13 ก.พ. 2023 เวลา 08:40 • ไลฟ์สไตล์

ชวนส่อง "เมนูกาแฟ" ฉบับมือใหม่ลองหาทำ

เมื่อไม่กี่วันก่อนเราเห็นคลิปนึงที่มีครูฝรั่งนำกะทิมาผสมกับกาแฟดำ มองดูก็น่ากินดีนะ (แต่ยังไม่เคยลองเลย)
พลันนึกขึ้นไปว่า เอ้อ ! จริง ๆ แล้ว มันมีอีกตั้งหลายเมนูกาแฟที่เขาเอาอะไรต่อมิอะไรมาสร้างกิมมิคให้กับเมนูกาแฟ
สำหรับพวกเราแล้ว ขอเรียกว่าเป็นการนำเสนอในแต่ละรูปแบบ(และต่างวัฒนธรรม) ที่ทำให้เกิดเมนูหลากหลายได้ขนาดนี้
หลายชื่อเมนูเพื่อน ๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไร.. แต่พอมาดูส่วนผสมแล้วก็ทำให้เราเข้าใจได้อย่างไม่ยากเลย ! (แต่ชงเองจะยากไหม..ก็อีกเรื่องนะ 555) หลาย ๆ เมนูเองเราก็คงเคยเห็นตามร้านคาเฟ่ในเมืองไทยกันเยอะอยู่พอสมควร
จะมีอะไรบ้าง ?!
วันนี้พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปรับอ่านกันเบา ๆ ดีกว่า 🤓☕️
[ ☕️🍋 Espresso Romano กาแฟ + เลม่อน ก็เข้ากันนะ เออ ! ]
หนึ่งในเมนูกาแฟใส่มะนาวเลม่อนที่ค่อนข้างนิยมในกรุงโรม ประเทศอิตาลี 🇮🇹
แต่ว่าต้นกำเนิดของเมนูนี้อาจมีต้นมาจากเมืองนาโปลี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงโรม ที่โด่งดังในเรื่องของมะนาวเลม่อนก็เป็นได้
(อย่างไรก็ดี ไม่มีบันทึกใดที่บอกว่า แท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดเมนูนี้มาจากไหนนะคร้าบ แห่ะ ๆ มีแต่ความคิดเห็นของนักเขียน บลาบลาบลาา 😅)
ฝั่งที่สนับสนุนว่าเมนูนี้มาจากฝั่งทางใต้ (แคว้นกัมปาเนีย) ก็เพราะว่าถ้าจะต้องซื้อเลม่อนก็ต้องมาซื้อจากเมืองนาโปลี/เนเปิลส์ (บ้างก็ว่าเป็นเลม่อนที่มาจากเมืองซอร์เลนโต ขยับลงใต้ไปอีกนิดนึง (Sorrento lemons))
ตอนที่พวกเราไปเที่ยว ก็จะมีอีกเมือง(หรือเกาะ)ที่อยู่ในแคว้นนี้ที่ขายแต่ของฝากเป็นลายเลม่อน (แนว ๆ Limoncello) ก็คือเกาะกาปรี อยู่ทางทิศใต้ของอ่าวเนเปิลส์
ส่วนฝั่งที่สนับสนุนว่าเจ้าเมนูนี้มีต้นกำเนิดมาจากกรุงโรม ก็เพราะว่า..ชื่อเมนูกาแฟที่มีชื่อท้ายว่า “Romano”... หื่มม มันจะเป็นเมืองไหนไปได้อีกถ้าไม่ใช่กรุงโรม(มาโน) และยังพ้องไปกับคำว่า Romance ซึ่งเป็นหนึ่งในกลิ่นอายของกรุงโรม(ที่มากกว่าเมืองนาโปลี) อีกด้วย
ก็นานาจิตตังกันไป 🤓
จะว่าไปแล้ว… มันก็มีอีกหลายเมนู (ที่มีหลายชื่อเรียกและหลายถิ่นกำเนิด) ที่นำคอนเซ็ปต์ของกาแฟดำและมะนาวเลม่อน ยกตัวอย่างเช่น Café del tiempo Is และ Mazagran coffee
เมนู Mazagran coffee ก็จะคล้ายๆกัน
[ 4 เมนูกาแฟสัญชาติอเมริกันที่ลงท้ายด้วยคำว่า “eye” แตกต่างกันยังไงบ้างนะ ? ☕️🇺🇸👀 ]
คอนเซ็ปต์ของทั้ง 4 เมนูนี้ ถ้าพูดง่าย ๆ ตามประสามือใหม่คือ การเรียงลำดับความเข้มข้นของกาแฟ จากน้อยที่สุด Lazy eye (ที่ผสมกับตัวกาแฟดีคาฟ) จนไปถึง แรงและเข้มที่สุดอย่าง Dead eye ที่ใช้ 3 ช็อตเอสเพรสโซ่ ตามภาพอินโฟกราฟิกเลย
ทั้ง 4 เมนูจะมีความพิเศษที่ล้อไปกับชื่อของเค้า ก็คือเป็นการ 2 กรรมวิธีการชงกาแฟแบบผสมกันใน 1 แก้ว
กล่าวคือ “กาแฟดำดริป (Dripped Coffee)” + “ช็อตเอสเพรสโซ่ (Espresso)”
คือใน 1 แก้วกาแฟแก้วนี้ จะมีความหลากหลายในรสสัมผัสให้เราได้ลองอาจจะมากถึง 2 รูปแบบเลยนะ (เช่น ระดับและการคั่วรวมถึงตัวเมล็ดกาแฟที่เลือกมาสำหรับตัวขั้นตอนการดริปและตัวช็อต)
อ่านผ่าน ๆ แล้วอาจจะทำให้รู้สึกว่า โอโห…แบบนี้ก็ไม่เข้มข้นหรือขมตายเลยเหรอเนี่ย 😵‍💫
อันที่จริงก็ไม่ได้ขมอย่างที่เราคิดนะ ต้องเรียกว่าเป็นส่วนผสมอย่างลงตัวมาก ๆ เลย (ลงตัวในแบบที่เข้มข้น)
ขอสารภาพก่อนเลย พวกเราเคยมีโอกาสได้ดื่มกาแฟแบบ Black eye และ Red eye
แต่ว่า.. มือใหม่อย่างเราก็ยากเกินที่จะหาความต่างได้ เนื่องจากระบบประสาทสัมผัสของลิ้นเรายังไม่ได้ถูกเปิดอย่างแท้จริง T^T (กลายเป็นว่ามันก็เข้มข้นกันทั้ง 2 เมนูแห่ะ อาจต้องเจาะดูปริมาณคาเฟอีนในเลือดแทน อันนี้แซวนะคร้าบ แห่ะ ๆ)
หรือหน้าตาของกาแฟเองที่ออกมาแล้ว เราเองก็แยกความแตกต่างไม่ออกว่า เอ้อ ! แก้วนี้มัน Long Black, Americano หรือ ตระกูล “Eye”
ส่วนเรื่องของความหอมของกาแฟนี่…โอโห รู้สึกว่ามันชัดเจนมาก ๆ เลยละครับ
เพิ่มเติมนิดเดียวกับเรื่องราวความเป็นมาของเจ้ากาแฟอเมริกันตระกูล Eye อันนี้
เท่าที่เราหามามันก็ไม่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนขนาดนั้นหรอกว่า ใครเป็นผู้คิดค้นสูตรนี้ แต่ว่าด้วยไลฟ์สไตล์ของชาวอเมริกันที่ต้องการดื่มกาแฟเข้ม ๆ หรือเค้นหาสูตรกาแฟเข้มที่สามารถสร้างสูตรกาแฟนมได้หลากหลาย
เจ้าเมนูตระกูล Eye (เราขอให้ฉายาว่า กาแฟของกาแฟ) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นตามร้านกาแฟโดยทั่วไป
อย่างเช่น เมนู Red Eye เองก็ถือเป็นหนึ่งใน “Secret menu” ที่เราสามารถรีเควสได้ในร้าน Starbucks ที่อเมริกา (แต่เราไม่เคยลองนะคร้าบ แอบไม่กล้า) แต่ว่าเค้าจะไม่ได้นำขึ้นในรายการ
Dunkin Donuts เองก็มีเมนู Black eye เหมือนกันนะ ภายใต้โค้ดลับเมนู “The Turbo” (แต่ก็ไม่แน่ใจอีกเช่นกัน…ว่าสั่งได้จริงไหม?)
(ส่วนคำว่า “eye” เท่าที่พวกเราค้นหามา ก็เหมือนเป็นการเปรียบเปรยสีของดวงตา ผ่านสีและความเข้มของกาแฟ จะต้องมองเชิง abstract ซะหน่อยนะคร้าบ 555 แต่เราเองก็แยกไม่ออกนะ มันก็ดำดำเหมือนกันหมดเลยตั้งแต่ Lazy eye แล้วละ)
ก็พอหอมปากหอมคอ ให้เพื่อน ๆ มองภาพกาแฟจนคาเฟอีนซึมเข้าไปในตากันไปข้างนึง อิอิ
งั้นพวกเราขอตัวไปลองทำกาแฟมะนาวแบบ Espresso Romano กันก่อนดีกว่า (เน้นทำง่ายและถ่ายรูปได้ครับ ฮ่า ๆ เพราะว่าความรู้การชงนั้นมีน้อยมาก)
จริง ๆ ก็ยังมีอีกเยอะเลยที่สามารถหยิบมาให้ครบใน 1 ภาพได้
หากมีข้อมูลส่วนผสมใดผิดพลาดไป พวกเรา InfoStory กราบขออภัยและขอรบกวนพี่ ๆ เพื่อน ๆ แนะนำเพิ่มเติม(เพื่อการแก้ไข)ด้วยนะคร้าบผม ขอบพระคุณมาก ๆครับ
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ Food & Drink Infographics รวบรวมโดย Simone Klabin
โฆษณา