3 ก.พ. 2023 เวลา 01:00 • การตลาด

สาระน่ารู้ของตลาด GROCERY ONLINE

E-Grocery หรือ Online Grocery ก็คือ การสั่งซื้อของสด เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้ผู้คนหันมาสนใจตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการทำความเข้าใจและเรียนรู้ภาพรวมตลาด GROCERY ONLINE จึงเป็นสิ่งที่สำคัญของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภาพรวมตลาด
1 .ตลาดธุรกิจค้าปลีก Grocery ออนไลน์
การเติบโตที่แข็งแกร่งของภาค E-Commerce และการพัฒนาระบบซื้อสินค้าออนไลน์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากขึ้น ช่วยผลักดันให้ชาวอเมริกันหันมาสั่งซื้อสินค้า Grocery ออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้การซื้อสินค้า Grocery ออนไลน์ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมประจำวันที่สำคัญของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ในยุคปัจจุบัน
โดยสมบูรณ์แบบ จากการรวบรวมข้อมูลการซื้อสินค้า Grocery ออนไลน์ของบริษัท Brick Meets Click และ Mercatus
พบว่า ยอดจำหน่ายสินค้า Grocery ออนไลน์ในสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2565 มีมูลค่ามากกว่า 9,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป การเติบโตของยอดคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และมารับสินค้าด้วยตนเอง (Pickup) และความต้องการสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก (Mass) ส่งผลให้ยอดขายของเดือนธันวาคมมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ สถิติตัวเลขผู้ซื้อสินค้า Grocery ออนไลน์จากร้านค้าปลีกทั่วสหรัฐฯ พบว่าในปีนี้ยอดผู้ซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 150 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในสหรัฐฯ และคาดว่าน่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต และภายในปี 2567 คาดว่าจำนวนผู้ซื้อสินค้า Grocery ออนไลน์น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 163 ล้านคน
จากมูลค่าการจำหน่ายสินค้า Grocery ออนไลน์ของปี 2565 พบว่าบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดขายสินค้า Grocery ออนไลน์ในสหรัฐฯ คือ Walmart (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐอาคันซอร์) รองลงมาคือ Amazon (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐวอชิงตัน) และ Kroger (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐโอไฮโอ)
Walmart และ Amazon เป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นร้านจำหน่ายสินค้า Grocery ออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ โดยยอดการจำหน่ายสินค้า Grocery ออนไลน์ปี 2565 ของ Walmart มีมูลค่า 37,620 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นปีที่สามติดต่อกันที่ Walmart แซงหน้า Amazon ในธุรกิจการจำหน่ายสินค้า Grocery ออนไลน์ แม้ว่า Amazon จะได้มีการควบรวมกิจการกับ Whole Foods ซูปเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพรายใหญ่เพื่อขยายเครือข่ายแต่ก็ยังไม่สามารถแย่งชิงความเป็นผู้นำในตลาดได้
บริษัท Statista ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของชาวอเมริกัน จำนวน 1,241 คน ถึงการรับรู้ในแบรนด์ที่จำหน่ายสินค้า Grocery ออนไลน์ในตลาดสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่นึกถึง Walmart เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ Costco และ Aldi
แม้ว่าร้านค้าจำหน่ายสินค้า Grocery ออนไลน์จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ยังคงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของผู้ค้ารายใหม่ที่มีการเสนอบริการชุดอาหารพร้อมปรุง (meal kit) และอาหารสำเร็จรูป (ready to eat)
จากสถิติข้อมูลของ Instacart แพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหารที่เชื่อมโยงกับร้านค้าปลีกอาหารออนไลน์ ระบุว่า เว็บไซต์ร้านขายอาหารที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2565 คือ เว็บไซต์ของ HelloFresh โดย HelloFresh เป็นผู้ให้บริการจัดส่งอาหารชุด (meal kit) รายใหญ่ โดยมีสัดส่วนการเข้าชมมากถึง 8%
2. ตลาดธุรกิจค้าปลีกสินค้าเอเชีย Grocery ออนไลน์
ความต้องการสินค้าอาหารที่หลากหลายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้ช่วยกระตุ้นให้สินค้าอาหารจากเอเชีย เช่น อาหารญี่ปุ่น ไทย จีน อินเดีย และเวียดนาม มีการเติบโตและได้รับความนิยมในมุมกว้าง
โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าเอเชียมีการขยายตัวอย่างมาก คือ การขยายตัวของของประชากรเอเชียในสหรัฐฯ อิทธิพลของวัฒนธรรมและสื่อบันเทิงจากต่างชาติต่อกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ อิทธิพลของสื่อออนไลน์ที่ทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีความรู้จักสินค้าจากเอเชียมากยิ่งขึ้น
ในอดีต ร้านจำหน่ายสินค้า Grocery จากเอเชียเป็นเพียงตลาดขนาดเล็กหรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่น้อยมากในตลาด Mainstream แต่ในปัจจุบันเทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในสหรัฐฯ มากขึ้น ประกอบกับแรงผลักดันจากปัจจัยบวกข้างต้น ทั้งในเรื่องการขยายตัวของประชากร อิทธิพลของสื่อผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่และความรับรู้เกี่ยวกับสินค้าเอเชียที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้สินค้า Grocery จากเอเชียสามารถสร้างโอกาสและมีสัดส่วนในตลาดออนไลน์มากขึ้นและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ในการนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นิวยอร์ก ได้รวบรวมเว็บไซต์จำหน่ายสินค้า Grocery จากเอเชียที่น่าสนใจในสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้
2.1 Weee (sayweee.com)
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
ผู้นำด้านร้านจำหน่ายสินค้า Grocery จากเอเชียและฮิสแปนิกในสหรัฐอเมริกา มีสินค้าจำหน่ายมากกว่า 10,000 รายการ ทั้งสินค้าท้องถิ่นและสินค้าหายากจากทั่วโลก ตลอดจนมีบริการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าถึงบ้าน
ข้อดีของการซื้อที่ Weee: ไม่มีค่าบริการในการซื้อ ไม่มีค่าสมัครสมาชิก จัดส่งฟรี โดยต้องซื้อสินค้าขั้นต่ำในราคา 35 เหรียญสหรัฐและสินค้ามีความหลากหลาย
สินค้าไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์ ได้แก่ ข้าว ซอสปรุงรส เครื่องแกง กะทิ อาหารพร้อมรับประทาน ผักแช่แข็ง เครื่องดื่มและขนม
อีเมลติดต่อ Weee: suppliers@sayweee.com
2.2 Umamicart (umamicart.com)
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก
Umamicart เป็นเว็บไซต์จำหน่ายวัตถุดิบเอเชียที่จำเป็นในการประกอบอาหาร โดยสินค้ามีให้เลือกสรรตั้งแต่เครื่องปรุง ผัก ผลไม้สด เนื้อสัตว์ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ตลอดจนสินค้าพร้อมรับประทาน ขนมและเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยม ซึ่งบริษัทจะเน้นในเรื่องคุณภาพและความน่าสนใจของสินค้าเป็นสำคัญ
ข้อดีของการซื้อที่ Umamicart : จัดส่งฟรี โดยต้องซื้อสินค้าขั้นต่ำในราคา 49 เหรียญสหรัฐ มีการบริการพิเศษสำหรับสมาชิกรายเดือน เช่น กล่องสุ่มขนมทุกๆ เดือน หรือกล่องสุ่มวัตถุดิบตามธีมของเดือนนั้นเพื่อสร้างประสบการณ์และความตื่นเต้นให้กับลูกค้า
สินค้าไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์ ได้แก่ ข้าว เครื่องปรุง น้ำพริกเผา เครื่องดื่มและขนม
อีเมลติดต่อ Umamicart: https://umamicart.com/pages/our-suppliers
2.3 Amazon (amazon.com)
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซีแอทเทิ้ล รัฐวอชิงตัน
Amazon จำหน่ายสินค้าทุกประเภทบนเว็บไซต์ และภายใต้หมวดหมู่สินค้านานาชาติ Amazon ได้สร้างหน้าพิเศษเพื่อเป็นตลาดกลางในการค้นหาสินค้า Grocery จากเอเชีย “Asian Cuisine” โดยสินค้าเอเชียที่จำหน่ายบนเว็บไซต์จะอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุง สินค้าพร้อมรับประทาน ขนม เครื่องดื่ม
ข้อดีของการซื้อที่ Amazon: สินค้ามีความหลากหลายทั้งอาหารสดและแห้ง หากเป็นสมาชิก Prime จะไม่มีบริการค่าจัดส่งและมีความรวดเร็วในการจัดส่ง
สินค้าไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์ ได้แก่ เครื่องปรุง ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่ม น้ำผลไม้และขนม
อีเมลติดต่อ
2.4 Yamibuy (yamibuy.com)
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอีสเวล รัฐแคลิฟอร์เนีย
Yamibuy เป็นเว็บไซต์ที่ช็อปปิ้งแบบครบวงจรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มชาวจีนที่อาศัยในแถบอเมริกาเหนือ มีสินค้าที่หลากหลายมากกว่าพันรายการ โดยสินค้าที่นำมาจัดจำหน่ายมีตั้งแต่ ขนม เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป เครื่องเทศ อาหารแห้ง และของใช้ในบ้านอื่นๆ
แนวคิดสำคัญของ Yami คือ ต้องการแก้ไขอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสถานที่ห่างไกล โดยบริษัทจะสรรหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับชาวเอเชียในสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด
ข้อดีของการซื้อที่ Yamibuy: สินค้ามีความหลากหลายตั้งแต่วัตถุดิบและของใช้ที่จำเป็นในครัวเรือน ไม่มีบริการค่าจัดส่งหากซื้อสินค้าขั้นต่ำในราคา 49 เหรียญสหรัฐ
สินค้าไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์ ได้แก่ เครื่องปรุง เครื่องแกง ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่ม ขนม ยาหม่องและหมอน
อีเมลติดต่อ Yamibuy: foodbd@yamibuy.com
2.5 Yummybazaar (yummybazaar.com)
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองกลาสโบโร รัฐนิวเจอร์ซี
Yummybazaar เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้า Grocery และวัตถุดิบพิเศษจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนมีจำหน่ายสินค้า Grocery จากเอเชีย โดยสินค้าที่นำมาจัดจำหน่ายมีตั้งแต่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าว เครื่องปรุงรส ขนม สมุนไพร เครื่องเทศ เครื่องดื่มและสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย
ข้อดีของการซื้อที่ Yummybazaar: สินค้ามีความหลากหลาย จัดส่งฟรี และลูกค้าสามารถยกเลิกคำสั่งซื้อภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากทำธุรกรรมสำเร็จในช่วงเวลาทำการ การสั่งซื้อใดๆ ที่ยกเลิกหลังจากกรอบเวลาหนึ่งชั่วโมงจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเติมสต็อก 20% ของมูลค่าการสั่งซื้อ
สินค้าไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์ ได้แก่ เครื่องแกง ผลไม้กระป๋อง ซอส กะทิ ข้าว
อีเมลติดต่อ Yummybazaar: hello@yummybazaar.com
2.6 H Mart (hmart.com)
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองคาร์ลสลาด รัฐนิวเจอร์ซ
H Mart ซูปเปอร์จำหน่ายสินค้าอาหารเอเชียรายใหญ่และต่อมาได้มีการขยายตลาดเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ โดยจะเน้นในเรื่องความหลากหลายของสินค้าที่มีมากกว่า 4,000 รายการ และมีบริการจัดส่งที่รวดเร็วเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อออนไลน์ของลูกค้าอย่างทันท่วงที
ข้อดีของการซื้อที่ H Mart: สินค้ามีความหลากหลายตั้งแต่สินค้าบริโภคและอุปโภค ตลอดจนมีสินค้าของสดและของแห้งให้เลือกมากมาย จัดส่งฟรีในกรณีสั่งสินค้าขั้นต่ำ 49 เหรียญสหรัฐ
สินค้าไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์ ได้แก่ เครื่องแกง ซอสปรุงรส ข้าว กะทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารแช่แข็ง ขนมและเครื่องดื่ม
อีเมลติดต่อ H Mart: purchasing@hmartus.com
2.7 Asian Food Grocer (asianfoodgrocer.com)
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
บริษัทแม่ของ Asian Food Grocer คือ บริษัท CTC Food International เป็นบริษัทผู้นำเข้าสินค้าอาหาร ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เน้นการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ และการบริการลูกค้า บริษัทมีร้านค้าและคลังสินค้าที่จัดวางครอบคลุมทั่วแคลิฟอร์เนียเพื่อจัดเก็บและกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อดีของการซื้อที่ Asian Food Grocer: สินค้ามีความหลากหลายและเน้นความแปลกใหม่ จัดส่งฟรีในกรณีสั่งสินค้าขั้นต่ำ 40 เหรียญสหรัฐ
สินค้าไทยจำหน่ายบนเว็บไซต์ ได้แก่ เครื่องดื่ม กะทิและขนม
อีเมลติดต่อ Asian Food Grocer: cissyl@asianfoodgrocer.com
3. กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมายังตลาดสหรัฐฯ
3.1 หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านสินค้านำเข้าอาหาร
- US Food and Drug Administration (US FDA) www.fda.gov
สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม
- US Department of Agriculture (USDA) www.usda.gov
สินค้าประมงน้ำจืด สินค้าอินทรีย์
- Customs and Border Protection (CBP): www.cbp.gov
การอนุญาตให้นำเข้าสินค้า
3.2 สินค้าอาหารที่มีข้อจำกัด ผักและผลไม้สด (อนุญาตให้นำเข้าได้บางรายการ)
3.3 สินค้าที่กำหนดโควต้าการนำเข้า ได้แก่ ถั่วลิสง น้ำตาล นม เนย ครีม อาหารทารก
3.4 ขั้นตอนการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมายังสหรัฐฯ โดยสังเขป
ข้อมูลฉบับเต็มสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่: https://www.fda.gov/food/food-imports-exports/importing-food-products-united-states
3.4.1 สหรัฐฯ กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าอาหารทุกรายต้องลงทะเบียนโรงงานและมีหมายเลขประจำตัว Food Facility Registration Number ผู้ส่งออกสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ตามนี้ https://www.fda.gov/food/registration-food-facilities-and-other-submissions/online-registration-food-facilities
3.4.2 แจ้ง FDA ล่วงหน้า (Prior Notice) ก่อนการส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ โดยเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วผู้ส่งออกจะได้รับหมายเลขยืนยันจาก FDA โดยผู้ส่งออกสามารถเข้าไปสร้างบัญชีได้ที่ https://www.access.fda.gov/oaa/logonFlow.htm;jsessionid=qh_qpZBAq2-wAGmeBgG37PcHlVW0csGMtKFNhCenW-YqbiJXTLV3!-1285743977?execution=e1s1
3.4.3 จัดทำฉลาก (labeling) ที่ถูกต้องและชัดเจน โดยบนฉลากต้องมีข้อมูลดังนี้ ชื่อสินค้า (Product name) ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต (Manufacturer name & address) ส่วนผสม (Ingredients) แคลลอรี่อาหาร (food calories) น้ำหนัก (Net Weight) วันหมดอายุ (Expiry Date) และแหล่งผลิตสินค้า (Country of Origin)
4. ช่องทางในการจำหน่ายสินค้า
การจำหน่ายแบบ B2B ผ่านช่องทางออนไลน์ผู้ส่งออกสามารถติดต่อโดยตรงกับฝ่ายจัดซื้อ ตามอีเมลด้านบนเพื่อนำเสนอสินค้าของตนให้กับผู้นำเข้าต่อไป
สำหรับการจำหน่ายแบบ B2C สำหรับสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม แพลตฟอร์ม Marketplace ของ Amazon จะช่วยทำให้สินค้าเข้าถึงผู้ซื้อได้ โดยอาศัยการจัดเก็บและการกระจายสินค้าผ่านการจัดการของ Amazon แต่ผู้ขายอาจต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย การวางสินค้าให้มีความโดดเด่นต่างจากผู้ขายรายอื่นๆ และการอำนวยความสะดวกในการค้นหาสินค้าให้กับผู้ซื้อด้วยประกอบด้วย
นอกจากแพลตฟอร์มขนาดใหญ่แล้วช่องทางการจำหน่ายแบบ Niche Market เช่น กลุ่มจำหน่ายสินค้าออนไลน์บน Facebook Instagram หรือเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าเฉพาะประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิต SME สามารถกระจายสินค้าได้ในสหรัฐฯ ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ขายควรคำนึงถึงเรื่องการจัดส่ง บรรจุภัณฑ์และการกำหนดราคาให้เหมาะสม
จากสถิติการรวบรวมข้อมูลการใช้จ่ายออนไลน์ของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปี 2565 พบว่า สินค้ายอดฮิต 3 รายการแรกที่ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหารที่มีอายุการเก็บยาวนาน รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์ประทินผิว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านและเครื่องดื่มต่างๆ
การศึกษาข้อมูลผู้บริโภคจำนวน 11,162 รายของบริษัท Statista เกี่ยวกับการซื้อสินค้า Grocery ออนไลน์ในสหรัฐฯ ปี 2565 แสดงให้เห็นว่า กลุ่ม Millennial เป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักของช่องทางออนไลน์ รองลงมา คือ กลุ่ม Gen X Gen Z และ Baby Boomer
ดังนั้นการทำการตลาดโดยเน้นเจาะกลุ่มผู้ซื้อคนรุ่นใหม่ การใช้อิทธิพลของสื่อออนไลน์และการสร้างการรับรู้ผ่านการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้/ผู้ทรงอิทธิพลก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการในตลาดให้มีตอบสนองและผลักดันให้สินค้าเป็นที่นิยม ตลอดจนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้สินค้าเป็นที่นิยมแบบมหภาค
5. กลยุทธ์การเจาะตลาด
5.1 ภาพสินค้าและข้อมูลของสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ขายควรให้ความใส่ใจเป็นอันดับแรก เพราะ ภาพและข้อมูลจะเป็นด่านแรกที่จะดึงดูดผู้ซื้อให้กดเข้ามาชมสินค้า
5.2 บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบพิเศษตามเทศกาลหรือมีความพิเศษจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทดลองและสร้างความผูกพันกับแบรนด์ในระยะยาว
5.3 การให้ความรู้และสร้างเอกลักษณ์ผ่านการรีวิวจะช่วยทำให้ผู้ซื้อรู้สึกเข้าถึงสินค้าได้เป็นอย่างดี การรีวิวสินค้าจะทำให้ผู้ซื้อเกิดประสบการณ์ร่วมและช่วยกระตุ้นความต้องการในการทดลองสินค้านั้นๆ ด้วยตนเอง
5.4 การวางกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ นอกจากจะคำนึงถึงเรื่องการจัดเก็บและกระจายสินค้าแล้ว การจัดส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อก็มีความสำคัญ เพราะลูกค้าชาวอเมริกันส่วนใหญ่คาดหวังที่จะได้รับสินค้าไม่เกิน 3-5 วัน กลยุทธ์การส่งสินค้าฟรีมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าในสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
5.5 สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจขยายตลาด อาจทดลองจำหน่ายผ่านกลุ่มๆ Niche เล็กๆ ออนไลน์ก่อน โดยสามารถใช้บริการบริษัทขนส่งที่มีบริการอำนวยความสะดวกด้านเอกสารให้กับผู้ประกอบการเพื่อความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดในเบื้องต้น
5.6 การจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าอาหารในกลุ่มใหม่ๆ สามารถขยายตัวเพิ่มเติม นอกจากสินค้าหลักที่เป็นที่นิยมในตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มขนม เครื่องดื่มและซอสต่างๆ
5.7 ช่องทางออนไลน์เฉพาะ (Niche market) ที่จำหน่ายสินค้าไทยที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ
Reference
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นิวยอร์ก
โฆษณา