3 มี.ค. 2023 เวลา 11:00 • สุขภาพ

Ambient Intelligence สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะทั้งในระดับบ้านและระดับเมือง กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตและสุขภาพจิตของผู้คน
สภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (Ambient intelligence: AmI) คือ การนำปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เซนเซอร์, IoT, Machine Learning เป็นต้น มาปรับเปลี่ยนหรือยกระดับสภาพแวดล้อมเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ความปลอดภัย ความบันเทิง และความต้องการอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานแบบเฉพาะบุคคล
แนวคิดดังกล่าวกำลังเข้ามาเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและสุขภาวะของประชาชนมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับเมือง ตั้งแต่การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เช่น ระบบจราจรอัจฉริยะ ห้องเรียนอัจฉริยะ ระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ เป็นต้น หรือที่จำเพาะเจาะจงและใกล้ตัวยิ่งกว่านั้น คือ ในระดับองค์กรและครัวเรือน เช่น บ้านและอาคารอัจฉริยะ เป็นต้น
การจัดการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะในทุกระดับ ไม่เพียงแต่จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับสุขภาวะทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม ร่างกาย อารมณ์ อาชีพ สติปัญญา การเงิน สายสัมพันธ์ และจิตวิญญาณได้อีกด้วย เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกภายในเมืองและบริหารจัดการตารางชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในมิติการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียนรู้ การเดินทาง ความเพลิดเพลิน และความยั่งยืน
ยกตัวอย่างเช่น การคาดการณ์สภาพการจราจรล่วงหน้าและออกแบบแผนการเดินทางส่วนบุคคลไปยังจุดหมายปลายทางแต่ละแห่งโดยได้มีการประสานงานกับผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละจุดล่วงหน้า เอื้อให้บุคคลสามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่างในหนึ่งวัน เป็นต้น มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ตลาดเมืองอัจฉริยะจะมีขนาดถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นต่อปีถึง 24.1% ในระยะคาดการณ์ ค.ศ. 2022 - 2030 โดยมีการจัดการพลังงานได้ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด (57%)
นอกจากนี้ การจัดการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะภายในบ้านหรืออาคารจะมีส่วนอย่างมากในการติดตาม ประเมิน และบริหารจัดการสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคลในอนาคต มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 20230 ตลาดบ้านอัจฉริยะจะมีขนาดถึง 5.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยทบต้นต่อปีถึง 27.04% ในระยะคาดการณ์ ค.ศ. 2022 - 2030
โดยในอนาคตอาจได้เห็น AI ภายในบ้านอัจฉริยะถูกออกแบบให้ตรวจวัดและติดตาม (AI-based monitoring) สภาวะอารมณ์ ระดับฮอร์โมน ความเครียด ความเหงา พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอนหลับ การออกกำลังกายของผู้อาศัยแต่ละคนเพื่อให้คำแนะนำและออกแบบแผนการใช้ชีวิต เช่น รายการอาหารและโภชนาการ ตารางการออกกำลังกาย ระบบแจ้งเตือนการนัดหมายแพทย์และการรับยา เป็นต้น อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า มีความพยายามในการตรวจจับสัญญาณสภาวะอารมณ์ของคนในพื้นที่เพื่อแสดงผลผ่านระบบแสงและสีไฟภายในห้องอีกด้วย
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ปัญญาประดิษฐ์จะถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นและถูกนำมาประยุกต์ใช้ในทุกมิติในชีวิตประจำวัน
- การเข้าถึงได้และรับรู้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตและทรัพย์สินของตนเองแบบเรียลไทม์จะกลายเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานรูปแบบใหม่ของผู้คนในอนาคต
- อาจเกิดค่านิยมของคนที่เริ่มกลัว ต่อต้าน และเบื่อหน่ายสภาพแวดล้อมอัจฉริยะจนนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้เกิดพื้นที่ปลอดเทคโนโลยีในอนาคต
- เทคโนโลยีการรายงานสภาวะอารมณ์ของบุคคลและแสดงผลผ่านแสงสีภายในห้องอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการทดลองจิตวิทยา การจับเท็จ และหน่วยงานสืบสวนสอบสวน
- การจัดการสภาพแวดล้อมอัจฉริยะอาจเข้ามามีบทบาทในการจัดการสภาวะอารมณ์ของผู้อยู่อาศัยภายในบ้านอัจฉริยะผ่านการสร้างบรรยากาศ เช่น การเลือกเพลง แสงไฟ กลิ่นน้ำหอมปรับอากาศ และการเปิดฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น ห้องอาบน้ำ ห้องซาวน่า ห้องทำสมาธิ เป็นต้น เพื่อปลอบประโลมจิตใจและผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับผู้อยู่อาศัยตามรสนิยมเฉพาะบุคคล
- ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพจิตของแต่ละครัวเรือนในชุมชนกับองค์กรที่เกี่ยวข้องจะถูกหยิบยกขึ้นมาหาข้อสรุปที่ชัดเจน เช่น รัฐบาลท้องถิ่น หรือสายด่วนสุขภาพจิต เป็นต้น
อ้างอิงจาก
- Effect of User Personality on Efficacy of a Mental Support System Based on Ambient Intelligence: A Case Study https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fcomp.2021.702069/full
- Re-Imaging the Future in Urban Studies and Built Environment Discourse: A Neurourbanism Perspective https://doi.org/10.3390/buildings12122056
- Big data and ambient intelligence in IoT-based wireless student health monitoring system https://doi.org/10.1016/j.avb.2021.101601
- Intelligent environments for all: a path towards technology-enhanced human well-being https://link.springer.com/article/10.1007/s10209-021-00797-0
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #MentalHealth #MQDC #กรมสุขภาพจิต #ETDA #NIA #TheFuturesOfMentalHealth #อนาคตสุขภาพจิตไทย
โฆษณา