8 ก.พ. 2023 เวลา 07:00 • หนังสือ

ประวัติศาสตร์ของการจูบ ตอนที่ 2

หมายเหตุ : เนื้อหาย่อและเรียบเรียงมาจาก หนังสือ “500 ล้านปีของความรักเล่ม1” และหนังสือ “เรื่องเล่าจากร่างกาย” ครับ
ทวนความจำในตอนที่ 1 กันนิดนึงนะครับ ตอนที่แล้วเราคุยกันถึงวัฒนธรรมการแสดงความรักจากที่ต่างๆ อย่างการจูบ แต่การจูบนั้นก็อาจดูเป็นเรื่องประหลาดของอีกวัฒนธรรมหนึ่งได้เช่นกัน ทั้งนี้ต่อให้ไม่ใช่การจูบแบบดูดดื่มอย่างที่เราคุ้นเคยกัน ก็ยังมีการแสดงความรักที่คล้ายกันอยู่ทั่วทุกมุมโลกครับ
แต่จากตอนที่แล้วเรายังไม่ได้ตอบคำถามว่า การจูบเป็นสัญชาตญานแหรือเป็นการเรียนรู้ ? และ
ทำไมคนเราจูบ ?
ในตอนนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ
1. ‌
ในช่วงแรกๆ ที่ชาวยุโรปเดินเรือไปพบปะกับชาวพื้นเมืองต่างๆ ในหลายทวีปทั่วโลกนั้น สิ่งหนึ่งที่ชาวยุโรปสังเกตคือ การจูบปากซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายทั่วไปในยุโรป แทบไม่พบในวัฒนธรรมอื่นๆ เลย
โดยทั่วไปถ้าพฤติกรรมอะไรที่เป็นสากลของมนุษย์ จะพบได้ข้ามวัฒนธรรม โดยไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้ พฤติกรรมนั้นก็อาจจะเป็นสัญชาตญาน ตัวอย่างเช่น ความรักที่แม่มีต่อลูก หรือการเดินสองขา พฤติกรรมเหล่านี้สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เอง เกิดขึ้นเมื่อถึงเวลา แม้จะห้ามก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ คล้ายกับต้นไม้ที่งอกจากเมล็ดเมื่อปัจจัยต่างๆ พร้อม
ถ้าการจูบปากเป็นสัญชาตญานจริง เราก็น่าจะได้เห็นพฤติกรรมเหล่านี้ข้ามวัฒนธรรม
หรือว่าการจูบจะเป็นแค่การเรียนรู้ไม่ใช่สัญชาตญาน?
ต่อมาเมื่อนักมานุษยวิทยา เริ่มศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ ของโลกมากขึ้น ก็พบว่าพฤติกรรมแสดงความรักของคนในโลกมีความหลากหลายมาก เช่น การหอมแก้มคนรัก การดมหัวลูก การใช้ริมฝีปากจูบไปบนสันจมูกหรือส่วนอื่นๆ ของใบหน้า การสูดกลิ่นเท้าคนรัก หรือการนำมือสอดไปในรักแร้ของคนรักแล้วนำกลับไปดม การนำจมูกมาชนกันแล้วสูดกลิ่นคนรัก เป็นต้น
‌พฤติกรรมเหล่านี้แม้ว่าจะดูไม่เหมือนการจูบ แต่ถ้ามองให้กว้างขึ้นจะเห็นว่ามีลักษณะร่วมกันบางอย่างอยู่ นั่นคือ
‌พฤติกรรมเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับความต้องการที่จะดมกลิ่น และชิมรส (เลีย) คนที่เรารัก โดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมเหงื่อ (apocrine gland ที่จะปล่อยกลิ่นเฉพาะตัวของเราออกมา) มากเป็นพิเศษ เช่น หน้าผาก เปลือกตา รอบๆ จมูก และริมฝีปาก หู รักแร้ รอบหัวนม รอบๆสะดือ รอบๆ อวัยวะเพศ และขาหนีบ
‌แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ พฤติกรรมการชอบดมส่วนของร่างกายที่มีกลิ่นเช่นนี้ยังพบข้ามสปีชีส์ได้ คือ พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ รวมไปถึงลิงสายพันธุ์ต่างๆ ด้วย
‌ทั้งหมดนี้บอกเป็นนัยๆ ว่า พฤติกรรมที่ต้องการดมกลิ่น ชิมรส ของคู่ที่จะผสมพันธุ์ (รวมไปถึงการจูบการหอมการไซร้การเลีย) น่าจะเป็นพฤติกรรมร่วมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างๆ
2.
ถ้าการจูบ (รวมไปถึงพฤติกรรมคล้ายจูบทั้งหลาย) เป็นสัญชาตของมนุษย์จริง เราก็ควรจะเห็นรากของพฤติกรรมนี้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ โดยเฉพาะในสัตว์ตระกูลลิงทั้งหลาย
‌ดังนั้นสิ่งถัดไปที่เราควรทำคือ ศึกษาการจูบในลิงอื่น เพื่อดูว่าลิงมีพฤติกรรมที่คล้ายกับการจูบบ้างไหม
‌ในหมู่ลิงทั้งหลายในโลกนี้ มีลิงอยู่สองสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ลิงสายพันธุ์แรกคือ ชิมแปนซี ลิงชนิดที่สองคือ ลิงโบโนโบ (Bonobo)
‌ด้วยความที่มนุษย์ และลิงโบโนโบมีพันธุกรรมร่วมกันมากกว่า 98 เปอร์เซนต์ ดังนั้นถ้าเราอยากศึกษาพฤติกรรมของคนว่ามีต้นกำเนิดมาอย่างไร เราก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการสังเกตพฤติกรรมของญาติสนิทของเราสองสายพันธุ์นี้
‌ถ้าเรามีโอกาสไปนั่งดูลิงโบโนโบในป่าธรรมชาติของมัน สิ่งแรกที่เชื่อว่าจะสะดุดใจเราคือ ทำไมลิงชนิดนี้มันมีเซ็กส์กันบ่อยจัง แต่ว่านั่นไม่ใช่ประเด็นหลักของเราในตอนนี้ ขอข้ามไปนะครับ
‌ที่เราอยากรู้คือลิงโบโนโบมันจูบกันบ้างไหม? และมันจูบกันในกรณีใดบ้าง?
‌สิ่งที่เราจะได้เห็นหลังจากนั่งสังเกตไม่นาน คือ ลิงโบโนโบแม่จะจูบปากลูก ลิงตัวผู้จูบลิงตัวผู้ ลิงตัวเมียจูบลิงตัวเมีย และลิงตัวผู้จูบตัวเมีย
‌และยิ่งไปกว่านั้นการจูบจะไม่ใช่แค่การจุ๊บของริมฝีปากเฉยๆ แต่มีการอ้าปากเพื่อให้พื้นที่ริมฝีปากประกบกันเพิ่มขี้นอีกด้วย
‌จำได้ไหมครับที่เราคุยกันในตอนที่แล้วไว้ว่าลิงมันไม่มีริมฝีปากเช่นมนุษย์ การที่มันอ้าปากนี้อาจจะช่วยให้ผิวด้านในของริมฝีปากที่บางกว่าสัมผัสกันได้มากขึ้นด้วย (แต่โบโนโบไม่ถึงกับแลกลิ้นกัน)
‌คำถามคือ พฤติกรรมปากประกบปากในลิงโบโนโบ มีหมายความว่าอย่างไร?
คำตอบจริงๆ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ เพราะผมไม่ใช่ลิงโบโนโบ และนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถไปคิดแทนลิงโบโนโบได้
‌สิ่งที่เราพอจะบอกได้คงมีเพียงแค่ว่า การจูบปากนี้พบได้ในสถานการณ์ใดบ้าง และผลที่ตามมาของ ‘ปากประกบปาก’ คืออะไร
‌ลิงโบโนโบจูบกันในหลายสถานการณ์ด้วยกัน
แรกสุด การจูบที่เกิดขึ้นในลิงที่สนิทคุ้นเคยกันดี จะเป็นเหมือนการทักทายเมื่อเจอกัน
‌กรณีที่สอง เรามักเห็นโบโนโบจูบหลังทะเลาะกัน คือเมื่ออารมณ์เริ่มเย็นลงแล้ว (อาจจะจูบเพื่อสานสัมพันธ์หรือประมาณว่า ขอโทษนะตัวเอง จุ๊บจุ๊บ)
‌กรณีที่สาม จะเห็นการจูบเมื่อลิงตัวหนึ่งกลัว หรือตกใจ ลิงอีกตัวที่สนิทกันจะเข้าไปประกบปากจุ๊บเหมือนว่าการประกบปากนี้จะช่วยผ่อนคลายความกลัวหรือตกใจได้
‌อีกกรณีหนึ่งที่พบได้คือ การจูบเมื่อดีใจ เช่น เมื่อพบอาหาร มันจะส่งเสียงร้องเสียงดังด้วยความดีใจแล้วหันหน้าไปจูบกัน
‌ลักษณะของการจูบปากในแต่ละกรณีเหล่านี้อาจจะเป็นไปได้ทั้งการประกบปากค้างไว้นานๆ (อย่างดูดดื่มในมุมมองของมนุษย์) ใช้ปากจูบไปบริเวณหน้าผาก หรือเป็นการจูบในลักษณะ รักนะ จุ๊บ จุ๊บ คือจูบสั้นๆ ซ้ำๆ กัน
‌แต่ในกรณีทั้งหมดนี้ กรณีที่ผมว่าน่าสนใจ และพบได้ค่อนข้างบ่อยที่สุดคือ การประกบปากเมื่อเริ่มจะมีความขัดแย้งระหว่างกัน (ยังไม่ทะเลาะกันเต็มที่) แทนที่ลิงโบโนโบภายในฝูงจะกระโจนเข้าสู้กัน มันจะเริ่มจูบกันก่อน และเกือบร้อยทั้งร้อยจะตามมาด้วยการมีเพศสัมพันธุ์กันแล้วความขัดแย้งก็จะคลี่คลายไปเอง และอาจเป็นเพราะฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงหลังการมีเซ็กส์นี้เองที่ทำให้ ลิงโบโนโบเป็นลิงที่ทะเลาะกันน้อยที่สุดในสัตว์ตระกูลลิงทั้งมวล (เซ็กส์เพื่อสันติ)
3.
ข้ามจากลิงมาดูที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นกันบ้าง ตัวอย่างของพฤติกรรมที่คล้ายการจูบก่อนจะผสมพันธุ์ก็พบได้มาก เช่น ยีราฟจะพันคอเป็นเกลียวและหันหน้าเข้าใกล้กัน
‌ช้างจะใช้งวงสำรวจไปทั่วร่างกายของเพศตรงข้าม
‌แมว หมา วัว และม้าจะเลีย การเลียในสัตว์เหล่านี้จะทำไปเพื่อประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดขนจากเศษดิน และปรสิตต่างๆ แต่ก็ยังใช้เพื่อการสื่อสารได้อีกด้วย เช่น การเลียในหมาจะเป็นการทักทาย และยังใช้บ่งบอกสถานะของหมาในสังคม โดยหมาที่ด้อยกว่าจะเลียหน้าหมาที่สูงส่งกว่า
‌การที่หมาเลียหน้าคนก็เช่นเดียวกัน คือแสดงความยอมรับว่าคนอยู่เหนือมัน (เป็นจ่าฝูงของมัน) นอกจากเลียแล้ว หมาก็ยังชอบดมเพศตรงข้าม โดยเฉพาะการดมฉี่หรือดมก้นของตัวเมีย
‌การยินยอมให้อีกฝ่ายจูบ หรือดมยังเป็นการสื่อสารกลับถึงความไว้ใจที่มีต่ออีกฝ่ายด้วย เพราะการจะจูบหรือดมได้ สัตว์ป่าที่ดุร้ายจะต้องยื่นหน้าเข้าไปในระยะประชิด ซึ่งการที่สัตว์ตัวหนึ่งหนึ่งจะยอมให้อีกตัว ยื่นปากเข้ามาใกล้มากๆ จะต้องเชื่อใจกันว่ามันจะไม่เปลี่ยนใจจูบแล้วหันมากัดแทน
‌จากทั้งหมดนี้เมื่อประมวลเข้าด้วยกัน เราก็อาจพอสรุปได้ว่า ความต้องการที่จะยื่นหน้าเข้าไปใกล้ๆ เพื่อ ดม เลีย ชิม เป็นสัญชาตญานร่วมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย
‌คำถามต่อไปจึงเป็นว่า สัตว์ต่างๆ จะแลกกลิ่น รสและสัมผัส ไปเพื่ออะไรกัน?
ทำไมธรรมชาติจึงอยากให้สัตว์ที่จะผสมพันธุ์แลกกลิ่นและรสกันก่อน?
ถ้าเราเข้าใจกลไกที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้ เราก็น่าจะเข้าใจการจูบ การดมกลิ่น การเลีย ฯลฯ ในมนุษย์ที่รักกันมากขึ้น
4.
ปี 1995 มหาวิทยาลัย โลซาน (Lausane) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
นักชีววิทยา Claus Wedekind เชิญหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งมาเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองเริ่มต้นด้วยการเจาะเลือดตรวจชายหนุ่มหญิงสาวทุกคน
จากนั้นจึงแจกเสื้อยืดให้ชายหนุ่มทั้ง 44 คนไปใส่นอนเป็นเวลาสองคืนติดกัน ในช่วงการทดลองสามวันสองคืนนี้ นักวิจัยจะเตรียมสบู่ไร้กลิ่น ยาสระผมไร้กลิ่น โลชั่นไร้กลิ่น ใช้เหล่าชายหนุ่มใช้
เมื่อครบสองคืน ก็ให้นำเสื้อทั้ง 44 ตัวนั้นมาใส่ในกล่องที่เจาะรูเล็กๆ ไว้พอให้ยื่นจมูกลงไปดมได้
ขั้นถัดไปก็เชิญอาสาสมัครผู้หญิงทั้ง 49 คนมาดมกลิ่นของเสื้อเหล่านั้นคนละ 7 กล่อง โดยที่ไม่บอกให้รู้ว่าเสื้อแต่ละตัวเป็นของใครบ้าง แล้วให้คะแนนว่าชอบหรือไม่ชอบกลิ่นของเสื้อในระดับเท่าไร
ความน่าสนใจของการทดลองนี้เกิดขึ้นเมื่อเอาผลเลือดของทั้งชายและหญิง มาเทียบกับคะแนนความชอบของกลิ่นเสื้อ
‌เพราะผลของการทดลองบอกเราว่าจมูกผู้หญิงรู้ข้อมูลอะไรบางอย่าง ที่แม้แต่ตัวผู้หญิงเองก็ไม่รู้ !
‌เราจะไปหาคำตอบในบทความหน้าซึ่งเป็นตอนจบนะครับว่า จมูกผู้หญิงรู้อะไร?
(แอบเฉลยให้เลยสำหรับคนที่อยากรู้เร็วๆ
ผู้หญิงบอกความแตกต่างระหว่างพันธุกรรมตัวเอง และพันธุกรรมผู้ชายด้วยจมูกได้ ส่วนรายละเอียดจะเป็นยังไงติดตามตอนที่ 3 ครับ)
🧠 อยากเข้าใจวิทยาศาสตร์ของความรัก แนะนำอ่านหนังสือ Bestseller “500 ล้านปีของความรัก เล่ม 1-2” และ “เรื่องเล่าจากร่างกาย”
💝 โปรโมชันเดือนแห่งความรัก หนังสือ “500 ล้านปีของความรัก” ลด 10%
500 ล้านปีฯ เล่ม 1 : https://bit.ly/3HkIvVF
500 ล้านปีฯ เล่ม 2 : https://bit.ly/3jbnvsK
Boxset รวมเล่ม 1-2 : https://bit.ly/3DMKQIn
หรือกดสั่งซื้อได้เลยทั้ง 3 ช่องทาง
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3FBx0bx
โฆษณา