7 ม.ค. 2023 เวลา 20:54 • ประวัติศาสตร์

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในพระตะบอง

วรณัย พงศาชลการ
EJeab Academy
วันนี้วันพระ
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ศิลปะอยุธยาตอนปลาย ที่เมืองพระตะบอง
ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เมืองพระตะบองยังคงเป็นเมืองในอิทธิพลการปกครองของกรุงศรีอยุธยาที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางเดินทัพปราจีนบุรี/จันทบุรี-พระตะบอง สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในช่วงปี พ.ศ. 2291 “พระรามาธิบดีที่ 3 /นักองค์ทอง” กษัตริย์เขมรที่กรุงอุดงฦาไชย ถูกนักองค์อึมชิงอำนาจโดยนำกองทัพญวนเข้ามายึดอุดงฦาไชย ตั้ง “พระบรมราชา/นักพระสัตถา ที่ 2” (องค์ชี) ขึ้นเป็นกษัตริย์
1
นักองค์ทองหนีมาขอความช่วยเหลือจากอยุธยา ฝ่ายอยุธยาจึงส่งกองทัพกว่า 10,000 คน ผ่านเมืองพระตะบองเข้าตีอุดงฦาไชย นักองค์อึมยอมแพ้ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้โปรดเกล้า ฯ ให้ “นักองค์สงวน” เจ้าชายเขมร ขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า “สมเด็จพระศรีไชยเชษฐ” (Chey Chettha VII) ครองราชย์จนถึงปี พ.ศ. 2298
เมื่อสวรรคต พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงโปรดเกล้า ฯ ให้”พระรามาธิบดีที่ 3 /องค์ทอง” ที่ยังลี้ภัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา กลับไปครองราชย์ จนสวรรคตในปี พ.ศ. 2300 แต่เมื่อ “พระเจ้าอุทัยราชาที่ 2/ นักองค์ต้น” ขึ้นครองราชย์ ราชสำนักฝ่ายอุดงฦาไชยก็เริ่มหันไปขอการคุ้มครองจากฝ่ายญวน และไม่ยอมรับพระเจ้ากรุงธนบุรีภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310
*** ในช่วงความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชสำนักกรุงศรีอยุธยากับอุดงฤาไชย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอาจได้ส่ง พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่อย่างพระจักรพรรดิราช ทรงมงกุฎยอดชัยแบบชฎามงกุฎ แบบเดียวกับพระฝาง ประทับเหนือฐานปัทม์เหนือฐานสิงห์ซ้อนชั้นหย่อนท้องสำเภา
อันเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย สันแข้งคมแหลม ผ้าทิพย์ซ้อน ปั้นกระแหนะรักประดับลวดลาย ลงรักปิดทองประดับมุก มงกุฎทรงลอมพอกกระบังเล็กเป็นแถบมาลัยรัด ชายมงกุฎเหนือพระนลาฏทำเป็นพลิ้วผ้าทบซ้อนประดับกระจังตาอ้อย หน้ากระดานของกระบังแถบประดับด้วยแผ่นทองดุนเป็นลายรักร้อย สลับแผ่นตาบทองรูปดอกไม้เพชรประดับอัญมณีตรงกลาง รัดเกล้ายอดปราสาทแหลมมีเกี้ยวยอด ประดับแผ่นทองกรรเจียกจรตวัดกระหนกเปลวใหญ่โค้งคล้องที่พระกรรณ
ข้อพระบาทปั้นกระแหนะประดับอัญมณีที่พระธำมรงค์ ทองข้อพระกร พระพาหุรัด กรอศอ สังวาลไขว้ประดับด้วยพู่กระจัง ทับด้วยตาบเปียกปูนทับทรวงปีกครุฑซ้อน 3 ชั้น แผ่นใหญ่ ปลายสังวาลตวัดโค้งขึ้นเป็นกระ
หนกเปลว
ตั้งอยู่หน้าพระประธานใหญ่ ฐานสิงห์ยอมุมโค้งสำเภาที่มีการปั้นปูนลงรักปิดทองอย่างงดงาม ผ้าทิพย์ลายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ภายในอุโบสถวัดสังแก (Wat Sangke/Songkea/វត្តសង្កែ) ริมฝั่งแม่น้ำสังแก/ซองแกฝั่งตะวันออกกลางเมืองพระตะบองครับ
.
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณะโบสถ์วัดสังแก รวมทั้งพระรูปประธานและพระพุทธรูปทรงเครื่องโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ที่ได้เดินทางไปสำรวจทำบัญชีกำลังพลในหัวเมืองเขมร
ผ่านเมืองพระตะบอง จึงบูรณะปรับปรุงสร้างกำแพงเมืองพระตะบองขึ้นใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2379-2380 และได้มาปกครองในช่วงการรับศึกญวนระหว่างปี พ.ศ. 2382-2390 ในช่วงนี้อาจได้มีการรื้อโบสถ์เก่าสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหลังเดิมมาสร้างเป็นโบสถ์ก่ออิฐถือปูนขึ้นใหม่ ก่อซุ้มทรงพุ่มหัวเม็ดครอบหลักนิมิตสีมาตามแบบพระราชนิยม
สอดรับกับเอกสารประวัติศาสตร์กัมพูชาได้บันทึกไว้ว่า ในวันสงกรานต์ (ปีใหม่) ทุกปีในอดีต ข้าราชการทั้งหมดจะมาทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดสังแก เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้าเมืองพระตะบองและจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงสยาม (รัชกาลที่ 3)
วัดสะแกคงได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งโดยเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) เจ้าเมืองพระตะบองคนที่ 7 (พ.ศ. 2403-2435) โดยมีการเพิ่มมุขหน้าห้องพาไลเดิม ทำเสาตามแบบฝรั่งเศส ปั้นรูปพระแม่ธรณีบนผ้าทิพย์ สร้างเจดีย์คู่สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของเจ้าเมืองและภริยา (หม่อมทับทิม)ซึ่งในเวลานั้นฝรั่งเศสเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2406 แล้ว
*** ภาพถ่ายเก่าโดยสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ (หอจดหมายเหตุ EFEO) ในปี พ.ศ. 2480 แสดงให้เห็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่และฐานพระพุทธรูปประธานใหญ่โค้งสำเภาในงานศิลปะแบบอยุธยาตอนปลายสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอย่างชัดเจน แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2503 วัดสังแกอันงดงามได้ถูกระเบิดทำลายจนเสียหายทั้งหมดจากความขัดแย้งภายในกัมพูชา ซากของโบสถ์ได้ถูกรื้อถอนและสร้างขึ้นใหม่อย่างที่เห็นในปัจจุบันในปี พ.ศ. 2513 ครับ
วรณัย พงศาชลการ
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
โฆษณา