6 ก.พ. 2023 เวลา 09:28 • การเมือง

แนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ที่เกิดขึ้นอย่างหนักและในช่วงที่ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ขาดแคลน ทั่วโลกต้องการยาชนิดนี้ในการรักษาโรค แน่นอนว่าได้มีการพูดถึงเรื่องตัวยาสมุนไพรไทยที่เป็นตัวช่วยในการรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโควิด-๑๙ นั่นคือ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งประเทศไทยนั้นไม่ได้มีเพียงแค่สมุนไพรที่เป็นฟ้าทะลายโจรเท่านั้น แต่ยังมีพืชสมุนไพรไทยอีกหลายชนิดที่สามารถนำมารักษาโรค นำมาใช้ทำเป็นอาหารเสริม เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เวชสำอาง หรือแม้แต่ทำเป็นขนมขบเคี้ยว
ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของสมุนไพรไทย และหนึ่งในนั้น คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ของวุฒิสภา
โอกาสนี้ วารสาร “สารวุฒิสภา” ได้นำบทสัมภาษณ์ของ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา และในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา
แนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มาให้ข้อมูลในประเด็น “การพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งออกอากาศในรายการวุฒิสภารายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา นำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบ ดังนี้
Q : แนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยด้วยการวิจัยและนวัตกรรม มีขอบเขตและเป้าหมายในการศึกษาอย่างไรบ้าง
A : เป็นที่ทราบดีว่าสมุนไพรไทยนั้นมีประโยชน์อย่างมาก ซึ่งสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ได้มีการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ มาทำเป็นอาหารเสริม เวชสำอาง แต่ความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพรไทยปัจจุบันยังมีไม่มากนัก เพราะเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพมาตรฐาน และข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการ
ลงพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ทำให้ได้รับทราบกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง ก็คือ การผลิต จนถึงปัญหาต่าง ๆ อาทิ เรื่องสายพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การปนเปื้อนสารเคมี การแปรรูป การทำ Packaging การตลาด
ทั้งหมดนี้มีลักษณะคล้ายกัน แต่ที่ยังขาดในเรื่องของเทคโนโลยีและการสนับสนุนในเชิงนโยบาย และเรื่องของสิทธิบัตรหรือสิทธิประโยชน์ สิทธิทางปัญญา ซึ่งคนผลิตในพื้นที่ไม่ค่อยเข้าใจจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มเติมในเรื่องของการส่งเสริมหรือการเอื้อประโยชน์
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ การตลาด จะเกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยจะเข้มงวดในการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง อาจต้องมีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาลดการควบคุม เพิ่มการส่งเสริม ลดภาระค่าใช้จ่าย เวลาและขั้นตอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทำให้เกิดกระบวนการในเรื่องของการตลาดที่สามารถทำได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
Q : การพัฒนาพืชสมุนไพรไทย มีข้อจำกัดในเรื่องใดบ้าง
A : ขีดจำกัดจะเป็นในส่วนวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรที่ชาวบ้านจัดทำหรือรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแปรรูป เรื่องการตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนในสมุนไพรว่าได้มาตรฐานหรือไม่ สารที่สกัดมีความบริสุทธิ์หรือไม่ เกิดสรรพคุณจริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะต้องมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะเข้าไปดูแล อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัย
แต่ประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้อยู่ในบทสรุปที่ได้เสนอว่าจะมีการปรับปรุง และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่กับวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำเรื่องของสมุนไพรเข้าถึงในเรื่องของค่าใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับการส่งเสริมการแปรรูปทั้งที่ทำเองในลักษณะของความรู้ชาวบ้าน มีหน่วยงานสากลได้ให้การรับรองว่าใช้ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของยาใช้ภายนอก ส่วนยาภายในยังอยู่ในขั้นตอนที่จะเสนอให้การรับรอง ส่วนเรื่องเวชสำอางยังติดปัญหาเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์
Q : กฎหมายใดสำคัญฉบับใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร
A : ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากถึง ๔๐ ฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายโดยตรง กฎหมายทางอ้อม กฎหมายรอง ซึ่งยังไม่รวมระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เรื่องของเกษตรกรมีกฎหมายที่เกี่ยว คือ การปลูก การนำไปใช้ประโยชน์ การคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องของเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีการควบคุมอย่างเข้มงวด มีระเบียบ อย. เมื่อจัดตั้งโรงงานจะมีกฎหมายหลัก และกฎหมายรอง ระเบียบ ข้อบังคับเรื่องของมาตรฐานโรงงานต่าง ๆ
เรื่องขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการสมุนไพร การขออนุญาตตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มากพอสมควร ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ จนถึงปี ๒๕๔๑ ปี ๒๕๔๒ จะเป็นกลุ่มกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร ปี ๒๕๕๐ เป็นเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์ ปี ๒๕๖๒ เป็นกฎหมายสำคัญ คือ พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อกำหนดมาตรฐาน มีคณะกรรมการระดับชาติมาดูแลการขับเคลื่อน และมีกฎหมายเพิ่มเติมในปี ๒๕๖๔ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและการใช้ประโยชน์ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการควบคุมมากไป
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องศึกษาเพื่อปรับลดขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อการขับเคลื่อนในช่วงโควิด-๑๙ ที่เป็นช่วงกระแสสมุนไพรเข้ามาทดแทนยาหลักที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีการปรับเล็กน้อยจะเน้นการส่งเสริมและดูแลผู้บริโภคให้เกิดความปลอดภัย
Q : มีการพิจารณากรณีศึกษาจากต่างประเทศเกี่ยวกับระบบการตลาด กระบวนการวิจัยและพัฒนาบ้างหรือไม่
A : ได้มีการศึกษางานวิจัยมากกว่า ๑๐ ประเทศ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย จีน และยุโรปบางประเทศ ยกตัวอย่าง ประเทศจีนมีการใช้สมุนไพรมายาวนานและต่อเนื่อง มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีเรื่องของหน่วยงานกำกับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน สามารถจำหน่ายได้หลายประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ สมุนไพรประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่นคนไทยรู้จักเป็นอย่างดี แต่สมุนไพรไทยที่มีหลากหลายชนิดจะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่น ตรงนี้จึงได้เกิดมาตรฐานและคุณภาพภายใต้การควบคุมที่สมดุลไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยได้เข้าไปส่งเสริมและให้การสนับสนุนทั้งวิชาการ กระบวนการ ขั้นตอน ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ซึ่งหลายหน่วยงานเริ่มเห็นความสำคัญและคงจะเดินหน้าไปพร้อมกัน
ส่วนเรื่องความร่วมมือกับต่างประเทศ ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ได้เริ่มทำกับจีนแล้ว ทั้งเรื่องของแพทย์แผนจีน แพทย์ทางเลือก และการแลกเปลี่ยนความรู้การนำมาใช้ประโยชน์ Data เพื่อที่จะนำไปสู่การขยายผลต่อไป ซึ่งมีมาตรการสนับสนุนให้มีการร่วมมือในลักษณะเช่นนี้มากที่สุด จนครอบคลุมเรื่องของการร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์
ในส่วนของการสร้างความเชื่อมั่นจะต้องนำกระบวนการด้านวิจัยที่มีมาตรฐานมีเทคโนโลยีมารองรับ แต่ต้องพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และจะต้องมีการร่วมมือกันตั้งแต่ระยะต้น ระยะกลาง ระยะปลาย ทุกภาคส่วนต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และแผนดำเนินการ เพื่อเป้าหมายที่ประเทศไทยจะเป็นฮับของสมุนไพรของโลก แต่ต้องเริ่มต้นเป็นฮับที่มีความน่าเชื่อถือในอาเซียนก่อน ขยายเป็นเอเชียและของโลก คาดว่าจะทำได้ใน ๑๐ ปี ข้างหน้าที่ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือกัน
Q : ทราบว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้การพิจารณาศึกษาแนวทางการพลิกโฉมพืชสมุนไพรไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประเด็นข้อเสนอแนะในเรื่องใดบ้าง และการพลิกโฉมสมุนไพรไทยจะเป็นไปในทิศทางใด
A : ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้จัดทำรายงานฉบับที่สมบูรณ์ของคณะกรรมาธิการ ๑ ฉบับ และจัดทำเป็นฉบับย่อยของคณะอนุกรรมาธิการอีก ๒ ฉบับ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำรายงานที่เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรทั้งหมดอีก ๑๑ ฉบับ
โดยครอบคลุมในเรื่องการปลูกพืชสมุนไพรว่าทำอย่างไรจึงได้คุณภาพดี เรื่องของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ในมหาวิทยาลัย ในกรม ในศูนย์วิจัยต่าง ๆ จนไปสู่กฎหมายที่เป็นกฎหมายหลัก กฎหมายรอง ระเบียบ ข้อบังคับ เรื่องสิทธิปัญญา เรื่องจดสิทธิบัตร เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การโฆษณาประชาสัมพันธ์
เรื่องของจุดเด่นจุดด้อยของหน่วยงานที่ได้ไปดูในพื้นที่ ทั้งหมดนี้ได้ส่งมอบให้ฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปตรวจสอบว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่จะต้องร่วมมือกันในลักษณะของนโยบาย ในการที่จะทำแผน ทั้งส่วนที่เป็นแผนแม่บท และแผนดำเนินการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน เช่น การสร้างเมืองสมุนไพรในแต่ละพื้นที่ การตั้งศูนย์ในการตรวจสอบตามมาตรฐานคุณภาพของพืชสมุนไพร การตรวจสอบสิ่งปนเปื้อน
การตั้งหน่วยงานที่สามารถทำในเรื่องของการทดสอบเชิงเทคนิคให้เป็นมาตรฐานสากลครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้น และเรื่องงบประมาณที่ลงไปสู่การจัดหาเครื่องมือ รวมถึงเรื่องกลไกต่าง ๆ ที่จะทำให้ภาครัฐภาค เอกชน และภาคประชาชนได้มีความร่วมมือกัน ทั้งหมดนี้ต้องทำทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
สุดท้ายนี้ ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนที่มีความสนใจเรื่องของพืชสมุนไพรและบางท่านได้ปลูกกันอยู่แล้วจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ขอให้ระมัดระวังในเรื่องของการปนเปื้อน การเก็บรักษา และเรื่องของเชื้อราต่าง ๆ
สำหรับผู้ที่มีความสนใจ ท่านสามารถที่จะพูดคุยหารือกับอาจารย์หรือหน่วยงานส่วนราชการได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมให้ความรู้กับท่าน ขณะเดียวกันหน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เมื่อมีเวลาก็จะจัดทีมงานลงพื้นที่และพบกับชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ แล้วเราจะเดินไปด้วยกัน ร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางพืชสมุนไพรในภูมิภาคนี้ต่อไป.
โฆษณา