21 ธ.ค. 2022 เวลา 19:28 • ท่องเที่ยว
หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวสุดมหัศจรรย์ของ #มนุษย์ที่มีอายุเฉลี่ยยืนยาวที่สุดในโลก (เฉลี่ย 120 ปี และอาจสูงสุดได้ถึง 140 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยของชาวโลกทั่วไปในยุคนี้อยู่ที่ 75 ปี) แม้อายุจะมาก แต่ร่างกายยังคงแข็งแรง ทำงานได้ เดินได้ตามปกติ ฟันยังคงเต็มปาก นั่นคือนิยามของ #ชาวฮันซา (Hunza ไทยอาจเรียกว่า #ชาวหรรษา) ชื่อเรียกชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ทางตอนเหนือของประเทศปากีสถาน
1. หญิงชราชาวฮันซา | Photo Credit : https://thewire.in/south-asia/women-feminist-pakistan-hunza-gilgit-baltistan
เคล็ดลับสำคัญของการมีชีวิตยืนยาวของชาวฮันซา (หรือชนเผ่าบรูชู หรือบูรูโช Burusho or Brusho) คือการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ที่ยังห่างไกลความเจริญแบบคนในเมืองใหญ่ทั่วโลก กินแต่อาหาร ‘ออร์แกนิค’ (Organic) แบบพื้นเมืองเป็นหลัก ที่ปลูกได้เองในท้องถิ่น ซึ่งปราศจากสารเคมีใดๆ แถมการเดินขึ้นๆ ลงๆ ภายในหมู่บ้านที่มีภูมิประเทศแบบหุบเขา ก็เหมือนกับได้ออกกำลังกายไปในตัว
2. ภูมิประเทศที่เป็นหุบเขางดงามของชุมชนชาวฮันซา ในประเทศปากีสถาน : A view of over the Hunza valley | Photo Credit : https://en.wikivoyage.org/wiki/Hunza_Valley
อาหารดั้งเดิมของชาวฮันซา จะไม่มีขนมหรือของหวานที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ อาหารหลักคือผลไม้ที่ปลูกได้ในท้องถิ่น อาทิ แอปริคอต (Apricot) แอปเปิ้ล ทับทิม องุ่น และธัญพืชต่างๆ อาทิ ข้าวสาลี ลูกเดือย ข้าวฟ่าง ถั่ว มันฝรั่ง (ข้าวที่ชาวฮันซานิยมกินจะไม่ขัดขาว คล้ายข้าวกล้อง ซึ่งทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่)
3. ทิวทัศน์หุบเขาฮันซา ในปลายฤดูใบไม้ร่วง : Hunza Valley in late autumn | Photo Credit : https://en.wikivoyage.org/wiki/Hunza_Valley
น้ำดื่มก็มาจากธารน้ำแข็งที่ละลายจากหุบเขา ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุ อีกทั้งชาวฮันซาจะไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก แต่จะกินเนื้อแพะเพียงปีละ 1 - 2 ครั้ง ในวันสำคัญเช่น วันขึ้นปีใหม่ หรือวันแต่งงาน
และความเชื่อที่เป็นรากฐานดั้งเดิมในวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การเคี้ยวอาหารหลายๆ ครั้งให้ละเอียดก่อนกลืน และไม่ควรกินอาหารให้อิ่มจนเกินไป ควรกินให้อิ่มท้องเพียง 80% เท่านั้น ประกอบกับยังมีความเชื่อเรื่องการอดอาหารสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (ที่ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) แต่ชาวฮันซาเชื่อว่า การอดอาหารจะช่วยให้ระบบภายในร่างกายสะอาดขึ้น
4. บ้านแบบดั้งเดิมของชาวฮันซา จะก่อสร้างด้วนดินโคลนและไม้ บริเวณหลังคาจะเจาะเป็นช่อง ให้แสงลอดผ่านเข้ามาภายในได้ โดยจะตั้งเตาไฟสำหรับประกอบอาหารบริเวณนั้น | Photo Credit : https://www.pinterest.com/pin/315814992595343729/
ด้านความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของชาวฮันซา ยังคงเป็นวิถีแบบชุมชนเกษตรกรรมในชนบท คือเป็นครอบครัวใหญ่ ที่ยังอบอุ่นแน่นแฟ้น และเต็มไปด้วยน้ำใจไมตรี ทำให้ชาวฮันซามีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งต่างกันคนละขั้ว....กับมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วโลกแทบจะทุกประการ
5. ลักษณะห้องภายในบ้านแบบดั้งเดิมของชาวฮันซา | Photo Credit : https://www.flickr.com/photos/fengwei888/23052548204
อันนี้ไม่ทราบจริงหรือเปล่า? ที่ชาวฮันซา...ไม่เคยตรวจพบว่า มีใครเคยป่วยเป็นโรคมะเร็ง
ก่อนหน้านี้ผมได้โพสต์เล่าเรื่อง #เล่าไว้เมื่อวัย(ใกล้)สนธยา ๑ เล่าถึง #ผู้ชายในตระกูลของผม ที่มักมีอายุไม่ยืนยาวนัก (ยังไม่มีใครมีอายุเกิน 70 ปี ยกเว้นแต่ผู้หญิง) พอมาทบทวนดูอีกที อาจสรุปได้ว่า...น่าจะเพราะการใช้ชีวิตแบบคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ที่ทั้งสภาพอากาศ (อุดมไปด้วย PM 2.5) อาหาร (กินแต่อาหารแปรรูป อาหารแดกด่วนหรือ fast food และยังอุดมไปด้วยสารเคมีปนเปื้อนสารพัดชนิด)
อารมณ์ (ความเครียดจากทั้งหน้าที่การงาน และความกดดันภายในสังคมแบบชุมชนในเมืองใหญ่) สำคัญคือปัจจุบันครอบครัวแบบชุมชนเมือง แตกสลายลงแล้วเรียบร้อย ไม่ใช่ครอบครัวใหญ่ที่เคยอบอุ่นแบบในอดีต แต่แตกแยกย่อยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง ที่จำต้องดิ้นรนทำมาหากินกันทั้งผัวทั้งเมีย เพื่อหาเงิน เงิน และเงิน มาจุนเจือการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่ป่วยไข้ลงทุกวัน
เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่โรคยอดฮิตอันดับต้นๆ ของผู้คนในสังคมเมืองจะคือ #มะเร็ง (เคยมีการวิจัยพบว่า ‘มะเร็ง’ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในสังคมเมืองใหญ่) จะวิ่งตามหาเราไม่ต่างจากเงาตามตัว หลักๆ น่าจะเกิดจากความเครียดสะสม จากการใช้ชีวิตในสังคมเมืองใหญ่นี่เอง
สมัยผมเด็กๆ ยังไม่มีคำว่า #โรคซึมเศร้า (Depression) แต่อาการทางใจชนิดนี้น่าจะมีมานานมากแล้ว เพียงแต่...ยังไร้การระบุชื่อเรียก สาเหตุหลักๆ น่าจะจากสภาพแวดล้อมภายในสังคมเมืองใหญ่ ที่ป่วยหนักมากขึ้นทุกปีๆ ผมเคยสังเกตอาการทางร่างกายของตนเอง (ที่ตอนนี้ขึ้นเลข 5 เรียบร้อย) พบว่าเมื่อใด ‘อารมณ์’ ในเชิงลบเกิดขึ้น จะมีผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพทางกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เมื่อใดก็ตามที่ผมรู้สึกเครียดเอามากๆ อาการเก่าที่เคยเป็น จู่ๆ จะกำเริบหนักขึ้นมาทันที
การที่คุณยังจำเป็นต้องใช้ขีวิตแบบคนในเมืองใหญ่ (ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม) คงยาก (ถึงยากมากโคตรๆ) ที่หวังจะมีอายุยืนยาวแบบชาวฮันซาได้ เพราะวิถีชีวิตที่แตกต่างกันคนละขั้ว แต่...เมื่อโลกเปลี่ยน แม้ชุมชนชนบทในอดีต ที่เคยมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายงดงาม ก็คงหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงได้ยาก
หากดูจากคลิปท่องเที่ยวต่างๆ ชาวฮันซาเองก็เปิดรับโลกภายนอกมากขึ้นทุกวันๆ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง และเป็นไปได้ว่าชาวฮันซารุ่นใหม่ๆ อาจเปลี่ยนแนวคิด หรืออาจเบื่อหน่ายวัฒนธรรมชนบทแบบดั้งเดิม (เพราะทั้งล้าหลัง และไม่ทันสมัย) และหันไปใช้ชีวิตเลียนแบบคนในเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นอาจเป็นจุดจบของชนเผ่าที่เคยได้ชื่อว่า...มีอายุยืนยาวมากที่สุดในโลกก็เป็นได้
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdtrathanee
คลิปท่องเที่ยวชุมชนฮันซา (ชนเผ่าบรูชู) : I Roam Alone ‘เผ่านี้...ไม่มีมะเร็ง! ชีวิตดีที่สุดในโลก’ (19 ธ.ค. 2565)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา