13 ธ.ค. 2022 เวลา 08:53 • ไลฟ์สไตล์
คเณศคีตา จาก คเณศปุราณะ
บทที่ 2
กรรมะโยคะ
กษัตริย์วาเรณยากล่าวว่า ‘พระองค์ได้แสดงสองเส้นทางแห่งจิตวิญญาณคือ โยคะแห่งความรู้ และโยคะแห่งการปฏิบัติ เมื่อได้พิจารณาทั้งสองเส้นทางแล้ว ขอพระองค์โปรดบอกต่อข้าฯ ว่าเส้นทางใดดีที่สุด’
คชานนะกล่าวว่า ‘ในโลกของสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหว ทั้งสองนี้ล้วนมีมูลเหตุจากข้าฯ ราชาที่รัก ผู้ที่เชื่อในโยคะแห่งพุทธิคือผู้ที่เล่าเรียนในโรงเรียนสางขยะ และ ผู้ที่เลือกเส้นทางโยคะปฏิบัติคือผู้ปล่อยวางหน้าที่ในทางโลก ผู้ไม่กระทำตามกรรมที่ถูกกำหนดไว้นั้นใช้ไม่ได้ เพียงแค่การละทิ้งหน้าที่เขาจะไม่ประสบความสำเร็จ [มหาราชา]
ไม่มีผู้ใดที่ไม่กระทำกรรมแม้ชั่วขณะ เพราะผู้คนล้วนอยู่ภายใต้กฎของจักรวาลที่เป็นไปตามธรรมชาติและถูกกำหนดให้กระทำ แต่บุรุษที่ควบคุมผัสสะอย่างต่อเนื่องเขาย่อมกระทำอย่างมีสติ แต่ถ้าบุรุษยึดติดอยู่กับวัตถุแห่งผัสสะเขาจะประพฤติอย่างโง่เขลา
ขั้นแรก พึงระงับผัสสะทั้งหมดด้วยจิตก่อน บุรุษพึงกระทำด้วยความรู้สึกเช่นเดียวกับการปฏิบัติโยคะ หากไร้ความปรารถนาในวัตถุ เขาคือผู้ที่เหนือกว่า [มหาราชา] การกระทำโดยไม่ยึดถือย่อมดีกว่าการไม่กระทำ แม้แต่การดำรงร่างกายให้คงอยู่ก็ไม่อาจเป็นไปได้โดยไร้การกระทำ บรรดาผู้ที่ไม่ถวายผลของการกระทำนั้นแด่ข้าฯ ผลกรรมย่อมผูกพันอยู่กับเขา
วิญญาณนั้นไม่เสื่อมสลาย จึงควรทำหน้าที่โดยไม่ยึดติดและถวายผลแห่งกรรมนั้นแด่ข้าฯ การกระทำใดๆ ก็ตามที่กระทำแด่ข้าฯ ย่อมไม่ผูกพันผู้นั้นไว้กับโลก การกระทำ (ที่ก่อให้เกิดกรรม) นั้นประกอบด้วยความประทับใจของจิตที่ขาดสติและมีแรงผูกมัดจิตวิญญาณที่ยังยึดถือตัวตน (อัตตา)
หลักจากการกำหนดวรรณะ ข้าฯ ได้อธิบายเรื่องการเสียสละเป็นสิ่งแรก ราชาที่รัก บุรุษควรเสียสละอย่างต่อเนื่องเหมือนที่เขาได้สมปรารถนาทุกประการจากต้นกัลปพฤกษ์ ท่านต้องกระทำให้เทวะพึงพอใจและเทวะจะตอบแทนความพึงพอใจแก่ท่าน
โดยการเกื้อหนุนกันและกันท่านจึงไปถึงเป้าหมายสูงสุดอย่างถาวร เมื่อเทวะที่ท่านบูชาพึงพอใจแล้วก็จะประทานความสุขสบายทางกายที่ท่านปรารถนา บุรุษผู้บริโภคสิ่งที่เทวะประทานให้โดยไม่ถวายสิ่งใด เขาผู้นั้นคือโจรอย่างแท้จริง ส่วนคนที่รับอาหารที่เหลือจากการบูชาย่อมเป็นอิสระจากผลแห่งกรรมทั้งปวง บุรุษที่หุงหาเพียงเพื่อตนเองโดยไม่ถวายแด่เทวะเป็นคนเห็นแก่ตัว
สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นจากอาหาร กำเนิดของอาหารนั้นมาจากเทวะและต้นกำเนิดของเทวะมาจากการบูชา บัญญัตินี้เกิดจากพรหม และพรหมกำเนิดจากข้าฯ ดังนั้น [มหาราชา] พึงรู้ว่าข้าฯ ปรากฎในการบูชาทั้งปวง
ผู้มีปัญญาจะข้ามมหาสมุทรแห่งมายาวัตถุได้อย่างง่ายดาย แต่คนโง่เขลาที่หมกมุ่นและเพลิดเพลินในผัสสะไม่เป็นเช่นนั้น บุรุษผู้สำราญกับอาตมันภายใน ผู้ยินดีในอาตมัน ผู้เป็นสุขกับทุกสิ่ง ผู้พึงพอใจในตนเอง ย่อมไม่มีความปรารถนาทางวัตถุเลย
เขาไม่ได้รับผลทั้งดีและชั่วจากบรรดาผู้ที่กระทำทั้งสิ่งอันควรและไม่ควร ในบรรดาบุรุษทั้งหลายเขาเป็นผู้ที่มิได้ประกอบกรรมอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น ด้วยเจตคติที่ไม่ยึดถือ [มหาราชา] บุรุษพึงกระทำกิจโดยไม่ก่อกรรม ผู้ที่ยึดติดกับผลของการกระทำจะไม่บรรลุเส้นทาง คนเช่นนั้นไม่อาจเข้าถึงข้าฯ ในกาลก่อนก็มีกษัตริย์และพราหมณ์ที่มีปัญญาและบรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุด ดังนั้นบุรุษพึงกระทำเพื่อประโยชน์ของโลกทั้งมวล หากผู้เจริญประกอบกิจ (ปฏิบัติหน้าที่ของตน) แล้ว ทุกคนก็จะถือปฏิบัติตาม
เพราะพวกเขาพิจารณาสิ่งนั้นว่าเป็นมาตรฐาน ในโลกนี้แท้จริงแล้วไม่มีเป้าหมายใดเลยที่ข้าฯ ต้องทำให้สำเร็จ [มหาราชา] ถึงแม้ข้าฯ ไม่ประสงค์สิ่งใด แต่ข้าฯ ก็ยังมีส่วนร่วมในการกระทำต่างๆ หากแต่ละคนเกียจคร้าน และข้าฯ ก็ไม่กระทำอะไรแล้ว ทุกวรรณะก็จะถือเป็นเยี่ยงอย่าง โอ! กษัตริย์ผู้มีปัญญา แล้วโลกจะตกอยู่ในความพินาศ ข้าฯ จะกลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ทำลายล้างโลกและเหตุแห่งการล่มสลายของวรรณะ
ผู้มีความปรารถนาทางวัตถุย่อมกระทำการสิ่งโง่เขลาด้วยแรงปรารถนา ผู้มีปัญญา จิตหลุดพ้นแล้ว จักทำประโยชน์แก่โลกทั้งมวล บุรุษไม่ควรคบหาสมาคมกับพวกวัตถุนิยมที่โง่เขลา จงซึมซับในโยคะ ผู้ที่ยังต้องกระทำกิจพึงถวายผลแห่งกรรมนั้นแด่ข้าฯ
การซึมซับในอวิชชาด้วยราคะ โกรธ และโลภดั่งเช่นมิตร ผู้นั้นย่อมกระทำกรรมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พุทธิของเขาแปดเปื้อนด้วยอัตตา เขากล่าวว่า “ข้าฯ คือผู้กระทำ”
แต่ผู้รู้ความจริงแห่งอาตมัน ได้ชนะผัสสะและกรรมของตนแล้ว เขาปล่อยวางและคิดว่า “การกระทำ (กรรม) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามแห่งผัสสะ”
ผู้ที่หลงใหลในผัสสะย่อมกระทำการเพื่อหวังผลลัพธ์ บุรุษที่ตระหนักรู้ถึงอาตมันแล้วไม่ควรคบหากับผู้ที่ไม่ยอมรับอาตมันแห่งตนและผู้ที่ขาดศรัทธา ดังนั้น ผู้มีปัญญาควรถวายผลของการเสียสละแด่ข้าฯ อย่างต่อเนื่อง หรือเป็นครั้งคราว หลังจากการถอนความคิดว่ามี "ฉัน" และ "ของฉัน" เขาย่อมบรรลุถึงสภาวะสูงสุดของข้าฯ
บรรดาผู้ไม่มีความริษยา ผู้ภักดีและประกอบกิจอันชอบธรรมดังที่ข้าฯ ได้อธิบาย เขาย่อมหลุดพ้นได้ด้วยการกระทำทั้งปวงของเขา แต่ผู้ที่มีจิตอกุศลไม่ปฏิบัติเช่นนี้ พึงรู้ว่าความริษยาและความโง่เขลาทำลายผู้คน และเป็นศัตรูของข้าฯ บุรุษผู้มีความรู้กระทำสิ่งต่างๆ ไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติของจักรวาล แต่ผู้ที่ดื้อรั้นกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความเห็นแก่ตัว พิจารณาได้ว่าเป็นการกระทำซึ่งไร้ประโยชน์
ความปรารถนาและความโกรธเกิดขึ้นที่วัตถุแห่งผัสสะ แต่ผู้ที่มีความรู้ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทั้งสองสิ่ง เพราะพวกมันทำลายเขา
ธรรม [หน้าที่] ของตนเอง แม้ว่าทำได้ไม่บริบูรณ์ ก็ยังดีกว่าทำหน้าที่ของคนอื่นได้บริบูรณ์ บุรุษที่ทำหน้าที่ของตน ย่อมได้รับการหลุดพ้นเป็นรางวัลเมื่อเขาตาย แต่ผู้ไม่ทำหน้าที่ของตนจะเกิดความกลัวต่อโลกหน้า
กษัตริย์วาเรณยากล่าวว่า ‘อะไรคือแรงจูงใจให้มนุษย์ทำความชั่ว [โดยเนื้อแท้] บุรุษย่อมไม่ปรารถนาที่จะทำชั่ว พระเหรัมภะ มันเป็นเพราะความประสงค์ของเขาเองหรือถูกผลักดันให้กระทำราวกับว่าถูกบังคับ?’
คชานนะกล่าวว่า ‘ความโกรธและความปรารถนา เป็นความชั่วร้ายอันยิ่งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ – ความหลงใหลและอวิชชา ทั้งสองสิ่งเป็นเหตุแห่งพันธะในโลก พึงรู้ว่าทั้งสองคือศัตรูอันร้ายกาจ มายาปกคลุมโลก เช่นเดียวกับไอน้ำที่ปกคลุมน้ำ เช่นเดียวกับเมฆฝนที่ปกคลุมพระอาทิตย์
ดังนั้นความปรารถนาและความโกรธปกคลุมสรรพสิ่ง สัญชาตญาณของผู้ที่อยู่ในมายามักเต็มไปด้วยความเกลียดชัง เต็มเปี่ยมไปด้วยกิเลส มีเรี่ยวแรง ถนอมได้ยาก และบุ่มบ่ามใจร้อน ผู้ที่มีจิตและพุทธิแปรเปลี่ยนไปตามแรงผัสสะ เมื่อปัญญาถูกปกคลุมด้วยความโกรธและความปรารถนา มันทำให้เขาเกิดความสับสน
ดังนั้น เมื่อควบคุมผัสสะได้เป็นสิ่งแรก หลังจากนั้นเขาจะเอาชนะจิต (ใจ) ตนเองได้ ความชั่วร้ายเกิดขึ้นจากจิต และจบลงที่สหัชญาณ (สัญชาตญาณ) และความรู้ที่เลือกปฏิบัติ ผัสสะจะอยู่เหนือพุทธิถ้าเขายังเอาชนะจิตไม่ได้ แต่บุคคลที่เอาชนะจิตได้ พุทธิของเขาจะอยู่เหนือจิตและอาตมันอยู่เหนือพุทธิ หลังจากที่เขาตระหนักรู้ถึงอาตมันและตั้งมั่นในอาตมันแห่งตน, เมื่อเขาพิฆาตศัตรูที่เป็นความปรารถนาแล้ว, เขาย่อมบรรลุถึงศานติสูงสุด’
โอม นี่คือสัจธรรม นี่คือ 'กรรมะโยคะ' ในบทที่ 2 ของการสนทนาระหว่างพระพิฆเนศและกษัตริย์วาเรณยาในรัฐอุตตราขัณฑ์ และ คเณศปุราณะที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ถูกนำมาเป็นตำราเรียนเรื่องความเป็นอมตะของโยคะ, คเณศคีตาอันศักดิ์สิทธิ์คือแก่นแท้ของอุปนิษัท

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา