10 ก.พ. 2023 เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม

วิกฤติภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความรุนแรงและกลายเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะปัญหาดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบไปในทุกมิติของทุกชีวิต รวมไปถึงสุขภาพจิตของมนุษย์ด้วยเช่นกัน งานวิจัยในปี ค.ศ. 2019 ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น
โดยทุก 1 องศาเซลเซียสในแต่ละเดือนที่อุณภูมิโลกสูงขึ้นมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น 2.2% การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังเชื่อมโยงกับรายงานการเพิ่มขึ้นของยอดผู้ป่วยโรคเครียดภายหลังภยันตราย (Post-traumatic stress disorder: PTSD)
ในรายงานการติดตามผลกระทบทางจิตใจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 พบว่ามีผู้ประสบภัยถึง 10% ที่ต้องเผชิญกับอาการ PTSD
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิและความชื้นในอากาศมีผลต่อสภาวะอารมณ์ในผู้ป่วยจิตเวช เช่น ไบโพลาร์ รวมไปถึงผู้ที่มีความคิดด้าวร้าวรุนแรง ผู้ที่มีความคิดก่อเหตุฆ่าตัวตาย เป็นต้น มีการคาดการณ์ว่า 5% ของเหตุอาชญากรรมทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2090 จะมีสาเหตุมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน
นอกจากนี้ ผลกระทบจากการรับรู้ถึงความรุนแรงของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงยังนำไปสู่ความรู้สึกเครียด ไร้พลัง ภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง (climate anxiety) ความเศร้าเสียดายจากความสุขที่เคยมี (solastalgia) รวมไปถึงความรู้สึกสิ้นหวัง ปัจจุบันมีเยาวชนทั่วโลกถึง 84% แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความกังวลต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยมากกว่า 45% เคยมีประสบการณ์ถูกเพิกเฉยจากสมาชิกในครอบครัวเมื่อพยายามหยิบยกประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในบทสนทนา
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปีส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติ ไม่เพียงเฉพาะแค่การจัดหาสถานที่พักพิงผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริการดูแลสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยอีกด้วย
- องค์กรด้านสุขภาพจิตจะมีบทบาทในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
- หากปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตที่มีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมควรบรรจุเป็นโรคจิตเวชในคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชในฉบับถัดไป
- จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศและจำนวนผู้ป่วยจิตเวชจะเพิ่มมากขึ้นไปพร้อมกับสภาพวิกฤตภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในสังคม
อ้างอิงจาก
- Global priorities for climate change and mental health research https://doi.org/10.1016/j.envint.2021.106984
- Climate anxiety in children and young people and their beliefs about government responses to climate change: a global survey https://doi.org/10.1016/S2542-5196(21)00278-3
- Crime, weather, and climate change https://doi.org/10.1016/j.jeem.2013.11.008
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก : www.futuretaleslab.com หรือ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #MentalHealth #MQDC #กรมสุขภาพจิต #ETDA #NIA #TheFuturesOfMentalHealth #อนาคตสุขภาพจิตไทย
โฆษณา