมชาติที่เป็นสีขาว บริสุทธิ์ ได้กลายเป็นวรรณะพราหมณ์ รชะ สีชมพู ได้กลายเป็นวรรณะกษัตริย์ และตมะสีดำ ได้กลายเป็นวรรณะแพศย์ (หรือบางทีก็รวมเอาวรรณะศูทรเข้าไว้ด้วย)
รชะ สัตวะ ตมะ คือ ไตรคุณ (คุณะ 3 ประการ) เป็นองค์ประกอบหลักของประกฤติตามหลักปรัชญาสางขยะ มีความหมายดังนี้ : สัตวะ (ความแท้จริง มูลฐานความดี ความสุข แสงสว่าง สีขาว) ; รชัส (ความเศร้าหมอง ความเจ็บปวด ความกระปรี้กระเปร่ากระวนกระวาย ความโหดร้ายรุนแรงของอารมณ์ เป็นสิ่งกระตุ้นเร่งเร้าให้ให้เกิดจลนภาพ สีแดง) ; ตมัส (ความมืด ปราศจากความสนใจ ความโง่เขลา สับสน ความเซื่องซึมเหงาหงอย ความหดหู่ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความหยุดนิ่ง สีดำมืด)
ยัญ หรือ ยัญญะ มาจากภาษาสันสกฤต “ยญ” แปลว่า “การบูชา ชื่นชม ยกย่อง เคารพ” หมายถึง พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำต่อหน้ากองไฟเพื่อเป็นการถวายบูชาแด่เทวดา
อายตนะ แปลว่า เครื่องรู้และสิ่งที่รู้ ; เครื่องรู้ คือ อวัยวะรับความรู้สึก ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ ; สิ่งที่รู้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ; เครื่องรู้หรืออายตนะภายใน ; สิ่งที่รู้หรืออายตนะภายนอก
ปราณ คือ ลมหายใจ พลังชีวิต
ปราณและอปาน คือ พลังชีวิตจากภายนอก (ลมหายใจ) และ พลังชีวิตภายใน
การอุทิศตน ในที่นี้คือ การบำเพ็ญเพียร หรือ การบำเพ็ญสมาธิเพื่อถวายเป็นยัญแด่พระองค์
ตตฺ ถูกใช้แทนความหมายของ พรหมัน, สมบูรณ์ ไร้ตัวตน, ปราศจากเงื่อนไขใดๆ (ปราศจากความหลงผิด)
สรณะ หมายถึง ที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยว ที่พักพิง
ผัสสะทั้งสิบเอ็ด คือ อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย และ จิตใจ
ตนเอง (self) ในที่นี้หมายถึงตัวตนที่แท้จริง หรือ อาตมัน
วิญญาณ (soul) ในที่นี้หมายถึง จิตวิญญาณที่แท้จริง หรือ อาตมัน
ศัตรูทั้งหก คือ ศัตรูของการพัฒนาจิตวิญญาณและศัตรูของความสงบ ได้แก่ ความปรารถนา ความโกรธ ความโลภ ความหลงใหล ความเย่อหยิ่ง ความอิจฉา
หฐโยคะ เป็นการฝึกร่างกายให้อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ โดยเน้นการยืดหยุ่นที่ร่างกายไปพร้อมๆ กับการกำหนดลมหายใจ
สิทธาโยคะ หรือ โยคะที่สมบูรณ์แบบ รวบรวมโยคะดั้งเดิมทั้งหมด ได้แก่ โยคะญนา กรรมโยคะ ราชาโยคะ และภักติโยคะ เพื่อนำไปสู่การตระหนักรู้ตนเองที่สมบูรณ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา