11 เม.ย. 2023 เวลา 06:29 • ประวัติศาสตร์

เกร็ดน่ารู้ที่ไม่มีใครอยากรู้ของมาร์ติน แวน บัวเรน ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสหรัฐฯ

วันนี้จะมาเล่าเกร็ดน่ารู้ของมาร์ติน แวน บัวเรน (Martin Van Buren) ประธานาธิบดีคนที่ 8 ของสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1837-1841 ซึ่งไม่ใคร่จะมีใครรู้จักหรือสนใจมากนัก
1. มาร์ติน แวน บัวเรน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่เป็นพลเมืองอเมริกา
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้ง 7 คนก่อนหน้านี้ล้วนเกิดมาเป็นพลเมืองหรือผู้อยู่ใต้บังคับอังกฤษทุกคน เพราะเกิดก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศเอกราช ส่วน มาร์ติน แวน บัวเรน เกิดมาหลังจากนั้นจึงเป็นพลเมืองอเมริกัน
มาร์ติน แวน บัวเรน เกิดเมื่อวันที่ 5 เดือนธันวาคม ปี 1782 ที่นิวยอร์ก
นอกจากนี้ มาร์ติน แวน บัวเรน ยังมีอายุยืนยาวนานมากกว่าประธานาธิบดีอีก 4 คนต่อมา ได้แก่ วิลเลียม เฮนรี แฮริสัน (William Henry Harrison) จอห์น ไทเลอร์ (John Tyler) เจมส์ เค พอล์ก (James K. Polk) และแซคคารี เทเลอร์ (Zachary Taylor) ซึ่งต่างเสียชีวิตก่อนหน้าเขาทั้งหมด ส่วนเขาเสียชีวิตเมื่อปี 1862 ในวัย 79 ปี
2. มาร์ติน แวน บัวเรน เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวของสหรัฐฯ ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง
3
แม้จะเกิดในแผ่นดินของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่บิดามารดาของประธานาธิบดีผู้นี้มีเชื้อสายจากชาวดัตช์ที่อพยพมายังอเมริกา ที่บ้านจึงพูดภาษาดัตช์กัน ดังนั้นภาษาแรกของเขาคือภาษาดัตช์ และเขายังเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ไม่มีบรรพบุรุษเป็นคนอังกฤษเลย
1
3. เมื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มาร์ติน แวน บัวเรน เป็นพ่อม่ายในวัย 54 ปีแล้ว
ฮันนาห์ โฮ แวน บัวเรน (Hannah Hoes Van Buren) ภรรยาของมาร์ติน แวน บัวเรน เสียชีวิตตั้งแต่ปี 1819 ด้วยวัณโรค และเขาไม่ได้แต่งงานใหม่อีก เธอเป็นสาวบ้านเดียวกับเขา เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเขา และเป็นแฟนกันมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เมื่อแต่งงานมีลูกชาย 4 คน
เมื่อปี 1838 แอบราฮัมบุตรชายของเขาแต่งงานกับแองเจลิกา ซิงเกิลตัน (Angelica Singleton) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับดอลลี แมดิสัน (Dolley Madison) ซึ่งเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดีคนที่ 4 ลูกสะใภ้คนนี้จึงได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งให้กับบิดาของสามี
เมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มาร์ติน แวน บัวเรน ไม่เคยเอ่ยถึงภรรยาเลย แม้กระทั่งในหนังสืออัตชีวประวัติที่เขาเขียนเอง
แองเจลิกา ซิงเกิลตัน ลูกสะใภ้ของมาร์ติน แวน บัวเรน (White House Historical Association)
4. มาร์ติน แวน บัวเรน เป็นประธานาธิบดีที่มีฉายามากมาย
“นักมายากลตัวน้อย”(Little Magician) เป็นฉายาในบรรดาเพื่อนฝูง เหตุเพราะเขามีความสูงเพียง 167 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วน “จิ้งจอกเจ้าเล่ห์” (Sly Fox) และ “จิ้งจอกแดง” (Red Fox) เรียกกันในหมู่คู่แข่งและศัตรูของเขา ซึ่งที่มาจากการที่เขาเป็นนักการเมืองที่ฉลาดแกมโกง และมีสีผมบลอนด์แดง จึงถูกเรียกว่าจิ้งจอกแดง
นอกจากนี้ ในวัยเด็กเขายังช่วยบิดาดูแลผับ ซึ่งมีทั้งนักกฎหมายและนักการเมืองจำนวนมากมาแวะเวียนอยู่บ่อย ๆ เช่น อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) ซึ่งเขาคงได้ซึมซับสิ่งต่าง ๆ ทางกฎหมายและการเมืองจากบทสนทนาในผับจากคนเหล่านี้
1
และส่วนหนึ่งอาจจะมาเพราะการที่เขาประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายมาก่อน แล้วไต่เต้าในเส้นทางการเมืองมาเรื่อย ๆ จากวุฒิสมาชิกของนิวยอร์ก ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก จนได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊คสัน และเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ๊คสัน
3
พอเกิดเหตุการณ์ตลาดหุ้นล้ม ฝ่ายตรงกันข้ามกับเขาจึงเรียกเขาว่า Martin Van Ruin หรือ มาร์ตินผู้ทำลาย
การ์ตูนการเมืองล้อเลียนแอนดรูว์ แจ๊คสัน แบกมาร์ติน แวน บัวเรน สู่การมีตำแหน่งแห่งที่ (Wikimedia Commons)
5. เหตุการณ์ “เส้นทางสายน้ำตา” เกิดขึ้นในสมัยที่ มาร์ติน แวน บัวเรน เป็นประธานาธิบดี
แอนดรูว์ แจ๊คสัน มีนโยบายโยกย้ายคนพื้นเมืองอเมริกันไปสู่ดินแดนทางตะวันตก พอ มาร์ติน แวน บัวเรน มาดำรงตำแหน่งนี้ต่อจึงสานต่อนโยบายนี้ ดังนั้น เหตุการณ์ “เส้นทางสายน้ำตา” (The Trail of Tears) ที่ชาวพื้นเมืองอเมริกันโดยเฉพาะชนเผ่าเชโรกีจำนวน 15,000 คน ต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานข้ามประเทศจากนอร์ธ แคโรไลนา ไปยังโอคลาโฮมา ซึ่งทำให้ชนเผ่าเชโรกีเสียชีวิตหลายพันคน
6. มาร์ติน แวน บัวเรน เป็นประธานาธิบดีที่ปฏิเสธไม่ให้เท็กซัสเข้าร่วมเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ
ในปี 1836 เท็กซัสร้องขอให้ได้เข้าร่วมสหรัฐฯ ภายหลังจากที่ได้รับเอกราช แต่ปัญหาคือเท็กซัสสนับสนุนการมีทาส มาร์ติน แวน บัวเรน เกรงว่าการเข้าร่วมของเท็กซัสจะทำให้สมดุลของประเทศเสียไป เพราะเท็กซัสแยกตัวออกมาจากเม็กซิโกเขาจึงกลัวว่าถ้ารับเข้ามาอาจจะเกิดสงครามกับเม็กซิโก
เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างรัฐทางตอนเหนือกับทางตอนใต้ในเวลานั้น เขาจึงสนับสนุนให้รัฐทางตอนเหนือออกเสียงคัดค้านขัดขวางไม่ให้เท็กซัสเข้าร่วมประเทศ
ถึงแม้กระนั้น เท็กซัสก็ได้กลายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ ในปี 1845 หลังจากที่เขาไม่ได้เป็นประธานาธิบดีต่อ
7. มาร์ติน แวน บัวเรน เป็นประธานาธิบดีที่ทำให้คำว่า “โอเค” เป็นที่นิยม
คำว่า "Okay" หรือ "OK" กลายเป็นที่นิยมในตอนที่คำนี้ถูกใช้ในช่วงการหาเสียงของเขา และเป็นคำแทนหนึ่งในฉายาของเขาคือ “ตาเฒ่าคินเดอร์ฮุก (Old Kinderhook: OK) เพราะบ้านเกิดของเขาคือเมืองคินเดอร์ฮุกในนิวยอร์ก
ในช่วงหาเสียงในปี 1940 ผู้สนับสนุนเขาได้ก่อตั้งสมาคมที่เรียกว่า OK Club และจะเดินขบวนโดยมีป้ายหาเสียงโดยใช้คำว่า OK
Oxford English Dictionary ระบุว่าคำย่อ OK ใช้อย่างแพร่หลายมากในเวลานั้นและความนิยมใช้คำว่า OK ต้องยกความดีความชอบให้กับประธานาธิบดีผู้นี้กับผู้สนับสนุนของเขา และในกาลต่อมาคำว่า OK กลายเป็นคำที่มีความหมายว่า “all right” และ/หรือ “yes”
8. มาร์ติน แวน บัวเรน ถูกจารึกในประวัติศาสตร์อเมริกันว่าเป็นหนึ่งในสองของคนที่ได้ดำรง 3 ตำแหน่งสูงสุดของประเทศตามลำดับต่อเนื่องกัน
ตำแหน่งที่ว่านี้ได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศ รองประธานาธิบดี และประธานาธิบดี ซึ่งตำแหน่งแรกเกิดขึ้นช่วงปี 1829-1831 ตำแหน่งที่สองช่วงปี 1833-1837 และตำแหน่งที่สามช่วงปี 1837-1841
อีกคนที่ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุด 3 ตำแหน่งเหมือนเขาคือประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน
9. มาร์ติน แวน บัวเรน มีผมจอนยาวโง้งขนาดใหญ่มาก
ผมจอนนี้เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นมาก จากภาพวาดจะเห็นว่าเขามีผมสีแดง และน่าจะเป็นประธานาธิบดีที่มีขนที่หน้าดกมากที่สุดคนหนึ่งสูสีกับจอห์น ควินซี อดัมส์
ให้ภาพประกอบบรรยายก็แล้วกัน
รูปจำลองของมาร์ติน แวน บัวเรน ตอนอายุ 51 ปี (Digital Yarbs/Cheryl Daniel)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา