11 มี.ค. 2023 เวลา 05:00 • สุขภาพ

ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ช่วยเร่งขับฝุ่น PM2.5 จากกระแสเลือดได้จริงหรือ

เป็นเรื่องที่น่ายินดีท่ามกลางวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือน กุมภาและมีนา ที่หน่วยงานทาวการแพทย์อันได้แก่ ราชวิทยาลัยอายุแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมพิษวิทยาคลินิก ได้ออกคำแนะนำ “การปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5” แสดงให้เห็นว่ายังมีหน่วยงานที่ยังตระหนักและคิดถึงห่วงใยทุกข์สุขในประเทศนี้อยู่ (link: http://www.rcpt.org/images/ราชวทยาลยฯ/ประกาศตางๆ/RCPT_PM2.5V2.png)
โดยคำแนะนำมีดังต่อไปนี้
1. หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชนอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัส สูด PM 2.5 โดยการจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย (safety zone)
2. เมื่อค่า PM 2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ
ก. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยงควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปควรลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ข. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้งให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา

ค. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นผู้ที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้ง ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่เกินครั้งละ 60 นาที
3. ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
4. การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเจ็บป่วย แต่ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูงควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2 หรือออกกำลังกายในร่มที่มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
6. การอยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้ใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น
เราในฐานะประชาชนก็เห็นด้วยกับข้อแนะนำต่าง ๆ ที่หน่วยงานทางการแพทย์นำเสนอ แต่พออ่านดี ๆ แล้วมีข้อหนึ่งที่กระตุ้น “ต่อมเอ๊ะ” ขึ้นมา ชวนสงสัยว่าคำแนะนำข้อนี้เป็นจริงหรือเปล่า ข้อนี้ครับ
“ข้อ 5 ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น”
โดยพื้นฐานแล้ว ฝุ่น PM2.5 ที่เราหายใจเข้าไปสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้บางส่วน เวลามาที่ไต ไตจะมีหน่วยไตที่ทำหน้าที่กรองของเสีย เก็บของดีไว้ คิดง่าย ๆ เหมือนตะแกรงไว้ร่อนแป้งหรือร่อนทอง อะไรที่ขนาดใหญ่จะไม่ถูกกรองออกไป ส่วนที่ขนาดเล็กกว่ารูก็จะกรองผ่านไปได้
สำหรับรูกรองที่หน่วยไตนั้น ปกติมีขนาด 4-6 นาโนเมตร (10^-9 meter) ในขณะที่ขนาดของฝุ่น PM2.5 นั้นขนาด 2.5 ไมโครเมตรหรือน้อยกว่า หรือเทียบเท่ากับ 2500 นาโนเมตร หรือน้อยกว่า จะเห็นได้ว่า ขนาดของรูกรองที่หน่วยไตนั้นเล็กมาก ๆ จึงเรียกว่า ไตไม่สามารถกรองหรือกำจัดฝุ่น PM2.5 ดังนั้น ไต มิใช่อวัยวะหลักในการกำจัดฝุ่น PM2.5 ซึ่งอวัยวะหลัก ๆ ในการกำจัด PM2.5 ที่เข้ามาทางปอด ในทางเดินอาหาร คือ ปอด ทางเดินอาหาร ส่วนในกระแสเลือดจะสะสมในเนื้อเยื่อ บางส่วนเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง
นอกจากนี้ ใน พ.ศ. ปัจจุบัน 2566 ยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานทางการแพทย์ ที่พิสูจน์ว่า การดื่มน้ำนั้นจะช่วยเพิ่มการขจัดฝุ่น PM2.5 ในกระแสเลือดผ่านทางไต การดื่มน้ำอย่างเพียงพอนั้น ควรกระทำอยู่แล้ว แต่คงไม่ใช่ไปหวังผลที่จะกำจัดฝุ่น PM2.5 ออกจากร่างกาย ทางที่ดีที่สุดคือ ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น
คำแนะนำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความสับสนของประชาชนได้ ยิ่งในกลุ่มที่อาจมีความเสี่ยงต่อการดื่มน้ำ เช่น ผู้ป่วยโรคไต หรือมีเกลือแร่ผิดปกติ อาจเกิดผลเสียตามมาได้
ดังนั้นแล้ว แม้คำแนะนำดังกล่าวแม้จะออกมาจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เราในฐานะประชาชนควรตรวจสอบข้อมูลด้วย บางครั้งผู้เชี่ยวชาญอาจ “ปั้นน้ำเป็นตัว” ขึ้นมาได้โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน อย่าเชื่อไปก่อนแม้ว่าจะออกมาจากปากผู้เชี่ยวชาญ
อ้างอิง
1. Zhang, J. (2016). Evaluating glomerular filtration barrier function using electron microscopy. Microscopy and Microanalysis, 22(4), 816-827. doi: 10.1017/S1431927616000404
2. World Health Organization. (2018). Ambient (outdoor) air quality and health. Retrieved from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ambient-(outdoor)-air-quality-and-health
3. National Institute of Environmental Health Sciences. (2021). Particulate Matter (PM). Retrieved from https://www.niehs.nih.gov/health/topics/agents/air-pollution/particulate-matter-pm/index.cfm
4. Lippi, G., & Plebani, M. (2010). Particulate matter and human health: Introduction. Seminars in Thrombosis and Hemostasis, 36(3), 209-213. doi: 10.1055/s-0030-1251495
5. United States Environmental Protection Agency. (2021). Particulate Matter (PM) Pollution. Retrieved from https://www.epa.gov/pm-pollution
6. US National Library of Medicine National Institutes of Health. (2018). Particulate Matter Exposure and Health Risks. Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6240125/
7. Environmental Defense Fund. (2019). How to Protect Yourself from Particulate Matter. Retrieved from https://www.edf.org/health/how-protect-yourself-particulate-matter
โฆษณา