17 ก.พ. 2023 เวลา 08:16 • ประวัติศาสตร์

มีด้วยหรือ? ภาษีที่ต้องจ่ายตามจำนวนหน้าต่าง

“ภาษี” คำคุ้นเคยที่ไม่อยากคุ้นเลย และไม่ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหนบนโลก เราก็จะพบเจอกับภาษีทุกที่ไป...
แล้วภาษีคืออะไรกัน?
“ภาษี” คือ เงินที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อเป็นรายได้นำมาพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจและสังคม หรือกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ถนน ไฟฟ้า ประปา และการป้องกันประเทศ เป็นต้น
อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริโภคของประชาชนในประเภทสินค้าฟุ่มเฟือยไม่ให้มันมีมากจนเกินไป
รวมถึงรักษาเสถียรภาพในทางเศรษฐกิจ เช่น การป้องกันภาวะเงินเฟ้อด้วยมาตรการทางภาษี การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น
รวมทั้งลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน อย่างที่เราคุ้นเคยกันในการเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้แบบขั้นบันได ใครรายได้มากเสียมาก ใครรายได้น้อยเสียน้อย หรือถ้าไม่เกิน 150,000 บาท/ปี ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี
Image Credit: Pixabay
ซึ่งทุกคนที่มี “รายได้” ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน พ่อค้าแม่ค้า (ทั้ง Offline และ Online) บริษัท ห้างร้านต่างๆ ก็ล้วนมีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย โดยการนำรายได้มาคำนวณตามฐานภาษีของตนเอง และจ่ายภาษีในช่วงเวลาที่รัฐกำหนด
ภาษีเงินได้ที่เราคุ้นหูกันดีที่รัฐเก็บจากผู้มีเงินได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
แต่รู้หรือไม่ว่าในอดีตเคยมีการเรียกเก็บภาษีด้วยวิธีการแปลกๆ โดยการอ้างอิงจากจำนวนหน้าต่างบ้านที่อาศัยอยู่ของผู้จ่ายภาษี ซึ่งเรียกการเก็บภาษีนี้ว่า “ภาษีหน้าต่าง” (Window Tax)
Image Credit: Youtube/Adevăruri Istorice Ascunse
ย้อนกลับไปในสมัยก่อน หน้าต่างถูกมองว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เพราะกระจกมีราคาแพง ชาวบ้านไม่น้อยจึงยอมอยู่กันทึบๆ แบบไม่มีหน้าต่าง
ขณะที่ผู้เป็นเจ้าของตึกใหญ่โตก็ล้วนมีจำนวนหน้าต่างอยู่มาก ทางการก็มองว่าสิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดฐานะของผู้จ่ายภาษีได้ จึงนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดเก็บภาษี
โดยปี ค.ศ. 1303 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่นำภาษีหน้าต่างมาใช้ในสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ 4 ซึ่งพระองค์ทรงต้องการข้อมูลทรัพย์สินและรายได้สำหรับประเมินภาษีที่แน่นอนเพื่อรวมอำนาจสู่กษัตริย์ แต่ไม่นานก็ถูกยกเลิกไป ก่อนจะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 14
ต่อมา ค.ศ. 1696 อังกฤษนำภาษีหน้าต่างมาใช้บ้าง เพราะหน้าต่างติดตั้งอยู่ภายนอก มองเห็นชัดเจน และสะดวกในการคิดคำนวณมากกว่าวิธีเดิมก่อนหน้า ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีจากเตาพิง
ที่มักจะทำให้เกิดการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบจำนวนเตาผิงของประชาชนภายในบ้านอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเตาพิงเองก็ยังไม่ได้สะท้อนระดับรายได้ที่แท้จริงของของผู้ถูกเก็บภาษีเท่าไรนัก ก่อนจะถูกยกเลิกไป
“A receipt from 1755 of the window tax”
No 1. Gordon Court
The 25th – Day of March 1755
Received then of Mr.John Hetherington the sum of five shillings being the year’s assessment due this day 1755 charged upon his Dwelling-House by Virtue of several Acts of Parliament for laying a Duty on Houses, windows or lights. £0 5s 0d.
By John Fleming Collector
อย่างไรก็ตาม แม้จะเปลี่ยนมาเก็บภาษีจากจำนวนหน้าต่าง แต่ชาวผู้ดีในสมัยนั้นก็ไม่ได้ปลื้ม ต่างเสาะหาวิธีลดเลี่ยงภาษีหน้าต่างกันพัลวัน ทุบทิ้งบ้าง โบกปูนก่ออิฐทับไปเลยบ้าง เพื่อลดจำนวนให้เหลือน้อยที่สุด เรียกได้ว่ายอมทนอยู่กันมืดๆ ดีกว่าการจ่ายภาษี
บางบ้านใช้การเลี่ยงภาษีด้วยการเพิ่มระยะห่างของหน้าต่างให้ห่างขึ้น และมองจากภายนอกเหมือนมีหน้าต่างบานเดียว ทางการจึงแก้เผ็ดด้วยการกำหนดระยะห่างไว้ หากเกินกำหนดก็ต้องเสียภาษีสำหรับหน้าต่างอีกบานอยู่ดี
ตึกที่สร้างแบบมีหน้าต่างน้อยๆ ในสมัยนั้น ปัจจุบันยังพอจะหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งก็อาจจะดูแปลกตาพิลึกสำหรับคนสมัยนี้อยู่พอสมควร
Image Credit: littlestar19/Flickr
กลับมาที่ฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติใหญ่ ค.ศ. 1789 ภาษีหน้าต่างถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง โดยการคิดค้นวิธีการเก็บภาษีก้อนโตจากชนชั้นสูง ซึ่งพวกเขาเองยังไม่ทันได้ตั้งตัว และสุดท้ายก็ต้องยินยอมแต่โดยดี
ภาษีหน้าต่างคงอยู่มายาวนานมากทั้งในอังกฤษที่เลิกใช้ไปเมื่อปี ค.ศ. 1851 และในฝรั่งเศสเลิกใช้ไปเมื่อ ค.ศ. 1925 หรือยาวนานกว่า 600-700 ปี ที่ชาวเมืองน้ำหอมถูกเก็บภาษีหน้าต่างนับตั้งแต่ยุคพระเจ้าฟิลิปที่ 4
ซึ่งหลังจากการเก็บภาษีหน้าต่างหมดไปแล้ว ก็ยังมีการเรียกเก็บภาษีแบบใหม่ๆ แปลกๆ อยู่ตลอดในอังกฤษ เช่น การเก็บภาษีจากราคาของหมวกทีใส่ ภาษีถุงมือ หรือแม้แต่ภาษีกระดาษบุผนัง เป็นต้น
"A house in Gillingham, Dorset" Image credit: Carole Dorran/Wikipedia
เรื่องของการเก็บภาษีอยู่เกาะติดกับชีวิตของผู้คนมายาวนานหลายยุคหลายสมัย จนเกิดมุกตลกว่า “วิธีเดียวที่หนีภาษีพ้นคือความตาย” เพราะภาษีเป็นหน้าที่เชิงบังคับให้เราทุกคนต้องจ่ายอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ แม้ทุกวันนี้จะพยายามหลบเลี่ยง หรือจ่ายให้น้อยที่สุดก็ตาม
จะเห็นได้ว่าการใช้ฐานข้อมูลที่เหมาะสมในการคิดคำนวณภาษีเป็นเรื่องสำคัญ และละเอียดอ่อนมาก
หากรัฐบาลประเทศใดสามารถทำได้อย่างสมดุล สมเหตุสมผล และมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ประเทศนั้นๆ มีเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปได้ไกล และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
หรืออาจจะบอกแบบสรุปได้ว่า ภาษีเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ต้องจ่ายหรือชำระให้แก่รัฐตามรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะเป็นรายได้ให้รัฐได้นำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ สร้างสรรค์โอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสและบุคคลอื่นๆ ในสังคมต่อไป
Image Credit: Libertarian Europe
แม้ภาษีจะเป็นการบังคับจัดเก็บ แต่หากตั้งใจให้เป็นการบริจาคเพื่อการกุศล ก็ถือเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องเสียภาษีอากรอีกทางหนึ่งได้ การตั้งใจไม่ชำระภาษี นอกจากจะมีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาแล้ว ยังถือเป็น 'บาป' อันเนื่องแต่ความเห็นแก่ตัวนั้นด้วย
…ปีนี้คุณยื่นภาษีแล้วหรือยัง?
(ปีภาษี 2565 สามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ถึงวันที่ 10 เม.ย. 2566)
Reference:
- คุณสุเทพ พงษ์พิทักษ์ อดีตสรรพากรภาค 4 กรมสรรพากร
- หนังสือ “เศรษฐศาสตร์ เปลี่ยนสิ่งประหลาด ให้เป็นเรื่องปกติ”, ผู้เขียน: ปาร์กจองโฮ, แปล: ตรองสิริ ทองคำใส
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา