27 ม.ค. 2023 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

“20th Century Girls” กระแสโลกาภิวัตน์ในช่วง Y2K

20th Century Girl น่าจะเป็นหนังที่ทำให้หลายคนรู้สึกอินไปกับชีวิตรอยต่อระหว่างปลายยุค 90 ไปจนถึงตอนต้นของทศวรรษ 2000 หรือเป็นยุคที่คนยุคนี้ ตั้งชื่อเรียกรวมๆ ว่ายุค Y2K
1
โดยบอกเล่าเรื่องราวของความรักของหนุ่มสาว และมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่เบ่งบานในช่วงปี 1999 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20
ก่อนที่โลกจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21…ช่วงเวลานั้นจึงเป็นเหมือนรอยต่อระหว่างยุคอนาล็อกกับยุคดิจิทัล เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ก่อนก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่
บรรยากาศเกือบทั้งเรื่องจึงเต็มไปด้วยความสดใส เราได้เห็นบรรยากาศของร้านเช่าหนังในยุค 90, การใช้เพจเจอร์, ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ไปพร้อมๆ กับการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมคนที่อยู่คนละซีกเข้าด้วยกันซึ่งเป็นตัวแทนของสองยุคสมัยได้อย่างกลมกลืน
ถ้าเรายังจำกันได้ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่ 20 ไปยังศตวรรษที่ 21 มีคำๆ หนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยมาก คือ “ยุคโลกาภิวัตน์” หรือ Globalization
📌 ยุคโลกาภิวัตน์คืออะไร?
โลกาภิวัตน์ หมายถึง การที่การค้า และตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มมีความเป็นเชื่อมโยงกันมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ผู้คนเริ่มสามารถรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็วว่าเกิดอะไรขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง การให้บริการข้อมูลต่างๆ เริ่มทวีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก เวลาพูดถึงโลกาภิวัตน์ ก็เลยจะเน้นไปที่ 4 องค์ประกอบ คือ
📌 ด้านการค้า
ความเชื่อมโยงกันในระบบคมนาคมและโครงข่ายเทคโนโลยี ได้เข้ามาช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ประกอบกับในช่วงเดียวกันนั้น หลายประเทศทั่วโลกเริ่มลดกำแพงภาษีลง
ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ จึงเริ่มมีบทบาททางการค้าโลกมากขึ้น จากที่เคยอยู่ที่ 19% ในปี 1971 เพิ่มเป็น 29%ในปี 1999 โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ในแถบเอเชีย (NIEs) และสัดส่วนของสินค้าส่งออกก็เริ่มเน้นไปที่สินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น
จนกระทั่งในปี 2000 มูลค่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด คิดเป็น 47% ของ GDP ทั้งโลก และมีมูลค่าทางการค้ากว่า 1 ใน 3 ของการค้าทั่วโลก
1) การเคลื่อนย้ายของเงินทุน
การที่ผู้คนเริ่มสามารถรับรู้ข้อมูลต่างๆ ได้จากทั่วทุกมุมโลก และตลาดการเงินมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น จึงเกิดกระแสการไหลของเงินไปในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังตลาดนอกประเทศตนเอง และเปิดโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งเงินทุนก็อาจจะไหลเข้ามาในรูปแบบของ
  • Foreign direct investment เป็นเงินที่มาลงทุนโดยตรงในบริษัท หรือโรงงานต่างๆ
  • Foreign portfolio investment เป็นเงินที่มาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหลักทรัพย์ หรือพันธบัตร
  • เงินที่ธนาคารปล่อยกู้
  • Official development flows หรือเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา
2) การเคลื่อนย้ายของคน
นอกจากการเคลื่อนย้ายของทุนแล้ว ยังเกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศหนึ่ง ไปยังอีกประเทศหนี่งที่มีโอกาสในการทำงานที่ดีกว่า ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเคลื่อนย้ายระหว่างแรงงานของประเทศกำลังพัฒนา
3) การเคลื่อนย้ายของความรู้และเทคโนโลยี
Foreign direct investment ไม่เพียงแต่เข้ามาขยายการลงทุนในประเทศหนึ่งๆ เท่านั้น แต่มักจะมาพร้อมกับนวัตกรรมและความรู้ทางเทคนิค ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นในเรื่องของกระบวนการการผลิต เทคนิคการจัดการ ช่องทางตลาดสำหรับการส่งออก และนโยบายทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จึงกลายมาเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา
ประกอบกับการที่การค้าระหว่างประเทศในช่วงเวลานั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว การนำเข้าและส่งออกสินค้าที่มากขึ้นจึงทำให้บริษัทต่างๆ ในประเทศ เริ่มเรียนรู้แนวทางที่ดีจากบริษัทภายนอกประเทศ และเกิดการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันได้ ในขณะที่บริษัทที่ผลิตเพื่อตอบสนองลูกค้าในประเทศ ก็ต้องเริ่มปรับตัวให้ดีขึ้นขึ้นจากการที่ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีและหลากหลายจากต่างประเทศเข้ามา
4) อีกมุมหนึ่งของยุคโลกาภิวัฒน์
ข้อดีของโลกาภิวัฒน์ คือ การที่โลกทั้งใบถูกเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว แต่นั่นก็กลายเป็นดาบสองคมได้เช่นเดียวกัน เพราะการที่โลกเชื่อมกันเช่นนี้เอง หากที่ใดที่หนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบติดต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ในโลกด้วย
อย่างตอนวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ในช่วงปี 1997-1998 ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระบบการเงินได้ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วเอเชียอย่างรวดเร็ว เนื่องจากลักษณะของเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นอย่างมาก
หรือในกรณีของประเทศที่พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออก และส่งออกสินค้าหลักเพียงไม่กี่ชนิด เมื่อเกิดวิกฤติที่ไม่คาดคิดขึ้นมาจนทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้ในปริมาณที่น้อยลง หรือในราคาที่ถูกลง ก็อาจจะได้รับผลกระทบหนักได้
ในตลาดสินทรัพย์ก็เช่นกัน เมื่อตลาดทั่วโลกมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงโยกย้ายเงินในพอร์ทการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก สามารถส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากปริมาณของการทำธุรกรรมนั้นมีขนาดใหญ่กว่าในอดีตมาก
และหากเกิดวิกฤติในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ก็อาจทำให้ผลกระทบจากวิกฤตินั้นกระจายไปอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตที่ภาคการเงินยังไม่ได้เชื่อมโยงกันมากเช่นนี้
ส่วนข้อกังวลอีกข้อหนึ่งที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป นั่นคือผลกระทบทางสังคม จริงอยู่ว่าโลกาภิวัตน์ทำให้คนสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศกันได้ง่ายขึ้น ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่นั่นก็หมายถึง การแข่งขันในตลาดแรงงานที่มากขึ้นเช่นกัน
โดยปกติในโลกของทุนนิยม งาน คือ แหล่งรายได้หลักของประชาชนส่วนใหญ่ การมีงานแสดงถึงความมั่นคงในชีวิต แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้ความรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงานหายไป
โลกาภิวัตน์ จึงอาจเป็นเหมือนโอกาสที่เปิดกว้างมากกว่าสำหรับคนที่มีทักษะสูง มีการศึกษาสูง หรือเป็นผู้ประกอบการ คนเหล่านี้จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่มีทักษะ การศึกษาน้อย และกลุ่มคนชายขอบ อาจไม่ได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์เท่าที่ควร
ในศตวรรษที่ 21 ที่เราอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นโลกที่เต็มที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย แต่ก็เต็มไปด้วยความผันผวนมากมายเช่นกัน จนอาจทำให้หลายคนหวนคิดถึงโลกในอดีตอีกครั้ง
เหมือนอย่างการกลับมาของแฟชั่นแบบ Y2K และอะไรต่างๆ ที่เป็นสไตล์แบบ Y2K ก็อาจจะสะท้อนถึงความรู้สึกระลึกถึงอดีต ความสดใส ความเยาว์วัย ที่ผลิบานแค่ครั้งเดียวในชีวิต พร้อมที่จะเติบโตในศตวรรษที่ 21 อย่างงดงาม
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา